สืบเนื่องจากข้อมูลการจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปี 2024 ของเว็บไซต์ Times Higher Education ไม่ปรากฏรายชื่อมหาวิทยาลัยจากประเทศไทยเลยแม้แต่แห่งเดียว ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์และมาเลเซียกลับติดอันดับอยู่หลายแห่ง ทำให้เราอาจต้องกลับมาตั้งคำถามกันต่อว่า เหตุใดมหาวิทยาลัยไทยถึงไม่ติดอันดับสถานศึกษาที่ดีที่สุดในเอเชีย แล้วสิ่งนี้มันสะท้อนภาพสังคมและอนาคตประเทศไทยอย่างไรบ้าง
🚩 ตัวชี้วัดในการจัดอันดับ เหตุผลหลักที่ทำให้มหา’ลัยไทยไม่ติดโพล
หากถามถึงเหตุผลว่าทำไมมหาวิทยาลัยของไทยไม่ติดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย อาจต้องมองไปที่ ‘ตัวชี้วัด’ ในการจัดอันดับของ Times Higher Education ซึ่งใช้การตัดสินโดยเน้นไปที่การสอน การวิจัย และการเผยแพร่องค์ความรู้เป็นหลัก รวมถึงชื่อเสียงระหว่างประเทศ โดยใช้กรอบและมาตรวัดเดียวกันในการตรวจสอบ แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ การสอน สภาพแวดล้อม คุณภาพในการวิจัย ชื่อเสียงระหว่างประเทศ และการนำงานวิจัยไปใช้ในอุตสาหกรรม
ในส่วนของการเรียนการสอนจะคิดเป็น 24.5% แบ่งเป็นชื่อเสียง 10% อัตราส่วนครูต่อนักเรียน 4.5% อัตราส่วนผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกต่อปริญญาตรี 2% อัตราส่วนนักศึกษาที่ได้รับปริญญาเอก 5.5% และรายได้ของสถาบัน 2.5% ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าการชี้วัดนี้อาจวัดความสำเร็จของนักศึกษาไปพร้อมกับคุณภาพของอาจารย์ผู้สอนด้วย
ต่อมาสภาพแวดล้อมในการเรียนจะคิดเป็น 28% แบ่งเป็นชื่อเสียง 15% รายได้ 6.5% ผลผลิต 6.5% ถึงแม้ตัวบ่งชี้นี้ยังถูกถกเถียงกันอย่างมาก เนื่องจากในแต่ละประเทศมีปัจจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายทางการศึกษาที่ต่างกัน แต่ทาง Times Higher Education กล่าวว่าตัวบ่งชี้นี้ถูกต้องแล้ว เนื่องจากการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องเงินด้วย หากมหาวิทยาลัยมีเงินไม่เพียงพอก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะสนับสนุนทรัพยากรในการเรียนรู้ที่ไม่มาก
ขณะที่คุณภาพการวิจัยคิดเป็น 30% แบ่งเป็นงานวิจัยได้รับการอ้างอิง 7.5% ความมั่นคงในการวิจัย 7.5% ความเป็นเลิศด้านการวิจัย 7.5% และอิทธิพลจากงานวิจัย 7.5% ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะบ่งชี้ว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีส่วนร่วมในการสนับสนุนความรู้แก่ผู้คนมากขนาดไหน และมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในสังคมมากเพียงใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มก้อนสังคมและชุมชนได้รับผลประโยชน์และองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยหรือไม่
ในส่วนของชื่อเสียงระหว่างประเทศคิดเป็น 7.5% แบ่งเป็นเป็นสัดส่วนนักศึกษาต่างชาติ 2.5% สัดส่วนอาจารย์ต่างชาติ 2.5% และความร่วมมือระหว่างประเทศ 2.5% ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดนักศึกษาและคณาจารย์จากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในระดับโลก
ขณะที่การนำงานวิจัยมาใช้ในอุตสาหกรรมคิดเป็น 10% แบ่งเป็นรายได้จากอุตสาหกรรม 5% และการจดสิทธิบัตร 5% ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่ช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ดีขึ้น เกิดประโยชน์ต่อผู้คน สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนมนุษยชาติสู่อนาคต
🚩 เพราะมหาวิทยาลัยที่ดีไม่ใช่แค่บ่มเพาะเด็กเก่ง แต่สามารถตอบแทนสังคมได้ด้วย
จากการอ่านและทำความเข้าใจตัวชี้วัดต่าง ๆ ทำให้เรารู้ว่ามหาวิทยาลัยที่ดี ไม่เท่ากับมหาวิทยาลัยที่มีคนเก่งเยอะ หากแต่เป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างแรงผลักดันและองค์ความรู้ต่อผู้คน สังคม และโลกได้ การมองสถานศึกษา ‘แบบไทยๆ’ ไม่อาจทำให้การศึกษาขึ้นไปอยู่ในระดับโลกได้ เพราะกลไกของมหาวิทยาลัยระดับโลกอาจให้ความสำคัญกับ ‘ผลลัพธ์’ มากกว่า ‘ภาพลักษณ์’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สถานศึกษาในไทยมองเป็นเรื่องรองลงมา สังเกตจากการที่สถานศึกษาเข้มงวดกับกฎระเบียบภายนอกของตัวผู้เรียน รวมถึงยึดติดแบบแผนในการเรียนการสอนมากเกินไป จนลืมคาดหวังผลลัพธ์ทางการศึกษาที่อยากได้ เกิดเป็นความกดดันต่อตัวผู้เรียน ขณะที่ไม่มีใครสนับสนุนการศึกษาเพื่อผลสัมฤทธิ์
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยไทยอาจต้องทบทวนจุดยืนตัวเองอีกครั้งว่าจะเป็นสถานศึกษาแบบใด ไม่ใช่แค่ต่อตัวผู้เรียนในประเทศ แต่รวมถึงผู้คนในระดับโลกด้วย เพราะมาตรวัดมหาวิทยาลัยที่ดีในระดับโลกให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการเรียนรู้ มากกว่าความสำคัญว่าคนเหล่านั้นจะเป็น ‘คนเก่งคนดี’ หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สถานศึกษาและภาครัฐต้องทบทวนและรื้อสร้างระบบการศึกษาไทยอีกครั้ง
AUTHOR
ไม่ชอบคนข้างล่าง