ในโลกที่หมุนและขับเคลื่อนไปทุกวัน แม้หลายคนจะเหนื่อยอ่อนและย่อท้อต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความก้าวหน้าได้เลยแม้แต่น้อย จะช้าจะเร็ว เราทุกคนล้วนต้องยอมศิโรราบกับการปรับตัว
หากเปรียบมนุษย์เป็นสัตว์หนึ่งประเภท มนุษย์คือสรรพสิ่งที่ขยันสร้างสิ่งใหม่ ที่ทำให้ทั้งองคาพยบขยับตัวตามสิ่งใหม่อยู่เสมอ แต่ในมุมความเป็นปัจเจก สัญชาตญาณของสัตว์ชนิดนี้กลับกล้าปรับตัวยากเสียเหลือเกิน
ไม่เหมือนกับสัตว์ในเผ่าพันธุ์อื่นที่เรียกว่า ‘กิ้งก่า’ ที่เราก็ไม่แน่ใจนักว่ามันเหนื่อยกับการเปลี่ยนแปลงเนื้อตัวตามสภาพแวดล้อมหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรการปรับตัวของมันไม่ได้เป็นนิสัย แต่คือสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติตาม ซึ่งจะให้ดี เราก็ควรปรับตัวให้เหมือนกิ้งก่าในแบบที่มืออาชีพกว่าแค่สัญชาตญาณ
ใน Session ‘The Professional Chameloen: กิ้งก่ามืออาชีพ: Adapting Global Lesson Locally’ ของ ‘แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล’ Deputy Managing Director ที่ ‘Brandthink’ บนเวที ‘Creative Talk Conference 2024’ เขามาบอกเล่าเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้แขมป์กลายเป็นคนที่พร้อมรับกับทุกการปรับตัวอยู่เสมอ
แชมป์เปิดหัวเรื่องกับผู้ชมจากมุมมองของสุภาษิต คำพังเพย ทั้ง ‘กิ้งก่าได้ทอง’ หรือ ‘กิ้งก่าเปลี่ยนสี’ ที่มักถูกมองในเชิงลบเสียส่วนใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงแบบกิ้งก่าเป็นประโยชน์มากกว่านั้น
ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเขาถูกเลย์ออฟจากงานที่สิงคโปร์ ห้วงเวลา 100 วันก่อนที่จะได้งานใหม่ เขาเดินทางกลับมายังไทยเพื่อพบเจอผู้คน
วันหนึ่งที่เขาไปเจออาจารย์ที่เคารพ ที่ทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่าน่าจะเป็น ‘กิ้งก่า’ แบบของแทร่! เพราะอาจารย์คนนั้นกล่าวว่า “ปกติเรารู้ว่าคนที่เลย์ออฟมา เขาจะไปลงต่อที่จุดไหน แต่ตัวแชมป์เองเราไม่รู้เลยว่าคุณจะไปลงตรงไหนกันแน่” ในห้วงอายุ 39 ปีนั้น เขารู้สึกตัวอยู่ช่วงหนึ่งว่าจากการทำงานอันหลากหลายที่เคยผ่านมา เราเป็นใคร และควรไปตรงไหนกันแน่
แต่ทุกอย่างของมนุษย์เป็ด หรือมนุษย์กิ้งก่าก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะอาจารย์คนนั้นให้ Framework ให้เขายึดเกาะ นั่นคือ ‘Triangulate’ หรือหลักสามเหลี่ยม ที่มุ่งเน้นให้คน ๆ นั้นหาจุดแข็งที่ไม่ใช่ความสามารถทางตรง 3 ข้อ แต่เป็นการสังเคราะห์หาจุดร่วม 3 อย่างที่เกี่ยวข้องกันในเนื้องานที่เคยทำ หรือความสามารถและความสนใจพิเศษที่เรามี แล้วค่อยหาตรงกลางระหว่างกัน
‘Mobilizer’ การเป็นผู้ขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง, ‘Public’ การทำงานที่สื่อสารต่อสังคม และ ‘Good Causes’ การทำงานที่ไม่ได้คาดหวังตัวเงิน แต่ถ้าได้ผลลัพธ์ด้านความรู้สึกดี เขาจะพึงพอใจมากกว่า คือจุดแข็งที่เขาหาเจอ และทำให้เขาค่อย ๆ นึกย้อนกับตัวเองอยู่เสมอในทุกเนื้องานที่ผ่านมา
จากการเป็นเป็ดของเขาที่เคยผ่านงานมาร้อยแปด ก็กลับกลายเป็นกิ้งก่าได้หากเราหาจุดแข็งของตัวเองเจอจากความเป็นคุณจริง ๆ ในทุกแง่มุมที่เชื่อมโยงกัน
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ของเขาก็มีความน่าสนใจในการเป็นกิ้งก่า ที่ต้องทำงานในบริษัทใหญ่ ในตำแหน่งหน้าที่เดียวกัน แต่แตกต่างกันด้วยวัฒนธรรมองค์กร อย่าง ‘Netflix’ ที่เน้นความฟรีสไตล์ ซึ่งแตกต่างจาก ‘Amazon Prime’ ที่เน้นความเข้มงวดจริงจังมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เขา หา ‘Personal Common Value’ จากกฎหลายสิบข้อของแต่ละองค์กรมาเลือกสรรการมององค์กรให้เหมาะสมกับตัวเอง หรือการนำเอา Insight บางอย่างที่ไม่เคยกลายเป็นกฎ มาเป็น Core Value ของตัวคุณเอง
ความเป็นกิ้งก่าในการทำงานในที่ต่าง ๆ ที่ดีที่เกิดขึ้นจริงสำหรับเขาจึงเป็นการ ‘Observe’ สังเกตแบบตากิ้งก่าที่เฉียบคมว่องไว ว่าบริษัทนั้นเป็นอย่างไร ‘Absorb’ ซึมซับความเป็นองค์กรในบางแง่มุมแบบฟองน้ำ เพื่อทำให้ตัวเองเรียนรู้ความเป็น และ ‘Contextualize’ หรือการรู้ตัวเสมอว่าในทุกคำตอบ จะมีทิศทางคำตอบใหม่ที่ไม่เหมือนคำตอบเดิมอยู่เสมอ
ทุกวันนี้การทำงานของเขาที่ ‘Brandthink’ คือการเอาประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาองค์กรให้ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็นมากขึ้น ผ่านการหา Framework ที่ดูเหมาะสมที่สุดกับองค์กรนี้ นั่นคือ ‘Operational-Tools’ ‘Way of working’ ‘Corp Culture’ และ ‘Core Beliefs’
อย่างปัญหาในองค์กรแบบไทย ๆ ที่กลัวการเสียหน้าในองค์กร เขาก็แก้ปัญหานี้ผ่านการ Cracked ระบบบางจุดเพื่อช่วยให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลาย ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การประชุมกลุ่มย่อยบางครั้งที่อาจทำให้ปัญหาการมีส่วนร่วมเกิดขึ้น ก็เปิดโอกาสให้ความคิดบางอันที่ไม่ถูกนำเสนอ ใส่อยู่ใน Agenda ของการประชุมครั้งนั้น ๆ แทนการพูดในห้อง หรือการแก้ปัญหาความไม่กล้าพูดตรงไปตรงมาต่อกัน ด้วยการเปลี่ยนแนวคิดจากเชิงลบ ว่าการคอมเมนต์ตรงไปตรงมา ไม่ได้ต้องการให้เสียหน้า เพียงแต่เราต้องการนำเสนอผลลัพธ์ของเนื้อหาพูดที่ดีที่สุดผ่านการพูดระหว่างกันแบบเจ้าใจกันทั้งสองฝ่าย สิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยให้องค์กรแบบไทย ๆ แก้ปัญหา Insight บางอย่างในองค์กรหรือคนทำงานได้ด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายแชมป์ปิดท้ายกับผู้คนว่า การเป็นกิ้งก่าที่ดีคือทักษะที่จำเป็นในยุคที่การงานมีความลื่นไหลมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราสังเกตองค์กรเป็น ซึมซับความเป็นองค์กรได้ และรู้ตัวอยู่เสมอว่าทุกอย่างที่ดำเนินไปนั้นไม่มีอะไรที่ตายตัว จะทำให้แค่กิ้งก่าธรรมดา กลายเป็นกิ้งก่ามืออาชีพได้แบบไม่ยากเลย