19 พฤษภาคม 2568 อาจจะเป็นวันธรรมดา ๆ วันหนึ่ง ประเทศไทยไม่ได้ตกอยู่ภายใต้รัฐประหาร สถานการณ์ทางการเมืองไทยไม่ได้มีความวุ่นวายอะไร แต่หากหมุนเวลาย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นับว่าเป็นวันที่การเมืองไทยกำลังร้อนระอุและเต็มไปด้วยความรุนแรง ที่แม้จะผ่านมากว่าสิบปีแล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้นก็ยังคงถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของผู้คนและถูกบันทึกเอาไว้บนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เริ่มต้นขึ้นด้วยความไม่พอใจที่มีการยุบพรรคพลังประชาชน และพวกเขาต้องการให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งในตอนนั้นอยู่ภายใต้รัฐบาลของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีรองนายกฯ คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ
เมื่อการชุมนุมยืดเยื้อและตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต่อมาวันที่ 10 เมษายน 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้มีการทำ ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ หรือ ‘การสลายการชุมนุม’ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าไปจนถึงสี่แยกคอกวัว
เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการใช้ความรุนแรงและมีการใช้กระสุนจริง ส่งผลให้บางคนเรียกเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าเป็น ‘เมษาเลือด’ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 ราย มีทั้งประชาชน นักข่าวต่างประเทศ และทหาร รวมถึง พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ นอกจากนี้ หากอ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.- พ.ค. 53 (ศปฉ.) จะทำให้เห็นภาพว่า ผู้เสียชีวิตบางรายเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากทางฝั่งของทหาร
อีกหนึ่งไทม์ไลน์สำคัญของการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ก็คือช่วงเวลาระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 19 พฤษภาคม ซึ่งรัฐบาลเรียกห้วงเวลานี้ว่าเป็น ‘การกระชับพื้นที่’ สิ่งนี้ตามมาด้วยความรุนแรง มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเหตุการณ์สำคัญ ๆ ประกอบไปด้วย วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ถูกลอบยิงบริเวณศาลาแดง กรุงเทพฯ ขณะกำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญก็คือวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่มีการสลายการชุมนุมวันสุดท้าย มีคนถูกยิงในวัดปทุมวนาราม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และใน 6 รายนั้นมีพยาบาลอาสาอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ระหว่างที่ 13 พฤษภาคม – 19 พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 60 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 500 คน ส่งผลให้ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 กลายเป็นช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมืองและมีผู้สูญเสียจากการชุมนุมครั้งใหญ่ ทั้งจากฝั่งประชาชนและทหาร ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองไทย นอกจากนี้สิ่งที่เกิดขึ้นยังนำมาสู่ข้อถกเถียงที่ว่า การสลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นการสลายการชุมนุมที่เป็นไปตามหลักสากลหรือไม่?
อ้างอิง
- http://www.pic2010.org/death-footnote/
- https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105336
- https://prachatai.com/journal/2010/05/29539
- https://tlhr2014.com/archives/9397
- https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304