‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ เป็นนักเขียน
ขณะเดียวกันนั้น
‘ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ เป็นผู้กำกับโฆษณาอยู่ที่ ‘Salmon House’

ธนชาติต้องคิดพล็อตเรื่องขายลูกค้าอยู่เสมอ
และบ่อยครั้งเรื่องราวเหล่านั้นก็มักจะอยู่บนลูกค้า

ธนชาติโหยหาความเป็นอิสระของการคิดพล็อต
และบ่อยครั้ง
ช่วงเวลาหัวโล่ง ๆ ก็ทำให้เขาได้พล็อตน่าสนใจมากมาย
โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องอยู่ในการควบคุมของโครงข่ายสายงานโฆษณา
ที่มีเงิน เวลา และโจทย์ของลูกค้ามาเป็นประเด็น

ในทุ่งโล่งของห้วงความคิดนั้น
ธนชาติเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว
เขาจะเริ่มมัน เล่ามัน และจบมันยังไงก็ได้
ตามแต่ห้วงความคิดที่กำลังปล่อยไหล

คิดและเขียนเพลิน ๆ
เหมือนเดินหอศิลป์ในวันธรรมดา

ธนชาติคิดพล็อตของตัวเองได้เพียบเลย
เขาจึงรวมเล่มมัน กลายเป็นหนังสือเล่มแรกที่ชื่อว่า
‘You sadly smile in the profile picture’

อาจจะดูเวิ่นเว้อไปหน่อย แต่เราอยากเล่าที่มาที่ไปของหนังสือแนวเรื่องสั้นนี้ ในภาพจำของท่าทางการเล่าเรื่องที่หนังสือเล่มนี้เป็น ซึ่งเกิดจากความคิดของ ‘เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย’ นักเขียน และผู้กำกับโฆษณาที่ Salmon House โดยหนังสือแนวนี้ของเขาทยอยปล่อยมันออกมาได้ถึง 3 เล่มแล้ว

ไล่เรียงจาก You sadly smile in the profile picture (2562), The Morning Flight to sad francisco (2563) และเล่มที่เพิ่งออกใหม่ในปีนี้อย่าง You ghost me every sadturday night (2567)

หากใครเคยติดตามงานของ ‘เบนซ์ ธนชาติ’ มาก่อน คิดว่าคงคุ้นเคยกับงานกวน ๆ ปั่น ๆ จิกกัดสังคมแบบเข้าเส้นผ่านงานโฆษณา งานวิดีโอ Mockumentary หรือ Sketch Comedy มาก่อน ซึ่งต้องถือว่างานเหล่านั้นคือเรื่องแต่งล้วน ๆ ซึ่งแตกต่างจากงานเขียนหนังสือของเขาก่อนหน้านี้ ที่มีแต่เนื้อหาจากเรื่องจริงทั้งนั้น ทั้งเรื่องจริงในการทำงานวงการผู้กำกับอย่าง Full-time director, part-time loser (2560) หรือเรื่องจริงที่เกิดจากประสบการณ์ในการท่องเที่ยวอย่าง New York 1st time (2557)

ความน่าสนใจของ 3 เรื่องแต่งในฐานะเรื่องสั้นเหล่านี้สำหรับเราเลยคือ มันเป็นเรื่องสั้นที่มีฐานคิดมาจากคนทำงานวงการโฆษณาอินเตอร์เน็ตฟิล์ม พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ในทุกเรื่องสั้นของเบนซ์ เราจะคาดหวังการออกนอกกรอบพล็อตเรื่องสั้นแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเจอมาในชีวิตได้หมดเลย 

อาจเพราะความเปิดกว้างทางไอเดียการคิดพล็อตในฐานะผู้กำกับและเขียนบทที่ Salmon House ที่เน้นทำงานโฆษณาขนาดยาวหลายนาทีขึ้นไป ทำให้เรื่องราวในแต่ละโฆษณาที่คนชื่นชอบกันนั้น มาจากการมี ‘ห้วงเวลา’ ให้เรื่องราวดำเนินไปจนอิ่มเอมในทุกองค์ประกอบหลัก และองค์ประกอบย่อยที่ช่วยเสริมสร้างให้ภาพเหล่านั้นแข็งแรง

ตัดภาพมาที่หนังสือเล่มแรก และเล่มที่สองที่ออกมาไล่เลี่ยกัน ในฐานะเรื่องสั้นที่เราเอามาแนะนำกันอย่าง You sadly smile in the profile picture (2562), The Morning Flight to sad francisco (2563) ท่าทางการเขียนถือได้ว่าน่าสนใจ เพราะเวลาเราอ่านงานเขียนนี้ เรารู้สึกเสมือนกับว่ามันถูกพูดด้วยน้ำเสียง Voice over กรอกหูตลอดเวลา ด้วยรูปแบบการเขียนอย่างที่เราล้อมาในช่วงต้น ซึ่งเน้นการเกริ่นเล่าเฉพาะชื่อ ลักษณะนิสัย เหตุการณ์โดยคร่าว ก่อนจะพาเราดำดิ่งเข้าไปสู่เนื้อหาที่เล่าอย่างกระชับ แต่เต็มไปด้วยใจความที่น่าสนใจมากมาย

“ปกติอรชุดาเป็นนักข่าวสายลงพื้นที่
แต่เธอเพิ่งได้รับตำแหน่งงานใหม่
ต้องมาทำรายการเยี่ยมบ้านไฮโซแทน”

“วิมลพรอายุ 56 ปี
วิมลพรทำงานแผนกสินเชื่อที่ธนาคารกลางเมือง
วิมลพรชอบลุกให้เด็กนั่งบนรถไฟฟ้า”

เนื้อหาส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยท่าทีดังกล่าว เรามองว่าความแตกต่างของวิธีเล่าเรื่องนี้ช่วยขับเน้นวิธีการรับสารจากเรื่องสั้นเหล่านี้ได้แบบครบถ้วน เพราะเกริ่นสั้น เล่ากระชับ อ่านจบได้ในไม่กี่อึดใจ และเบนซ์ยังแนะนำผู้อ่านไว้ด้วยว่าหลังอ่านเรื่องสั้นจบแต่ละเรื่อง ให้ทิ้งเวลายาว ๆ สักหน่อย อย่าเพิ่งอ่านเรื่องถัดไปทันที

อีกทั้งเนื้อหาส่วนใหญ่ทั้งหมดก็มีความเป็นเบนซ์อย่างแยกจากกันไม่ออกนัก ทั้งเรื่องสั้นเกี่ยวกับเหตุการณ์การแจกลายเซ็นในงานหนังสือ เรื่องสั้นเกี่ยวกับการจิกกัดเรื่อง Nonsense ของสังคมไทย เรื่องสั้นเกี่ยวกับตัวละครที่ทำงานในกองถ่าย หรือเรื่องสั้นที่ตัวละครมีวิธีคิด พฤติกรรม หรือการแสดงออกทางความคิดคล้ายคลึงกันกับที่เขาเคยเล่าเรื่องตัวเองตามบทความ หรือรายการสัมภาษณ์ต่าง ๆ ที่หาดูได้ทั่วไป

ทั้งหมดหลอมรวมกันเป็นแนวทางของการเป็นเรื่องสั้นที่มีท่าทีเฉพาะตัว และหาใครเทียบเคียงยากเหลือเกิน

จนมาถึงหนังสือเล่มล่าสุดอย่าง You ghost me every sadturday night (2567) ที่มีท่าทีในการนำเสนอแตกต่างออกไป แต่ก็ยังคงไว้ด้วยท่าทีในความคิดความอ่านที่ใกล้เคียงกัน จากการเล่าเรื่องด้วยวิธีเขียนแบบทั่วไปขึ้น เป็นย่อหน้า ๆ ไม่พิมพ์ไว้หนึ่งวลี หนึ่งข้อความ แล้วขึ้นบรรทัดใหม่เหมือนเล่มก่อน ๆ และทำให้เนื้อหาอิ่มขึ้นผ่านการสอดแทรกการพรรณนาโวหารไว้เล็กน้อยถึงพองาม รวมถึงยึดแก่นเรื่องของหนังสือเกี่ยวกับการตั้งคำถามเรื่อง ‘ความเชื่อ’ ของคนไทย ที่เต็มไปด้วยความไร้เหตุผล แต่น่าสนใจจนเกินไป และทำให้เบนซ์อยากหยิบประเด็นเหล่านั้นมาเติมวิธีคิดที่สมเหตุสมผล จนกลายเป็นเรื่องสั้นเล่มใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม

เรามองว่าหากใครชอบงานโฆษณาของเบนซ์อยู่แล้ว งานเขียนซีรีส์นี้ก็ถือเป็นหนึ่งเนื้อหาที่ไม่ควรพลาด เพราะมันเป็นพื้นที่ของพล็อตเรื่องที่ทำให้เขาได้เล่าเรื่องในแบบตัวเอง ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ดีเลยทีเดียว

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป