เราทุกคนคงจะเคยได้ยินประโยคทำนองที่ว่า “แค่หน้าตาดีโลกก็จะใจดีกับแกแล้ว” หรือ “ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อยนะ” แน่นอนว่าบางคนก็อาจจะเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้ แต่บางคนก็อาจจะส่ายหัวและบอกว่ามันน่าจะไม่เกี่ยวกันมั้ง ซึ่งรูปประโยคลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงชุดความคิดของคนในสังคมที่มองต่อเรื่อง ‘Beauty Privilege’ หรือ ‘สิทธิพิเศษที่คุณจะได้รับมันเมื่อคุณหน้าตาดี’
ถ้าหากเราลองมองย้อนกลับไป ตลอดระยะเวลาของการเติบโตในแต่ละช่วงวัยเราก็จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่า คนที่มีหน้าตาดีมักจะได้รับเลือกให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การถูกเลือกให้ถือพานในวันไหว้ครู, การประกวดดาวเดือน, การได้เป็นลีดคณะ ซึ่งก็นำมาสู่คำถามที่ว่าหรือว่าการเป็นคนที่มีหน้าตาอยู่ในเกณฑ์ที่สังคมมองว่าดีโลกก็จะใจดีกับเราจริงหรือ? หรือคำถามที่ว่าถ้าเกิดมาหน้าตาดีจะเข้าถึงโอกาสได้มากกว่าคนหน้าตาไม่ดีจริง ๆ หรือ? หรืออีกคำถามที่สอดคล้องกับประโยคที่ว่า ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อยนะ ก็คือการเป็นคนหน้าตาไม่ดีต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนหน้าตาดีจริงไหม?
ในงานเสวนาวิชาการหัวข้อเรื่อง Beauty Privileges: รูปร่างหน้าตามีอิทธิพลต่อชีวิตจริงหรือไม่ มีข้อมูลบางส่วนว่า ในปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัจจัยทางสังคมและเข้ามากำหนดกรอบความงามเอาไว้ส่วนหนึ่งก็คือ ‘สินค้าและผลิตภัณฑ์’ ที่เขาจะพยายามโฆษณาให้คนในสังคมชอบในอะไรบางอย่างโดยมีจุดประสงค์เพื่อเขาจะได้ขายสินค้านั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้เร็วที่สุดก็คือ เทรนด์ผู้หญิงต้องร่างบางเพื่อขายสินค้าที่ช่วยให้ผู้หญิงผอมได้ เป็นต้น นอกจากนี้การได้รับอิทธิพลจากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิยาย, ภาพยนตร์, ละคร, สื่อบันเทิงต่าง ๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกำหนดกรอบให้เราเข้าใจว่าความงามตามเกณฑ์มาตรฐานสังคมมองว่างามมีลักษณะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้หากมองในมิติของคนหน้าตาดีมักจะเข้าถึงโอกาสได้มากว่าคนหน้าตาไม่ดีจริงหรือไม่? ก็อาจจะพูดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะจริง เพราะมนุษย์มักจะประเมินกันจากภายนอกเพราะเรามีโอกาสประเมินกันได้แค่นั้นในช่วงเริ่มต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนหน้าตาดีจึงได้เปรียบครอบคลุมทั้งเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็คือ คนหน้าตาดีมักจะถูกเรียกสัมภาษณ์งานและได้รับคัดเลือกก่อน และการศึกษาของ Harvard ยังยืนยันอีกด้วยว่า คนที่หน้าตาดีมักจะถูกประเมินให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่า ได้รับการประเมินในหน้าที่การงานที่ดีกว่า และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูงกว่า ดังนั้นเราจึงมักจะเห็น CEO ของบริษัทใหญ่ ๆ หรือคนที่เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นผู้ชายตัวสูงอยู่บ่อยครั้ง และหากจะพ่วงเรื่องหน้าตาเป็นต้นทุนในการหาคู่เข้ามาอีกสักนิดก็คงได้ เพราะพวกเรารู้กันดีอยู่แล้วว่าคนหน้าตาดีมักจะมีโอกาสได้รับเลือกในช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์มากกว่า แต่ก็ไม่ได้การันตรีว่าชีวิตคู่ของคนหน้าตาดีจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่มีอุปสรรคปัญหาใด ๆ แต่การมีต้นทุนหน้าตาที่เรียกว่าดีตามมาตรฐานสังคมเป็นหนึ่งในเหตุผลที่พวกเขาจะได้รับโอกาสในช่วงเริ่มต้นได้มากกว่าคนอื่น ๆ
ดังนั้นอาจจะพอสรุปได้ว่าการที่คนในสังคมชอบคนหน้าตาดีเป็นเพราะอคติและการที่คนสวยหล่อหรือคนหน้าตาดีได้โอกาสมากกว่าก็เพราะคนในสังคมยื่นทรัพยากรให้พวกเขามากกว่า พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จ การมีหน้าตาดีจึงเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่าการเป็นคนหน้าตาดีส่งผลให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในตัวเองเพราะพวกรู้สึกมีอำนาจ และอาจจะนำมาสู่ความมั่นใจในการพัฒนาความสามารถของตนในด้านอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนหน้าตาดีดูเหมือนจะเป็นข้อได้เปรียบในอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่ามันอาจจะเป็นเพียงแค่ใบเบิกทางสำหรับโอกาสสิ่งที่ต้องมีตามมาคือการพัฒนาสกิลตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ นอกจากนี้ Beauty Privilege ในบางเรื่องอาจจะต้องมีขอบเขตอย่างชัดเจนและลดอคติบางอย่างลง ยกตัวอย่างเช่น การสัมภาษณ์งาน หรือการตัดสินคดี เพื่อที่จะไม่เลือกปฎิบัติหรือลำเอียงจนเอื้อผลทรัพยากรบางอย่างอย่างไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่นัก
อ้างอิง
- https://www.forbes.com/sites/jackkelly/2021/11/04/attractive-people-have-a-big-advantage-in-the-job-interview/
- https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psy-talk-2022-beauty-privileges