อย่างที่เรารู้กันว่าตัวอักษรไทยมี 44 ตัว แต่ตอนนี้ใช้จริงกันแค่ 42 ตัว อีก 2 พยัญชนะที่ถูกลดทอนความสำคัญไปอย่าง ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ก็ถูกตีค่าให้ไร้ความหมายไปโดยปริยาย
เว้นเสียแต่ว่ามันอยู่ในวงการออกแบบ
‘ฃวด’ หรือ ‘บรรจุภัณฑ์’ ที่ถูกสร้างสรรค์โดย ‘ฅน’ นั้นคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในความเป็นสินค้า เพราะบางครั้งความแตกต่างที่เกิดขึ้นจากการออกแบบก็ส่งอิทธิพลให้สินค้าโดดเด่น และเด้งเข้าตาลูกค้าก่อนแบรนด์อื่น ๆ วันนี้ SUM UP เลยขอแวะเข้าซุปเปอร์ฯ แล้วพาคุณไปเจอสินค้าพื้นฐานที่เรารู้จักในแง่มุมใหม่จากการออกแบบขวดของพวกเขากัน
ขวดทรงโค้งของ ‘Coca-Cola’
‘โค้ก (Coke)’ หรือ ‘โคคาโคลา (Coca-Cola)’ เริ่มเสิร์ฟแก้วแรกจริง ๆ เมื่อปี 1886 แต่ถูกบรรจุขวดครั้งแรกในปี 1899 จากการขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และวางขายครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1900
แน่นอนว่าสินค้าขายดีแบบนี้ต้องถูกก็อปปี้ โค้กใช้เวลากว่า 16 ปีในการเปลี่ยนแปลงหน้าตาขวดไปกว่า 4 รูปแบบ เพื่อหนีแบรนด์คู่แข่งที่พยายามทำเลียนแบบทั้งบรรจุภัณฑ์ หรือเครื่องหมายการค้าอันเป็นเอกลักษณ์ก็ตาม
จนในปี 1915 โค้กเริ่มจะทนไม่ไหว และต้องการพลิกโฉมตัวเองให้เลียนแบบยากที่สุด จึงทุ่มเงินกว่า 500 ดอลลาร์เพื่อให้ผู้ผลิตขวดแก้วยุคนั้นสร้างสรรค์ขวดที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุด ที่คุณจะรู้ว่าเป็นขวดโค้กได้แม้แต่การคลำหามันในความมืด หรือการทำมันแตกบนพื้นก็ตาม
สุดท้ายขวดอันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท ‘Root Glass’ ที่ออกแบบโดย ‘Alexander Samuelsson’ ก็ชนะไอเดียนี้ไป จากการออกแบบทรงขวดคล้ายกับผลโกโก้ (คิดให้ง่ายกว่านั้นก็คล้ายลูกรักบี้) ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Contour Bottle’ ที่เดิมทีตั้งใจจะออกแบบขวดจากส่วนผสมในน้ำอย่าง ‘ใบโคคา (Coca)’ และ ‘เมล็ดโคลา (Kola)’ แต่ดันหาภาพจริงไม่เจอ เลยได้ไอเดียการออกแบบมาจากเมล็ดโกโก้เฉยเลย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะหน้าตาสุดท้ายของมันมีเอกลักษณ์จนโดดเด้งเข้าตากรรมการ
อีกทั้งบริษัทนี้ยังได้รับสิทธิ์ในการผลิตขวดขนาด 6.5 ออนซ์นี้ให้กับแบรนด์โค้กแต่เพียงผู้เดียว นั่นทำให้ตลอดระยะเวลาที่ได้ผลิตขวดตั้งแต่ปี 1916-1982 พวกเขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และยังขายธุรกิจการบรรจุขวดของเขาให้กับโค้กอีกในราคาถึง 417.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ขวดจิ๋ว แต่โคตรแจ๋วของ ‘Yakult’
ในปี 1935 ‘นมเปรี้ยวยาคูลท์ (Yakult)’ จำหน่ายครั้งแรกที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ในลำไส้ในปี 1930 เพื่อหาทางให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น จนเจอกับแลคโตบาซิลลัส คาเซอิ สายพันธุ์ชิโรต้าเข้า จนนำมาซึ่งการผลิตเป็นสินค้าออกมา
ยุคแรก ๆ ของขวดยาคูลท์เป็นขวดแก้วธรรมดาที่ปิดผนึกด้วยจุกไม้คอร์ก ก่อนจะเปลี่ยนหน้าตาโฉมใหม่ครั้งแรกเมื่อปี 1955 โดยทำเป็นขวดแก้วพิมพ์ลายโลโก้ยุคแรกแบบ Lettering ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเปิดสำนักงานใหญ่ของ Yakult Honsha ที่โตเกียว ซึ่งในยุคแรกนั้นยังเป็นการบรรจุด้วยมือทุกขวด อีกทั้งหากดื่มเสร็จแล้วยังต้องคืนขวดบรรจุภัณฑ์ให้กับบริษัท
ก่อนที่ในปี 1968 ยาคูลท์ว่าจ้างนักออกแบบมือรางวัล ‘Isamu Kenmochi’ ให้ปรับปรุงรูปแบบขวดใหม่อีกครั้งในดีไซน์ใหม่ที่เราคุ้นเคยกันอย่างขวดพลาสติกที่มีส่วนคอดตรงกลางขวด ที่ได้แรงบันดาลใจทางการออกแบบมาจาก ‘ตุ๊กตาโคเคชิ (Kokeshi Doll)’ เครื่องรางดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งยังสอดแทรกไอเดียในแง่ดีไซน์ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเป็นจุดที่ช่วยให้ไม่ว่าเด็ก หรือผู้สูงอายุสามารถจับขวดเล็ก ๆ แบบนี้ได้ถนัดมือมากขึ้น อีกทั้งการที่ขวดคอด ทำให้การดื่มไม่เร็วจนเกินไป และทำให้คุณดื่มด่ำรสชาติได้อย่างช้าลง แม้นิดเดียวก็สร้างความแตกต่างได้
โดยไม่ว่าจะยุคไหนก็ตาม ยาคูลท์จะไม่ผลิตสินค้าของเขาในบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเกิน 100 มิลลิลิตร มาจากสองเหตุผล นั่นคือการคำนวณมาแล้วอย่างถี่ถ้วน ว่าปริมาณจุลินทรีย์ต่อขวดที่ร่างกายได้รับต่อวันเพียงพอแล้วในปริมาณบรรจุ และเหตุผลของการทำขนาดใหญ่เกินไป บางครั้งการดื่มไม่หมด ก็แปลว่าจุลินทรีย์ที่มีชีวิตในขวดจะตาย และทำให้การดื่มส่วนที่เหลือไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควรนั่นเอง
FUN FACT – ขวดยาคูลท์ทรงใหม่นี้ทั่วโลกต่างรู้จัก เว้นก็เพียงแต่ที่มาเลเซีย เพราะขวดยาคูลท์ที่มาเลเซียจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปทรงจากการที่มีแบรนด์ท้องถิ่นอื่นก็อปหน้าตาขวดไปเป็นภาพจำ แถมยังจดสิทธิบัตรในประเทศเป็นที่เรียบร้อย จนยาคูลท์จำเป็นต้องออกแบบขวดใหม่ให้แตกต่างจากขวดก็อปปี้ของแบรนด์อื่นในท้องตลาดที่มีอยู่เดิม
ขวดทรงแปลกและแตกต่างของ ‘Kikkoman’
สำหรับแบรนด์ซอสปรุงรสทรงอิทธิพลจากแดนปลาดิบอย่าง ‘คิคโคแมน (Kikkoman)’ นั้นเกิดขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมซอสถั่วเหลืองที่เติบโตมากในประเทศญี่ปุ่นตอนช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ถึงกลางศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะในพื้นที่แถวเมืองโนดะ ในจังหวัดชิบะ จนถึงกับมีการจัดตั้งสมาคมผู้ผลิตซอสถั่วเหลืองขึ้นเพื่อส่งไปยังเมืองเอโดะ
ในปี 1917 สามครอบครัวผู้ผลิตซอสถั่วเหลืองอย่าง Mogi, Takanashi และ Horikiri ก็รวมตัวกันเปิดบริษัท ‘Noda Shoyu’ ขึ้นมา ซึ่งนั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของ Kikkoman ซึ่งขวดซอสถั่วเหลืองยุคแรกนั้นเป็นขวดทึบสีขาวโพลนที่ไม่มีตราสินค้า เพราะมันไปซ่อนอยู่ที่ใต้ขวดแทน และเป็นแบบนั้นอยู่นานหลายปี
จนเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1945 จักรพรรดิฮิโรฮิโตะยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ศึกสงคราม และลงนามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายนในปีนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นพบว่าตัวเองจำเป็นต้องกอดวัฒนธรรมทุกอย่างที่หลงเหลือไว้ให้แน่นที่สุด จากความรู้สึกที่ตกค้างในจิตใจ และกลายเป็นช่วงเวลาแห่ง ‘ความวิกฤติด้านอัตลักษณ์ (Identity Crisis)’
ด้วยสิ่งนี้เอง ทำให้สินค้าแถวหน้าของประเทศอย่างซอสถั่วเหลืองจำเป็นต้องเผชิญความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงหน้าตาตัวเองครั้งใหญ่ในปี 1961 และว่าจ้าง ‘Kenji Ekuan’ นักออกแบบจาก ‘GK Design Group’ ให้ดีไซน์หน้าตาของบรรจุภัณฑ์ใหม่บนโจทย์ของความเรียบง่ายและความมีสุนทรียะทางการออกแบบ
จนเกิดเป็นขวดซอสที่ถูกออกแบบให้เป็นแบบใสที่ทำให้มองเห็นปริมาณซอสภายในได้ มีรูปร่างไล่ไปจากส่วนบนที่เรียวคอด ก่อนจะไปสู่ส่วนก้นที่กว้างเพื่อให้วางสะดวกและหกยาก เมื่อน้ำซอสถูกบรรจุในขวด สีแดงสดบนฝาจะช่วยให้สีน้ำตาลเข้มของซอสดึงดูดสายตามากขึ้น อีกทั้งกลวิธีการออกแบบฝาขวดที่ทำให้การเทซอสแต่ละครั้งไม่มีส่วนเกินหดล้น หรือกระเซ็นออกมา อีกทั้งยังควบคุมการไหลได้ด้วยการออกแบบให้มีรูอากาศสองทาง ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเลือกรินได้เท่าที่ต้องการอย่างแม่นยำ
‘Kenji Ekuan’ ใช้เวลาออกแบบหน้าตาของขวดคิคโคแมนนี้อยู่ 3 ปีด้วยกัน ผ่าน Draft กว่า 100 รูปแบบ จนนำมาสู่รูปแบบที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ภาพลักษณ์ใหม่ส่งแรงกระเพื่อมจนกลายเป็นสินค้าระดับโลกจากประเทศเล็ก ๆ ได้ในที่สุด
ขวดซอสมะเขือเทศธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาของ ‘Heinz’
ในปี 1869 ‘Henry Heinz’ บรรจุซอสฮอสแรดิชใส่ขวดขายเป็นครั้งแรก ก่อนที่ต่อมาจะผลิตซอสมะเขือเทศขายผ่านการบรรจุลงในขวดแก้วเพื่อให้เห็นว่าสินค้าภายในสดและสะอาดพร้อมบริโภคแค่ไหน เพราะในช่วงเวลาเดียวกันซอสมะเขือเทศถือเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความหายนะ เพราะเสียง่าย และไม่ได้มาตรฐานจากการพยายามรักษาให้สินค้าไม่เสียง่าย ด้วยการใส่สารเคมีลงไปมากมาย ในขณะที่ไฮนซ์เองก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ค้นคว้าวิธีที่จะทำให้ซอสของพวกเขาอยู่ได้นานโดยไม่เสียง่าย ก่อนที่ในปี 1904 ‘G.F. Mason’ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์การอาหารของไฮนซ์จะค้นพบวิธีเข้า
และในขณะเดียวกันพวกเขาก็ออกรูปแบบขวดใหม่เป็นรูปแบบที่ 5 ซึ่งเป็นรูปทรงที่มีมาตรฐานที่สุดเท่าที่เคยมีมา หน้าตาของขวดเป็นแนวตรงตั้งแต่กลางขวดไปจนถึงด้านล่าง มีฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยม และตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงด้านบนของขวดเป็นคอแคบโค้งคอดเข้าไปจนถึงส่วนฝา ซึ่งส่วนนี้ช่วยให้เวลาเทซอสแล้วไหลออกมาได้ง่าย และยังช่วยลดปริมาณของซอสมะเขือเทศที่มีโอกาสสัมผัสกับอากาศภายนอกที่ทำให้เป็นสีคล้ำ
และสุดท้ายแล้วขวดทรงนี้ก็กลายเป็นแบบอย่างให้ผลิตภัณฑ์ซอสมะเขือเทศแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมายตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน
ขวดน้ำอ้อยไทยที่น่าสนใจจนถูกกล่าวถึงของ ‘ไร่ไม่จน’
ธุรกิจเกี่ยวกับอ้อยของ ‘ไร่ไม่จน’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วง พ.ศ. 2500 จากการตัดต้นอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ก่อนที่ต่อมาจะเกิดไอเดียนำอ้อยมาผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ อย่างน้ำอ้อย และเจอปัญหาสินค้าเสียง่าย อายุสั้น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์ ที่ต่อยอดไปสู่สินค้าอื่น ๆ ได้อีกเพียบ
ทั้งน้ำอ้อยเกล็ดน้ำแข็ง น้ำอ้อยผสมสนม น้ำอ้อยผสมวุ้น น้ำอ้อยดำ หรือน้ำอ้อยผสมน้ำผลไม้ โดยในยุคแรก ๆ ภาพลักษณ์ที่สะท้อนผ่านแบรนด์สินค้ายังมีความเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างจังหวัดอยู่ จากทั้งสี กราฟิก หรืออัตลักษณ์อื่น ๆ ที่เลือกใช้
จนมาในปี พ.ศ. 2561 ด้วยวิสัยทัศน์ของทายาทรุ่นสอง และบริษัท ทำให้เกิดการว่าจ้างนักออกแบบที่เคยคว้ารางวัลการออกแบบมาแล้วมากมายอย่าง ‘สมชนะ กังวารจิตต์’ เจ้าของ ‘Prompt Design’ ให้มาออกแบบภาพลักษณ์ใหม่แบบพลิกกระดาน
จึงเกิดเป็นขวดฝีมือคนไทยที่เห็นแล้วก็ได้แต่พูดว่าเก่ง และมีแนวคิดแหลมคมไม่แพ้ต่างประเทศ อย่างขวดน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์ที่ออกแบบให้เป็น ‘ปล้องต้นอ้อย’ ที่มีรูปทรงกระบอก แต่เสริมความโค้งเว้านิดหน่อย และเพิ่มความสมจริงด้วยการออกแบบลายบนขวดให้เหมือนต้นอ้อยจริง ๆ ที่ยังเสริมกิมมิกอย่างการวางเรียงซ้อนกันในแนวตั้ง แล้วยังคล้ายต้นอ้อยจริง ๆ อีกด้วย
ไอเดียนี้ถูกชื่นชมจนได้รับรางวัล ‘IF Design Awards 2018’ ที่เยอรมัน ในหมวด Packaging ซึ่งจากการออกแบบครั้งนี้ก็ช่วยสร้างมูลค่า และเพิ่มความสนใจให้กับแบรนด์นี้มากขึ้นได้จริง ๆ
ที่มา :
- https://www.coca-colacompany.com/about-us/history/the-history-of-the-coca-cola-contour-bottle
- https://www.news-journalonline.com/story/news/local/volusia/2015/11/14/coke-bottle-prototype-finds-home-in-daytona/30740656007/
- https://www.yakult.co.uk/our-story/manufacturing-process/
- http://cheeserland.com/2013/10/the-goodness-of-yakult/
- https://www.youtube.com/watch?v=r7h_78xtuj8
- https://workpointtoday.com/yakult-size/
- https://www.moma.org/collection/works/90106
- https://www.kikkoman.com/en/culture/soysaucemuseum/history/
- https://www.thepackagingcompany.us/knowledge-sharing/iconic-packaging-heinz-ketchup-bottle/
- https://www.fastcompany.com/1673352/how-500-years-of-weird-condiment-history-designed-the-heinz-ketchup-bottle
- https://urbancreature.co/raimaijon/
- https://www.brandbuffet.in.th/2018/03/rai-mai-jon-prompt-design-ifdesign-award-2018/
- https://www.raimaijon.com/th/about/