หลังจากเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีชายวัย 59 ปีตกท่อร้อยสายไฟบริเวณลาดพร้าว 49 เสียชีวิต ซึ่งข้อสังเกตของอุบัติเหตุครั้งนี้คือ ท่อที่ลึกถึง 15 เมตร แต่ท่อถูกปิดด้วยฝาที่ทำจากไม้อัดเท่านั้น โดยทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ว่า ก่อนหน้านี้ฝาท่อเป็นฝาที่ทำจากโลหะแต่ถูกขโมย จึงได้เปลี่ยนมาใช้เป็นฝาไม้อัดแทน และหลังจากอุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นจึงได้แก้ไขปัญหาด้วยการเปลี่ยนเป็นฝาท่อคอนกรีตชั่วคราว

วันนี้ (7 พฤษภาคม 2567) กทม. ได้เชิญหน่วยงานสาธารณูปโภคภายนอกและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องฝาท่อ กทม. เช่น กรมทางหลวง, การไฟฟ้านครหลวง, การประปา, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, สำนักงานโยธา เป็นต้น มารวมตัวกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขและหามาตรการป้องกันกับปัญหาที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลังจากการประชุม เวลาประมาณ 11.00 น. ‘ณรงค์ เรืองศรี’ รองปลัดกรุงเทพฯ ได้ออกมาแถลงข่าวว่า ปัญหาที่ขึ้นเกิดจาก ‘บ่อพัก’ ไม่เรียบร้อยจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการตรวจสอบที่ละเอียดขึ้น อาจจะจัดการตรวจสอบเป็นรอบ และอาจจะพิจารณาปรับเปลี่ยนฝาท่อให้เป็นวัสดุประเภทอื่นที่ยังแข็งแรงแต่ไม่มีมูลค่ามากพอจนถูกขโมยเพื่อนำไปขาย ทั้งยังจะเปิดรับรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy fondue และจะพยายามแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ทาง กฟน. ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อาจจะมีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยในการมอนิเตอร์ตัวบ่อพักและผิวจราจรแบบเรียลไทม์ เพื่อดูความเคลื่อนไหวว่าแต่ละจุดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และเพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยได้ทดลองใช้กับการก่อสร้างที่ถนนพระราม 3 ไปแล้วประมาณ 1 เดือน และหากผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจก็จะนำมาใช้กับสถานที่ก่อสร้างอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ

เมื่อถามถึงประเด็น ‘ฝาท่อไม้อัด’ ทาง กฟน. อธิบายว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างแน่นอน และตอนนี้กำลังเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดยในเบื้องต้นยังไม่ขอเอ่ยชื่อของผู้รับเหมา

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกถามถึงก็คือ กรณีเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ลอดแยกอุโมงค์มไหสวรรย์และตกท่อระบายน้ำเพราะฝาท่อถูกเปิดอยู่จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทาง ‘ณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพฯ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วตามหลักไม่อนุญาตให้จักรยานยนต์ขับลอดผ่านอุโมงค์อยู่แล้ว แต่อุบัติเหตุที่เกิดขี้นจากฝาท่อที่เปิดก็ยังคงเป็นประเด็นที่ฝาท่อถูกขโมยเช่นเดิมและจะเร่งหามาตรการในแก้ไขเช่นกัน

ปัจจุบันรอบ กทม. มี ‘บ่อพัก’ อยู่ 1,800 บ่อ และฝาชั่วคราวที่ได้มาตรฐานคือ ‘ฝาท่อคอนกรีต’ รวมถึงปัญหาเรื่อง ‘ฝาท่อหาย’ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอยู่ ณ ขณะนี้ ทาง กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร คงจะต้องรอติดตามกันต่อไป