ตีสิบ, ตีสิบเดย์, At Ten Day, วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์, ทอล์กโชว์

เป็นเวลานานหลายสิบปีที่เด็กไทยหลายคนต้องยอมนอนให้ดึกขึ้นเพื่อรอดูรายการเรือธงในชีวิต ที่มักจะกระจุกตัวกันในช่วงเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองไล่ให้เราไปนอนแล้ว ทั้งเกมโชว์ ทอล์กโชว์ ที่เราทุกคนต้องยอมถ่างตาดูเพื่อที่รุ่งเช้าจะได้ไปคุยกับเพื่อนได้

หนึ่งในรายการเหล่านั้นที่เด็กไทยที่โตมาเป็นคนวัยทำงานยุคนี้น่าจะคุ้นเคยกันดีเลยคือ ‘ตีสิบ’ รายการวาไรตี้ทอล์กโชว์ยามดึกที่โดดเด่นด้วยช่วงประกวดร้องเพลงหลากกติกาที่ทำให้ไม่น่าเบื่อ ไปจนถึงช่วงไฮไลต์อย่างการพูดคุยกับแขกรับเชิญทั้งมีชื่อเสียง ไปจนถึงคนโนเนมที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากพอให้คนยอมเกาะจอรอดูทุกคืนวันอังคารได้

จนเมื่อช่วงเวลาความนิยมของรายการได้ผ่านพ้นไป รวมถึงความวุ่นวายของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ค่อย ๆ กัดกินคนทำสื่อหน้าจอลงเรื่อย ๆ ‘ตีสิบ’ ก็ถึงเวลาต้องเลิกรา จากการอยากเกษียณงานหน้าจอของ ‘วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์’ พิธีกรหลักที่ดำเนินรายการทอล์กโชว์ของตัวเองมาร่วม 30 กว่าปี ทั้งสี่ทุ่มสแควร์ จนมาถึงตีสิบ และสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้รายการจะลาจอไป วันนี้ SUM UP เลยขอหยิบรายการโทรทัศน์ในความทรงจำของผู้คนมาเล่าให้ได้อ่านกัน

จุดเริ่มต้นของรายการ ‘ตีสิบ’ เกิดขึ้นจากการเลิกราของรายการ ‘สี่ทุ่มสแควร์’ รายการรูปแบบเดียวกันที่ออกอากาศทางช่อง 7 มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2540 จากความอิ่มตัว และความรู้สึกหมดมุกของรูปแบบรายการ ก่อนที่ในอีกไม่กี่อาทิตย์ถัดมา ‘ประวิทย์ มาลีนนท์’ จะให้คนรู้จักโทรมาชวนทำรายการต่อทางช่อง 3 ในขณะที่วิทวัจน์กำลังจะเดินทางไปพักผ่อนที่ออสเตรเลีย หลังจากกลับมาเขาจึงเริ่มต้นทำรายการใหม่ในช่วงเวลาเดิมคือ 4 ทุ่ม ในชื่อใหม่ที่ชื่อว่า ‘ตีสิบ’

ตัวรายการหลักในระยะแรก ๆ มีการยืนพื้นด้วยความเป็นทอล์กโชว์จากพิธีกรหลักอย่างวิทวัจน์ในช่วง ‘สัมภาษณ์บุคคล’ เช่นเคย โดยมีการสร้างสรรค์ช่วงอื่น ๆ มาประกอบให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งช่วง ‘โชว์เพลง’ จากศิลปิน ช่วง ‘สตาร์สโจ๊ก’ ช่วงที่จะนำคนดังมาเล่าเรื่องตลก ช่วง ‘Real TV’ ช่วงสำคัญที่วิทวัจน์ได้มาจากการไปพักร้อนที่ออสเตรเลีย เขาเห็นรายการที่นำภาพเหตุการณ์ระทึกขวัญจริงมาออกอากาศบนโทรทัศน์ จึงได้ซื้อลิขสิทธิ์มาฉายและพากย์เสียงตัวเองให้ดูน่าตื่นเต้นขึ้น ไปจนถึงช่วง ‘108 มงกุฎ’ ช่วงตลกปัญญาชนที่ดำเนินเนื้อหาโดยธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม, ทศพล ศิริวิวัฒน์ และคมสัน นันทจิต

ก่อนที่ในช่วงปี 2545 ช่วงแห่งความโดดเด่นจะถือกำเนิดขึ้น อย่าง ‘ดันดารา’ ช่วงที่ชวนคนโนเนมมาแข่งขันโชว์ความสามารถบนเวทีที่ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการร้องเพลง ซึ่งจุดเด่นคือความแตกต่างของกติกาในแต่ละตอน ที่จริง ๆ แล้วกติกาใหม่ ๆ ในทุกตอนสามารถทำแยกออกมาเป็นรายการของตัวเองได้เลย รวมถึงช่วงนี้ยังทำให้เกิดบุคคลที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันมากมาย ทั้งวงโปงลางสะออน, ยายแหวว และเป๊กกี้ ศรีธัญญา จนทำให้เกิดรายการแยกความยาว 1 ชั่วโมง ที่มีความระยะเวลาราว 4 ปีกว่า ก่อนที่ช่วงดันดาราจะลาจออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

โดยอีกจุดหนึ่งที่ผู้คนมักจะจำรายการตีสิบได้ดีที่สุดเลยคือช่วง ‘สนทนา’ ช่วงหลักของรายการที่ในหลาย ๆ ตอน บุคคลที่ถูกเชิญมาก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจากพวกเขาล้วนน่าสนใจ และทำให้เราชื่นชมผู้หาประเด็นเลยว่าไปเจอเรื่องราวของพวกเขาได้ยังไง เพราะในหลาย ๆ ตอนของช่วงนี้ก็เต็มไปด้วยเทปในตำนานที่น่าจดจำมากมาย

ทั้งในตอนของ ‘จักรพันธ์ ตั้งสวัสดิ์เมือง’ แขกรับเชิญจากทางบ้านที่ต่อสายตรงเข้ามายังรายการเพื่อบอกว่าตัวเองอยากมาออก เพราะเป็นผู้ร้ายที่หนีหมายจับในข้อหาฆ่าคนตายด้วยอาวุธสงครามมากว่า 2 ปี และตั้งใจมอบตัวกับตำรวจกลางรายการหลังจากเปิดเผยเรื่องราวในชีวิตของตัวเองในรายการจบ ซึ่งมีซีนเด็ดอย่างการโทรศัพท์เรียกตำรวจกลางรายการ ก่อนตำรวจจะใส่กุญแจมือและพาตัวแขกรับเชิญไปเมื่อสัมภาษณ์จบ อีกทั้งยังตามไปสัมภาษณ์ต่อหน้าห้องขังที่แขกรับเชิญกำลังถูกควบคุมตัว

หรืออย่างเรื่องราวของ ‘อภิรักษ์ แซ่ฮ้อ’ ชายผู้ยากจนที่เรื่องราวน่าสนใจจากการเป็นคนเก็บขยะขายที่เดินไปฝากเงินที่ธนาคารทุกวันวันละ 20 บาท จนมีเงินเก็บเรือนหมื่น และได้มาสัมภาษณ์ในรายการหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ไม่มีอะไรจนทางรายการอาสาเปลี่ยนโฉมบ้านให้ใหม่ มีช่วงที่อภิรักษ์ได้ไปเล่นหนังเรื่อง ‘ยายสั่งมาใหญ่’ ทางรายการก็ไปเก็บภาพในกอง ตอนอภิรักษ์บวชเป็นพระทางรายการก็เชิญมาออก จนเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2563 ทางรายการได้เชิญเขามาออกอีกครั้งหนึ่งจนผู้คนรู้สึกผูกพันกับแขกรับเชิญโดยไม่รู้ตัว

รวมไปถึงหลาย ๆ ตอนที่เราชอบ อย่างการไปบุกบ้านพักของ ‘โน้ต อุดม’ ที่เชียงใหม่ ที่ทำให้เราเห็นวิธีการแต่งบ้านสายอาร์ตของเขา การเข้าไปสัมภาษณ์ ‘แพท พาวเวอร์แพท’ แบบเรียล ๆ ในเรือนนอนที่แดน 4 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง เรือนจำคลองเปรม ภายหลังการถูกจับจำคุกได้เกือบ 6 เดือน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 จากข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ (ยาอี) ไปจนถึงเทปสุดเฮฮาของทีมพิธีกรและนักแสดงตลกจากรายการ ‘ชิงร้อยชิงล้าน ซันไชน์เดย์’ ที่ถือเป็นวาระสำคัญหลังจากการเป็นรายการคู่แข่งในวันและเวลาเดียวกันมานานหลายปี เมื่อรายการชิงร้อยชิงล้านย้ายมาอยู่ช่องเดียวกัน ตีสิบจึงเชิญไปสัมภาษณ์

ตีสิบ, ตีสิบเดย์, At Ten Day, วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์, ทอล์กโชว์

จะเห็นได้เลยว่าในห้วงเวลาสำคัญต่าง ๆ ของสังคม ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา รายการตีสิบได้สืบเสาะเรื่องราวที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอสิ่งเหล่านี้สู่ผู้ชมได้เป็นอย่างดีเสมอมา แต่ทุกงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เพราะเมื่อวานนี้ (31 ตุลาคม 2567) ทั้งทาง Instagram @2020entertainment และ Facebook ตีสิบเดย์ At Ten Day ได้ออกประกาศสำคัญว่า

“40 ปี ที่โลดแล่น แดนโทรทัศน์
วิทวัจน์ ขอเกษียณ หยุดสรวลเส
หยุดรายการ 27 ปี ตีสิบเดย์
จึงขอเซย์ กู๊ดบาย ปลาย พอ.ยอ.”

เพื่อบอกกับผู้ชมว่ารายการตีสิบเดย์ จะออกอากาศเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 30 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และจะเป็นการปิดอีกหนึ่งตำนานของรายการโทรทัศน์ในเมืองไทยในช่วงเวลาอันเหมาะสม ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ผู้คนที่เคยเกาะหน้าจอโทรทัศน์เพื่อรอชมรายการตีสิบในยุคหนึ่งก็เติบโตและเหินห่างกับโทรทัศน์กันไปเกือบหมดแล้ว และเราเชื่อเหลือเกินว่ารายการนี้จะเป็นความทรงจำที่ดีของผู้คนได้ตลอดไปอย่างที่เคยเป็นมา