ช่วงนี้หลายคนคงได้เห็นข่าวที่หลาย ๆ แบรนด์แข่งขันกันทำการตลาดอย่างดุเดือด และอีกหนึ่งกระแสที่กำลังเป็นที่พูดถึงก็คือ ‘Bonchon’ แบรนด์ไก่ทอดสัญชาติเกาหลีที่มีรายได้รวมหลักพันล้านประกาศไม่เก็บ Service Charge 10% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว! ทำเอาเหล่าบรรดาลูกค้าออกมาแสดงความคิดเห็นกันในโลกออนไลน์ว่า “วันนี้ที่รอคอยมาถึงแล้ว”
ต้องเล่าย้อนกลับไปนิดหนึ่งก่อนว่า Bonchon ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 โดย ‘Jinduk Seh’ ที่ประเทศเกาหลี ชื่อร้านมีความหมายว่า My Hometown ซึ่ง Jinduk Seh ได้ออกแบบการทอดไก่ให้แตกต่างจากที่อื่นด้วยการทอดซ้ำสองครั้งเพื่อให้ไขมันใต้หนังไก่หลุดออกไป ทำให้มีรสสัมผัสไก่ที่กรอบอร่อย และเมื่อวางขายออกไปก็ปรากฎว่าผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จนสามารถขยายสาขาไปยังต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 400 สาขาใน 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, บาห์เรน, คูเวต, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, กัมพูชา, เวียดนาม, เมียนมา และไทย
ต่อมาในปี 2550 บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ที่ก่อตั้งโดย ธัญญา ศรีพัฒนาสกุล และ พรพิมล วงศ์ศิริกุล ได้นำ Bonchon เข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจว่าน่าจะเป็นไก่ทอดที่ถูกปากคนไทย จนได้เปิดสาขาแรกในปี 2554 ที่ทองหล่อ การดำเนินกิจการเป็นไปได้ด้วยดี ลูกค้าติดใจในรสชาติไก่ทอด ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี ต่อมาในปี 2561 บริษัท มาชิสโสะ จำกัด ได้เลิกกิจการ และ บริษัท ชิคเก้น ไทม์ จํากัด ได้เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการแทน จวบจนกระทั่งในปี 2562 ได้เกิดการเปลี่ยนมือในการบริหารอีกครั้งเมื่อ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ได้จัดตั้งบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด โฮลดิ้ง จํากัด และซื้อกิจการ ‘Bonchon’ ด้วยมูลค่าลงทุนสูงถึง 2,000 ล้านบาท ในสัดส่วน 100% เต็ม
การเข้าซื้อแบรนด์ Bonchon ของบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด โฮลดิ้ง จํากัด ด้วยงบลงทุน 2,000 ล้านบาทอาจจะเป็นการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าจะคุ้มค่าเพราะกำไรของ Bonchon ในช่วงตั้งแต่ปี 2559 – 2561 มากกว่า 300 ล้านบาททุกปี นอกจากนี้เทคนิคการทำการตลาดของ Bonchon ยังเน้นหลักการ 4Ps อีกด้วย ประกอบไปด้วย สินค้ามีคุณภาพดี ราคาดี ทำเลดี โปรโมชั่นดี และในปี 2566 ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี เป็น Brand Ambassador คนแรกของ Bonchon เพราะต้องการเพิ่มฐานลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ให้เข้าถึงแบรนด์มากยิ่งขึ้น พร้อมกับทำแคมเปญและโปรโมชั่นต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
แม้ว่าการขายไก่ทอดสัญชาติเกาหลีในไทยดูเหมือนจะไปได้ดี แต่ Bonchon ก็มีหนึ่งเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่นั่นก็คือเรื่องการเก็บ Service Charge 10% (กฏหมายระบุไว้ว่าการเรียกเก็บ Service Charge ห้ามเกิน 10%) เพราะกระแสผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการค่าบริการดังกล่าวเพราะมองว่า Bonchon มีการให้บริการภายในร้านไม่ได้เป็นที่น่าพึงพอใจขนาดนั้น นอกจากนี้เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ‘ลงทุนแมน’ ยังได้เปิดเผยข้อมูลอีกว่า รายได้รวมของ Bonchon ในปี 2566 สูงถึง 1,423 ล้านบาท หากคำนวณเล่น ๆ ว่า ไม่ถ้าคิด Service Charge 10% รายได้ของ Bonchon ก็จะหายไปประมาณ 129 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ล่าสุดหลังจากที่มีเล่นเปลี่ยนข้อความในป้ายกรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวหลังจากที่มีประเด็นซ่อมแซมจากชาวเน็ตแล้ว ทาง Bonchon ก็ได้ถือโอกาสออกมาเล่นกระแสนี้พร้อมกับโปรโมทภาพลักษณ์แบรนด์ตัวเอง ด้วยการโพสต์ข้อความสั้น ๆ บนป้ายว่า “เค้าไม่มีเซอร์วิสชาร์จแล้วเตง” ทำเอาเหล่าบรรดาผู้บริโภคทั้งดีใจ และแวะแซวเล็ก ๆ ว่า ก็ไม่ควรเก็บตั้งแต่แรกแล้วไหมเตง?
อ้างอิง
- https://www.minorfood.com/th/our-business/bonchon
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bonchon_Chicken
- https://web.facebook.com/photo.php?fbid=673687496497195&id=113397052526245&set=a.113656345833649&_rdc=1&_rdr
- https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/success-story/bonchon-scbtv.html
- https://web.facebook.com/photo.php?fbid=673687496497195&id=113397052526245&set=a.113656345833649&_rdc=1&_rdr
- https://www.brandcase.co/42521
- https://workpointtoday.com/bonchon-chicken-thailand/
- https://web.facebook.com/story.php/?story_fbid=990306305799708&id=100044610421582&paipv=0&eav=AfbuU0HL-wJUsibqTHLwka_hiCsfMgyLfqZ-FGPic77CjbSbTHxWaV_znExz0HPlh78&_rdc=1&_rdr
- https://www.matichon.co.th/social/news_4603420#google_vignette