คุณรู้ดีว่าหากเราตั้งเป้าหมายในอะไรสักสิ่ง แล้วขยันหมั่นเพียรจนเป็นนิสัยเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ สิ่งนั้นเรียกว่า ‘ความพยายาม’ ทว่าหากคุณพยายามจนมากเกินไป สิ่งนั้นจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘ทะเยอทะยาน’ ทันที ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคมที่ทั้งสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อบรรลุจุดสูงสุด หรือสะบั้นหั่นร่างของคุณให้แหลกเป็นชิ้น และนี่คือความน่ากลัวของความไม่พอดีที่ใครหลายคนแยกแยะไม่ออกและมองไม่เห็น จนบางครั้งมันก็ส่งผลเสียต่อตัวคุณเองและคนรอบข้าง
สังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออกไม่มากก็น้อยของบรรดาผู้นำระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด มักมีการกระทำหรือวิธีคิดที่ต่างออกไปจากผู้คนส่วนใหญ่ อาทิ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของ Space X และ Tesla ชายที่ใครต่างก็ยกย่องให้เขาเป็นตัวอย่างของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษนี้ เขาถูกระบุว่าเป็นชายที่มีอารมณ์แปรปรวนง่าย ความทะเยอทะยานสูง และมีอัตตาในตนเองค่อนข้างมาก
ซึ่งการบรรยายลักษณะดังกล่าวอ้างอิงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่เขียนโดย Walter Isaacson ผู้ที่อ้างว่า อีลอน มัสก์ มีด้านมืดในตนเอง หรือที่เรียกว่า Demon Mode โดยเขากล่าวว่าบางครั้งอีลอน มัสก์ก็ดูใจดีอย่างน่าประหลาด สลับกับคาแร็กเตอร์ที่ดูเหมือนจอมมารในหนังที่สั่งให้พนักงานทำงานในรูปแบบที่เกินขีดจำกัดความสามารถ หรือกดดันให้ทำบางสิ่งที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วย Demon Mode นี่แหละที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมากกว่าใครหลายคน และทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้บังเกิดขึ้นจริงแบบดีดนิ้ว
กลับมาสู่เรื่องของความทะเยอทะยานและอุปนิสัย ด้วยคาแร็กเตอร์แบบสลับโหมดซึ่งเดาทางไม่ได้ ไม่แปลกที่หลายคนมองว่าเขาดู ‘ไม่สมประดี’ ตามคำนิยามของคนดีในสังคมทั่วไป เจ้านายที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และเหมือนเป็นไบโพลาร์ มีความสามารถในการกัดกินจิตใจของคนรอบข้าง ที่แน่นอนว่านอกจากจะส่งผลดีในระยะยาวให้กับคนอื่นแล้ว ยังเปรียบเสมือนดาบที่เสียบแทงใจของตนเองอยู่ข้างในลึก ๆ
ในงานวิจัย On the Value of Aiming High: The Causes and Consequences of Ambition ที่เผยแพร่ในปี 2012 เกี่ยวกับผลที่ตามมาของความทะเยอทะยาน ระบุว่า คนที่มีความทะเยอทะยานในตนเองสูงมีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ชื่อเสียง และรายได้ ทว่าขณะเดียวกันมันนำมาสู่ผลข้างเคียงที่แสดงออกผ่านพฤติกรรมบางอย่างในเชิงลบ เช่น การรู้สึกแบกรับที่มากเกินไป การเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตนเอง ความวิตกกังวลที่รุนแรง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ต่ำ และสภาพจิตใจที่ค่อนข้างแย่
จอห์น การ์ทเนอร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘The Hypomanic Edge’ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาการแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์จอห์น ฮอปกินส์ กล่าวว่า ความทะเยอทะยานเป็นลักษณะทางธรรมชาติของกลุ่มคนที่มีความคลั่งไคล้หรือหลงใหลในอะไรบางสิ่งอย่างสุดโต่ง ทว่ามันจะเป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผลพวงของมันคือพลังงานที่เยอะกว่าคนทั่วไป ความมั่นใจที่เกินร้อย ชื่นชอบการเสี่ยงหรือท้าทาย มีแรงจูงใจในการกระทำสูง รวมถึงมีความคิดที่ว่าการพักผ่อนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น
ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงแต่จุดประกายไฟด้วยพลังงานมหาศาลให้กับตนเอง ขณะเดียวกันมันก็มอดไหม้คนรอบข้างไปด้วย สังเกตได้จากการที่ส่วนใหญ่แล้วลูกน้องมักจะไม่ชอบหัวหน้าจากการมุทะลุเพื่อผลประโยชน์จนไม่ใส่ใจคนรอบข้าง หรือนิสัยเสียที่เป็นผลข้างเคียงมาจากความทะเยอทะยานอันทะลุกรอบความเป็นจริง ส่งผลให้ทั้งคนที่มีความทะเยอทะยานและคนรอบข้างต่างประสาทเสียไปตาม ๆ กัน
ต่อให้ไม่มีผลวิจัยมาค้านหรือยืนยัน เชื่อว่าจิตสำนึกของคนทั่วไปสามารถอนุมานกันเอาเองได้อยู่แล้วว่า คนที่มีความทะเยอทะยานในอะไรบางอย่างจนมากเกินไปจนแสดงออกในรูปแบบที่ต่างออกไปจากคนปกติ ล้วนต้องมีผลกระทบในเชิงลบพ่วงมาด้วยอยู่แล้ว ซึ่งจะเลือกเป็นคนดีที่ไม่เอาไหน หรือเป็นปีศาจร้ายที่ประสบความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน ทว่าทางเลือกที่ดีที่สุดอาจเป็นความพยายามในการบาลานซ์ความทะเยอทะยานกับความเข้าอกเข้าใจคนอื่นไปพร้อม ๆ กัน
ที่มา
- https://www.researchgate.net/publication/224869304_On_the_Value_of_Aiming_High_The_Causes_and_Consequences_of_Ambition
- https://abcnews.go.com/Health/story?id=3339070&page=1