แชร์ลูกโซ่, Charles Ponzi, Ponzi schemes

เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกับ ‘วงการแชร์ลูกโซ่’ หนึ่งในกลโกงที่ใช้หลอกลวงประชาชนที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานและปัจจุบันดูเหมือนจะลุกลามเข้าวงการผ้าเหลืองจนเกิดเป็น ‘ขบวนการแชร์บ้านน้องแครอท’ ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทุกคนรู้ไหมว่าต้นกำเนิดของแชร์ลูกโซ่มาจากการคิดค้นของหนุ่มสัญชาติอิตาลี อย่าง ‘บอส Charles Ponzi’

เรามาทำความรู้จักกับประวัติและนิสัยตอนเด็ก ๆ ของบอสตัวแสบคนนี้กันสักนิด ตัวของ Ponzi เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ปี 1882 ที่เมือง Lugo ซึ่งเป็นเมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ครอบครัวของเขาเคยร่ำรวยมาก่อน แต่ตอนที่มี Ponzi เกิดขึ้นมา ครอบครัวของเขากลับตกอยู่ในฐานะยากจน และนิสัยของ Ponzi ก็มีความเป็นอาชญากรเล็ก ๆ มาตั้งแต่เด็ก เขามักจะขโมยเงินพ่อเงินแม่ หรือแม้แต่บาทหลวงในโบสถ์ก็โดนเขาขโมยเงินเช่นกัน

พอเริ่มโตขึ้นมาอีกนิด Ponzi ได้เข้าไปศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย Sapienza ที่ตั้งอยู่ในกรุงโรม จากคำบอกเล่าของเขาเองเล่าว่า ตัวเองไม่ใช่นักเรียนดีอะไร หลังจากเรียนไปได้สี่ปีเขาก็ถูกบังคับให้เดินออกจากมหาวิทยาลัยโดยไม่มีเงินหรือใบปริญญาใด ๆ ติดมือมาด้วย ซึ่งในขณะที่เขาเรียนเขาได้ยินเรื่องราวจากปากชาวอิตาลีคนอื่น ๆ ที่พูดถึงการเดินทางไปยังอเมริกาเพื่อแสวงหาชื่อเสียงและเงินทอง ตัวของ Ponzi ก็เลยมองว่านั่นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา

การเดินทางไปยังอเมริกาของ Ponzi จึงได้เริ่มต้นขึ้นตอนปี 1903 ด้วยเรือ  S.S. Vancouver พร้อมกับเงินติดตัวราว ๆ 200 ดอลลาร์ แต่เมื่อมาถึงอเมริกาเงินกลับเหลือเพียงแค่ 2.50 ดอลลาร์ เพราะระหว่างที่เดินทางเขาถูกนักต้มตุ๋นหลอกลวงเงินไป และเงินส่วนอื่น ๆ ก็หมดไปกับค่าทิปและการเข้าบาร์ ในหนังสือ The Rise of Mr. Ponzi ได้เล่าว่า ตัวเขาเองทำงานสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสมียนในร้านขายของชำ, พนักงานขายเครื่องดนตรี, เซลล์ขายประกัน, ผู้ช่วยงานในห้องครัว เป็นต้น ซึ่งเขาก็เล่าต่อว่า บางงานเขาทำนาน บางงานก็ทำได้ไม่นาน บางงานลาออกเองเพราะเบื่อ แต่บางงานก็ถูกไล่ออก แต่เขาไม่ได้เล่าถึงสาเหตุบางอย่างที่ทำให้เขาถูกไล่ออก เช่น การขโมยเงินหรือการโกงเงินลูกค้า เป็นต้น

ชีวิตของ Ponzi ได้ย้ายไปยังหลาย ๆ เมือง ไม่ว่าจะเป็น พิตต์สเบิร์ก, นิวยอร์ก, พรอวิเดนซ์ จนในที่สุดเขาก็ได้ย้ายไปยังเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ตอนนั้นเขาเริ่มทำงานเป็นพนักงานธนาคาร และต่อมาก็ตกงานในช่วงที่ธนาคารล้มละลาย Ponzi จึงเลือกก่ออาชญากรรม ส่งผลให้เขาติดคุกเป็นเวลา 3 ปี ในข้อหาการปลอมแปลง พอพ้นโทษ  Ponzi ถูกจับอีกรอบเพราะเขาทำผิดกฎหมายด้วยการช่วยลักลอบนำแรงงานอิตาลีเข้าอเมริกา ซึ่งตอนนั้นโทษของเขาอยู่ที่การจำคุกประมาณ 2 ปี

ต่อมาช่วงราว ๆ ปี 1917 Ponzi ในวัย 35 ปีก็ได้พบรักกับหญิงสาวชาวอเมริกัน อย่าง ‘Rose Gnecco’ และเขาทั้งคู่ก็ได้ตัดสินใจแต่งงานกันในปีต่อมา โดยตอนนั้น Ponzi ก็ยังคงทำงานหลายอย่างอยู่ รวมถึงการเข้าไปเป็นคนขายของในร้านขายของชำของพ่อตา, ทำบริษัทนำเข้า-ส่งออก และทำบริษัทเกี่ยวกับการส่งออกผลไม้ที่เป็นธุรกิจของทางฝั่งครอบครัวภรรยา แต่ทั้งหมดก็ล้มละลายในเวลาต่อมา ซึ่ง Rose เป็นภรรยาที่อยู่เคียงข้างกับ Ponzi มาโดยตลอด ทั้งในวันที่พวกเขาลำบากที่สุดไปจนถึงวันที่เขาร่ำรวยที่สุด เป็นความร่ำรวยที่ได้มาจากกลโกงของเขา หรือแม้แต่ในวันที่แผนการของ Ponzi จะพังลงและทำให้เธอต้องติดคุกในข้อหาฉ้อโกงทางไปรษณีย์  ตลอดจนถูกเนรเทศในเวลาต่อมาเขาก็ยังอยู่เคียงข้าง Ponzi  แต่แล้วความรักของเขาทั้งคู่ก็จบลงในปี 1930 ตอนนั้นพวกเขาก็ได้ตัดสินใจหย่าร้างกันในที่สุด

ในปี 1919 หลังจากที่ Ponzi เริ่มทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเล็ก ๆ เขาได้รับจดหมายจากบริษัทในสเปนที่มีคูปองตอบรับระหว่างประเทศ (IRC) อยู่ภายใน คูปองนี้สามารถแลกเป็นแสตมป์เพื่อส่งจดหมายระหว่างประเทศได้ Ponzi จึงได้เห็นโอกาสในการทำเงินจากการซื้อ IRC ในประเทศหนึ่งและนำไปแลกในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวทางที่เรียกว่า “การเก็งกำไร” (Arbitrage) หมายถึงการซื้อขายสินทรัพย์ในสองตลาดที่แตกต่างกันในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการที่เขาซื้อ IRC ในอิตาลีในราคาหนึ่งและแลกเป็นแสตมป์ที่มีราคาสูงกว่าในอเมริกา ทำให้เขาสามารถทำกำไรได้มากขึ้นเมื่อทำธุรกรรมนี้ในปริมาณมากขึ้น

แผนการโกงของ Ponzi ได้เริ่มขึ้นในปี 1920 เขาจัดตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า Securities Exchange Co. และทำการโฆษณาว่านักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 50% ภายในระยะเวลา 90 วัน เงินทุนที่ได้จากนักลงทุนจะนำไปซื้อคูปองตอบรับระหว่างประเทศ (IRC) เพื่อนำไปแลกในอเมริกา แต่  Ponzi ไม่ได้ทำเช่นนั้น เขานำเงินที่ได้จากนักลงทุนหน้าใหม่ไปจ่ายชำระหนี้ให้กับนักลงทุนเก่า ซึ่ง Ponzi ได้อธิบายเหุตผลที่ทำเช่นนั้นไว้ว่า Universal Postal Union นั่นแหละที่ระงับการขาย IRC เพราะเห็นแผนการแลกคูปองของเขา Ponzi จึงใช้วิธีเอาเงินคนนี้ไปจ่ายคนโน้น เอาเงินคนโน้นมาจ่ายคนนี้ ซึ่งแผนนี้สำเร็จในช่วงเวลาหนึ่งเพราะมันสามารถทำเงินได้สูงถึง 15 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น 

ตัว Ponzi ได้พยายามรักษาแผนการนี้เอาไว้ด้วยการแจ้งนักลงทุนว่า เขาได้สร้างเครือข่ายตัวแทนที่ช่วยซื้อ IRC ให้เขาได้ในต่างประเทศ และนำมาแลกในอเมริกาเพื่อทำกำไร แต่เอาเข้าจริง ๆ เขาไม่ได้มีตัวแทนเครือข่ายอะไรที่ว่านั้นเลย เพียงแค่ใช้เงินของนักลงทุนหน้าใหม่มาจ่ายให้นักลงทุนหน้าเก่าเท่านั้น

เรื่องราวที่ชักจะเลยเถิดได้เดินทางมาถึงจุดจบในปี 1920 หนังสือพิมพ์ Boston Post ได้ลงเรื่องราวของ Ponzi บนหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมทั้งระบุเรื่องราวที่เขามีสินทรัพย์สุทธิ 8.5 ล้านดอลลาร์ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา กรมไปรษณีย์ของทางอเมริกาได้ประกาศอัตราแลกเปลี่ยนใหม่สำหรับคูปองตอบรับระหว่างประเทศ (IRC) แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ออกมาอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนที่ว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ Ponzi

ต่อมาได้เกิดการสืบสวน Ponzi ขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ จนกระทั่งหนังสือพิมพ์  Boston Post ได้เริ่มออกข่าวด้านลบต่อตัว Ponzi ทำให้เขาต้องปฏิเสธการรับเงินจากนักลงทุนใหม่ และทำให้นักลงทุนปัจจุบันแห่มาเรียกเงินลงทุนของตัวเองคืน อีกทั้งจากรายงานระบุว่า Ponzi ได้จ่ายเงินคืนไปมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์

ต่อมาได้มีกระแสข่าวด้านลบต่อตัว Ponzi จากหนังสือพิมพ์ The Post ทำให้อนาคตของเขาเดินมาถึงจุดจบ เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฉ้อโกงทางไปรษณีย์ในระดับรัฐบาลกลาง ต้องโทษจำคุก 3 ปีครึ่ง จนได้รับการปล่อยตัว ต่อมาเขาต้องคดีในอีกรัฐหนึ่งและได้รับการปล่อยตัวในปี 1934 จากนั้นเขาก็ถูกเนรเทศให้กลับประเทศบ้านเกิด อย่าง อิตาลี ท้ายที่สุดเขาก็เสียชีวิตในปี 1949 โดยมีเงินเหลือเพียง 75 ดอลลาร์ในการจัดการงานศพของเขาเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นี่เป็นต้นกำเนิดของแชร์ลูกโซ่ที่จากอดีตมาจนถึงปัจจุบันดูเหมือนสังคมไทยจะมีบทเรียนเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว การเกิดขึ้นของ ‘บ้านแชร์น้องแครอท’ ยิ่งสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ของแชร์ลูกโซ่ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายของพระสงฆ์เป็นหลัก ซึ่งการลงทุนทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยง แชร์ลูกโซ่จะมีลักษณะเฉพาะคือ การการันตีผลลัพธ์ที่ดูจะสูงเกินจริง, การเร่งให้ตัดสินใจ และมีรูปแบบการลงทุนที่คลุมเครือ ดังนั้นอาจจะต้องคอยสังเกตและคอยมีวิจารณญาณอย่างรอบด้านจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ หนึ่งในกลลวงที่มักจะเล่นกับจิตใจของผู้คนอยู่เสมอ

อ้างอิง