ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นอีก 1 ตลาดหลักทรัพย์ที่สร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่มาแล้วมากมาย ทั้งในเชิงบวก ในการเป็นช่องทางและแหล่งระดมทุนสำหรับการขยายกิจการให้ไปได้ไกลกว่าเดิมของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และเป็นเหมือนความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกิจการ แต่สำหรับผู้ประกอบการบางราย หากมีการบริหารงานที่ผิดพลาดก็อาจเป็นโอกาสในเชิงลบ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวบริษัท ผู้ถือหุ้น และในบางครั้งอาจส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นที่ผู้ลงทุนมีต่อระบบเศรษฐกิจในขณะนั้น แต่หากพูดโดยรวมแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้สร้างโอกาสและเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของอีกหลาย ๆ กิจการ

แต่รู้หรือไม่ว่าถึงแม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2517 ตามการประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 91 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมปีเดียวกัน แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วในประเทศไทย เคยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งก่อนหน้านั้นมาแล้ว นั่นคือตลาดหุ้นกรุงเทพ (Bangkok Stock Exchange) โดยได้จดจัดตั้งในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด ก่อนจะแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดในเวลาถัดมา

ตลาดหุ้นกรุงเทพดำเนินกิจการในวงที่ค่อนข้างจำกัด เพราะมีหลักทรัพย์ที่ซื้อขายเพียง 35 หลักทรัพย์ และมีเพียงแค่ 7 – 8 หลักทรัพย์ที่ถูกซื้อขายอยู่บ่อยครั้ง ในปี 2511 ตลาดหุ้นกรุงเทพมีมูลค่าการซื้อขายเพียง 160 ล้านบาท และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ทุกปี จนเหลือเพียง 28 ล้านบาทในปี 2514 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้มาจากการที่ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจ และรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนมากเท่าที่ควร

ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกรุงเทพดำเนินการอยู่นั้น รัฐบาลก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยการเสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 – 2514) ซึ่งส่วนหนึ่งในแผนนั้นมีการเสนอจัดตั้งตลาดทุนดังกล่าวขึ้่นเป็นครั้งแรก 

ก่อนที่ในปี 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เชิญ ศ.ดร. ซิดนีย์ เอ็ม. ร็อบบินส์ ศาสตราจารย์วิชาการเงิน มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ตามคำแนะนำของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการหรือธนาคารโลก เพื่อทำการศึกษาช่องทางการพัฒนาตลาดทุนในไทย และในเดือนสิงหาคม 2513 ธปท. จึงได้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดตั้งคณะกรรมการจัดตั้งตลาดหุ้น เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จนในที่สุด เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2516 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก่อนที่ในวันที่ 5 เมษายน 2517 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งระบุถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน และได้มีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษาเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชุดแรก ในวันที่ 28 มิถุนายนปีเดียวกัน 

การประกาศใช้พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 นั้นกำหนดให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นแหล่งกลางการซื้อขายหลักทรัพย์เพียงแห่งเดียวในประเทศ โดยในมาตรา 46 และ 47 ของ พรบ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้บุคคลใดที่ดำเนินกิจการตลาดหลักทรัพย์ หรือกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงการใช้ชื่อ หรือคำแสดงว่า “ตลาดหลักทรัพย์” หรือ “ตลาดหุ้น” จะต้องเลิกกิจการ หรือเลิกใช้ชื่อดังกล่าวภายในระยะเวลา 9 เดือน ทำให้ตลาดหุ้นกรุงเทพต้องปิดตัวลงในปีเดียวกันกับปีที่ พรบ. ฉบับนี้ถูกประกาศใช้

เมื่อรูปแบบทางกฎหมายต่าง ๆ ได้ถูกปรับแก้จนเหมาะสม วันที่ 30 เมษายน 2518 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (หรือชื่อภาษาอังกฤษในขณะนั้นคือ The Securities Exchange Of Thailand) ได้เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนั้นเป็นวันแรก บนที่ทำการแห่งแรก ในบริเวณชั้น 4 ของศูนย์การค้าสยาม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์) 

อ้างอิง

  • หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “การเดินทางแห่งชีวิต” 
  • https://www.set.or.th/th/about/overview/journey

AUTHOR

นักเขียนเล่นผู้สนใจเรื่องของการตลาด การกิน คอสเพลย์ เกมโชว์ และสื่อ ชื่นชอบการออกไปทำงานนอกบ้าน และรักคุณนักเก็ตเป็นที่สุด