“ความสุขของผม คือ การทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น” นัยสำคัญทางความคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นกับหลาย ๆ บทบาทของเขาเพื่อนำพาประเทศให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบที่ถูกต้องตามระบอบการปกครองที่ถูกสถาปนามา
วันนี้ Sum Up ชวน “ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ” พูดคุยกันในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ รัฐธรรมนูญ 60 ผลพวงการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร (คสช.) ที่ยังคงเป็นลูปของปัญหา เป็นอุปสรรคสู่การนำพาประชาธิปไตยสมบูรณ์มาสู่ประเทศไทย รวมถึงโจทย์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศผ่านหมวก 3 ใบที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โฆษกพรรคประชาชน และ ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ เป็นต้น
นอกเหนือจากเรื่องราวของการเมืองไทย คุณจะได้รู้จัก “ไอติม – พริษฐ์ วัชรสินธุ” ในอีกมุมหนึ่งผ่านบทสัมภาษณ์นี้ ถึงแนวคิด การใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ และสิ่งที่เขาชื่นชอบเป็นที่สุดว่าเพราะอะไร ทำไมต้อง Liverpool
หมวก 3 ใบของ ‘ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ’
“หมวกใบที่ 1 ก็คือ การเป็น สส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชน” ขับเคลื่อนงานในฝั่งของนิติบัญญัติโดยเฉพาะประเด็นเรื่องการศึกษา เรื่องของรัฐธรรมนูญ หมวกใบที่ 2 ยังอยู่ในส่วนของพรรคประชาชน ก็คือโฆษกพรรคฯ ซึ่งจะรับผิดชอบเรื่องภาพรวมการสื่อสารของพรรค เป็นการต่อยอดมาจากก่อนการเลือกตั้งที่ผมเข้ามารับผิดชอบในเรื่องของการสื่อสาร และการรณรงค์นโยบายครับ
ส่วนหมวกใบที่ 3 ก็คือ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ต้องบอกว่าปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรมีคณะกรรมาธิการฯ อยู่รวมกันทั้งหมด 35 คณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ที่ผมเป็นประธานชื่อเต็มคือ ‘คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน’ แต่ถ้าอธิบายให้เห็นภารกิจง่าย ๆ นั่นก็คือ “การยกระดับประชาธิปไตย”
ถ้าพูดถึงวิสัยทัศน์ที่ผมและสส. ในคณะกรรมาธิการฯ พยายามจะขับเคลื่อน คือ การทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเป็นความปกติใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นวิธีการที่เราทำงานหรือคิดว่าเราจะตั้งโจทย์เรื่องอะไร จะเริ่มด้วยการไปดูตัวดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก
ปัจจุบันดัชนีหนึ่งที่นิยมใช้ก็คือ Democracy Index หรือว่า ‘ดัชนีประชาธิปไตย’ จัดทำโดยหน่วยงานที่ชื่อ Economist Intelligence Unit เขาจะให้แต่ละประเทศคะแนนเต็ม 10 ด้านประชาธิปไตยในทุก ๆ ปี โดยในปีล่าสุดประเทศไทยเข้ามาที่อันดับ 60 กว่าใน 100 กว่าประเทศทั่วโลกและคะแนนอยู่ที่ประมาณ 6.3 ซึ่งเขาจัดอยู่ในหมวดหมู่ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยบกพร่อง” ฉะนั้นก็ถือว่ายังดีกว่าประเทศที่อาจจะเป็นระบบเผด็จการไปเลย หรือว่าผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่ว่าก็ยังไปไม่ถึงหมวดหมู่ที่เรียกว่าประชาธิปไตยเต็มใบนะครับ

5 โจทย์หลักของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ หนทางสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ
สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ พยายามจะทำ คือ การพยายามจะดูว่าช่องว่างดังกล่าวประกอบไปด้วยประเด็นปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราจะปิดช่องว่างดังกล่าวอย่างไรเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบเป็นความปกติใหม่ของสังคมไทย ถ้าสรุปให้เห็นภาพกว้าง ๆ ผมคิดว่าปัจจุบันคณะกรรมาธิการฯ แบ่งโจทย์ที่เราให้ความสำคัญออกเป็น 5 โจทย์หลัก ๆ
โจทย์ที่ 1 คือเรื่องของรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ ในภาพใหญ่เราอาจจะมองถึงเป้าหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทางผมเองก็พยายามจะขับเคลื่อนในนามของพรรคด้วยเช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมาธิการก็จะมีบทบาทในการพยายามจะติดตามกระบวนการกล่าว รวมไปถึงการติดตามว่าหลังจากรัฐบาลได้ประกาศว่าหนึ่งในนโยบาย คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร
แต่นอกเหนือจากการพูดคุยกันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราค่อนข้างให้ความสำคัญก็คือการพูดคุยกันถึงเรื่องเนื้อหาว่า ‘ถ้าสมมติมีการจัดทำฉบับใหม่จริง ๆ เนื้อหาที่อยากเห็นในรัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไร? เราจะออกแบบสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนฯ วุฒิสภารวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระให้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเช่นไร?’ ดังนั้นนี่คือโจทย์ที่ 1 ที่คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญ
ที่ผ่านมาเราก็มีการผลิตรายงานการศึกษาที่หวังว่าจะเป็นแนวทางที่รัฐบาลและรัฐสภาสามารถนำไปใช้เพื่อการขับเคลื่อนได้ อย่างเช่นเรามีรายงานจากระบบการเลือกตั้งสสร. เพื่อชี้ให้เห็นว่าหากคุณยืนอยู่บนหลักการว่าต้องการให้สสร.ที่มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากการเลือกตั้ง 100% มีทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งอย่างไรได้บ้าง ข้อดีข้อเสียของแต่ละระบบเป็นเช่นไร
อีกรายงานหนี่งที่เราทำออกมาก็คือ รายงานเกี่ยวกับการแก้ไขพรป.พรรคการเมือง หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยพยายามจะออกแบบกติกาเกี่ยวกับพรรคการเมืองให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นให้เกิดง่าย อยู่ได้ และตายยาก
โจทย์ที่ 2 คือเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะทำอย่างไรให้องค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนและมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในมุมหนึ่งเราก็มีการศึกษาในเรื่องของพรบ.เลือกตั้งท้องถิ่น ว่าจะทำอย่างไรให้กติกาในการเลือกตั้งผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น ให้การแข่งขันมีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น การขยายสิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่น สิทธิในการเลือกตั้งล่วงหน้าสำหรับคนที่ไม่สะดวกเดินทางกลับไปที่ภูมิลำเนาในวันเลือกตั้งได้ ทำอย่างไรให้เขามีช่องทางเลือกตั้งก่อนถึงวันเลือกตั้งจริงได้ หรือเราอาจจะมองถึงการขยายสิทธิให้กับคนที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ อย่างเช่นสมมติว่าผมมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ดแต่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ หลายปีแล้ว เช่าคอนโดอยู่ และยังไม่ย้ายทะเบียนบ้าน ทำอย่างไรให้ตัวผมมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นในระดับกทม. นับตามพื้นที่ที่ผมอาศัยอยู่จริง แม้ว่าภูมิลำเนาหรือทะเบียนบ้านของผมจะอยู่อีกจังหวัดหนึ่งก็ตาม
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของการพยายามทำให้กติกามีความโปร่งใสมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผลการนับคะแนนรายหน่วยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างรวดเร็ว ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นขาหนึ่ง คือ การปรับปรุงกติกาเลือกตั้งท้องถิ่น อีกขาหนึ่ง คือ การทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
เราจะมีการศึกษาเรื่องของแนวทางในการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการสรรหารายได้ให้กับท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้ในการยกระดับบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่เรากำลังศึกษาอย่างใกล้ชิด นอกจากการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
ความจริงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างที่กทม. เราก็สังเกตเห็นว่ามีอำนาจในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวกทม. น้อยกว่าท้องถิ่นในเมืองหลวงหรือว่าเมืองใหญ่ ๆ ในประเทศอื่นทั่วโลก อย่างเช่นทุกครั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายคนอาจจะรู้สึกว่าการกระจายอำนาจให้กับกทม. ถือว่าคืบหน้ากว่าหลายจังหวัด เพราะว่าอย่างน้อยผู้บริหารสูงสุดของกทม. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดอื่นเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง ในมิตินี้ กทม. ดูจะคืบหน้ากว่าจังหวัดอื่น แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราจะเห็นว่า ถึงแม้ผู้ว่าฯ กทม. จะมาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจหลายอย่างที่จำเป็นต้องมีในการไปแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องชาวกทม. ไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ กทม. แต่กลับไปอยู่ที่รัฐบาลส่วนกลาง
ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนจะคาดหวังให้ผู้ว่าฯ กทม. สามารถแก้ปัญหารถติด แก้ปัญหาการเดินทางไปมาในกทม. ได้ แต่ถ้าเราไปดูมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องรถติด ล้วนเป็นมาตรการที่อยู่นอกขอบเขตอำนาจของผู้ว่าฯ เช่น การจัดการเรื่องระบบขนส่งสาธารณะให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่กลายเป็นว่าผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจน้อยมากเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะ กลายเป็นว่าอำนาจในการกำหนดเส้นทางรถเมล์ อำนาจเกี่ยวกับเรื่องรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินไปอยู่ที่กระทรวงคมนาคมเสียส่วนใหญ่ เป็นต้น
นี่จึงเป็นโจทย์ที่ 2 เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
โจทย์ที่ 3 คือเรื่องของการยกระดับวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเรามองว่ามีหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามกระตุ้นให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลรัฐเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลรัฐ ตรวจสอบข้อมูลรัฐเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ หรือว่าในอีกมิติหนึ่ง อีกองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็คือ ‘สื่อมวลชน’
ทำอย่างไรให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการตั้งคำถาม มีเสรีภาพในการตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐแทนพี่น้องประชาชน ทำอย่างไรให้รัฐไม่ต้องมีเครื่องมือในการควบคุมสื่อมวลชน หรือปิดกั้นสื่อมวลชนที่อาจจะมีการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
โจทย์ที่ 4 คือ เรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเสมอภาค จะทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มในสังคม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างเสมอภาค ทำอย่างไรให้กลุ่มผู้พิการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น
อีกกลุ่มหนึ่งที่เราเริ่มมีการจัดทำรายงานและข้อเสนอแล้วก็คือ “การเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มเยาวชน” ถึงแม้ว่าเขาจะยังมีอายุไม่มากพอในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือยังไม่ได้มีอายุมากพอในการลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เราจะทำอย่างไรให้เขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้นเพื่อทำให้เสียงของเยาวชนดังไปถึงผู้มีอำนาจรัฐ หรือว่าผู้มีอำนาจในการออกแบบนโยบาย
โจทย์สุดท้าย โจทย์ที่ 5 คือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ทำอย่างไรให้เรามีการทบทวนกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม การทบทวนเรื่องของกระบวนการยุติธรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ นิติธรรมมากขึ้น


นี่เป็น 5 โจทย์ที่คณะกรรมาธิการฯ วางไว้ แต่ผมทิ้งท้ายว่าจะคาดหวังให้สส. 15 คนที่อยู่ในคณะกรรมาธิการฯ มาขับเคลื่อนทุกเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าภารกิจหรือโจทย์ในที่เขาตั้งไว้มีเยอะมาก ดังนั้นแนวทางการทำงานที่เราพยายามจะทำ คือให้มองคณะกรรมาธิการฯ เป็นเหมือน platform เรามีการตั้งคณะทำงานประกอบไปด้วยกรรมาธิการฯ ที่สนใจประเด็นนั้น แต่ก็จะเต็มไปด้วยคนที่ไม่ใช่สส. ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมที่เขาทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน และเขาต้องการจะผลักดันประเด็นต่าง ๆ
พอเราตั้งโจทย์ร่วมกันแล้ว เราก็จะเปิดโอกาสให้คณะทำงานเหล่านี้ใช้คณะกรรมาธิการฯ เป็น platform ในการทำงาน พูดง่าย ๆ คือถ้าต้องมีการหารือกับหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนงานบางอย่าง หรือเพื่อการซักถามขอข้อมูล เราก็สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมให้สามารถเชิญหน่วยงานและคณะทำงานมาพบปะหารือทางออกร่วมกัน หรือว่าถ้าต้องการจะมีการจัดสัมมนาเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจมาแสดงความเห็น เราก็มีการจัด workshop การจัดเสวนาเพื่อทำให้คณะทำงานมีข้อมูล หรือว่าความเห็นจากประชาชนเพื่อไปใช้ในการขับเคลื่อนงานต่อ
ฉะนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงเปรียบเสมือน platform ให้คณะทำงานที่จับแต่ละประเด็นที่เราตั้งโจทย์ร่วมกันมาใช้ในการขับเคลื่อนงานได้
อีกโจทย์หนึ่งที่เราพยายามจะทำให้ดีขึ้นในปีที่ 2 คือ เรื่องของการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่เราทำสำเร็จแล้วในปีแรก และภูมิใจที่จะนำเสนอ ต้องบอกก่อนว่า เราน่าจะเป็นคณะกรรมาธิการฯ คณะเดียว หรือไม่กี่คณะที่มีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกสัปดาห์
ที่ผ่านมาเวลาที่เราพูดถึงการประชุมสภา เราก็จะนึกถึงห้องประชุมใหญ่ 500 คน ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดอยู่แล้วในทุกวันที่มีการประชุมสภา แต่ที่ผ่านมาการประชุมชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นห้องเล็ก จะไม่มีการถ่ายทอดสด จะมีบางครั้งซึ่งเป็นวาระพิเศษที่มีสื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพบรรยากาศได้บ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ตัดสินใจร่วมกัน และผมเองก็ต้องขอบคุณสส. จากทุกพรรคในคณะกรรมาธิการฯ ด้วย ที่เห็นตรงกัน คือเราต้องการถ่ายทอดสดการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพื่อทำให้การซักถามข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ใช่แค่กรรมาธิการฯ เท่านั้นได้ที่ยินคำตอบและนำไปเล่าต่อให้ประชาชนรับสร้าง ซึ่งการเล่าต่อนั้นอาจจะเล่าเหมือนกันไม่เหมือนกันบ้าง จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ยินคำตอบด้วยตัวของเขาเองเลยว่าหน่วยงานได้ตอบข้อสงสัยของเขา ข้อสงสัยของสังคมอย่างไร เมื่อประชาชนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดการประชุมได้ จึงเป็นโอกาสในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้
อย่างเช่นคนที่เข้ามารับชมแล้วอาจจะมีคำถามที่อยากถาม เขาก็พิมพ์เข้ามาในช่องคอมเมนต์ คณะกรรมาธิการฯ ก็สามารถพิจารณาหยิบขึ้นมาถามได้
ความสนใจของแต่ละสัปดาห์อาจจะไม่เท่ากัน มีบางครั้งที่ ณ เวลานั้นสังคมไม่ได้สนใจมาก แต่พอผ่านไป 3 เดือนมีเรื่องเกิดขึ้นแล้วเขาสามารถย้อนกลับมาดูว่าต้นเหตุเกิดอะไรขึ้นบ้างในที่ประชุม ครั้งที่เป็นที่สนใจของสังคมและสื่อมวลชนพอสมควร ก็คือครั้งที่กอ.รมน. มาชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่มีการแถลงข่าวหนังสือ ในนามของความมั่นคงภายใน ของอาจารย์พวงทอง ภวัครพันธุ์ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐสุ่มเสี่ยงที่จะไปละเมิดเสรีภาพทางวิชาการหรือเปล่า
ตอนนั้นคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญทั้งอาจารย์พวงทอง คณาจารย์ และตัวแทนของกอ.รมน. มาหารือร่วมกันว่าข้อเท็จจริงที่ยังมองต่างกันมีเรื่องอะไร แล้วเราควรจะวางแนวทางในอนาคตอย่างไรเพื่อคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งที่ถูกคุ้มกันโดยรัฐธรรมนูญ จำได้ว่าวันนั้นสื่อมวลชนและสังคมให้ความสนใจเยอะ และทำให้ได้รับฟังมุมมองทั้ง 2 ด้าน และสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเองได้ว่าฝั่งไหนดูมีความสมเหตุสมผลมากกว่ากัน
ติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ได้ที่ FB: คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร
“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชน” คือ คำตอบเดียวเท่านั้น
“รัฐธรรมนูญ 60
มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
ทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา”
“ที่มา” ก็คือถูกร่างโดยคนไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร (คสช.)
“กระบวนการ” ถึงแม้จะผ่านประชามติปี 59 ก็จริง แต่ก็เป็นประชามติที่ไม่ได้เสรีภาพและเป็นธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล หลายคนที่ออกมารณรงค์ไม่สนับสนุนให้รัฐร่างธรรมนูญถูกจับกุมดำเนินคดี ยังไม่นับคำถามพ่วงซึ่งนำมาสู่การที่สว. ที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก ก็ถูกถามในลักษณะที่มีความซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา
ส่วนสุดท้าย คือ เรื่องของ “เนื้อหา” ซึ่งเรามองว่าเนื้อหา 279 มาตราในรัฐธรรมนูญ 60 เป็นเนื้อหาที่มีความถดถอยทางประชาธิปไตย เมื่อเปรียบเทียบกับฉบับก่อน ๆ ในประเทศ มีการขยายอำนาจทางของสถาบันทางการเมืองหลายสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มีอำนาจที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่แม้จะถูกคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง แต่ก็มีกระบวนการในการได้มาในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ที่ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระที่หลายคนก็ยังตั้งคำถามว่าเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถรับประกันความเป็นกลางของผู้ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นต้น
เราจึงมองว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มากระบวนการ เนื้อหา ดังนั้น ถ้าเราอยากจะให้มีกติกาสูงสุดของประเทศที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เรามองว่าการจัดทำหรือว่าการแก้ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องทำ 2 อย่างคู่ขนาน


เส้นทางที่ 1 จำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเรามองว่าหากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุดก็ต้องถูกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 100% แต่ต้องยอมรับว่าด้วยกติกาที่เป็นอยู่ การจะขับเคลื่อนจากจุดปัจจุบันไปสู่จุดที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดยสสร. เลือกตั้ง 100% ต้องอาศัยหลายขั้นตอน อาจจะใช้เวลา 1 – 3 ปี ขึ้นไป และเส้นทางที่ 2 สิ่งที่เราควรจะทำคู่ขนาน คือการแก้รายมาตราในประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนเพื่ออย่างน้อยในระหว่างที่มีการจัดทำฉบับใหม่ บางปัญหาจะได้รับการแก้ไขไปก่อน
ฉะนั้นนี่จึงเป็น 2 เส้นทางคู่ขนานที่พรรคประชาชนเราเห็นว่าจำเป็นต้องเดิน และเป็นแนวทางที่เรายึดถือและพยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่หลังจากการเลือกตั้งปี 66
ส่วนเนื้อหา ผมว่ามี 2 โจทย์หลักในเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ โจทย์ที่ 1 คือ ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนให้รัดกุมและครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม
เราจะเห็นว่าแม้ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 60 มีการพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่หลายมาตรา แต่ว่าก็มีบางมาตราที่เขียนในลักษณะที่อาจจะรัดกุมไม่เพียงพอ ทำให้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนในเชิงปฏิบัติไม่ได้รับการคุ้มครองมากเท่าที่ควร ดังนั้น ในมุมหนึ่งผมคิดว่าก็ต้องมาทบทวนว่า จะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนมีความรัดกุมมากขึ้น เช่น เรื่องการศึกษา
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญเขียนว่า ‘จะรับประกันสิทธิในการเรียนฟรี 12 ปี’ หลังจากนั้นคำสั่งคสช. มีการขยายเป็น 15 ปี แต่ในรัฐธรรมนูญยังเขียนไว้แค่ 12 ปี ฉะนั้นเราจึงต้องมาทบทวนว่าควรจะมีการขยายสิทธิตรงนี้หรือไม่อย่างไร หรือสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็จะมีบางข้อที่เขียนเอาไว้ ทำให้ประชาชนมีความกังวลว่าอาจจะไม่ได้คุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานเพียงพอ ดังนั้นก็จะมีตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราสามารถไปปรับปรุงข้อความให้คุ้มครองสิทธิของประชาชนได้อย่างดียิ่งขึ้น
โจทย์ที่ 2 คือ ทำอย่างไรให้สถาบันทางการเมืองมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้น ถ้าให้ผมนิยามสั้น ๆ ก็คือ ‘ทำอย่างไรให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน’ ถ้าสถาบันทางการเมืองไหนมีจะอำนาจเยอะ สามารถกำหนดชะตากรรมของชีวิตพี่น้องประชาชนได้เยอะ ก็ต้องมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนสูง นั่นก็คือ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ปัจจุบันมีหลายสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้บรรลุหรือตอบโจทย์สมการนั้น อย่างเช่น ‘วุฒิสภา’ ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวที่มีวุฒิสภา หลายประเทศก็มีระบบสภาคู่ แต่ถ้าเราดูประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญ คือ อำนาจและที่มาของวุฒิสภาต้องสอดคล้องกัน ถ้าจะมีอำนาจเยอะเหมือนที่สหรัฐอเมริกาก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าจะมาจากการแต่งตั้งเหมือนกับที่สหราชอาณาจักรฯ ก็ต้องมีอำนาจน้อย เช่น สว. ที่สหราชอาณาจักรฯ ทำได้เพียงชะลอร่างกฎหมาย 1 ปี
พอเรามองกลับมาที่ประเทศไทย สว. ในรัฐธรรมนูญ 60 แม้จะผ่านบทเฉพาะกาลมาแล้วก็ตามแต่มีอำนาจค่อนข้างเยอะ สามารถขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญได้ มีอำนาจในการรับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แต่กลับมีที่มาที่ไม่ได้จากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นระบบการคัดเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งน่าจะซับซ้อนที่สุดในโลก
ผมคิดว่าคิดว่านี่เป็น 2 โจทย์ใหญ่เรื่องเนื้อหารัฐธรรมนูญ คือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการออกแบบสถาบันทางการเมืองให้มันมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
สว. ปัญหาเชิงระบบของการเมืองไทย
ผมว่ามี 2 ประเด็นในเชิงระบบ ประเด็นแรก รัฐธรรมนูญ 60 ออกแบบกติกาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายมากนัก แล้วกลายเป็นว่าสว. มีบทบาทสำคัญมากในการจะชี้ขาดว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขได้หรือไม่ เพราะว่า รัฐธรรมนูญ 60 ไปเขียนว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราใด ๆ ก็ตาม ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปได้ หากไม่ได้เสียง 1 ใน 3 ของสว.

ถ้าเราย้อนไปดูตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา เข้าใจว่ามีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่รัฐสภา 20 – 30 กว่าร่าง มีแค่ร่างเดียวที่ผ่านไปได้ คือ เรื่องของระบบเลือกตั้งที่เปลี่ยนจากบัตร 1 ใบ มาเป็นบัตร 2 ใบ แต่จะมีประมาณเกือบ 20 ร่าง ถ้าจำไม่ผิด 18 หรือ 19 ร่างที่ได้รับความเห็นชอบจาก 2 ใน 3 ของสส. คือ ได้รับฉันทามติระดับหนึ่งจากทั้งทางซีกรัฐบาลและซีกฝ่ายค้าน ณ เวลานั้น แต่ผ่านไปไม่ได้เพราะไม่ได้เสียง 1 ใน 3 ของสว.
ดังนั้น นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตแรกที่เราเห็น ก็คือรัฐธรรมนูญ 60 ไปให้สว. มีบทบาทสูงมากในการชี้ขาดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ แม้ตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็คือสภาผู้แทนราษฎร เห็นตรงกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ก็ไม่สามารถแก้อะไรได้ ถ้าสว. เสียง 1 ใน 3 ไม่เห็นชอบด้วย
ประเด็นที่ 2 ก็คือ “สว. เราไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ถ้าสว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผมคิดว่าประชาชนอาจจะยังพอเข้าใจว่าทำไม 2 สภาถึงต้องมีบทบาทสำคัญในการคานกันและกัน และต้องได้ไฟเขียวจากทั้ง 2 สภา จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่พอสว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีความชอบธรรมในการมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สว. ก็จะถูกตั้งคำถามจากพี่น้องประชาชนได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น นี่คือ 2 ข้อสังเกตจากกติการัฐธรรมนูญ 60 แม้เราเห็นปัญหาและพยายามที่จะแก้ไขเรื่องเหล่านี้ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับต้องเผชิญความท้าทายที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ หากสว. ไม่เห็นชอบด้วย
สิ่งที่ทำให้ผมยังมีความหวัง ผมเชื่อว่าถึงแม้สว. จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วมีการส่งเสียงกันอย่างเป็นพลังว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมเชื่อในเสียงของประชาชนที่ดังอยู่นอกสภา ท้ายที่สุดต้องส่งแรงกระเพื่อมไม่มากก็น้อยต่อท่าทีในการลงมติของสมาชิกรัฐสภาทุกคน รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
ดังนั้นยิ่งเราสามารถอธิบายให้สังคมนอกสภาเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้สว. ที่แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะเห็นชอบกับวาระดังกล่าวมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อนาคตใหม่ –> ก้าวไกล –> ประชาชน
ประเทศในฝันที่เราอยากเห็นยังเป็นเหมือนเดิม
“อุดมการณ์และจุดยืนของเรามั่นคงมาโดยตลอด
ไม่ว่าชื่อของพรรคจะเปลี่ยนไปอย่างไร”
“ผมคิดว่าเป้าหมายหรือว่าประเทศในฝันที่เราอยากเห็นยังคงเป็นเหมือนเดิม”
“ผมคิดว่าโจทย์ตอนนี้สำหรับพรรคประชาชน คือเราต้องทำงานให้กว้างขึ้นและให้ลึกมากขึ้น”
โจทย์แรก ‘ให้กว้างขึ้น’ คือ ทำอย่างไรให้เราทำงานและสามารถสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความไว้วางใจกับประชาชนที่กว้างขึ้นกว่าเดิม แม้ว่ารอบที่แล้วเรามีประชาชน 14 ล้านคนที่ให้ความไว้วางใจกับเรา จนทำให้เราได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งก็ตาม แต่เราก็เข้าใจดีว่ายังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะยังลังเลใจกับเราอยู่ หรือแม้กระทั่งยังไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่เรานำเสนอ โจทย์ที่สำคัญมากก็คือจะทำอย่างไรให้เราทำงานได้กว้างขึ้น พยายามทำให้เขาเห็นด้วยกับสิ่งที่เราเสนอเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ
ผมคิดว่าภารกิจหนึ่งเลยคือการเปลี่ยนใจคนให้มาเปิดใจกับเรามากขึ้น ให้เชื่อมั่นในสิ่งที่เรานำเสนอมากขึ้น นี่คือความกว้าง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำงานกับคนที่เห็นต่างกับเราให้ได้มากขึ้น และหวังว่าคนที่เคยเห็นต่างกับเราจะเริ่มมาเห็นคล้อยกับเราและเห็นตรงกับเรามากขึ้น
โจทย์ที่สอง เรียกว่าการทำงานให้ ‘ลึกมากกว่าเดิม’ ผมคิดว่าในเชิงของนโยบาย ในช่วงของการเลือกตั้งปี 66 ผมเชื่อว่าไม่มากก็น้อย เหตุผลที่คนลงคะแนนให้กับเรา 14 ล้านเสียง เพราะเขาเห็นด้วยกับวาระเชิงนโยบายที่เรานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การปฏิรูปกองทัพ การปฏิรูปการศึกษา การแก้ไขปัญหาการทุจริต การเปิดเผยข้อมูลรัฐ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เป็นต้น ผมคิดว่าเขาเริ่มเห็นด้วยกับเรา ว่าเราเสนออะไร หรือนโยบายที่เราจะขับเคลื่อนคืออะไร แต่ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำให้เขามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ไม่ใช่ว่านโยบายเราคืออะไร แต่เราจะทำนโยบายของเราสำเร็จได้อย่างไร

ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษ โจทย์ตอนนี้ไม่ใช่เรื่อง WHAT ว่าเราจะทำอะไร แต่คือโจทย์เรื่อง HOW ว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งดังนั้น ผมจึงเห็นว่าจากวันนี้จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการจะทำ ดังนั้นจึงต้องทำงานโดยการอาศัยนโยบายเชิงลึกมากขึ้น ไม่ใช่แค่พูดถึงไอเดียแนวทางในภาพรวม แต่คุณต้องลงรายละเอียดให้ได้ว่าถ้าจะทำนโยบายนี้เป็นจริงแก้กฎหมายฉบับอะไร แก้มาตราไหนอย่างไร แก้กฎระเบียบอะไร ลำดับขั้นตอนในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ อะไรทำได้ก่อน อะไรทำได้หลัง จะเสร็จภายในกี่ปี ต้องใช้งบเท่าไหร่จากงบเท่าไหร่ เป็นต้น
บางครั้งการลงรายละเอียดดังกล่าวอาจจะไม่ได้พิสูจน์จากแค่การทำแผนอย่างเดียว แต่ถ้าเราสามารถได้รับโอกาสในการเข้าไปบริหารพื้นที่ระดับท้องถิ่น ผมคิดว่าเราจะสามารถบริหารท้องถิ่นดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นได้ หรือขับเคลื่อนนโยบายในระดับท้องถิ่นได้ก็จะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าคุณไม่ได้แค่มีนโยบายที่ฟังดูดี แนวทางดูดี แต่คุณสามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นโดยสรุป ผมว่าทิศทางของพรรคประชาชนตอนนี้ หนึ่ง คือทำงานที่กว้างขึ้น ทำงานกับคนที่ลังเลใจกับเรา ทำงานกับคนที่เห็นต่างมากขึ้นเพื่อพยายามจะเปลี่ยนใจเขา อีกมุมหนึ่งให้ลึกลงกว่าเดิมคือลงรายละเอียดเรื่องนโยบาย ไม่ใช่แค่มีนโยบายที่ฟังดูดี แต่มีนโยบายที่มีแผนการขับเคลื่อนที่เรียกความเชื่อมั่น เรียกความมั่นใจให้กับประชาชนได้
3 ป. แห่งการปฏิรูป : เส้นทางสู่อนาคตที่ดีกว่า
“ผมคิดว่าระบบการเมืองไทยปัจจุบันมันขาด 3 ป. แต่ไม่ใช่ 3 ป. ที่เราคุ้นเคยกันเนอะ”
ป. ที่หนึ่ง คือเรื่อง ‘ประสิทธิภาพ’ ผมคิดว่าเราต้องการให้กลไกทางการเมืองของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแปลความต้องการของประชาชนออก แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมานานให้เป็นไปด้วยดี
ปัจจุบันเราจะเห็นว่าด้วยสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา ผมคิดว่าประชาชนมีความคาดหวังอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าเรามองมิติอื่นในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการสั่งอาหาร การหารถแท็กซี่ การเดินทางไปมา ปัจจุบันหลาย ๆ อย่างพอมีความต้องการขึ้นมาปุ๊บ อยากจะทำอาหาร อยากจะเรียกรถ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมเพราะ เทคโนโลยีทำให้การตอบสนองเร็วมากขึ้น ถ้ามองในมุมของการเมือง พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่าประชาชนก็คาดหวังให้ปัญหาถูกแก้ไขเร็วขึ้นกว่าที่คนสมัยก่อนหลาย 10 ปีที่แล้วเคยคาดหวังด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้ระบบการเมืองของเรามีประสิทธิภาพมากพอ มีความรวดเร็วมากพอในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรม เราก็จะเห็นว่าในเรื่องของการทำงานของสภา แน่นอน…ผมไม่ได้บอกว่าประเทศจะดีหรือไม่ดีวัดจากปริมาณของกฎหมายที่มีอยู่ แต่ถ้าเราอยากให้กฎหมายในประเทศของเรามีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างทันท่วงที ประสิทธิภาพของสภาในการพิจารณาการแก้ไขการยกเลิกหรือการเพิ่มกฎหมายก็สำคัญ
แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่ากว่าฝั่งกฎหมายฉบับหนึ่งจะถูกเสนอเข้ามา และผ่านความเห็นชอบของสภาไปได้ หลายครั้งใช้เวลายาวนานมาก สภาชุดหนึ่งมีเวลา 4 ปี บางครั้งพอเสนอกฎหมายเข้าไปในปีที่สอง พอจะถึงปีที่สี่ บางครั้งยังไม่ถึงคิวการพิจารณาด้วยซ้ำ แล้วสภาก็หมดวาระลง กฎหมายก็ตกไป ทำให้หลายครั้งประสิทธิภาพของสภาในการพิจารณากฎหมายไม่ได้รวดเร็วมากเท่ากับที่ประชาชนคาดหวัง
ป.ที่ 2 คือ ‘ความโปร่งใส’ คือ ทำอย่างไรให้ระบบการเมืองเรามีความโปร่งใส ทุกบาททุกสตางค์ที่เป็นภาษีของพี่น้องประชาชนต้องถูกตรวจสอบได้ ปัจจุบันจะเห็นว่าภาคประชาชนมุ่งเน้นอย่างมากในการพยายามที่จะทำให้กระบวนการในการพิจารณางบประมาณประจำปี หรือการตัดสินใจว่าจะนำเงินภาษีของพี่น้องประชาชนไปใช้กับอะไรบ้าง มีความมีความโปร่งใสมากขึ้น
จากสมัยก่อนที่เวลาจะมาตรวจสอบงบประมาณประจำปี เราต้องตรวจสอบจากเอกสารงบประมาณ เขาเรียกว่าข่าวคาดแดง 20 กว่าเล่ม พอเรียงขึ้นมาแทบจะเท่ากับหัวไหล่หรือว่าเอวของเรา ซึ่งพอข้อมูลอยู่บนกระดาษที่เป็นแผ่น การบวกลบตัวเลข วิเคราะห์ตัวเลขเชิงลึก ใช้เวลานานมาก ต้องมาเขียนตัวเลข จิ้มตัวเลขลงไฟล์ ลงอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
สิ่งที่เราพยายามจะทำ คือ ทำอย่างไรให้การตรวจสอบมีความเข้มข้นขึ้น สิ่งที่เราเสนอมาตลอด คือการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณในรูปแบบที่ไปวิเคราะห์ต่อได้ เช่นเป็นไฟล์ Excel ที่ผ่านมาพอเราเรียกร้องไป ก่อนหน้านี้อาจจะไม่รับการตอบสนอง เราก็เลยมีทีมอาสาจากภาคประชาสังคมที่มาแปลงเอกสารแผ่น ๆ มาเป็นตาราง Excel ในรูปแบบที่สามารถไปวิเคราะห์ต่อได้ง่าย

วิธีการนี้ก็จะทำให้พลังในการตรวจสอบการใช้งบประมาณมีมากขึ้น แต่ถ้ามองในเชิงระบบ ผมคิดว่าเราก็อยากจะเห็นประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลรัฐได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น ถ้าลงลึกในรายละเอียด ปัจจุบันถามว่าประชาชนเข้าถึงข้อมูลรัฐไหม ตอบว่า…มี แต่ว่าจะมีความคล้ายกับหลักคิดที่ว่า ‘ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น’ ก็คือว่าถ้าคุณต้องการอยากจะเข้าถึงข้อมูลอะไร คุณต้องมาขอ และถ้ามาขอโดยมีเหตุผลที่ฟังขึ้นเพียงพอ รัฐก็จะเปิดเผยข้อมูลนั้นให้ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นมันกลับกัน คือ ‘เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น’ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Open By Default’ คือทำอย่างไรให้ข้อมูลของหน่วยงานรัฐเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นหลัก แต่ถ้ามีข้อมูลส่วนไหนจริง ๆ ที่หน่วยงานราชการรู้สึกว่าจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ อาจจะเพราะเหตุผลทางความมั่นคง มีข้อมูลส่วนบุคคล ก็เป็นหน้าที่หรือเป็นภาระการพิสูจน์ของหน่วยงานรัฐที่ต้องมาให้เหตุผลว่าทำไมต้องปกปิดข้อมูลส่วนนั้น
นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งเรามีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ รวมไปถึงการยื่นแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะเพื่อพยายามจะผลักดันแนวทางเรื่องการ Open By Default ซึ่งจะทำให้ข้อมูลรัฐถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใสขึ้น และผมก็เชื่อว่าจะทำให้เรามีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้มากขึ้นเช่นกัน
ประชาธิปไตยที่ยังมาไม่ถึง : ระบบและวัฒนธรรมที่ต้องเปลี่ยน
ถ้าเราอยากเห็นการเมืองที่ตอบโจทย์ 3 ป. คือ มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วม เราก็ต้องมีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เราจึงถามไอติมต่อว่า แล้วอุปสรรคของการเมืองไทยในปัจจุบันล่ะ มาจากอะไรกันแน่???
“ผมคิดว่ามี 2 ด้านใหญ่ ๆ”
ด้านที่ 1 คือ ระบบโครงสร้าง ประเทศจะมีประชาธิปไตยได้ก็ต้องมีกติกา กฎหมาย โครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะปลดล็อกให้เรามีระบบโครงสร้างการเมืองเป็นประชาธิปไตยคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ถึงแม้เรายังไม่ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมคิดว่าก็มีกฎหมายระดับพรบ. หลายฉบับที่เราสามารถแก้ได้เพื่อเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยของระบบการเมือง
ยกตัวอย่างเช่น การปฏิรูปกองทัพ ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์การเมืองไทยเผชิญกับปัญหาเรื่องรัฐประหาร เผชิญกับปัญหาที่กองทัพเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง ฉะนั้น ถ้าเราอยากจะปฏิรูปกองทัพเพื่อไม่ให้สามารถเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ หลักสำคัญคือทำอย่างไรให้กองทัพอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลพลเรือนเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยสากลในโลก จะทำตรงนั้นได้อาจจะไม่จำเป็นต้องถึงขั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สามารถแก้ไขกฎหมายบางฉบับได้ อย่างเช่น พรบ. ระเบียบราชการกลาโหม
ปัจจุบันเรามี พรบ. ระเบียบราชการกลาโหม ที่เขียนเอาไว้ว่า ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนจะทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับนโยบายการทหาร จะทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับงบประมาณทางการทหาร ทำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องดำเนินการตามมติของสภากลาโหม ซึ่งสภากลาโหมก็ประกอบไปด้วยข้าราชการทหารเป็นหลัก ฉะนั้น กลายเป็นว่าจะบอกว่ารัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพก็แทบจะไม่ได้แล้ว เพราะว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือน ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและรับผิดรับชอบทางการเมืองด้วยตนเอง แต่กล่ายเป็นต้องตัดสินใจตามมติของสภากลาโหมซึ่งมีข้าราชการทหารเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น ถ้าเราอยากจะปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตย อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหมุดหมายที่พรรคก้าวไกลส่งต่อมายังพรรคประชาชนเพื่อยื่นร่างแก้ไขกฎหมายเข้าไป

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ‘การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น’ ถ้าเราอยากจะอัดฉีดความเป็นประชาธิปไตยเข้าไปในวงการเมือง เราอาจจะไม่ได้มองถึงแค่ระบบการเมืองระดับชาติ แต่อาจจะมองถึงระบบการเมืองระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่นด้วย เราก็ได้มีการยื่นร่างแก้ไขพรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพยายามให้อำนาจในการจัดทำระบบบริการสาธารณะอยู่กับท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากขึ้น เช่น สมมติว่าประชาชนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีปัญหาเรื่องการเดินทาง มีปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะ ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนสามารถมีอำนาจในการกำหนดเส้นทางรถเมล์ กำหนดราคาค่าโดยสารได้ โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตจากส่วนกลาง หรือว่าทำอย่างไรให้อำนาจเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่าง ๆ อยู่กับท้องถิ่นมากขึ้น
อีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญเช่นกัน คือ เรื่องของวัฒนธรรม เพราะว่าเวลาเราพูดเรื่องสังคมใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ผมคิดว่ามันไม่ได้พูดถึงแค่ระบบโครงสร้างเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่อีกขาหนึ่งที่สำคัญคือ เรามีวัฒนธรรมประชาธิปไตยหรือไม่
วัฒนธรรมประชาธิปไตย คือมีความเห็นตรงกันในสังคม ฉันทามติร่วมกันในสังคมต่อค่านิยมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับประชาชนแค่ไหน เราให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การแก้ไขกฎหมาย แต่หมายถึงการแพร่หลายของค่านิยมเหล่านี้ในทุกพื้นที่ของสังคม
คนไม่กล้าโกง โกงไม่ได้ โกงแล้วไม่รอด
เราต้องตั้งหลักว่าทุกอาชีพมีทั้งคนที่ปฏิบัติดีและปฏิบัติไม่ดีทั้งนั้น หรือคนคนเดียวกันบางช่วงก็อาจปฏิบัติดีหรือไม่ดี ดังนั้น โจทย์ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน มันไม่ใช่เป็นการไปคาดหวังว่าทุกคนที่เข้ามาทำอาชีพนี้จะดีไปทั้งหมด และดีไปตลอดเวลา เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนคนหนึ่งที่เราอาจจะเชื่อว่าไม่น่าจะทำการทุจริต แต่สักวันหนึ่งที่เขามีอำนาจรัฐ เขาอาจจะใช้อำนาจโดยมิชอบหรือกระทำการทุจริตก็ได้
ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาทุจริต จึงไม่ควรเริ่มต้นจากการตั้งสมมติฐานว่า นักการเมืองทุกคนจะต้องเป็นคนดี 100% ตลอดเวลา แต่โจทย์สำคัญคือเราจะออกแบบระบบการเมืองอย่างไร ที่ทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่มีนักการเมืองคนไหนก็ตามจะเริ่มทำอะไรไม่ดี เขาจะถูกสกัดทันที และไม่สามารถสร้างความเสียหายได้
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตในมุมมองของผมและพรรคประชาชน ไม่ได้เน้นการไปฝากศรัทธาที่คนใดคนหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นคนดี แต่พยายามจะออกแบบระบบให้ “คนไม่กล้าโกง โกงไม่ได้ และโกงแล้วไม่รอด”
ถ้าทำให้คน ‘ไม่กล้าโกง’สำคัญสุดคือการเปิดเผยข้อมูลรัฐ เมื่อทำให้ข้อมูลรัฐมีความโปร่งใส ถ้าผมเป็นคนที่คิดไม่ดี กระทำการทุจริต ผมจะรู้ว่าทุกการกระทำของผมจะถูกเปิดเผยและอยู่ในแสงสว่าง ประชาชนจะเข้ามาตรวจสอบและเจอความผิดปกติในตัวเลขที่ย้อนกลับมาที่พฤติกรรมของผมได้ คนที่คิดไม่ดีจะมีความหวาดระแวงมากขึ้นในการที่จะทำการทุจริต


‘โกงไม่ได้’ คือ การออกแบบกระบวนการบางอย่างที่ตัดคนกลางออกไป ตัดดุลพินิจออกไป เช่น สมมติเราบอกว่าการขอใบอนุญาตบางอย่างจะต้องมีคนกลางเป็นเจ้าหน้าที่ในการจัดคิวว่าใครได้ก่อนหลัง จะต้องมีเกณฑ์ที่มีการใช้ดุลพินิจสูง ก็จะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริต กลายเป็นว่าถ้าผมไปจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่คนนั้น ผมอาจจะได้คิวเร็วกว่าคนอื่นที่มาก่อนผม ผมอาจจะได้รับการอนุญาตในใบอนุญาตนั้นทั้ง ๆ ที่ใบสมัครผมอาจจะไม่ได้มีข้อมูลที่ครบถ้วนก็ตาม แต่ถ้าเราตัดคนกลางออกไป ทำให้กระบวนการทั้งหมดออนไลน์ โปร่งใส ไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้ดุลพินิจแต่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนวัดได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ก็จะทำให้ถึงแม้อยากจะโกง ก็โกงไม่ได้

‘โกงแล้วไม่รอด’ พูดถึงประสิทธิภาพของทั้งหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมในการช่วยกันตรวจสอบ และนำคนที่กระทำการทุจริตมาดำเนินคดี อย่างเช่นปปช. จะทำอย่างไรจะให้มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบรัฐบาลหรือทุกฝ่ายด้วยมาตรฐานที่เข้มข้นเหมือนกัน ทำอย่างไรให้เราช่วยติดอาวุธให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในการทุจริต ทำอย่างไรให้เรามีมาตรการที่คุ้มครองความปลอดภัยของคนที่มาแจ้งการทุจริต ทำอย่างไรให้ข้าราชการที่อาจจะเห็นการทุจริตเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่ที่ผ่านมาไม่กล้ามาเปิดโปง เพราะกลัวกระทบกับความก้าวหน้าทางอาชีพของตัวเอง เขาได้รับความคุ้มครองจากรัฐเพื่อทำให้เขากล้าออกมาเปิดโปงความทุจริตที่เขาเห็น
ดังนั้น การแก้ปัญหาการทุจริต คือการไม่ฝากศรัทธาไว้กับคนใดคนหนึ่ง คิดและเชื่อว่าเขาเป็นคนดี แต่คือการออกแบบระบบสกัดกั้น ทำให้คนไม่กล้าโกง โกงไม่ได้ และโกงแล้วไม่รอด
อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของการเข้ามาทำงานการเมือง ถ้าคุณเชื่อว่าคนที่เข้ามาทำงานการเมืองหลายคนอาจจะเป็นคนที่หวังจะเข้ามากระทำการทุจริต ผมว่าทางออกไม่ใช่การหันหนีออกจากปัญหา เพราะว่าท้ายสุด ถ้าคุณไม่ยุ่งกับการเมือง การเมืองก็จะกลับมายุ่งกับคุณ เพราะคนเหล่านั้นก็จะเข้าสู่อำนาจรัฐ และจะตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน
สิ่งที่สำคัญกว่า คือเพิ่มการแข่งขันเข้าไป อัดฉีดคนที่พร้อมจะเข้าไปทำงานการเมืองเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ไม่ได้เข้าไปทำงานการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ยิ่งการแข่งขันมากขึ้น ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น โอกาสที่คุณจะได้คนที่เข้าไปทำงานการเมืองแบบไม่หวังประโยชน์ส่วนตนก็จะมากขึ้นตามมาเช่นกัน
เสียงจากเด็กและเยาวชน “ถ้าการเมืองดี…”
“การเมืองไม่ควรถูกวาดภาพให้น่ากลัวสำหรับเด็กและเยาวชน จะทำอย่างไรให้เขาได้มีโอกาสซึมซับการเมืองที่หลากหลาย หรือว่าตัวเลือกที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจของเขา”
บางคนจะวาดภาพการเมืองเป็นเรื่องที่น่ากลัว จนทำให้ไม่อยากให้นักการเมืองเข้าไปพูดคุยกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนเลย นี่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ แต่ผมลองมองย้อนกลับไปเมื่อสมัยเรียนที่อังกฤษในชั้นมัธยม ไม่เคยมีการปิดกั้นลักษณะนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เขามองว่าถ้าเด็กเติบโตขึ้นมาถึงอายุ 18 คุณก็ต้องใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงข้อมูลว่านักการเมืองคือใคร ทำงานกันอย่างไร ปัจจัยที่เขาควรจะใช้ในการตัดสินใจควรเป็นอย่างไร เพื่อที่ว่าเมื่อเขาอายุ 18 เขาจะได้เลือกได้จากฐานข้อมูลที่เขาวิเคราะห์มาอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่สำคัญ คือสถานศึกษาไม่ควรเปิดให้นักการเมืองพรรคเดียวเข้ามาเท่านั้น แต่ก็ต้องทำให้เด็กได้สัมผัสกับนักการเมืองและอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย สถานศึกษาสามารถคงความเป็นกลางทางการเมืองได้โดยที่ไม่ปิดกั้นการเมือง แต่เปิดให้ทุกชุดความคิดได้มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์แก่ผู้เรียนและมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการการเรียนรู้
คณะกรรมาธิการการเมืองฯ และพรรคประชาชนให้ความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันที่สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกที่คนแต่ละยุคเติบโตขึ้นมาไม่เหมือนกัน โลกที่คนยุค Baby Boomer เติบโตมาหน้าตาไม่เหมือนกับที่คน Gen Z เติบโตขึ้นมา
เด็กรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาในยุคโซเชียลมีเดีย สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลากหลาย หนังสือเรียนไม่ได้ผูกขาดข้อมูลที่เขาสามารถเข้าถึงอีกต่อไป รัฐไม่สามารถผูกขาดข้อมูลที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป พอเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ ผมคิดว่าก็สามารถเปิดจินตนาการของเขาให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ทำให้เขาเห็นถึงระบบการเมืองในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีบางประเทศทำบางเรื่องได้ดีกว่าเรา อาจจะมีบางประเทศที่ทำบางเรื่องได้แย่กว่าเรา แต่อย่างน้อยก็สามารถเปิดจินตนาการให้เขาได้เห็นอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น และมีการมองย้อนกลับมาที่การเมืองไทย จนมีการตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำด้านนี้ให้ดีขึ้นเหมือนอย่างประเทศนั้น ทำไมไม่ทำด้านนี้ให้ดีขึ้นเหมือนอีกประเทศนี้ เป็นต้น
ความหมายของคำว่า “ถ้าการเมืองดี” ผมคิดว่าระบบการเมืองส่งผลโดยตรงต่อความหวังที่คนทุกคนมีในการจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็น ไม่ได้หมายถึงคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่ถ้าระบบการเมืองดี ผมคิดว่าจะทำให้คนคนหนึ่งที่เห็นปัญหาในประเทศที่ตัวเองอยู่ ในสังคมที่อาศัยอยู่ มีความรู้สึกว่าปัญหานั้นจะถูกแก้ไข ผมคิดว่าไม่ได้มีใครคิดว่า ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว มีระบบการเมืองที่ดีแล้ว ปัญหาทุกอย่างจะหายไปทันทีทันใด เศรษฐกิจจะดีขึ้นทันทีทันใด คอร์รัปชันจะหายไปหมดทันทีทันใด การศึกษาจะดีขึ้นทันที ผมคิดว่าเขาไม่ได้คิดแบบนั้น
แต่คิดว่า ถ้าระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยและดีในลักษณะที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน สักวันหนึ่งพอประชาชนมีการเรียกร้องในประเด็นนั้นเยอะเพียงพอ ผู้ที่ออกแบบนโยบาย ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้มีอำนาจรัฐไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน หมายความว่าเขาจะส่งเสียงดังแค่ไหนก็ตาม เขาจะรวมตัวกันเยอะแค่ไหนก็ตาม พยายามจะเรียกร้องมากแค่ไหนก็ตาม ผู้มีอำนาจรัฐก็จะไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขาอยู่ดี
3 ขั้นบันได 3 พื้นที่สำคัญ
เพราะเยาวชนคือหุ้นส่วนสำคัญของประเทศ
คณะกรรมาธิการฯ เรามีการตั้งอนุคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งเพื่อจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของเยาวชน ณ วันเวลาที่คลิปนี้ออก มีความเป็นไปได้ว่ารายงานนี้อาจจะเริ่มอยู่ในขั้นตอนที่ใกล้จะได้เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว และเราก็คาดหวังว่าจะถูกอภิปรายในสภาในเดือนธันวาคมหรือมกราคม
โจทย์ที่เราตั้งไว้ เรามองว่า “เยาวชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญของประเทศ” เพราะเขาก็เป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีความคิด ความฝัน อยากเห็นอนาคตของประเทศมีการพัฒนา แต่ถูกผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น แม้ว่าเขาจะมีอายุน้อยกว่าผู้ใหญ่ในสังคม แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของสังคมที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกได้
ผมคิดว่าถ้าเราจะพูดถึงแนวทางในการสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน เราควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร ผมจะพูดเป็น 3 ขั้นบันได จากดีน้อยที่สุดไปจนถึงดีที่สุด
ดีน้อยสุด คือ คุณต้องได้ยินเสียงของเขาก่อน คือจะทำอย่างไรให้เสียงของเยาวชนได้รับการได้ยิน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมาคิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้เยาวชนมีพื้นที่ในการแสดงออกว่าเขามีความคิดความฝันอย่างไรบ้างแล้วก็ทำให้เสียงของเยาวชนให้ได้รับการได้ยิน…ได้ยินอย่างเดียวไม่พอ มากกว่าได้ยิน คือ การรับฟัง
ขั้นที่ 2 จึงต้องมีการรับฟัง บางครั้งที่เรามีการจัดกิจกรรมเปิดเวทีให้เยาวชนได้แสดงความเห็น ผู้ใหญ่ก็ได้ยินเสียงเยาวชน แต่เราไม่แน่ใจว่าเขาฟังเสียงของเยาวชนจริงหรือเปล่า ได้ยินแล้วเอาไปคิดต่อไหมว่าสิ่งที่เยาวชนสื่อสารคืออะไร เอาไปคิดต่อไหมว่าข้อเสนอเชิงนโยบาย ข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะตอบโจทย์ในปัญหาที่เยาวชนเจออยู่ต้องทำอะไรบ้าง
บันไดขั้นที่ 3 ที่ดีที่สุด คือการให้เขาเข้ามามีส่วนร่วม หรือว่าเป็นหุ้นส่วนในการตัดสินใจ แทนที่จะรับฟังและคิดแทนเขาว่าข้อเสนอแบบไหนที่จะตอบโจทย์เขา ให้เปลี่ยนเป็นทำอย่างไรที่จะสามารถดึงให้เขาเข้ามาในกระบวนการคิด กระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย ให้เขามีส่วนร่วมในการคิดทางออกสำหรับปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ ทำอย่างไรให้เราไว้วางใจให้เขาสามารถมีอำนาจในการตัดสินใจในบางเรื่อง มองเขาเป็นคนเท่ากัน ไม่ได้มองเขาว่าเขาเด็กกว่า แต่มองว่าไม่ว่าเขาจะอายุเท่าไหร่ เราก็เป็นคนเท่ากัน มีสิทธิ มีเสียงเท่ากันในการกำหนดอนาคตของประเทศ

ผมจึงมองว่านี่คือ 3 ขั้นบันไดสำคัญที่เราต้องไปให้ถึง ในส่วนของรูปธรรมจะเป็นอย่างไรนั้น คณะกรรมาธิการฯ ได้มองถึง 3 พื้นที่หลัก ๆ ที่เราจะเปิดให้เยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น
พื้นที่ที่ 1 คือพื้นที่การเมืองทั่วไป หรือว่าถ้าพูดภาษาง่าย ๆ คือ พื้นที่การเมืองเดียวกันกับพื้นที่ของผู้ใหญ่ ข้อเสนอที่สำคัญภายใต้โจทย์นี้คือการทบทวนอายุขั้นต่ำในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ถ้าเราไปดูประเทศที่เป็นประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล เราจะเห็นการกำหนดกติกาไว้ว่า ถ้าคุณมีอายุมากพอที่จะโหวตได้ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ คุณก็ควรจะมีอายุมากพอที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งได้
แน่นอน…ถ้าอายุน้อยไปสมัครก็ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้โอกาสคุณหรือไม่ บางคนอาจจะมองว่าประสบการณ์ไม่พอก็เป็นเรื่องของสังคมที่จะใช้ดุลพินิจในการมาลงคะแนนเสียงให้ แต่อย่างน้อยต้องให้สิทธิเขาในการเสนอตัวลงสมัครได้ อย่างที่สหราชอาณาจักรฯ ก็จะมีนักการเมืองหรือว่าสส. ที่อายุระหว่าง 18 – 21 ปี อย่างเช่น มารี แบล็ก (นักศึกษาวัย 20 ปี สส. สหราชอาณาจักรฯ มีอายุน้อยที่สุดในรอบ 348 ปี หลังเอาชนะแชมป์เก่าจากพรรคแรงงานในเขตเลือกตั้งสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2558)
ถ้าเรามองไปถึงประเทศอื่น เราก็จะเห็นว่ามีหลายคนที่ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่มีอายุน้อย เช่น เช็ด ซัดดิค บิน เช็ด อับดุล ราห์มาน รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาและเยาวชนที่มาเลเซีย ตอนรับตำแหน่งน่าจะอายุประมาณ 26-27 ปี หลังจากรับตำแหน่งเขาพยายามจับประเด็นที่เยาวชนสนใจและให้ความสำคัญ มีการพูดถึง Esport รวมถึงกีฬาต่าง ๆ ที่เยาวชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
นี่คือสิ่งที่เราเห็นในหลายประเทศทั่วโลก กลับมามองที่ประเทศไทยกลายเป็นว่าบุคคลที่ผมพูดชื่อมาทั้งหมดจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ในกติกาของประเทศไทย ประเทศไทยกำหนดว่าพออายุ 18 คุณบวชได้แต่คุณต้อง 25 ถึงลงสมัครสส. ได้ จะต้อง 35 จึงจะลงสมัคร หรือสามารถเป็นผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นได้
พื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่ทางการเมืองเฉพาะเยาวชน สมมติว่าเยาวชนบางกลุ่มอาจจะอายุยังไม่ถึงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในพื้นที่ทั่วไป ก็ต้องมีพื้นที่ที่ให้เขาสามารถเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในฐานะเยาวชนได้ซึ่งหลายประเทศก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า “เครือข่ายเยาวชน” สำหรับประเทศไทยก็คือ “สภาเด็กและเยาวชน” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) แต่จากการพูดคุยทั้งเยาวชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง และเยาวชนที่เกี่ยวข้องกับสภาเด็กและเยาวชนก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่ามีหลายแนวทางที่สามารถปรับปรุงให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นตัวแทนของเยาวชนให้ดีขึ้นได้
ในส่วนของที่มาก็มีข้อเสนอหลายข้อเสนอที่เราสามารถปรับกระบวนการเลือกตั้งหรือกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนโดยให้มีการเลือกตั้งโดยตรงมากขึ้นได้หรือไม่เพื่อทำให้ตัวแทนที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่จะสะท้อนความต้องการเยาวชนอย่างแท้จริง
อีกมุมหนึ่งก็คือเรื่องของอำนาจ นอกจากจะสามารถจัดกิจกรรมได้แล้ว ทำอย่างไรให้เขามีอำนาจในเชิงนโยบายมากขึ้น แนวคิดหนึ่งที่เราเห็นจากหลายประเทศและมีการศึกษากันอยู่ คือ การพยายามจะเชื่อมสภาเด็กและเยาวชนกับสถาบันทางการเมืองในระดับชาติ เช่น ถ้าสภาเด็กและเยาวชนคุยกันและมีมติว่าควรจะแก้ไขกฎหมายอย่างไร เขาสามารถนำข้อเสนอนั้นเข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นกฎหมายในทันที แต่อย่างน้อยให้สส. มาพิจารณาได้หรือไม่
หรือว่าเราควรจะให้สภาเด็กและเยาวชนมีโควตาในการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีหรือไม่ อาจจะ 1-2 ครั้งต่อปี เพื่อซักถามและเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในสภาเด็กและเยาวชนหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แต่ของไทยเราจะเห็นว่าอำนาจหลักยังคงจำกัดอยู่แค่การจัดกิจกรรม หรือว่าอำนาจในการเสนอนโยบายที่ยังไม่เป็นทางการมากนัก นี่คือโจทย์ที่ 2 คือ การปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนให้เป็นตัวแทนของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนสุดท้าย พื้นที่ที่ 3 คือ การเพิ่มการมีส่วนร่วมของเยาวชนในสถานศึกษา ทำอย่างไรให้ในพื้นที่ของสถานศึกษา ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ที่เยาวชนจำนวนมากใช้เวลาเยอะเป็นพิเศษมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาในสถานศึกษาที่มากขึ้น ทำอย่างไรให้กฎระเบียบโรงเรียนเปิดให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้คณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการโรงเรียน ไม่ได้มีแค่ตัวแทนจากคนในชุมชน ตัวแทนจากผู้ปกครอง ตัวแทนจากคุณครูอย่างเดียว จะต้องมีตัวแทนนักเรียนไปนั่งอยู่ในนั้นด้วยเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับนักเรียนในสถานศึกษาดังกล่าว
อนาคตการเมืองไทย 10 ปี ข้างหน้า
“ผมต้องการเห็นประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
ดีกว่าประเทศไทยในวันนี้”
สิ่งที่เราเห็นประเทศไทยที่ผ่านมา เราคุยกันในเรื่องปัญหาเดิม ๆ มายาวนานมาก ผมเคยลองถามนักศึกษาที่ผมไปบรรยายว่า ‘ในวันนี้เขาเห็นปัญหาอะไรในประเทศไทยบ้างที่อยากให้หมดไป’ ผมไล่ดูคำตอบต่าง ๆ ที่เขาตอบกันกลับมา มีทั้งเรื่องรัฐประหาร ปัญหาเรื่องรถเมล์ควันดำ หลักสูตรการศึกษาไม่ทันสมัย ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหาร ปัญหาเรื่องสว. มีอำนาจเยอะมาขัดขวางสส. ที่มาในการเลือกตั้ง เป็นต้น
ทุกปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาที่ใหม่ ถ้าเราสามารถย้อนกลับไปหาพาดหัวหนังสือพิมพ์จาก 20 – 40 ปีที่แล้ว เราจะเห็นว่ามีปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดเลย

ดังนั้น ถ้าถามว่าผมอยากเห็นอะไรใน 10 ปีข้างหน้า ผมหวังว่าเราจะไม่ต้องมาคุยเรื่องปัญหาเดิม ๆ แต่เราจะสามารถแก้ปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานได้ ไม่ใช่เพราะว่าแก้ปัญหาทั้งหมดนั้นแล้ว เราจะไม่มีปัญหาอีกเลยนะครับ แต่เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาใหม่ ๆ ที่ต้องเผชิญหน้ารับมืออีกเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคมสูงวัยที่เป็นระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่ทำให้เรามีสัดส่วนคนวัยทำงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของเทคโนโลยี AI ที่แม้จะสร้างประโยชน์ในบางมิติ แต่ก็อาจจะกระทบต่อการจ้างงาน เพิ่มความจำเป็นในการยกระดับทักษะของคนทุกช่วงวัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกรวนซึ่งวันนี้ก็เห็นชัดแล้วว่าแปลงมาเป็นปัญหาเรื่องของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงขึ้นอย่างถี่ขึ้น
ผมคิดว่าเราอยู่ในจุดที่เรากำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เยอะมาก สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียด สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เราเคลียร์ปัญหาเก่า ๆ ให้ได้ภายใน 10 ปีข้างหน้าเพื่อให้เรามีสมาธิในการพร้อมรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ
หมุดหมายสำคัญบนถนนสายการเมืองของ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ
“ผมอยากเป็นส่วนหนึ่ง
ในการทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น”
“ผมว่าความฝันของการที่เราอยากเติบโตมาเป็นอะไรมักจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของคนคนนั้น”
ตอนเด็ก ๆ สักประมาณชั้นประถมผมอยากเป็นนักบิน แต่ตอนขึ้นเครื่องบินเวียนหัวง่าย พอโตขึ้นมาชอบเตะบอล ก็อยากเป็นนักฟุตบอล แต่ความสามารถเราอาจจะยังไม่ถึง พอโตขึ้นมาอีกเข็มทิศที่ทำให้เราตัดสินใจ คือ การอยากจะช่วยให้ประเทศนี้ดีขึ้น

ผมอยากจะปรับปรุงประเทศในแต่ละด้านให้ดีมากขึ้น เริ่มต้นอยากมีส่วนในการพัฒนาประเทศ แต่ยังไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนว่าต้องทำงานด้านไหน เราเข้าใจดีกว่าการทำงานการเมืองจะช่วยพัฒนาประเทศได้ ตอนเรียนจบ ผมจบปริญญาตรีสาขาปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์ ตอนเรียนจบก็ไม่ได้ทำงานการเมืองเลย ไปทำงานภาคเอกชนก่อนที่จะตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมือง ไม่ได้มีแนวคิดตั้งแต่สมัยเรียนว่าจะต้องเข้ามาทำงานการเมืองเท่านั้น และไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานการเมือง แต่ที่เราตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองเพราะเรารู้ว่านี่เป็นอาชีพที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย การแก้กฎหมายที่สามารถขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้อย่างเป็นระบบ
10 ปีข้างหน้าของผมจะอยู่ในแวดวงการเมืองหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะยังให้โอกาสเราหรือไม่ แต่สิ่งที่ผมตอบได้ว่าผมอยากอยู่จุดไหน ผมหวังว่าผมจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สังคมนี้ดีขึ้น ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในสถานะ ในอาชีพ หรือในบทบาทต่าง ๆ
ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่อายุ 13 และสะสมขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่ความสนใจที่เป็นนัยสำคัญเริ่มชัดเจนขึ้นตอนที่ได้ทุนไปเรียนมัธยมที่ประเทศอังกฤษ ช่วงนั้นผมใช้ชีวิตอยู่ระหว่าง 2 ประเทศ เปิดเทอมอยู่ประเทศอังกฤษ ปิดเทอมอยู่ประเทศไทย ทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบมากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าบางจุดของประเทศไทยมีดีกว่า แต่ก็มีหลายจุดที่เห็นว่าอังกฤษดีกว่าไทย ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ!!! ทำไมในเมื่อขนาดของประเทศไม่ได้ต่างกันมาก ระบบการปกครองในเชิงทฤษฎีเหมือนกัน คือเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นระบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทำไมในหลาย ๆ เรื่องดูเหมือนอังกฤษทำได้ดีกว่าเรา”

ผมคิดว่าพอเรามีโอกาสได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ จึงทำให้เราได้เปิดจินตนาการถึงความเป็นได้ใหม่ ๆ ทำให้เราย้อนกลับมาถามคำถามถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม
ยกตัวอย่างเรื่องระบบการศึกษา สมัยตอนเรียนในโรงเรียนไทย วิชาที่ผมไม่ชอบเลยคือ วิชาประวัติศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าเป็นการเรียนแบบท่องจำเป็นหลัก กลายเป็นว่ามาวัดกันว่าคุณจำเหตุการณ์ได้ดีแค่ไหน ว่าอะไรเกิดขึ้นปีไหน แต่พอเราไปเรียนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนประเทศอังกฤษ วิธีการสอนเป็นอีกแบบ คือเขาไม่ได้สอนให้เน้นการท่องจำเหตุการณ์ แต่เป็นการชวนให้เรานึกถึงคำถามในเชิงวิเคราะห์ แทนที่จะมาแข่งกันจำว่าเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดอะไรขึ้นบ้าง เกิดปีไหน เขาจะชวนวิเคราะห์ถึงอะไรที่ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่เกิดสงครามโลก ใครควรจะรับผิดชอบเรื่องนี้ อะไรเป็นจุดผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนพอเราวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ นักเรียน 2 คนในห้องอาจจะมีความเห็นไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มีคำตอบที่ผิดถูก เป็นการถกเถียงว่าเรามีความเห็นแบบนี้เพราะอะไร มีข้อมูลอ้างอิงอย่างไร เป็นต้น
ดังนั้น จึงทำให้เราเห็นถึงการเปรียบเทียบเรื่องของระบบการศึกษา ว่าทำไมหลักสูตรในโรงเรียนที่อังกฤษเน้นการคิดวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำที่เราสัมผัสที่ประเทศไทย พอเราเห็นความแตกต่างแบบนี้ ก็ทำให้เราสนใจที่จะกลับมาพัฒนาการศึกษาไทยให้ดีขึ้น และทำให้ขยายไปถึงเรื่องอื่น ๆ อีก อย่างเช่น ในกรุงเทพฯ ถ้าจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งก็คือต้องใช้รถยนต์ ถ้าคุณต้องใช้ขนส่งสาธารณะต้องต่อหลายต่อมาก ความสะดวกสบายมีความจำกัด ในขณะที่ลอนดอน คนส่วนใหญ่ใช้ขนส่งสาธารณะ การเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดแม้จะเปลี่ยนหลายต่อ แต่ก็สะดวกสบาย มีความรวดเร็วและสามารถคาดการณ์ได้ ทำให้เราเห็นว่านายกฯ ของลอนดอนมีอำนาจในการกำกับดูแลระบบขนส่งในพื้นที่ของเมืองเขา แต่ผู้ว่าฯ กทม. แม้จะมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้มีอำนาจ
All About Itim Parit
สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามทำจนถึงวันนี้ คือ การพยายามเรียนรู้จากคนอื่น ผมคิดว่ามาจากความตระหนักก่อนว่า ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ผมเก่งที่สุด ทุก ๆ เรื่องมีคนที่เก่งกว่าเราเสมอ เพียงแต่ว่าในแต่ละเรื่อง คนที่เก่งกว่าเราอาจจะเป็นคนละคน ดังนั้น ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เราเรียนรู้จุดแข็งของคนที่เราทำงานด้วย คนที่เราใช้ชีวิตด้วย และพยายามนำมาใช้พัฒนาตัวเราให้ดีกว่าเดิม อย่างถ้าเราเจอคนที่สื่อสารเก่ง ๆ เราก็อยากเรียนรู้จากเขา เราเจอใครที่ทำงานเป็นทีมเก่ง ๆ บริหารงานเก่ง ๆ เราก็อยากเรียนรู้จากเขา เราเจอใครที่รู้สึกว่าเขาเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานได้ดีมาก เราก็อยากเรียนรู้เทคนิคจากเขา
ดังนั้น ผมคิดว่าพยายามเรียนรู้จากคนรอบข้าง พยายามเรียนรู้จากคนที่เราทำงานได้ เพื่อทำให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้นกว่าเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมให้ความสำคัญในเรื่องของเวลา เพราะเวลาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า เวลาของเรามีจำกัด เวลาที่เรามีบนโลกใบนี้ก็จำกัด เวลาที่เราจะมีสุขภาพที่ดีก็จำกัด เวลาที่เรามีในการเมือง ยิ่งในการเมืองไทยก็อาจจะจำกัด และมีความไม่แน่นอนมากกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าโจทย์ของผมคือจะทำอย่างไรให้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ
ผมชอบหนังที่เป็นผลงานกำกับของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่ชอบที่สุดคือ The Prestige (2006) เป็นเรื่องของนักมายากล 2 คนที่แข่งกัน ผมเป็นคนชอบวิเคราะห์ ชอบแก้ปัญหา ชอบแก้โจทย์ตั้งแต่เด็ก ๆ พอเราดูหนังเรื่องนี้ ตลอดเรื่องก็จะงง ๆ ปะติดปะต่อไม่ค่อยได้ เราก็งงว่าเราไม่เข้าใจถึงปัญหารึเปล่า จนฉากสุดท้าย ทุกอย่างที่เรางงถูกไขหมดเลยเพราะมีการหักมุมและเฉลยตอนท้าย ผมไม่บอกว่าอะไร แต่ใครที่สนใจต้องไปดู ผมชอบหนังสไตล์แบบนี้
Poster
ผมชอบหนังสือของ Michale Sandel 2 เล่มที่อ่านคือ Justice ความยุติธรรม กับ The Tyranny of Merit เผด็จการความคู่ควร ซึ่งเป็นหนังสือที่ชวนให้เราคิดว่า สังคมที่ดี สังคมที่ยุติธรรม ให้ความหมายว่าอย่างไร อาจจะมีคำตอบที่ไม่เหมือนกันของแต่ละคน แต่นักการเมืองต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ เพื่อที่จะมีเข็มทิศในการทำงาน

แน่นอนว่า การมานั่งอยู่ตรงนี้ของเราจะไม่พูดถึงลิเวอร์พูล เห็นจะเป็นไปไม่ได้ เราจึงปิดท้ายบทสนทนาด้วยเรื่องของฟุตบอลและทีมโปรดที่ไอติมชื่นชอบที่สุด
“ไม่ว่าคุณจะเครียดเรื่องอะไร ใน 90 นาทีนั้นจะทำให้คุณลืมทุกเรื่องไปหมด”
ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลตั้งแต่สมัยเรียนประถม ในทีมฟุตบอลผมตัวเล็กที่สุดเลยได้ตำแหน่งกองหน้า สมัยนั้นลิเวอร์พูลมีไมเคิล โอเวนอยู่ตำแหน่งนี้
ผมชอบลิเวอร์พูลในยุคที่โค้ชให้เรารู้สึกว่า 1+1 มากกว่า 2 คือทำให้นักเตะหลายๆ คนมาอยู่ด้วยกัน ทำให้มีระบบการดึงจุดแข็งของแต่ละคนออกมาได้ คล็อปป์ก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งยุคปัจจุบันอาร์เน สล็อตเริ่มต้นได้ค่อนข้างดี
แม้ว่าแต่ละคนจะมีบทบาทที่ไม่เหมือนกัน แต่แนวทางการทำงาน แนวทางการเล่น อาจจะมองเปรียบได้กับอุดมการณ์ทางการเมือง แนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน เราจะเห็นว่าหลายครั้งจะมีนักเตะที่มีพรสวรรค์สูง แต่ว่าอาจจะไม่มีแนวคิดเรื่องการเล่นในลักษณะที่สอดคล้องในยุคของทีมภายใต้การนำของคล็อปป์ คล็อปป์เป็นผู้จัดการที่ให้โอกาสคน เราเห็นหลายคนในทีมที่อายุน้อย แต่ถ้าผลงานดีคล็อปป์ให้โอกาสเสมอ อย่างเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นต้น และในยุคของคล็อปป์ เราจะเห็นว่ามีนักเตะหลายคนที่ย้ายออกไปเล่นได้ไม่ดีเท่าอยู่ที่ลิเวอร์พูล เช่น คริสเตียน เบนเตเก้ นักเตะกองหน้าย้ายมาก่อนที่คล็อปป์จะเข้ามาคุมทีม เป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์สูง แต่ไม่ได้เล่นตามสไตล์ที่คล็อปป์อยากให้เล่น ทำให้ท้ายสุดเขาต้องออกจากทีมไป
ในมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในองค์กรหนึ่งต้องกำหนดทิศทางให้ชัด แม้ว่าแต่ละคนจะมีคนละบทบาท ทำงานคนละตำแหน่ง แต่ทุกคนมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน
ผมจำได้ว่าเคยมีแฟนบอลคนหนึ่ง เขาพาลูกไปดูบอล จำไม่ได้ว่าทีมอะไร เขาให้สัมภาษณ์ว่าลูกเขาเป็นลูคิเมียและทำให้เด็กเครียดมาก แต่ทุกครั้งที่เขาพาลูกมาที่สนาม 90 นาทีนี้จะเป็น 90 นาทีที่ทำให้ลูกเขาลืมว่ากำลังเป็นโรคนี้ ซึ่งประโยคนี้สัมผัสได้จริง แม้เราไม่ได้เจอเรื่องร้าย แต่ไม่ว่าเราจะเจอเรื่องเครียด หรือต้องการเวลาที่เราต้องการพักผ่อน 90 นาทีนี้จะทำให้เราไหลลงไปอยู่ในนั้น

เวลาที่ผมเจอเรื่องเครียดหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน ผมจะเอาเรื่องที่เครียดแต่ละเรื่องใส่เข้าไปในลิ้นชักต่างๆ เรื่องไหนแก้ได้เร็วแก้ก่อน เรื่องไหนใหญ่แต่ยังแก้ไม่ได้เร็วก็ใส่ลิ้นชักพักไว้ก่อน ไม่ได้ด่วน ถ้าต้องใช้เวลากับมันก็วางแผนไว้ล่วงหน้า ถ้ามีเวลาตอนไหนก็จะมานั่งจัดการ ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่เรารู้สึกเหนื่อย รู้สึกท้อ แต่การกลับมาตั้งหลักและรู้ว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่อทำอะไร เราก็จะมีกำลังที่จะเดินต่อไปเอง
