หลังจากเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมลงพื้นที่กับทีมกระทรวง เพื่อตรวจสอบโรงงานของ บริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ที่บริเวณซอยเรียงปรีชา ย่านพระราม 7 และพบกากแคดเมียมซุกซ่อนอยู่ในโรงงาน โดยมีน้ำหนักรวม 150 ตัน อยู่ภายในถุง Big Bag รวม 98 ถุง และทางกระทรวงก็ได้ทำการยึดอายัดไว้แล้วนั้น

ในวันเดียวกัน กรุงเทพมหานคร นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ดำเนินการประกาศห้ามเข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่ของ ล้อโลหะไทย เมททอล เด็ดขาด เนื่องจากมีสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่ และการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดๆ ในพื้นที่นั้น จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและร่างกายของประชาชนนั่นเอง

เช้าวันนี้ (11 เมษายน 2567) ทีมกองบรรณาธิการ SUM UP ได้ลงพื้นที่บริเวณรอบข้างของโรงงานแห่งนี้ พบว่ามีสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นอยู่รอบโรงงานแห่งนี้ถึง 9 แห่งที่อยู่ล้อมรอบไม่เกิน 5 กิโลเมตร และยังมีวัด สถานที่ราชการ และสถานที่เอกชนอยู่รอบล้อมโรงงานแห่งนี้ และประชาชนยังคงใช้ชีวิตตามปกติ ท่ามกลางความกังวลเรื่องกากแคดเมี่ยมที่ตรวจพบ

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า แคดเมี่ยมเป็นแร่โลหะที่หากไม่ได้สัมผัสโดยตรงก็ไม่สามารถได้รับผลกระทบได้ โดยแร่ชนิดนี้นั้นนิยมนำมาใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งประชาชนสามารถสังเกตอากาของตนเองได้ หากสงสัยว่ารับแคดเมี่ยมเข้าสู่ร่างกายทั้งผ่านการหายใจ ผ่านการทานอาหารที่ปนเปื้อน หรือการสัมผัสผ่านผิวหนัง อาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และลำคอ ซึ่งเป็นอาการเฉียบพลัน หรืออาจมีอาการที่รุนแรง เช่น พังผืดที่ปอด หรือโรคกระดูก ให้รีบพบแพทย์และออกจากพื้นที่นั้นโดยด่วน หรือหากยังไม่เกิดอาการก็สามารถป้องกันไม่ให้แคดเมี่ยมเข้าสู่ร่างกายผ่านการใส่หน้ากาก N95 และเลี่ยงการสัมผัส สังเกตอาการของตนเองตลอดเวลา