บางส่วนจากบทสนทนาของ ไบค์ – มนัสวิน มลิวงค์ นักพากย์เสียง ผู้กำกับการพากย์เสียง เจ้าของร้านของเล่น และนักสะสม ผู้ที่มีหลายบทบาทซึ่งเชื่อมโยงมาจากความชื่นชอบในวัยเด็กของตนเอง ไบค์เป็นคนมีบุคลิกสดใส ดูใจดี โอบอ้อมอารีต่อทุกคน พอ ๆ กับที่เขาทะนุถนอมบรรดาของสะสม
ในช่วงติดตามทีมไปทำสารคดีในรายการ SUM UP X Sailor Moon Cosmos เราจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับไบค์ในมุมมองของนักสะสมของเล่น ที่มองจากจำนวนหุ่นโมเดลและฟิกเกอร์ภายในห้องนั่งเล่นของเขา ก็พออนุมานได้ว่าเขาค่อนข้างจริงจังกับการสะสมของเล่นเป็นอย่างมาก และนี่คือบทสนทนา 30 นาที บนเส้นทางตลอดหลายปีของชีวิตนักสะสมของ ไบค์ มนัสวิน
เด็กชายมนัสวินกับการยอมกินข้าวน้อย ๆ เพื่อเก็บเงินไปซื้อของเล่นเยอะ ๆ
ผมเป็นคนชอบเล่นของเล่นมาตั้งแต่เด็ก สมมติว่าได้เงินไปโรงเรียนสัปดาห์ละ 1,000 บาท ผมจะใช้เงินไปกับค่าอาหารการกินแค่ 200 บาท ส่วนที่เหลืออีก 800 บาทเก็บไว้ซื้อของเล่น ผมยอมกินข้าวน้อยเพื่อที่จะมีเงินซื้อของเล่นเยอะ ๆ แต่เอาเข้าจริงย้อนกลับไปในวัยเด็ก วิธีการสะสมของเล่นมันก็ไม่ได้มีมูลค่ามากหรือเป็นจริงเป็นจังเท่ากับตอนนี้ จำได้ว่าช่วงเรียนประถมผมเริ่มจากการสะสมของเล่นที่แถมมากับถุงขนมห่อละ 5 บาท พวกเหรียญ การ์ด หรือฟิกเกอร์พลาสติกตัวเล็ก ๆ ที่ต้องนำมาแกะตามรอยปรุ แล้วค่อยนำมาประกอบกันเหมือนตุ๊กตากระดาษ
ถ้าจากความทรงจำที่มีเกี่ยวกับวีรกรรมการสะสมในวัยเด็ก มันจะมีครั้งหนึ่งที่ผมพยายามร้องขอให้พ่อซื้อรองเท้านักเรียนยี่ห้อหนึ่งให้ แค่เพราะมันจะได้ของแถมเป็นคทาจากการ์ตูนเรื่องเซเลอร์มูน (Sailor Moon) ซึ่งจำได้ว่าคะยั้นคะยอพ่อทุกวิถีทาง เพื่อที่จะได้ของที่แถมมากับรองเท้า อีกครั้งหนึ่งจำได้ว่า ผมเห็นเพื่อนสาวคนหนึ่งใช้ผ้าเช็ดหน้าลายการ์ตูนเซเลอร์มูน แล้วผมรู้สึกอยากได้มาก ๆ ผมเลยเสนอเพื่อนไปว่า ขอเลี้ยงไอศกรีม 1 สัปดาห์ แลกกับผ้าเช็ดหน้าผืนนี้ได้ไหม ซึ่งมองย้อนกลับไปก็เป็นวีรกรรมที่ค่อนข้างหนัก สำหรับเด็กคนหนึ่งที่ชื่นชอบในของเล่นและของสะสมมาก ๆ
ของเล่นชิ้นแรก สู่การเป็นนักสะสมตัวยง
เอาเข้าจริงผมจำไม่ได้ว่าของเล่นชิ้นแรกที่สะสมคืออะไร แต่ของเล่นเซ็ตแรกที่สะสมจนครบคือ ฟิกเกอร์จากการ์ตูนเรื่องดิจิม่อนแอดเวนเจอร์ (Digimon) เพราะเมื่อก่อนของสะสมจากการ์ตูนเรื่องนี้จะไม่แพงมาก บางทีก็แถมมากับซองขนมทั่วไป จากการสะสมของแถมก็เปลี่ยนมาสะสมฟิกเกอร์ของจริง ซึ่งมันจะเป็นฟิกเกอร์ขนาดเล็กราคาประมาณ 25 – 50 บาท พอรู้ว่าสามารถเก็บตัวละครทั้งหมดได้ครบเซ็ตแล้ว ผมกรี๊ดดีใจลั่นบ้านเลย เพราะมันเหมือนกับว่าได้ตอบสนองความต้องการเราอย่างสมบูรณ์แบบ จากการที่ได้เก็บฟิกเกอร์ครบทุกตัวละคร
ส่วนจุดที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองน่าจะไม่ใช่แค่คนที่อยากเก็บของเล่นทั่วไป แต่เป็นนักสะสมอย่างจริงจัง คือการที่ผมรู้สึกว่าอยากมีชั้นวางดี ๆ ตู้โชว์ดี ๆ ที่สามารถเก็บของเล่นทุกอย่างเอาไว้ได้ แล้วก็มีอีกหลายเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่าเรารักของเล่นมาก ๆ อย่างเช่นเมื่อก่อนผมเป็นคนที่ย้ายบ้านบ่อยมาก ทุกครั้งที่มีการย้ายบ้านก็จะมีการทิ้งของที่ไม่ได้ใช้หรือไม่สำคัญ แต่ในการขนย้ายแต่ละครั้ง ของเล่นจะเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่ผมไม่มีทางทิ้งเด็ดขาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พอเรารักมันมาก ๆ ดูแลไม่ทิ้งขว้าง ประกอบกับไม่ว่าจะเก็บของเล่นชนิดอะไร ผมจะเก็บแบบครบเซ็ตเสมอ มันเลยกลายเป็นว่าผมไม่ใช่แค่คนที่เก็บ แต่เป็นนักสะสมไปแล้ว มันจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘สะสม’ เพราะเราต้องใช้เวลาในการเก็บไปเรื่อย ๆ
ซึ่งตลอดระยะเวลาในการสะสมของเล่น ครอบครัวก็มีส่วนในการสนับสนุน เพราะคุณแม่เข้าใจมาเสมอว่าผมรักและชื่นชอบในอะไร อาจจะมีบ่นบ้างเวลาที่ไม่ทำความสะอาดตู้โชว์ หรือซื้อในจำนวนเยอะมากเกินไป แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่แม่ไม่เข้าใจหรือปิดกั้นผม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าท่านเข้าใจว่านี่เป็นหนึ่งในความชอบของเราที่ไม่เดือดร้อนใคร ผมไม่ได้ไปสำมะเลเทเมาที่ไหน หรือสร้างภาระเดือดร้อนให้ใคร มันจึงไม่เสียหายที่ผมหลงใหลในสิ่งที่ผมชอบ
ของเล่นหายากและชิ้นที่แพงที่สุด
ของเล่นที่กว่าผมจะหามาได้ใช้เวลาหลายปี และความพยายามมากมายคือ ฟิกเกอร์อุซางิ สึคิโนะ จากการ์ตูนเรื่องเซเลอร์มูนฉบับละครเวที ซึ่งเป็นฟิกเกอร์ 3D Printed รุ่นแรก ๆ ที่ออกมาประมาณปี 2005 เป็นฟิกเกอร์ที่ใช้ใบหน้าของนักแสดงเซเลอร์มูนฉบับละครเวที ชื่อคุณคุโรกิ มารินะ เป็นต้นแบบ ซึ่งการจะได้ฟิกเกอร์ตัวนี้มามันค่อนข้างยาก เพราะเราต้องไปดูละครเวที จับฉลาก ถ้าจับฉลากได้ถึงจะซื้อได้ ด้วยความที่ผมชอบนักแสดงคนนี้มาก และชอบการ์ตูนเซเลอร์มูนมาก ผมจึงพยายามหาทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา ผมเคยประมูนมากสุดหลายพันเยนเลยนะ แต่ไม่เคยชนะ แพ้มาตลอด
จนวันหนึ่งผมไปเดินเล่นที่ญี่ปุ่น ระหว่างเดินเล่นไปเรื่อยสายตาก็สอดส่ายไปเห็นอะไรบางอย่าง นั่นคือฟิกเกอร์ฉบับละครเวทีตัวนี้ที่ผมต้องการนี่แหละวางอยู่ในร้านมือสอง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นของวินเทจเขาจะค่อนข้างแพงมาก ก่อนหน้านี้ผมเคยประมูลมา 20,000 ถึง 30,000 เยนก็ยังไม่ชนะ แต่วันนั้นผมเห็นมันวางอยู่ในตู้โชว์ด้วยราคาแค่ 6,000 เยน ซึ่งถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,000 กว่าบาท จำได้ว่ายืนหยิกตัวเองอยู่นานมากเพราะคิดว่าฝันไป ผมเคยฝันว่าตัวเองซื้อฟิกเกอร์ตัวนี้มาประมาณเกือบ 10 รอบ พอรู้ว่าครั้งนี้คือความจริงผมเลยดีใจมาก ๆ
ส่วนของเล่นชิ้นที่แพงที่สุดน่าจะเป็นตุ๊กตาดิสนีย์รุ่นลิมิเต็ด ราคาครบเซ็ตประมาณ 80,000 บาท ลองลงมาจะเป็นเซ็ตฟิกเกอร์ตัวละครเซเลอร์มูนฉบับละครเวที ราคาน่าจะประมาณ 25,000 บาท รองลงมาคือคทาเซเลอร์มูน ได้มาราคาประมาณ 9,000 บาท สงวนราคาของเล่นทุกชิ้นเฉพาะของหายากและของรุ่นลิมิเต็ดในห้องนอนของผมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนของเล่นที่อยู่ชั้นล่างทั้งหมดเดาว่าน่าจะเกิน 2 ล้านบาทไปแล้วตอนนี้ แต่เอาเข้าจริงผมเป็นคนซื้อของราคาสมเหตุสมผล อย่างเช่น ถ้าราคามันแพงไปกว่าความเป็นจริง หรือไม่ไหวกับจำนวนเงินที่เขาเสนอมา ผมก็ไม่จ่าย
จากผู้ซื้อสู่ผู้ขาย
จุดเริ่มต้นของการขายของเล่น เกิดจากการที่ผมมักจะซื้อของเล่นจากร้านต่าง ๆ บ่อยจนไม่มีอะไรให้ซื้อแล้ว ผมจึงเริ่มเสาะแสวงหาร้านค้าอื่น ทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งการนำเข้าของจากต่างประเทศมันราคาค่อนข้างสูง แม่ของผมเลยพูดว่า “ทำไมไม่ซื้อมาทีละ 10 ชิ้น สมมติถ้าขายไป 9 ชิ้น เท่ากับได้เก็บฟรี 1 ชิ้นเลยนะ บางทีอาจจะคุ้มค่ากับค่านำเข้าด้วยก็ได้” ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมจุดไอเดียขึ้นมาว่าอยากขายไปด้วย สะสมไปด้วย เนื่องจากผมรักและชอบในเรื่องนี้อยู่แล้ว การที่ได้ทำงานกับสิ่งที่เราชอบก็ยิ่งดีเข้าไปอีก
ความจริงนิสัยรักการค้าขายผมเป็นมาตั้งแต่เด็กนะ ย้อนกลับไปตอนอายุแค่ 6-7 ขวบ ผมก็เริ่มเอาหนังสือแคตตาล็อกสั่งของไปขายให้เพื่อนที่โรงเรียนแล้ว โตขึ้นมาหน่อยก็ลงทุนซื้อของกิฟต์ช็อปเล็ก ๆ น้อย ๆ มาขายที่โรงเรียน การทำธุรกิจขายของมันจึงหมุนเวียนในช่วงชีวิตผมมาตลอด ตอนเริ่มไปวางขายตามตลาดนัดผมก็หยิบฟิกเกอร์ไปวางตกแต่งร้าน ก็ยังมีคนมาขอซื้อฟิกเกอร์ต่อผมอีกทั้งที่ตอนนั้นขายพวกที่ห้อยโทรศัพท์ ผมเลยคิดว่าหันมาเอาดีด้านนี้น่าจะเวิร์กที่สุด นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 14 ปีแล้วที่ผมขายของเล่นและของสะสม
ยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง
เอาเข้าจริงของเล่นทุกอันมันมี Circle of Life ของตัวมันเอง มีอันที่เพิ่งเข้ามาแล้วได้รับความนิยม กับอีกอันที่เสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา แต่สุดท้ายแล้วของเล่นทุกชิ้นก็จะมีกลุ่มนักสะสมเป็นของตัวเอง ที่ไม่ว่าผ่านไปนานแค่ไหนเขาก็ยังจะเลือกเก็บของเล่นชิ้นนี้อยู่ อย่างเช่นตุ๊กตาบลายธ์ มีอายุมาประมาณ 50 ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบและสะสมอยู่ อย่างกรณีตอนนี้ที่นิยมอาร์ตทอยกับลาบูบู้ ก็ต้องมาดูกันว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะยังได้รับความนิยมอยู่หรือไม่ ซึ่งไม่มีอะไรมาการันตี เพราะต้องยอมรับว่าของเล่นมันอยู่กับเรามาตลอด อย่างบาร์บี้ หรือของเล่นจากการ์ตูนระดับตำนานต่าง ๆ ที่อายุหลายสิบปี ก็ยังมีให้เห็นอยู่จนถึงทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มคนเก่าแก่ที่สะสมมาเรื่อย กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมาให้ความสนใจ
ความเปลี่ยนแปลงมันอาจเป็นไปในเรื่องของแฟชั่นและยุคสมัย เมื่อก่อนเวลาสะสมของเล่น หลายคนอาจวางไว้ในตู้โชว์หรือชั้นวาง แต่ในตอนนี้เราเริ่มเห็นของเล่นถูกพัฒนามาเป็นเครื่องประดับ พวงกุญแจ กระเป๋า เคสโทรศัพท์ หรือของตกแต่ง ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมันนำอาชีพใหม่ ๆ มาสู่สังคม อาทิ อาชีพรับตกแต่งอาร์ตทอย อาชีพคนทำชุดอาร์ตทอย อาชีพคนทำที่ใส่อาร์ตทอย เป็นต้น
แม้แต่ของเล่นก็มีการพัฒนาและเติบโต ไม่ใช่แค่เราที่เติบโตไปกับของเล่น แต่ของเล่นมันก็เติบโตขึ้นมากับเราด้วย จะสังเกตเห็นได้ว่าวัสดุที่ใช้ทำของเล่นยุคใหม่ จะค่อนข้างดีกว่าของเล่นยุคเก่า เพื่อจุดประสงค์เดียวเลยคือ ทำให้มันอยู่กับเราได้นานขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งนี่คือการเติบโตในรูปแบบหนึ่ง สิ่งของทุกอย่างมันมีคุณค่าในตัวของมันเอง สำหรับเราของเล่นคือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจมาก ทุกครั้งเวลาที่เหนื่อยหรือท้อ แค่เดินเข้ามาในห้องของเล่น มันก็เหมือนได้ฮีลใจเราในวันที่แย่ เหมือนกับการที่ต่างคนต่างมีที่ยึดเหนี่ยวในทางใจที่ต่างกัน