‘เก๋-บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์’ เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัว เติบโตมาในบ้านที่เป็นโรงงานทำรองเท้าบักเซ้ง กิจการของอากงอาม่า ทุกพื้นที่คือการทำรองเท้าทั้งหมด ในทุก ๆ วันที่เธอเปิดประตูห้องออกไปจะได้กลิ่นกาว จะเห็นอาจารย์ช่างทุกคนกำลังประกอบรองเท้า ทากาว แพ็กของ เธอเติบโตมากับพี่ชายทั้งสองคนที่เล่นกันโดยเอากล่องรองเท้ามาเล่นซ่อนแอบ เอากระป๋องกาวมาเตะเป็นลูกบอล element รอบตัวเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันจนหล่อหลอมให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของแบรนด์ที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่าถึงความงดงามของคนในครอบครัว
อะไรที่ทำให้แบรนด์หนึ่งโดดเด่นในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน? สำหรับเก๋ คำตอบคือ “เรื่องราว” ทุกผลิตภัณฑ์ของเขาเล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาจากครอบครัว ความฝัน และวิถีชีวิตที่แท้จริง แล้วคุณล่ะ พร้อมจะหลงรักงานคราฟต์ที่มีหัวใจอยู่ข้างในหรือยัง?
สาวถาปัด จุฬาฯ ที่จบมาแล้วเป็นนักออกแบบรองเท้าและกระเป๋า
“เก๋จบสถาปัตย์ จุฬาฯ ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน หลาย ๆ คนอาจจะงงว่า เฮ้ย!!! ทําไมสาวสถาปัตย์มาทําแบรนด์ ทําธุรกิจ”
“เก๋ว่าเหมือนโชคดีที่เราเรียนสถาปัตย์ เพราะมันเป็นศาสตร์ของวิทยาศาสตร์กับศิลปะความงามเลยทําให้เราสามารถที่จะวิเคราะห์ และเข้าใจในเรื่องของผู้ใช้งาน วิเคราะห์เข้าใจในตัวโปรแกรม หรือสิ่งที่เรากําลังจะทํา แล้วคลี่คลายออกมาเป็นตัวความสวยงาม หรือโปรดักส์ยังไงได้บ้าง
หลังจากที่งงแรกไม่พอ ก็งงกันเข้าไปอีกว่า ‘เฮ้ย!!! ที่บ้านเป็นโรงงานทํารองเท้า ทําไมมาทํากระเป๋าก่อน’”

“เก๋เริ่มมาจากทำแบรนด์กระเป๋า ‘31 ธันวา’ ก่อน เรารู้สึกว่ากระเป๋าเป็นพาร์ทที่เราใช้องค์ความรู้เราได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าไม่ต้องมีหุ่น อย่างเสื้อผ้าต้องมีอก เอว สะโพก เราต้องเรียนรู้แพทเทิร์น อย่างรองเท้ายิ่งยากที่สุดเลย ก็ต้องมีหุ่นรองเท้า ต้อง fit in กับหุ่น เรารู้สึกว่า โอ้โห!! แต่ละขั้นตอนมันยากอ่ะ แต่ว่ากระเป๋ามันไม่ต้องมี เพียงแค่เราสร้าง structure ที่สวย functional ที่ให้คนใช้งานได้ และทําให้คนใช้ได้จริง เราก็เลยเอาความรู้สถาปัตย์ ในการที่เราจะสร้างรูป ฟอร์ม สร้างฟังก์ชัน สร้างความสวยงาม
อยู่ดี ๆ วันหนึ่ง เก๋เอากระเป๋าเข้ามา แล้วชวนให้ทุกคนมาทำกระเป๋ากัน สิ่งที่เกิดก็กลายเป็นความสนุกของคนในบ้าน เพราะเป็นการพาให้ทุกคนได้ทำอะไรใหม่ ๆ เพราะทุกคนทำรองเท้ามากันทั้งชีวิต เราก็ไม่เคยทํา ช่างก็ไม่เคยทํา โชคดีที่อาจารย์ช่างฝีมือ เขาพร้อมที่จะลุยกับเรา”

“เขาบอกว่า เขาก็ทํากระเป๋าไม่เป็นนะ แต่ว่าเขามีองค์ความรู้ที่เขาจะให้เก๋ได้ ส่วนเก๋ก็บอก เก๋ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้เลยนะ แต่ว่าสิ่งที่เก๋จะให้เขาได้คือเรื่องของดีไซน์ เหมือนนักวิทยาศาสตร์อยู่ด้วยกัน 2 คน มุ่งมั่นทำกัน 2 คน ไปจนถึงด่านสุดท้ายเหมือนด่านอรหันต์ของป๊า
จําได้ว่าใบแรกทําไป อาป๊าโยนทิ้ง ใบที่ 2 โยนทิ้ง จนกระทั่งใบที่ 30 เป็นใบสุดท้ายที่บอกกับอาจารย์ว่า ‘ถ้าเราทําด้วยกันใบนี้แล้วไม่เวิร์ค คงสิ้นสุดทางเลื่อนของเราสองคนแล้ว’ เก๋จำโมเม้นท์ในวันนั้นได้แม่นมาก คือ ถือกระเป๋าใบที่ 30 ที่เราทำยื่นไปให้อาป๊า อาป๊าหมุนดูนานมาก ไม่พูดอะไรเลย แล้วเขาก็ยื่นกลับมาบอกว่า ‘สวยดีนะ’ แค่ประโยคนี้แบรนด์ ‘31 ธันวา’ ก็เกิดขึ้น
เรารู้สึกว่า มันไปต่อได้ มันเอาองค์ความรู้ของการทํารองเท้ามาสู่กระเป๋า หรือว่ามาสู่ product lifestyle อื่น ๆ ก็ได้ ทําให้เรามี passion ในการที่จะทําแบรนด์ แล้วเราก็ลุกขึ้นมาทําแบรนด์กระเป๋า ก่อนที่จะเป็นแบรนด์รองเท้า”

31 ธันวา ที่มาจาก “ครอบครัว”
“ตอนที่เราลุกขึ้นมาจะทําแบรนด์ ก็ปรึกษาพี่ชายคนที่สอง คือ เฮียเม้ง (ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ – หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Creative Director ชูใจกะกัลยาณมิตร) เฮียเม้งกับเก๋จะคล้าย ๆ กันเพราะเราจบสถาปัตย์ จุฬาฯ เหมือนกัน เฮียจะเป็นสาย creative เก๋ไปบอกให้เฮียช่วยตั้งชื่อแบรนด์ให้หน่อย เฮียเม้งบอกว่า ต้องตั้งชื่อแบรนด์ที่ represent ความเป็นเก๋ที่ไม่เหมือนใคร
ตอนแรกชื่อมาเยอะมากเลยค่ะ นู่น นี่ นั่น แต่สุดท้ายเฮียเม้งก็บอกว่า ‘วันเกิดไง วันเกิดเก๋อ่ะ เป็นวันที่ทุกคนจําได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือว่าคนรอบตัว’
เก๋เกิดวันที่ 31 ธันวา เลยรู้สึกว่าเออ!!! ดีอะ วันเกิดมันมี meaning สําหรับเราด้วย ก่อนที่เก๋จะมาทําแบรนด์ การใช้ชีวิตของเราจะเป็นอีกคนหนึ่งเลย แต่พอมันมี turning point ในงานที่เราลุกขึ้นมาทําแบรนด์ เรากลายเป็นอีกคนหนึ่งไปเลย กลับมาใช้ชีวิตในรูปแบบจริงจัง ไม่เละเละเทะเทะเหมือนแต่ก่อน เราก็เลยรู้สึกว่า วันเกิดเรามันสําคัญ”

“เราเกิดมาในครอบครัวช่างฝีมือ ทุกคนทําให้เรามีกินมีอยู่สุขสบายจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะว่าเราเกิดมาในครอบครัวช่างฝีมือไม่ใช่เหรอ ดังนั้น…พอวันที่เราทําแบรนด์เราอยากจะเอาสิ่งนี้เทิร์นให้กับทุกคนในครอบครัว ให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่สวยงาม ให้เขาแข็งแรง เหมือนอย่างที่เขาส่งต่ออะไรหลาย ๆ อย่าที่ทําให้เรามีทุกวันนี้ เรารู้สึกว่า 31 ธันวา นี่แหละ จะเป็นการส่งต่อที่ทําให้ทุก ๆ คนในครอบครัว ทุกคนในโรงงานได้ไปต่ออย่างสวยงาม”
เมื่อช่างรองเท้าถ่ายทอดจิตวิญญาณผ่านการทำกระเป๋า
เราจะไม่ได้บอกคนอื่นว่า…
เราเป็นแบรนด์กระเป๋าที่สวยที่สุดในโลก
แต่เราจะบอกว่า…
เราเป็นแบรนด์กระเป๋าที่ทําโดยช่างทํารองเท้า
“ทุกคนจะแบบว่า…ทำไมอ่ะ ทำไมอ่ะ???”
“เราก็จะย้อนกลับไปว่า รองเท้าเป็นส่วนที่คุณนำไปใส่ เอาไปใช้แล้วมันต้องทนที่สุดไม่ใช่เหรอ? ดังนั้นเห็นไหมว่า เทคนิคงานฝีมือต่าง ๆ ที่ทําให้ส่วนที่ทนทานที่สุด เอามาทํากระเป๋าได้ และที่มันเจ๋งไปกว่านั้น คือ ลวดลายการทํามือ เทคนิคต่าง ๆ เอามาทํากระเป๋าที่เป็นงานศิลปะได้ แล้วทําให้เกิดความ unique ใน detail ของมัน
เก๋คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ใครๆ รู้สึกว่า นี่คือจุดเด่นของแบรนด์เรา ไม่ว่าจะเป็นสีสัน ลวดลาย การเย็บ หรือความทนทานต่าง ๆ มาจาก craftmanship ที่มาจากคนที่ทํารองเท้าจริง ๆ ดังนั้นจึงทําให้กระเป๋าเรามีความที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และค่อนข้างที่จะจดจําได้ค่ะ”

“อีกเรื่องที่สำคัญเข้าไปอีก กระเป๋าของเราทำใบต่อใบ คนต่อคน ก็คือลูกค้าหนึ่งคน อาจารย์ช่างฝีมือหนึ่งคน กระเป๋าหนึ่งใบ มันก็เลยทําให้กระเป๋าของเราเป็นเหมือนกับสะพานเชื่อมใจจากคนที่ทําไปสู่คนที่รับ กระเป๋าใบนี้มันจึงมีคุณค่าต่อหัวใจทั้งคนที่ทํากับคนที่รับด้วย
เวลาที่คุณได้กระเป๋าไป จะมีนามบัตรอยู่ในกระเป๋าใบนั้น ถ้าคุณสแกนคิวอาร์โค้ด คุณจะรู้จักชื่อ จะรู้จักชีวิตของอาจารย์ช่างคนนั้นที่ทํากระเป๋าใบนี้ให้คุณ มันเลยทําให้ส่งต่อพลังว่า เฮ้ย!!! กว่าจะมาเป็นกระเป๋าใบนี้ มันไม่ได้ง่ายนะว่าอาจารย์กว่าจะมาเป็นช่างได้อ่ะ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง จนเขามีองค์ความรู้ มีทุกวันนี้ และวันนี้เขาได้ทํากระเป๋าใบนี้ให้กับคุณ เรื่องราวเหล่านี้ทําให้ลูกค้า 31 ธันวา ทุกคนจะ believe จะชอบในคุณค่าของแบรนด์ที่ว่า ทุกครั้งที่เขาใช้กระเป๋าใบนี้ จะทําให้เขาได้เห็นพลังของคนทํา”

“เก๋ชอบ message หนึ่งที่ลูกค้าให้เก๋มากเลย เขาบอกว่า ในวันที่เขารู้สึกว่ามันเป็น bad day แล้วเขาใช้กระเป๋าใบนี้อยู่ เขาจะนึกถึงอาจารย์คนที่ทํากระเป๋าใบนี้ให้ แล้วเขารู้สึกขอบคุณอาจารย์ที่ส่งต่อพลังดี ๆ ที่ทําให้เค้ารู้สึกว่า เออ!!! มันก็ไม่ได้ bad day นะ ยังมีคนที่สู้ชีวิตมากกว่าเรา มีคนที่เขาพยายามมากกว่าเรา แล้วเขาก็ไปต่อได้”

เมื่อความสำเร็จไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
จากยอดขายจึงกลายมาเป็นคุณค่าที่จับต้องได้
“กว่า ‘31 ธันวา’ จะมีวันนี้ กว่าจะมีโมเดลธุรกิจที่เป็นลักษณะแบบนี้ เราผ่านการเรียนรู้มาเยอะมาก ไม่มีใครหรอก ที่วันแรกจะลุกขึ้นมาทําแบรนด์แบบมีทางของตัวเอง หรือมีวิธีของตัวเองที่ชัดเจน เราเห็นคนที่เขาประสบความสําเร็จทําอะไร เราก็เดินตาม เขาไปออกสื่อที่ไหน ไปโชว์รูมที่ไหน ไปต่างประเทศ เราก็ไป ทําตามแพทเทิร์นปกติเลย
จนกระทั่งวันหนึ่งเราคิดว่า มันเป็นวันที่ประสบความสําเร็จของแบรนด์เรา คือดาราตัวท็อป อินฟลูเอนเซอร์ตัวท็อปมาซื้อแล้วเอาไปใช้ โอ้โห!!! ประสบความสําเร็จแล้ว กลายเป็นว่าลูกค้ามาซื้อตามดาราเต็มเลย เราก็คิดว่า เรามาถูกทางแล้ว แต่ปรากฏว่า สิ่งที่ตามมามันคือฝันร้ายของแบรนด์มาก ๆ กลายเป็นว่าด้วยความที่เราผลิตใบต่อใบ แต่ออเดอร์ยาวเป็นหางว่าว เพราะเราโหยในการที่จะรับออเดอร์ ในการที่เราอยากจะมีเงิน พอออเดอร์ยาว เราก็อาจจะควบคุมคุณภาพ ควบคุมอารมณ์ หรือว่าความต้องการของลูกค้าไม่ทันในการตอบสนองเขา ก็เลยทําให้กลายเป็นว่าจากที่มีความชื่นชม ก็จะเริ่มมี อุ๊ย!!! ทําไมยังไม่ได้นู่นนี่นั่น”

“สุดท้ายมันคือฝันร้ายของแบรนด์ ที่เราประสบความสําเร็จ ที่เรามีเงินเยอะ คนรู้จักเยอะ ดาราใช้ มันก็ใช่ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เรียนรู้ว่า มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ยั่งยืน แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น มีมา แล้วก็ดับไป วันหนึ่งหลาย ๆ แบรนด์ก็จะทําแบบเราได้ เราก็รู้สึกว่า ไม่ได้ละ เราต้องย้อนกลับมาว่าจริง ๆ ณ วันแรกเราต้องการที่จะทําอะไร กลับมาที่ Firstdraft ของเราว่า จะทําแบรนด์เพื่อให้ทุกคนในชีวิตในครอบครัว ทุกคนในโรงงานไปต่อได้อย่างสวยงามไม่ใช่เหรอ?
ดังนั้นก็เลยกลับมาที่หัวใจของแบรนด์อีกทีหนึ่ง เลยเป็นที่มาว่า เรากล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจว่าจากแต่ก่อนเป็นแมส กระเป๋ามีสต๊อก เราจะไม่ทําสต๊อกอีกต่อไป เราจะทํากระเป๋าแค่ใบต่อใบ คนต่อคนเท่านั้น เพื่อที่ทําให้กระเป๋าใบนี้มีคุณค่า ตั้งแต่คนทําก็ตั้งใจทํา เพราะรู้ว่าคนที่รับเขารออยู่
ส่วนคนรับก็ตั้งใจที่จะรอรับ เขาจะรู้ว่าคนที่ออกแบบ สีที่ใช่สำหรับตัวเขา กำลังจะส่งถึงมือเขาแล้วนะ ให้เขาได้เอาไปใช้นะ สิ่งเหล่านี้ทําให้แบรนด์แข็งแรงขึ้น แล้วก็งดงามมากขึ้น แล้วก็ทําให้อาจารย์ช่างฝีมือทุกคนเป็นที่จดจํากับตัวลูกค้าเองด้วย พอเรากลับมาอยู่ในจุดที่ใช่สําหรับเรา ใช่สําหรับครอบครัว ใช่สําหรับทุกชีวิต ทุกคนในโรงงาน มันสวยงามไปหมดเลยค่ะ แล้วก็กลายเป็นว่า เราก็ไม่ต้องเหนื่อยที่จะวิ่งตามคนอื่น เราก็เหมือนเจริญรอยตามไปในสิ่งที่ที่เราตั้งใจจะทํา ณ วันแรกที่เราตั้งใจจะทํา แล้วก็ทําให้ทุกวันนี้ แบรนด์ ‘31 ธันวา’ ชัดเจนด้วยคุณค่าของมันเอง”

Youngfolks ที่แปลว่า “ครอบครัว”
เราจะพูดตลอดว่า…
Youngfolks เป็นแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่รองเท้านะ
แต่เราขายความสัมพันธ์
“ถ้าไม่มี 31 ธันวา คงไม่เกิด Youngfolks”
“Youngfolks เกิดขึ้นเพราะว่าเราทํา 31 ธันวาไปประมาณ 5 ปี เราเริ่มเข้าใจขั้นตอนในการทําแบรนด์ ในการทําธุรกิจ เข้าใจ structure ของมัน เป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนในครอบครัวเห็นด้วยว่ามันเป็นไปได้ เราสามารถทําได้ ก็เลยรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วล่ะ เราเกิดมาจากรองเท้าทําไมเราถึงไม่ทํารองเท้า? ก็เลยชวนเฮีย ๆ กลับมาบ้านกัน…กลับมาทํารองเท้า เป็นการที่ 3 พี่น้องกลับมาทําอะไรด้วยกันอย่างจริงจังกับแบรนด์รองเท้าที่เป็นแบรนด์ Youngfolks“


เราถามเก๋ต่อว่าทำไมถึงตั้งชื่อแบรนด์ว่า Youngfolks มีความหมาย มีที่มายังไง?
“ชื่อแบรนด์เนี่ย ตลกมากค่ะ ให้เฮียเม้งเป็นคนตั้งชื่อแบรนด์อีกเหมือนเดิม brainstrom กัน ชื่อแบรนด์อะไรดีที่มันจะ represent ความเป็น 3 พี่น้อง ตอนแรกถึงขั้นที่จะใช้ชื่อเล่นของทุกคนเลย ‘ซ้ง เม้ง เก๋’ เฮียเม้งบอกว่า ‘เฮ้ย!!! มันต้องดังแน่ ๆ เลย‘ แต่เราบอกว่า ‘มันไม่ได้นะ’ เราคิดกันเยอะมากค่ะ สุดท้ายมันมาลงตัวที่เพลงเพลงหนึ่ง
เก๋ชอบเพลง Youngfolks แล้วก็เรารู้สึกว่า คําว่าYoungfolks มันเท่ดีนะ Young ก็คือคนรุ่นใหม่ young generation เปรียบเหมือนทายาทรุ่นที่ 3 folks แปลว่าครอบครัว มีกลิ่นวินเทจนิดๆ ทําให้ young มีความเป็นแบบโมเดิร์น Folks มีความเป็นวินเทจ ทําให้เกิดเป็นครอบครัวทํารองเท้า ที่ยังมีจริตของความวินเทจอยู่ แต่เอามาพูดในภาษาใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ ก็เลยเป็นที่มาของ Youngfolks ที่เป็นแบรนด์ ที่เป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ของความที่เป็นครอบครัวทํารองเท้า”

“เราจะพูดตลอดว่า Youngfolks เราเป็นแบรนด์ที่ไม่ใช่แค่รองเท้า แต่เราขายความสัมพันธ์ มันก็จะเป็นเหมือนกับคําพูดที่ทุกคนฟังแล้วก็งง ว่าทําไมไม่ขายรองเท้าล่ะ เพราะว่าถ้าหลายหลายแบรนด์ ที่มีแบรนด์เฮอริเทจยาวนานขนาดนี้ เขาลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันเป็นแบรนด์รองเท้าที่เย็บสวยงามสมบูรณ์แบบ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจหลัก
ในวันแรกที่เรากลับมาทําแบรนด์ เรากลับมาเพราะว่า เราอยากให้ทุกคนกลับมาบ้าน กลับมาอยู่กับครอบครัว กลับมาทําในสิ่งที่ครอบครัวเราตั้งต้น ตั้งแต่รากเหง้า ตั้งแต่รุ่นอากง กลับมาหาป๊า มาอยู่กับพ่อแม่ กลับมาใกล้อาจารย์ช่างฝีมือมากขึ้น มันก็เลยเป็นกลิ่นที่เป็นแฟมิลี่ที่ชัดเจนมาก เพราะเรารู้สึกว่า เราอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้กับหลาย ๆ คน เพราะว่าแต่ก่อนเราเป็นคนไกลครอบครัว เราเป็นคนที่ไปหาความสุขข้างนอกบ้าน แต่พอวันหนึ่งที่เรามาทําแบรนด์ เรารู้สึกว่าทุกคนกว่าจะมามีวันนี้ได้ กว่ารองเท้าจะเสร็จสัก 1 คู่ กว่าจะทําโปรดักส์สัก 1 ชิ้น มันยากลําบากมาก แล้วมันก็เลยทําให้เรายิ่งอินมั้งคะ ว่าทุกชีวิตในโรงงานเป็นเหมือนเฟืองที่ขับเคลื่อน ทําให้ครอบครัวเราแข็งแรง แล้วก็มีกันอยู่ทุกวันนี้”

“คําว่า “ครอบครัว” หรือ “ความสัมพันธ์” จึงเป็นหัวใจหลักของ Youngfolks ที่เรามักจะเล่าเรื่องนี้นํามากกว่าเรื่องงานฝีมือด้วยซ้ำ ถ้าสังเกตในสตอรี่ของ Youngfolks จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวเยอะมากค่ะ กลายเป็นว่าลูกค้าทุกวันนี้ติดตามจนบอกว่า รวมเล่มไหมคะ อยากจะอ่าน อยากติดตามแล้วกลายเป็นลายเซ็นของแบรนด์ไปแล้วว่าเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้ยัดเยียดในเรื่องของโปรดักให้ลูกค้า รองเท้าฉันใส่ดี เธอต้องซื้อ แต่เราบอกว่า คุณยังไม่ต้องซื้อรองเท้าฉันก็ได้ แต่เราอยากจะส่งมอบให้เป็นแรงบันดาลใจ อยากให้เรื่องราวของครอบครัวเราไปสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในครอบครัวอื่น ๆ มาเดินไปด้วยกันกับเรานะ
เหมือนกับในรูปทุกรูป หรือว่าในเรื่องราว เราก็จะพูดจากเรื่องที่ใกล้ตัวก่อน เรื่องของคนในครอบครัว อย่างเช่น lookbook collection จุดแจ้งเกิดของ Youngfolks ที่ทุกคนจําได้ ตอนแรกที่เราจะถ่าย เราคิดว่าเอาโมเดลฝรั่งมาดีมั้ย ขายาว ๆ แต่เราทุกคนก็คิดตรงกันว่า ไม่ใช่จริตของ Youngfolks
Youngfolks มีความจีนบ้าน ๆ ครอบครัวจีนโช้งเช้งหน่อย เราก็เลยเกิดไเดียว่าเรามาถ่ายกันเองป่ะ เรามาเป็นนายแบบนางแบบกันเอง เพราะรู้สึกว่า เราไม่ได้ถ่ายรูปครอบครัวกันเลยนะ พอทุกคนโต ทุกคนก็ไกลบ้าน ในเมื่อวันนี้เรากลับมาบ้าน ทําไมเราไม่เอา lookbook แรกคือการถ่ายรูปครอบครัว ก็เลยเป็นการสนุกที่ว่า ตั้งแต่พี่สะใภ้ทุกคนก็มารวมตัวกัน แล้วก็เป็นนายแบบนางแบบใส่เอง”

“มันคือความจริงในการนําเสนอรองเท้าให้ลูกค้า เรารู้สึกว่าเราขายด้วยความจริงใจ แล้วพอรูปมันออกไป เราก็เลยอยากจะเล่าให้ลูกค้าของเราฟัง ก็เลยเล่าเรื่องสตอรี่ของคนในบ้าน ความสัมพันธ์ของคนในบ้าน กลายเป็นว่าเกิดเป็นไวรัลในเฟซบุ๊ก โดยที่พวกเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะไปถึงขนาดนั้น แต่ว่าเราเล่าด้วยความจริงใจ กลายเป็นว่าเกิด engagement โดยที่ลูกค้าหรือว่าคนที่พบเห็น เข้ามาแท็กบอกว่าเหมือนครอบครัวฉันเลย หรือบางทีก็มาแท็กว่าคิดถึงแม่นะ บางคนก็มาแท็กบอกว่ากลับไปจะไปทําดีกับแม่นะ กลายเป็นว่าแบรนด์เราทําให้เรื่องราวของเรา ไม่ใช่แค่ส่งต่อแค่รองเท้านะ แต่ส่งต่อแรงบันดาลใจ หรือว่าความสัมพันธ์ดี ๆ ให้ทุกคนได้กลับไปบ้านอีกครั้งหนึ่ง
ลูกค้าของ Youngfolks มีเป็นอากงอาม่าก็ หลานสาวที่อยากซื้อรองเท้าให้อากงใส่ generation เริ่มกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เลยกลับไปที่แบรนด์ของเราว่า เราอยากจะทํารองเท้าให้ทุกคนได้ใส่ ในเมื่อมีอากงอาม่าใส่ได้ คุณพ่อ คุณแม่ คุณน้า คุณตา ใส่ได้ แต่เราเป็น generation ที่จะเริ่มมีลูกเล็ก ๆ แล้ว ส่วนตัวเราก็มีหลานแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า เราต้องการทํารองเท้าที่ให้ทุกคนในครอบครัวได้ใส่
เราเลยคิดถึงว่า gen เด็ก ๆ ก็จะเป็น gen ที่เขารู้สึกว่า เขาก็อยากใส่รองเท้าสวย ๆ เหมือนทุกคนในบ้าน ก็เลยทํารองเท้าเด็กขึ้นมา รองเท้าสําหรับเด็กวัยอนุบาล ใส่เดินไปด้วยกัน แล้วก็ได้เดินหน้าไปพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยกัน
เก๋มีหลานแล้ว เลยยิ่งอินมั้งว่า เราก็อยากให้เขาเติบโตไปในสิ่งที่สวยงามในแบบที่เราเป็น พอหลานเราเห็นเราทําแฟชั่น เหมือนเป็นการส่งต่อความชอบที่เราชอบแฟชั่นหรือดีไซน์ไปให้หลาน หลานก็ชอบแต่งตัว หลานก็ชอบรองเท้า แล้วหลานก็ชอบออกแบบ เขาจะมีไอเดียมาบอกเรา ให้ติดโบแบบนี้นะ สีแบบนี้ใช้ได้เลย เขาก็จะกลายเป็นดีไซเนอร์โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจะสอนเขา แต่มันถูกส่งต่อไปหาเขาโดยไม่รู้ตัว”

ของขวัญจากป๊า : ‘ครอบครัว’ ที่ไม่ใช่มีแค่ ‘เรา’
อาป๊าจะนิ่ง ๆ
เขาไม่เคยสอนอะไรเลย
แต่ว่าเวลาพูดทีนึง อื้อหือ!!! มีดกรีดเลย
“ป๊าจะเป็นคอมเมนเตเตอร์อย่างเดียว ไม่เคยชมอะไรเราเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ป๊าสอนเรา พูดอยู่เรื่องเดียวตั้งแต่เด็กยันโต หรือกระทั่งมาทําแบรนด์ ป๊าจะพูดเสมอว่า “คําว่าครอบครัวสําคัญ ไม่ว่ายังไงก็คือให้รักกันไว้” คําว่าครอบครัว คือ ของขวัญที่อาป๊าอยากส่งต่อ อยากให้เราดูแลมันต่อไป เพราะว่าอาป๊าเติบโตมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ success ที่เป็นครอบครัวสมบูรณ์แบบ เขาก็เลยรู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งที่เขามีครอบครัวของเขาเองก็อยากจะทําให้มันแข็งแรง แล้วเขาก็อยากจะเอาสิ่งนี้ให้เราส่งต่อไปให้กับรุ่นอื่น ๆ หรือว่าทุกชีวิตในโรงงาน
คำพูดของป๊ายังอยู่ในใจของเราเสมอ คือวันที่อาป๊าป่วยหนัก เราก็เลยบอกว่า ทําไมอาป๊าป่วยหนักขนาดนี้ ป๊าไม่ต้องทํางานหนักขนาดนี้แล้ว ลูกทุกคนดูแลตัวเองได้แล้ว ป๊าก็บอกว่า ป๊าทําเพื่อทุกคนในครอบครัว เราก็บอกว่า อ้าว!!! พวกเราก็ดูแลตัวเองได้แล้วไง ป๊าพอแล้ว ป๊าบอกว่า “ไม่ใช่แต่ครอบครัวนี้ แต่คือทุกชีวิตในโรงงานคือครอบครัวของป๊า” แค่ประโยคนี้สั้น ๆ มันเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางความคิดของเราเลยนะ จากที่เป็นเด็กเกเร ทำให้กลับมาเห็นคุณค่าและความสำคัญของคำว่า “ครอบครัวของป๊า” ว่ามันสําคัญมาก”

“เก๋เปลี่ยนจากอีกคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย ในแง่ของจิตใจหรือว่าความรู้สึก จากแต่ก่อนเป็นคนที่ไกลบ้าน ไม่เอาครอบครัว พูดจาไม่ดีกับคนในครอบครัว เป็นทุกอย่างที่ตรงข้ามกับตอนนี้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าครอบครัวมาอันดับหนึ่ง รักครอบครัวมาก แล้วก็อินในสิ่งที่ทุกชีวิตในโรงงานเคยทําให้เรา และเรามีวันนี้ ดังนั้น เรารู้สึกว่าทุกวันนี้สิ่งที่หล่อหลอมทำให้เรากลายเป็นเราที่ดี เป็นเราใน the best version เราจึงอยากจะเทิร์นกลับไปให้กับทุก ๆ
การทําแบรนด์ไม่ใช่แค่ว่าหล่อหลอมให้คุณเป็นนักธุรกิจที่ดีอย่างเดียว แต่มันหล่อหลอมไปถึงขั้นชีวิต ความคิด ไลฟ์สไตล์ หรือว่าการที่คุณจะก้าวต่อไปยังไง ให้เป็นแบรนด์ที่ดีและยั่งยืนได้ เพราะว่าไม่ใช่แค่ตัวเราเอง แต่ทุกชีวิตทุกคนในครอบครัวจะได้เดินไปด้วยกันอย่างยั่งยืนจริง ๆ
เรามีวันนี้เพราะเขา เขามีวันนี้ก็เพราะเรา เหมือนกับว่าเราก็ต้องอยู่ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ดังนั้น เราก็เลยรู้สึกว่าคําว่าครอบครัวมันคือของขวัญ แล้วก็เป็นคติประจําใจที่เราจะรักษามันต่อไป”
ความสำคัญของ Storytelling = คุณค่าของแบรนด์
“แบรนด์เก๋มันค่อนข้างโดดเด่นใน Storytelling ไม่ว่าเป็น 31 ธันวา หรือ Youngfolks ทําไมเราต้องมี Storytelling ทําไมต้องมีเรื่องเล่า?”
“การที่เราลุกขึ้นมาทําแบรนด์ เก๋ว่าบางทีเรามัวแต่จะขายโดยที่ไม่ได้สร้างภูมิให้กับแบรนด์ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เหมือนกับวันหนึ่งที่เราขึ้นไปได้ วันหนึ่งมันก็ลงมาได้ ไม่มีอะไรที่ทําให้คนจดจํา แต่การที่เรามี Storytelling เป็นการที่ค่อย ๆ พาทุกคนเดินทางไปกับเรา รู้ว่าแบรนด์ของเราทําอะไร มีคุณค่าตรงไหน เราต้องการจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้ใคร
เก๋ว่ามันทําให้กลุ่มลูกค้าค่อย ๆ ที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับเรา ค่อย ๆ เข้าใจและเข้าถึงคุณค่าในสิ่งที่เรากําลังจะทําอย่างจริงจัง แล้วก็เกิดความยั่งยืน ในเวลาที่ลูกค้าพูดถึง Youngfolks หรือ 31 ธันวา ลูกค้าทุกคนจะพูดถึง Storytelling หรือคุณค่าแบรนด์ของเราให้คนอื่นฟังแทนเราได้หมดเลย เก๋ว่าอันนี้มันยิ่งเจ๋งกว่าอีก แปลว่า Storytelling ที่เราตั้งใจ ทํามาแล้วส่งต่อไป มัน deliver ไปหาลูกค้าเอง และลูกค้าสามารถที่จะ deliver ไปให้คนรอบ ๆ ตัวให้เขามาหาเราได้โดยที่เราไม่ต้องบอกหรือพูดกับเขาอีกแล้ว เก๋ก็เลยรู้สึกว่า Storytelling สําคัญมาก ๆ ค่ะ”

Covid – 19 บทเรียนบทใหม่ของชีวิต
“เป็นช่วงที่โหดมากสําหรับเก๋เลย”
“ถ้าทุกคนจําได้มันเกิดขึ้นเร็วมาก โควิดแรก คนติดกันระนาว โรงงานเราก็เริ่มมีคนติดโควิด แล้วเราก็ไม่รู้จะรับมือยังไง พอโควิดรอบแรก อาป๊าติดเชื้อในกระแสเลือด เข้าไอซียู แล้วอยู่ดี ๆ รัฐบาลก็ประกาศปิดห้างอีก คือทุกอย่างเกิดวันเดียวกัน โหดมากสําหรับเราในตอนนั้น
เราทําอะไรไม่ได้เลย ต้องรักษาอาป๊าก่อน โรงงานก็ปิด พออาทิตย์ต่อมา เพราะคูหาในโรงงานมันเก่าแล้ว ดินมันสไลด์ โรงงานถล่มเหมือนวันโลกาวินาศ เราต้องลงเสาเข็มใหม่ ตอนนั้นเครียดมาก เงินที่ต้องใช้รักษาป๊า รักษาคนในโรงงานที่เป็นโควิด ไหนจะซ่อมโรงงานอีก โอ้โห!!! มหาศาลมากแล้ว ห้างก็ปิดอีก ไม่ให้เราได้พักเลย
บททดสอบพระเจ้ามาแบบรัว ๆ มาก เราต้องตั้งสติค่ะ สุดท้ายคือ ถ้าเราไม่มีสติมันอาจจะไม่มาถึงวันนี้ก็ได้
เราก็ตั้งสติว่าเราทําอะไรได้บ้างในช่วงโควิด กลับมาตั้งต้นว่าแบรนด์เราเป็นแบรนด์ที่ชอบเล่า Storytelling เล่าในสิ่งที่มีคุณค่า แล้วช่วงโควิดคนอยู่บ้าน ได้อ่าน แต่ก่อนแบรนด์แฟชั่นมันต้องเร็ว คนก็เลื่อนภาพสวยสวยผ่าน แต่พอตอนนี้ คนได้อ่าน Storytelling แบบครอบครัวที่เราลงไป หรือว่าการที่เราเทิร์นกลับมาว่า อาจารย์ช่างทุกวันนี้เขาก็อยากทํางาน แม้กระทั่งช่วงโควิด เพราะเขารู้สึกว่าเขาก็ยังอยากมีชีวิต มีคุณค่า มีอาชีพอยู่”

“เราก็เลยทําแคมเปญเลยค่ะว่า 31ธันวา เปลี่ยนเป็น 31% ในเมื่อเราห้างปิด ปกติเราเสีย GP 30% ให้ห้างอยู่แล้ว เราเลยบอกลูกค้าว่า ทุกยอดขายของกระเป๋า 31% เรา donate ให้หมอ ให้นางพยาบาล หรือว่าอะไรที่ขาดแคลนอยู่ใด ๆ ทั้งสิ้นเราจะ donate ทั้งหมด แล้วการ donate ของเราไม่ใช่แค่ว่าส่งเงินแล้วโอนเงินนะ เก๋ถึงขั้นระดมหาของ แล้วก็ถึงมูลนิธิว่าโรงพยาบาลนี้ขาดอะไร เราจะไปหาของ เกิดความน่ารักอีกว่า นางพยาบาลกับหมอ เขาก็จะถ่ายรูปส่งกลับมาว่าได้ของแล้วขอบคุณมาก ๆ แล้วเก๋ก็จะเอารูปส่งกลับไปให้กับลูกค้าที่เขาซื้อของ กลายเป็นว่าดีจังเลยอาจารย์ช่างฝีมือมีงานทํา แล้วเขาก็ได้ส่งต่อดี ๆ เรื่องราวดี ๆ ในการที่จะมาช่วยคน
ส่วนลูกค้าเขาก็บอกว่าขอบคุณ 31 ธันวา ที่ทําให้เขาสวยแม้กระทั่งอยู่บ้าน เขาบอกว่ากระเป๋ารองเท้าไม่รู้จะเอาไปใส่ได้เมื่อไหร่ แต่เขารู้สึกสวยที่ว่า เงินตรงนี้ที่เขาซื้อของสวย ๆ ไป ได้ช่วยอาจารย์ช่างได้ ช่วยคนที่เดือดร้อนเรื่องโควิด มันทําให้เขาอิ่มเอมเหลือเกิน ขอบคุณจริง ๆ นะ
เราก็รู้สึกดีมาก ๆ ทําให้เราแบบผ่านวิกฤตตรงนั้นมาได้ด้วย Storytelling ของแบรนด์ ด้วยแคมเปญที่มาจากหัวใจของแบรนด์จริง ๆ แล้วก็ลูกค้าด้วยที่เขาน่ารัก เชื่อในคุณค่าของแบรนด์เรา แล้วทําให้แบรนด์เราขายดีกว่าตอนที่เปิดห้างด้วยซ้ำ ในที่สุดเราก็ผ่านพ้นไปได้ ขอแค่มีสติ”

แฟชั่นไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
“เก๋โตมากับการที่ป๊ากับม๊าชอบพาเก๋ไปเดินสยามเซ็นเตอร์ตั้งแต่เด็ก ป๊ากับม๊าจะชอบซื้อเสื้อผ้าที่เป็นแบรนด์ดีไซน์เนอร์ของเมืองไทยตลอด แล้วตอนนั้นมีไม่กี่แบรนด์ เราโตมากับไทยดีไซเนอร์จริง ๆ เลยทําให้เราอินกับไทยดีไซเนอร์โดยที่เราไม่รู้ตัว
จนวันหนึ่งที่เราลุกขึ้นมาเป็นไทยดีไซเนอร์เอง เรารู้สึกว่า แฟชั่นไทยมันมีความ unique มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนมาก อีกเรื่องคือเรารู้สึกว่างานฝีมือ เราสู้ระดับต่างชาติได้เลยนะ ไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน นี่คือจุดแข็งของแฟชั่นไทย
“สำหรับเก๋ ความเปลี่ยนไปคือเรื่องของ trend ยุคนี้ทุกอย่างเป็น digital ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก ทุกอย่างเป็น fast fashion เร็วเกินจนคนหลงลืมคุณค่า หลงลืมความตั้งใจในวันแรกที่คุณทําแบรนด์ หรือว่าคุณเองที่หลงลืมการบริโภคที่เกินพอดี
การที่คนเข้าถึงแฟชั่นไทยได้เร็ว เราก็ขายของให้ลูกค้าได้เร็ว แต่สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของคุณค่าและการจดจำ รวมถึงจุดยืนต่าง ๆ ใคร ๆ ก็ทำแบรนด์ได้ แต่สิ่งสําคัญที่สุด คือการที่คุณจะอยู่อย่างมีคุณค่าเพื่อตั้งแต่คนต้นน้ำที่เป็นคนผลิตให้กับคุณ ตั้งแต่ของที่คุณผลิตมีมันมีความแข็งแรงคงทน มีความสวยงามที่จะถูก deliver ไปให้ให้ลูกค้า และลูกค้าสามารถที่จะรับคุณค่านั้น แล้วก็สร้างคุณค่าต่อ ๆ ไปจะเหลือกี่แบรนด์ที่จะสามารถทําแบรนด์แล้วส่งต่อไปให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น”

“เพราะเก๋ว่าถ้าเราสามารถทําเรื่องราวพวกนี้ได้ ก็จะทําให้แฟชั่นไทยไปต่อได้อีกยาว ๆ เลย เรื่องคุณภาพเราสู้เขาได้อยู่แล้ว เรื่องดีไซน์เราสู้ได้อยู่แล้ว แต่อยากให้เรื่องของคุณค่าและเรื่องราวมันไปต่อได้ ไปสู่ระดับโลกได้อีกยาว ๆ
ทุกคนมันมี passion มีความฝัน มีความตั้งใจว่า เราอยากจะทําอะไร แต่สิ่งสําคัญที่สุดก็คือคุณต้องกล้าที่จะลงมือทํา แล้วเชื่อในสิ่งที่คุณทํา เชื่อว่าคุณอยากทําสิ่ง ๆ นี้ อยากทําแบรนด์ ๆ นี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ เก๋ว่าลงมือทําไปเลย ทุกอย่างมีผิด มีถูก มีล้มเหลว มีแผลระหว่างทางอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องปกติค่ะ
ขอเพียงแต่ว่ากล้าที่จะลงมือทํา อย่าไปกลัว เพราะหลาย ๆ คนกลัวที่จะผิดหวัง กลัวที่จะล้มเหลว ให้คิดซะว่ามันคือเรื่องธรรมดาที่ทุก ๆ คนต้องเจอ แต่ว่าเราจะไปต่อยังไง ให้เราแข็งแรง แล้วสร้างคุณค่าให้กับตัวเราเอง กับแบรนด์ แล้วก็สิ่งที่เราทํา เก๋ว่าเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด ดังนั้นเลยอยากจะฝากทุกคนต่อไปว่า กําลังใจอย่างเดียวไม่พอ ความกล้าต้องมาด้วยค่ะ”


ณ วันนี้ Youngfolks อาจไม่ใช่แบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด แต่พวกเขาก็ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางของคนทุกเพศทุกวัย เป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้มในครอบครัวของทุกคนที่เข้ามาทำความรู้จักกัน
“เราเชื่อว่า ความสุขของการได้สวมใส่รองเท้าคู่โปรด เหมือนความอบอุ่นที่ได้รับเมื่อกลับบ้าน” น้องสาวคนเล็กของครอบครัวทำรองเท้าพูดทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม ก่อนที่เราจะลาจากกันในเย็นวันนั้น