Amnesty Thailand, พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย, คดีตากใบ, กรณีตากใบ, Protect The Protest, สลายการชุมนุมตากใบ

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดให้รับฟังรายละเอียดการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 81 และการเขียนรายงานคู่ขนานของภาคประชาสังคม โดยมี ภัทรานิษฐ์ เยาดำ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย, ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล, พรพิมล มุกขุนทด ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม, นายอูเซ็ง ดอเลาะ ทนายประจำศูนย์ทนายมุสลิม และนางสาวอัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เป็นผู้ให้ข้อมูล โดยมีรายละเอียดสรุป ดังต่อไปนี้ 

ในรายงานคู่ขนานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำไปที่ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุม จึงมีข้อเสนอแนะหลัก ๆ คือ 

  • ควรมีการดำเนินการสอบสวน โปร่งใส และครอบคลุมโดยหน่วยงานพลเรือน ในกรณีที่มีการใช้กระสุนยางโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ที่ประท้วงอย่างสงบ และให้มีความรับผิดทั้งทางแพ่ง, ปกครอง และอาญา 
  • ต่อมาเป็นเรื่องเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยแก้คำนิยามของคำว่า ‘การทรมาน’ และ ‘การปฏิบัติที่โหดร้าย’ ไม่จำกัดแค่ความรุนแรงระหว่างการควบคุมตัวเท่านั้น 
  • ใช้มาตรการที่จำเป็นทันที เพื่อเป็นการประกันว่า ‘คดีสลายการชุมนุมตากใบ’ จะไม่หมดอายุความไปเสียก่อน และรับประกันว่าเจ้าหน้าที่ต้องได้รับความผิดต่อการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ยอมรับอย่างเป็นทางการต่อกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ตากใบ และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงผู้รอดชีวิตอย่างเหมาะสม

ประเด็นถัดมาเป็นเรื่องของ ‘การจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ที่ที่ผ่านมามีผู้ถูกควบคุมตัวระหว่างรอพิจารณาคดีและมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกทรมานและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายอื่น ๆ จึงมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้

  • ดำเนินการทบทวนกระบวนการประกันตัวอย่างละเอียด เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับตัวกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ปล่อยตัวคนที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการทันทีและปราศจากเงื่อนไขใด ๆ รวมถึงยกเลิกการสอบสวน, สั่งฟ้องทางอาญา และยกเลิกคำพิพากษาว่ามีความผิด หากเป็นการใช้สิทธิในการประท้วงชุมนุมอย่างสงบหรือสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ 
  • ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนและโปร่งใส หากมีกรณีการทรมานและการเสียชีวิตของนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัว

ประเด็นสุดท้ายเป็นเรื่อง ‘ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทรมานทางจิตใจ’ กล่าวคือ การทรมานที่ว่าครอบคลุมไปถึงเรื่องความทรมานทางด้านจิตใจ ที่มีบุคคลถูกคุกคามในโลกไซเบอร์หรือถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยรัฐบาล ซึ่งข้อเสนอแนะก็คือ 

  • ดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับทุกกรณีที่ใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีต่อนักสิทธิมนุษยชนหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  • ออกกฎหมายเพื่อรับรองปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยี
  • แก้ไข พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 มาตรา 17 เพื่อจะได้ไม่มีข้อยกเว้นเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงและเรื่องศาสนาในการร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศ
  • จัดระเบียบปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ห้ามไม่ให้มีการคุกคามประชาชนบนโลกออนไลน์
  • สั่งห้ามใช้สปายแวร์ที่มีการรุกล้ำสูง