วันนี้ (19 พฤษภาคม 2567) ได้มีการจัดงานรำลึกถึงการสูญเสียของคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในช่วงพฤษภาคม 2553 โดยภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงคนเสื้อแดง ณ สี่แยกราชประสงค์ นำโดยคนเสื้อแดง เช่น อนุสรณ์ อุณโณ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทั้งยังมีการจุดเทียนรำลึก ทำบุญ และมีกิจกรรมการแสดงล้อการเมืองจากศิลปะปลดแอก
หากย้อนกลับไปในช่วง ปี 2553 ได้เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่จากกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า นปช. หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยมีข้อเรียกร้องก็คือ ต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวนับว่าเป็นการชุมนุมครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีคนผู้คนจากต่างจังหวัดเดินทางมาชุมนุมร่วมกันเป็นจำนวนมหาศาล
ความสูญเสียเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนเมษายน รัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม จนเกิดเป็น ‘เมษาเลือด’ และความรุนแรงไม่จบแต่เพียงเท่านั้น วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เริ่มปฏิบัติการกระชับพื้นที่และมีการประกาศพื้นที่ใช้กระสุนจริง ความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมถูกตอกย้ำด้วยการที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิในกองทัพบก และแกนนำคนสำคัญของคนเสื้อแดง ถูกลอบยิงบริเวณศรีษะขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
สถานการณ์เริ่มรุนแรงและตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จน ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุมและให้ออกจากพื้นที่บริเวณราชประสงค์ภายในวันที่ 18 พฤษภาคม 2553 โดยในเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ความรุนแรงก็ได้เริ่มขึ้นแบบเต็มรูปแบบ มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่เป็นไปตามหลักการสากลเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสะเทือนใจก็คือ 6 ศพในวัดปทุมฯ เสียชีวิตจากการถูกยิงในเขตพื้นที่อภัยทาน
ในการสลายการชุมนุมครั้งนี้นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ชุมนุมแล้ว ยังมีสื่อมวลชนต่างชาติเสียชีวิตอีก 2 ราย ซึ่งคนที่อายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ 12 ปี นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีและถูกจับกุมอีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่จะมาสนับสนุนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลก็คือ จำนวนกระสุนที่ทางกองทัพเบิกออกไปเพื่อการซุ่มยิงคือ 3,000 นัด และส่งกลับคืนแค่เพียง 880 นัดเท่านั้น ดังนั้น การสลายการชุมนุมครั้งนี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารุนแรงจนเข้าข่ายการสังหารหมู่มากกว่าการสลายการชุมนุมทั่วไป
อย่างไรก็ดี ความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยวนกลับมาเป็นปีที่ 14 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นยังคงตอกย้ำถึงฝันร้ายของคนเสื้อแดง คนที่อยู่ในเหตุการณ์ และญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งแม้ว่าวันนี้จะผ่านมาถึง 14 ปีเต็มแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครได้รับความยุติธรรมจากความสูญเสียในครั้งนั้นเลย


















อ้างอิง