“ยิ่งเติบโตความฝันยิ่งหล่นหาย”

เราต่างเติบโตมาด้วยความปรารถนาที่จืดจางลงเรื่อย ๆ โลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความเป็นจริงต่างกันราวกับสวรรค์และนรก มันเล่นงานเด็กทุกคนที่กำลังจะแบกเป้แห่งความฝันออกเดินทางไกล บนถนนที่ชื่อว่า ‘สังคม’ ไม่เคยปรานีผู้เดินทาง มันกัดกินตัวตนและเป้าหมายของเราจนหมด ก่อนคายร่างที่แหลกเหลวออกมา ปล่อยให้เรากระเสือกกระสน ล้มลุกคลุกคลานไปบนเส้นทางของมัน 

ก่อนค้นพบว่าความฝันในวัย 8 ขวบ ช่างต่างกับความฝันในวัย 28 ปี จากความคิดที่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องมาลงเอยบนโต๊ะพนักงานบัญชีในบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง และรู้สึกตลกร้ายทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปในความฝันเมื่อยังเป็นเด็ก หากตั้งคำถามว่าแล้วทำไมยิ่งโตถึงกล้าที่จะฝันได้น้อยลง ก็คงต้องตอบว่าเพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมนั่นล่ะ ที่กดคอเราไว้ไม่ให้กล้าเสี่ยงเพื่อทำตามฝัน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Scranton ที่เคยศึกษาเกี่ยวกับความสำเร็จคนอเมริกา พบว่า มีคนเพียง 8% เท่านั้นที่สามารถทำตามความฝันได้ ขณะที่อีก 98% ตายไปโดยที่ยังทำตามฝันไม่สำเร็จ และมีคนเพียง 1 ใน 10 ที่ได้ทำงานในสายงานที่ตนเองรัก และ 7 ใน 10 คน เข้าใจว่าอาชีพที่ตัวเองอยากทำไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลให้ต้องล้มเลิกความฝันของตนเองไป

อย่างที่เราเข้าใจกันดีว่า เศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในสังคมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คน แม้กระทั่งความคิดและความฝันก็สามารถถูกลดทอนลงจากภาวะที่เกิดขึ้นในสังคมได้ เพราะมันเป็นเรื่องยากในการที่จะประสบความสำเร็จ หากเรามาจากครอบครัวที่ยากจน ไร้โอกาส ไร้คนรู้จัก ไร้เงินทอง และเติบโตในสังคมที่มีสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ เพียงข้อจำกัดเพียงไม่กี่ข้อ ก็เพียงพอที่จะดับไฟแห่งความฝันของเราจนมอดไหม้

นอกเหนือจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมทางสังคม อีกสิ่งหนึ่งที่มีผลกระทบต่อความฝันของเราเป็นอย่างมากคือ ‘มายาคติทางสังคม’ ลองจินตนาการว่า หากคุณเป็นเพียงคนเดียวที่เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถทำสิ่งนี้ได้ ท่ามกลางคนอีกหนึ่งร้อยคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวคุณ มันจะรู้สึกทุกข์ทรมานขนาดไหน หากคุณวาดฝันว่าอยากเป็นศิลปิน ถึงแม้จะรู้ว่าแวดวงศิลปะในไทยไม่ได้เฟื่องฟู แต่คุณยังเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ ขณะที่ครอบครัว เพื่อน และคนรอบตัวต่างมองว่าฝันของคุณไร้สาระและจับต้องได้ยาก ความฝันของคุณถูกบั่นทอนไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความมั่นใจที่ถูกกัดเสาะ สุดท้ายกาลเวลาจะนำพาคุณไปในจุดที่ตอนแรกตัวเองไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ 

โลกแห่งทุนนิยมที่หมุนเวียนก็มีส่วนในการทำร้ายความฝันของพวกเรา โอกาสที่ต้องใช้เงินซื้อมามันทั้งง่ายสำหรับใครบางคน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับใครหลายคน ความเจ็บปวดจากการที่ไม่มีเงินเรียนในสถานศึกษาที่ดีกว่านี้ ความเจ็บปวดจากการที่ไม่มีเงินออกไปหาประสบการณ์ดี ๆ ความเจ็บปวดที่ไม่มีเวลามากพอ เพราะต้องดิ้นรนให้พ้นจากความยากจนก่อนที่จะมุ่งหน้าทำตามความฝัน 

สังคม ผู้คน เงินทอง และการแก่งแย่งทรัพยากรในโลกแห่งความเป็นจริงพรากความปรารถนาและความฝันของเราไป ตัดแต่ง บิดเบือน และลบเลือนจนแทบจำไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วความฝันของเราคืออะไร ความสุขในตอนที่จินตนาการถึงความสำเร็จของเราเป็นแบบไหน

อย่างไรก็ตามความฝันเป็นสิ่งที่แตกสลายได้ง่ายพอ ๆ กับการสร้างขึ้นใหม่ ถึงแม้จะพลาดฝันจากสิ่งอื่น เรายังคงนึกฝันถึงสิ่งใหม่ได้เรื่อย ๆ ขอเพียงแค่เราไม่ย่อท้อต่อการตั้งปณิธาน ยังคงตั้งมั่นว่าความหมายของการมีชีวิตคือการผ่านมิชชั่น (Mission) เล็ก ๆ ของวัน ไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายใหญ่เกินตัว ไม่จำเป็นต้องมีความฝันใหญ่เกินไป แค่กล้าที่จะมีความฝันเล็ก ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ ก็เพียงพอ 

ที่มา :

AUTHOR

ไม่ชอบคนข้างล่าง