เมื่อพูดถึง ‘ปอบ’ เชื่อว่าคนในสังคมไทยแบบเรา ๆ น่าจะเห็นภาพค่อนข้างชัดว่าเป็นผู้ใหญ่ ปากเลอะเลือด และชอบกินเครื่องใน ที่พวกเราเห็นภาพชัดแบบนั้นอาจจะเป็นเพราะบ้านเรามีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องผีปอบอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
อาจจะพูดได้ว่า ความเชื่อเรื่องผีปอบอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะทางภาคอีสาน และการที่ใครสักคนเปลี่ยนไปเป็นผีปอบถูกเชื่อว่าเกิดจากการเรียน ‘มนตร์มาร’ หรือพวกมนตร์คาถาที่เรียนเอาไว้เพื่อทำร้ายผู้อื่น ซึ่งมนตร์มารจะมีข้อห้าม และภาคอีสานเรื่องข้อห้ามนี้ว่า ‘คะลำ’ รวมถึงการเรียนมนตร์จะต้องมี ‘ค่ายกครู’ ที่ทางภาคอีสานเรียกว่า ‘คาย’ และเมื่อใดก็ตามที่มีการกระทำที่ผิดคะลำหรือเรียกค่าครูสูงเกินไป ก็จะทำให้คนคนนั้นกลายเป็นปอบได้ หรืออีกแบบหนึ่งก็คือ ‘ผีปอบเชื้อ’ ที่เชื่อว่าจะสืบทอดเชื้อมาจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะในผู้หญิงเป็นหลัก
โดยทาง ผศ.ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายไว้ว่า ตามความเชื่อ อาการของคนที่ดูเหมือนจะเป็นผีปอบ เช่น อาจจะเป็นเรื่องราวหรือพฤติกรรมแปลก ๆ ของคนในชุมชน, อาจจะเป็นคนไม่ชอบสุงสิงกับผู้อื่น, อาจจะมีอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือการเป็นคนใหม่ ๆ ที่ย้ายเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแล้วเรื่องร้าย ๆ ก็เกิดขึ้นในหมู่บ้าน คนจำพวกนี้ก็จะถูกมองว่าเป็นผีปอบเช่นกัน
ซึ่งอย่างที่เราพอจะทราบกันดีว่า การถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ คือการถูกผลักไสให้เป็นคนอื่นในสังคมนั้น ๆ กล่าวคือ เมื่อใดก็ตามที่คนคนนั้นถูกต้องสงสัยว่าเป็นปอบก็จะกลายเป็นคนที่สังคมไม่ต้องการในทันทีและถูกขับไล่ออกจากสังคมหรือชุมชนนั้น ๆ ที่จะเป็นไปในลักษณะเดียวกับ ‘การเป็นคนชายขอบในสังคม’ อธิบายเพิ่มเติมอีกนิดก็คือ การที่ใครสักคนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับคนในสังคมหรือเป็นคนใหม่ ๆ ที่เพิ่งย้ายเข้าไปในสังคมสังคมหนึ่ง ที่มีความแตกต่างนี้นำมาซึ่งการพิพากษาของคนในสังคมที่เชื่อเรื่องปอบและมองเขาเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกัน
โดยผลกระทบสามารถออกมาได้ทั้งหมด 2 หน้า ผลกระทบทางสังคมและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคมน่าจะตรงไปตรงมาว่า การถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบจะทำให้คนคนนั้นสูญเสียเครือข่ายทางสังคม ไม่มีใครคบด้วย ถูกกีดกั้นทางสังคม และถูกทำให้กลายเป็นคนโดดเดี่ยว ซึ่งเขาอาจจะโดนคุกคามโดยการใช้ความรุนแรง ที่ในบางครั้งก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบไปทั้งครอบครัว เพราะดังที่ได้กล่าวไปว่ามันมีความเชื่อประเภทผีปอบเชื้ออยู่ ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการขับไล่หรือปกป้องตัวเองจากผีปอบ เป็นต้น
ในอีกแง่หนึ่งมันเป็น ‘ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม’ (Cultural Violence) กล่าวคือ โจฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ชาวนอร์เวย์ ได้แบ่งสามเหลี่ยมของความรุนแรงไว้ทั้งหมด 3 ตัว คือ ความรุนแรงทางตรง, ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ซึ่งความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ และวัฒนธรรมนั้น ๆ ได้ไปสร้างความชอบธรรมให้เกิดความรุนแรงนั้นขึ้น มันเป็นความรุนแรงในระดับที่ลึกมากที่สุดและแน่นอนว่ามันเปลี่ยนแปลงยากที่สุด
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปอบอย่างไร? ความเชื่อเรื่องปอบที่ว่านี้คือ วัฒนธรรมอย่างหนึ่ง และวัฒนธรรมนี้ก็ได้ไปครอบกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือสังคมนั้น ๆ ทีนี้พอมีคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นปอบ คนในสังคมก็จะผลักให้คนเหล่านั้นเป็น ‘พลเมืองชั้นสอง’ และแน่นอนว่ามันก็จะวนย้อนกลับไปที่ความรุนแรงที่พวกเขาได้รับ และความรุนแรงที่ว่านี้อาจจะเป็นทั้งความรุนแรงทางตรงไปจนถึงความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั่นเอง
อย่างไรก็ดี คนชายขอบ พลเมืองชั้นสอง การถูกผลักให้เป็นคนอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรุนแรงทั้งสิ้น และ ‘ผีปอบ’ คือตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเหล่านั้น อีกทั้งดังที่ได้กล่าวไปว่า มันไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะมันอาจจะส่งผลกระทบไปทั้งครอบครัว หรือมันอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตคนคนหนึ่งในสเกลที่ใหญ่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อ้างอิง
- https://tu.ac.th/thammasat-311067-arts-expert-beliefs-about-phi-pop-thai-society
- https://www.silpa-mag.com/culture/article_98269
- https://kpi-lib.com/multim/Journal%20Index/ปีที่10ฉบับที่2/b17991.pdf
- https://djrctu.com/ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม/