ทุกครั้งที่เราเลื่อนผ่านเนื้อหาต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ บ่อยครั้งที่เราจะเจอกล่องที่เต็มไปด้วยเนื้อหาหลายรูปแบบ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นแง่มุมที่เชื่อมโยงถึงเราด้วยอัลกอริทึ่มของแพลทฟอร์มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทำให้หลายครั้งเราก็เจอเนื้อหาประเภท Meme หลุดเข้าตาเรามาบ้าง ตั้งแต่ยุคที่เรายังค้นหาอะไรดูบนหน้าเว็บไซต์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ และเลื่อนหาคอนเทนต์ดูด้วยนิ้วโป้งบนหน้าจอสมาร์ตโฟนข้างตัว ซึ่งวันนี้เราจะมาเล่าถึงเพลง ๆ หนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้เป็น Meme อยู่ถึงสองยุค ทั้งที่จริง ๆ แล้วเพลงนี้มีเนื้อหาไพเราะ และดูจะคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำว่าจะกลายเป็นเนื้อหาให้คนยุคนี้พูดถึงได้แบบไร้รอยต่อ

SUM UP ขอพาคุณไปรู้จักกับเพลง ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ผลงานอมตะนิรันดร์กาลของศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ จากรุ่นลุง ที่กลายมาเป็น Meme ของนักท่องเว็บรุ่นลูก และชาวเน็ตรุ่นหลานกัน

ที่ไปที่มาของเพลง ‘ผู้ชนะสิบทิศ’

หากจะกล่าวถึงเพลงนี้ เราอาจจะต้องเกริ่นถึงท่อนเพลงสุดฮิตที่ผู้คนน่าจะอ่านแล้วเก็ตกันก่อน

“เจ็บใจ คนรักโดนรังแก
ข้าจะเผาเมืองแปร ให้มันวอดวาย”

นี่คือท่อนแสดงอารมณ์ที่คนส่วนใหญ่น่าจะนึงออกหากจะกล่าวถึงเพลงนี้ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ขับร้องขับร้องโดย ‘ชรินทร์ นันทนาคร’ ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย ‘ไสล ไกรเลิศ’ และบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 แต่เดิมชื่อเพลงแรกเริ่มของเพลงนี้คือ ‘บุเรงนองรำลึก’ ก่อนจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ อย่างที่ทุกคนรู้จักกัน เพื่อใช้ประกอบในละครชื่อเดียวกันที่คุณชรินทร์รับบทเป็นจะเด็ด คู่กับ ‘สวลี ผกาพันธ์’ ผู้รับบทเป็นตะละแม่กุสุมา ออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2504

โดยจุดเริ่มต้นของเพลงนี้มาจากการที่ครูไสลอ่านหนังสือเรื่องผู้ชนะสิบทิศในร้านหนังสือแถวเวิ้งนาครเขษม ก่อนที่วันหนึ่งจะพาคุณชรินทร์ไปนั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเวลากลางคืนที่่มองเห็นดวงดาวทั่วท้องฟ้า บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยต้นลำพูที่มีหิ้งห้อยส่องแสงระยิบระยับ และมีเรือแจวลอยอยู่ในแม่น้ำ ครูไสลจึงเริ่มแต่งเนื้อเพลงท่อนแรกได้ว่า “ฟ้าลุ่มอิรวดี คืนนี้มีแต่ดาว…” ก่อนจะแต่งต่อได้จนจบเพลง

และต่อมาหลังจากคุณชรินทร์นำไปร้องจนโด่งดัง ‘ยาขอบ’ หรือ ‘โชติ แพร่พันธุ์’ นักเขียนผู้แต่งหนังสือเล่มนี้จึงเรียกครูไสลไปพบ และให้หนังสือในชุดเดียวกันมาให้จนครบเซ็ต จนครูไสลหยิบเนื้อหามาแต่งเป็นเพลงได้ต่ออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงบุเรงนองลั่นกลองรบ, ไขลูสู้ตาย, อเทตยาพ้อรัก หรือเพลงกุสุมาอธิษฐาน นั่นเอง

ความดังของเพลงนี้ในยุคนั้นเรื่อยมาจนถึงช่วงที่คุณชรินทร์ยังคงร้องเพลงอยู่ เขากล่าวว่าเขาร้องเพลงนี้ไปแล้วกว่าหมื่นครั้งได้ นั่นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้ฟังที่ต้องการฟังน้ำเสียงนุ่ม และหวานซึ้ง ผ่านเนื้อหาที่มีความแตกต่างจากเพลงลูกกรุงอื่น ๆ ที่เขาร้องอยู่แล้วด้วยเช่นกัน

สู่ Meme ในยุคแรก ‘ผู้ชนะสิบทิศ ฉบับ Google แปลภาษา’

ว่ากันอย่างตรงไปตรงมา เรารู้จักเพลงนี้ครั้งแรกก็เพราะคลิปวิดีโอนี้บน Youtube ‘ผู้ชนะสิบทิศ เวอร์ชั่น Google แปลภาษา’ คือชื่อวิดีโอนั้น ที่ช่อง WOWTheFlyingPalaces สร้างสรรค์ขึ้นอย่างน่าสนใจในช่วงปี พ.ศ. 2554 จากการหยิบเอาความสามารถที่ยังขาดตกบกพร่องของหน้าที่ที่ ‘Google แปลภาษา’ ควรจะทำได้อย่างการแปลภาษาได้อย่างถูกต้องตามหลัก แต่ด้วยความเพิ่งเกิดใหม่ และจำเป็นต้องเรียนรู้ชุดคำ และรูปแบบชุดภาษาทั่วโลกอีกมาก ทำให้เขาเลือกใช้ Google แปลภาษามาเป็นคอนเทนต์วิดีโอ

หากลองกดเข้าไปดูในช่อง Youtube นี้ก็จะพบว่ามีวิดีโอลักษณะเดียวกันอยู่เพียบเลย เนื้อหาของมันคือการเอาเนื้อเพลงผู้ชนะสิบทิศ ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษบน Google แปลภาษา และแปลกลับมาเป็นภาษาไทยอีกครั้ง ซึ่งจริง ๆ มันควรจะแปลกลับมาเป็นชุดคำเดิม แต่ด้วยความขรุขระของเทคโนโลยียุคนั้นส่งผลให้คำที่แปลกลับมากลายเป็นภาษาประหลาด ที่จริง ๆ ก็ยากมาตั้งแต่ทุนเดิมอยู่แล้ว อย่างเช่นท่อนที่คุณชรินทร์ฮัมทำนองในเพลงว่า “หื่อฮือฮื้อ ฮือ ฮือหื่อ” Google แปลภาษายุคนั้นก็แปลย้อนกลับไปมาเป็นคำว่า “ผัดผัดหื่หื่ปุยปุย” อ่านแล้วก็ได้แต่งง

แต่ยังไม่จบแค่นั้น เพราะทางช่องก็หยิบเอาเนื้อในแต่ละท่อนมาร้องทับบนทำนองเพลงเดิม รวมถึงตัว MV ก็หยิบเอาวิดีโอสุดปั่นมาประกอบ ทำให้ทุกอย่างที่ออกมาลงตัวในแง่ความขบขัน และมียอดผู้เข้าชมร่วมแสนวิว

กลายมาเป็น Meme ในยุคที่สอง คู่กับพรี่โต และพรี่คาซึยะ

อันนี้ค่อนข้างสมัยใหม่หน่อย เพราะ Meme ล่าสุดนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ 3-4 ปีที่แล้วนี่เอง เนื้อหาใหม่ของการหยิบเพลงนี้ไปล้อเลียนก็คือการหยิบเอาท่อนเพลงสุดฮิตที่เรายกไว้ช่วงเปิดบทความมาต่อยอดเป็นวิดีโอบนกลุ่ม Facebook ‘คอนเทนต์คุณภาพ the legend of ปูไทย’

ที่นำเอาตัวละครเด่นประจำกลุ่มอย่าง ‘พรี่คาซึยะ’ ซึ่งเป็นการตั้งชื่อนายแบบหนุ่มชาวแคนาดา ‘Danny Resko’ ที่ได้ไปถ่ายงานในฐานะนายแบบของญี่ปุ่นหลายตัว และมีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนชาวเน็ตหยิบบางช่วงบางตอนของวิดีโอเหล่านั้นมาตัดต่อในรูปแบบของการสร้างความบันเทิงเป็นหลัก รวมถึงการหยิบเอาความเป็นตัวเองของแต่ละชาติมาใส่กับการยั่วล้อนั้น ๆ ด้วย

เนื้อหาวิดีโอก็ดูเป็นการตัดต่อแบบลวก ๆ เพื่อเน้นความเฮฮา โดยไม่ได้เป็นการทำให้เนื้อความบนบทเพลงต้นฉบับเสียหายแต่อย่างใด แต่วิดีโอสั้น ๆ ตัวนี้ก็ทำให้ผู้คนในยุคนี้นึกถึงเพลงลูกกรุงที่อยู่คู่บ้านเราได้ทุกยุคทุกสมัย และกลายเป็น DIgital Footprint ใต้วิดีโอเพลงต้นฉบับ ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ อยู่หลากหลายคอมเมนต์เลยทีเดียว

สุดท้ายแม้เนื้อหาที่ถูกกล่าวถึงในแต่ละยุคที่เรายกมาอาจจะดูแปลกไปเสียหน่อย ด้วยการรับรู้ของผู้ฟังตามแต่ละยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาเหล่านี้ทำให้เพลงลูกกรุง และผลงานของคุณชรินทร์ยังมี ‘ชีวิต’ อยู่ในยุคปัจจุบัน

ทั้งในฐานะของผลงานเพลงที่มีความโด่งดัง เป็นอมตะ เนื้อหาไพเราะ ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวของบทประพันธ์ที่ทำให้เนื้อหาของเพลงเต็มไปด้วยน้ำหนักและอารมณ์ จนทำให้ใครหลายคนยกย่องให้เป็นหนึ่งผลงานที่น่าจดจำของคุณชรินทร์

และในฐานะของเพลงลูกกรุงยุคเก่าที่มีดนตรี และเนื้อร้องที่น่าสนใจ จากการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ชวนให้คล้อยตาม บนความหนักแน่นของเนื้อเสียงที่คุณชรินทร์สลักไว้บนแผ่นเสียงต้นฉบับ ผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ในแต่ละช่วงที่หาความเชื่อมโยงตามยุคสมัย จากการนำสิ่งที่ผู้คนน่าจะคุ้นเคยมาร้อยเรียงกัน 

ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ‘ผู้ชนะสิบทิศ’ ก็เป็นผลงานที่สามารถกุมหัวใจให้ผู้คนยังคงจดจำและมีความรู้สึกเชื่อมโยงเกิดขึ้นกับทั้งเนื้อหาต้นฉบับที่นำมาแต่ง และตัวคุณชรินทร์เองได้ทุกยุคสมัย แม้ร่างกายจะจากโลกนี้ไปด้วยความชราในวัย 91 ปี แต่น้ำเสียงหวานกังวาลไกลของเขาจะอยู่กับผู้คนไปตราบนานเท่านาน

ที่มา

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป