เมื่อวานนี้ (15 กรกฎาคม 2567) ที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ปลาหลายชนิดน็อกน้ำ แล้วลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำมากมาย จนมีชาวกรุงแห่กันมาจับจองพื้นที่ เตรียมสวิง แห ถังน้ำ หรือรถกระบะมาขนปลากลับไปกิน และกลับไปขายกันเป็นจำนวนมาก โดยชนิดปลาที่ผุดขึ้นมาให้เราเห็นว่ามีอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุดเลยคือ ปลานิล ที่มีสัดส่วนกว่า 4 ใน 5 ของปริมาณทั้งหมด ส่วนที่เหลือมีทั้งปลาชะโด ปลากาย ปลาช่อน จนไปถึงปลาหมอคางดำที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้
โดยสาเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของ ‘การพร่องน้ำ’ หรือการควบคุมและบริหารน้ำเข้าและออกจากบึงมักกะสันเพื่อจัดสรรพื้นที่สำหรับรับน้ำฝน ทำให้ระดับน้ำในบึงลดลงและมีปริมาณออกซิเจนในน้ำน้อย ปลาเหล่านี้เลยผุดขึ้นมารับอากาศตรงประตูระบายน้ำกันเยอะจนกลายเป็นภาพเหตุการณ์เมื่อวานนี้
อีกทั้งยังมีการปิดประตูระบายน้ำ และเครื่องบำบัดน้ำเพื่อซ่อมบำรุงตั้งแต่เวลา 03.00 – 23.00 น. ทำให้บริเวณที่ปลาลอยขึ้นมาหาอากาศหลายใจไม่มีออกซิเจนมาเติม ทำให้วันนี้ (16 กรกฎาคม 2567) ปลาเหล่านั้นที่หาอากาศหายใจเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่างขาดออกซิเจน และตายเกลื่อนกันเหนือบึงมักกะสันเป็นจำนวนมาก
ช่วงเช้ามืด และช่วงสายของวันนี้ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์เบื้องต้นที่ผ่านมาตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ ได้ความว่าปัญหาที่พบเจอในขณะนี้จากเหตุการณ์ดังกล่าว คือปัญหาการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ที่ทำให้สัตว์น้ำในระบบนิเวศอยู่ไม่ได้ และยังมีปัญหาของการที่ ‘ปลาหมอคางดำ’ เข้ามาอยู่ในบึง ซึ่งกำลังชี้ให้เห็นว่าเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านี้กำลังขยับตัวเข้ามายังพื้นที่เมืองหลวงได้เป็นที่เรียบร้อย และเป็นข้อกังวลในอนาคตว่าเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศได้อีกด้วย