ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ในวันอากาศร้อนทะลุปรอทของเดือนเมษายน แดดจ้าภายนอกอาคารพาลให้เราไม่อยากออกไปไหนหรือทำอะไรเลยแม้แต่น้อย

เว้นเสียแต่กับผู้ที่เราจะไปพูดคุยด้วยที่ทำให้เรายอมออกเดินทางไกล เพื่อไปให้กำลังใจเขาในวันเปิดตัวหนังสือ ‘สถาปัตย์กรรมคณะเรี่ยราด (365 Days of Thai Urban Mess Architecture)’ ที่ ‘ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์’ สร้างสรรค์ร่วมกับ Salmon Books ซึ่งเคยเปิดหน้าค่าตาตัวงานครั้งแรกไปในรูปแบบของงาน Exhibition ในชื่อเดียวกันช่วงงาน Bangkok Design Week 2024 ที่ต้องบอกเลยว่าเป็นหนึ่งในหลาย ๆ งาน ที่ได้รับคำชื่นชมมากมาย อีกทั้งยอดขายหนังสือเล่มที่สองของเขาที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในบูธของสำนักพิมพ์เอง ก็ทำยอดเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าในฐานะการเป็นนักเขียนของเขา ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านไม่น้อยเลยทีเดียว

แม้ว่าแท้ที่จริงแล้ว เขายังคงใช้ชีวิตเป็นสถาปนิกใน ‘Everyday Architect Design Studio’ แต่เขายังคงอยากใช้เวลานอกเหนือจากการทำงาน เพื่อสร้างสรรค์งานเขียนที่ช่วยทำให้โลกของสถาปัตยกรรมเข้าใกล้ผู้คนมากขึ้นผ่านคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ บน The Cloud และคอลัมน์ ‘ดีไซน์-เค้าเจอ’ บน Urban Creature

วันนี้เราเลยเดินทางมาพูดคุยกับเขาก่อนการเปิดตัวหนังสือจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง ผ่านมุมมองการเป็นผู้คอยถ่ายทอดเรื่องราวหลากหลายซึ่งยึดโยงกับความเป็น ‘สถาปัตยกรรม’ ที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ว่าท้ายที่สุดแล้วความเนิร์ดที่กลายมาเป็นลายเซ็นที่ชัดเจนของเขา มันทำให้ความเป็นคนสถาปัตย์ในตัวของ ‘ชัช’ มัน ‘ชัด’ เจนมากขึ้นอย่างไรบ้าง

ก่อน (อาคิเต็กฯ) จะเจอ


เข้าเรียนสถาปัตยกรรมเพราะอะไร

เพราะว่าเรียนสายวิทย์แล้วก็ชอบศิลปะเท่านั้นเอง ตอนนั้นอาจารย์แนะแนวเขาจะให้มุมมองแค่นั้นว่าหากความชอบเป็นประมาณนี้ก็มีสายวิชาสถาปัตยกรรมให้เลือก แล้วก็คิดว่า เออ ดูเหมาะกับเราดี เพราะเราก็ชอบวาด ชอบ Sketch รูป คิดว่าถ้าเกิดเรียนพวก Fine Art อะไรแบบนั้นอาจจะหางานยาก คิดแบบเด็กวิทย์เลยนะ เรียนสถาปัตย์มันดูมีวิทยาศาสตร์ คือเป็นการคิดแบบ Norm มาก ตอนนั้นก็มีอยู่ไม่กี่มหาวิทยาลัย จุฬา ลาดกระบัง ศิลปากร มันมีสองสามตัวเลือกที่เราอยากเข้าก็ไปสอบ แล้วก็ได้เข้าที่ศิลปากร

หลังจากเรียนจบ สถาปัตย์มอบแนวคิดอะไรให้กับชีวิตบ้าง

คือมุมหนึ่งสายวิชานี้มันขึ้นชื่ออยู่แล้วว่าจะมีแก๊งอาจารย์ที่เป็นแนวปรัชญาลงลึก มีความเป็นสถาปัตยกรรมเชิงแนวคิดตอนเรียนชั้นปี 5 เวลาตั้งหัวข้อธีสิสทำงานของ ม.ศิลปากร จะมีความ Abstact มาก ๆ ให้ตั้งคำถามเยอะ ๆ กันตลอดเวลา แล้วมันก็เกี่ยวพันตอนอยู่ปี 5 Thesis ยุคนั้นมักฮิตกันว่าอะไรคือความเป็นไทย ทุกคนจะต้องพูดถึงสิ่งนี้ อาจจะมีความเป็นไทยบวกกับ จุด จุด จุด เพื่อให้ไปทำงานต่อได้ ซึ่งมันเป็นช่วงปี 2556, 2557 ที่เพิ่งเริ่มมี Pinterest กับยุคที่แมกกาซีนกำลังจะตาย

แล้วมันเป็นเทรนด์หมดเลยนะ รุ่นพี่รุ่นน้องก็คุยกันตลอดว่าอะไรคือความเป็นไทย เราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร สุดท้ายเพื่อนก็ตั้งหัวข้อแบบง่าย ๆ ‘ความเป็นไทย’ ‘คลี่คลาย’ คือชื่อมันงง ๆ นะ แล้วเนื้อความก็ยังเป็นการตีความไทยแบบการหยิบประเด็น Traditional เอามาจับ หรือมุมอื่นที่มีความกระจัดกระจายในการหาคำตอบ จนสุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่าความเป็นไทยคืออะไร แต่ก็โอเค ทุกคนก็ยังคงตั้งคำถามกันไปเรื่อย ๆ

ซึ่งธีสิสเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยเลย แต่เกี่ยวกับเรื่องเมือง ๆ จากความสนใจเรื่องเมือง ผังเมือง แล้วชอบปั่นจักรยานด้วย จนตอนแรกอยากต่อปริญญาโทพวกผังเมืองด้วยซ้ำ ธีสิสเลยทำเรื่องเมืองแต่ว่าด้วยความเป็นสถาปัตย์ หัวข้อเกี่ยวกับการทำยังไงให้กรุงเทพมันดีขึ้นผ่านการออกแบบพื้นที่ริมคลอง

สุดท้ายเลยทำเป็นโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งก่อนหน้าที่จะออกมาเป็นสิ่งนี้เรามีการหาข้อมูลเรื่องผังเมืองแล้วก็เอามาออกแบบอาคาร เพราะเรามองว่ากรุงเทพฯ คลองมันเยอะ ถ้าเราแก้ปัญหาคลองได้มันอาจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้นได้ เลยมีไอเดียของโรงบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้น ที่มันเป็นพื้นที่สีเขียวแล้วก็สามารถบำบัดน้ำไปด้วย เหมือนทำงานคู่ขนานกัน คืออินเรื่องเมือง ไม่ได้อินความเป็นไทยอะไรแบบเพื่อนที่ทำกันขนาดนั้นในช่วงนั้น

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อยากให้สวมมุมมองตัวเองเป็นตัวเองในยุคนั้น แล้วลองมองว่า ‘ความเป็นไทย’ น่าจะคืออะไร

อุ๊ย! อยากเข้าไปดีเบตกับอาจารย์เลย (หัวเราะ) ก็ยังมองไม่ออกนะ ตอนนั้นมีภาพแทนแค่ว่า ‘ความเป็นไทย’ คือ ‘วัดวาอาราม’ แล้วก็ไปศึกษาต่อจากการอ่านหนังสือออกแบบของเหล่าอาจารย์สถาปัตย์ไทยชั้นครูทั้งหลาย ซึ่งเขาจะบอกว่าอาจจะเป็นแค่การที่เราเอามือกรีดนิ้วให้สวยได้ นี่อาจจะหมายถึงความเป็นไทย เพราะว่าครูบาอาจารย์สอนมา ก็ยังมีความเชื่ออะไรแบบนั้นอยู่แน่ ๆ รู้สึกว่าหากเป็นตัวเองยุคนั้นใครบอกอะไรมาก็เชื่อว่ามันคือความเป็นไทยได้นะ แต่ว่าลึกลึกตอนนั้นก็รู้สึกแล้วว่ามันไม่ได้เป็นเหตุผลที่เข้ากับเรา คือมันค่อนข้างห่าง ปัญหาอยู่ตรงนั้น

ผู้คนในวงการสถาปัตยกรรมยุคก่อนเน้น ‘วิเคราะห์’ หรือ ‘ส่งต่อ’ มากกว่ากัน

คิดว่าเหมือนศาสตร์อื่น ๆ แหละ ส่วนใหญ่ก็เป็นการที่กลุ่มนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้แล้วก็เอาองค์ความรู้มาส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ต่อ ๆ ไป ซึ่งบางมุมมันก็เป็นปัญหาของคนสถาปัตย์ที่มักจะยึดโยงรูปแบบความเป็นสถาปัตย์จากมุมมองอื่น ๆ บนโลกเพื่อให้ตัวเองมีความเป็นสากล

ซึ่งหลัก ๆ ก็มีคนหลายกลุ่มที่พยายามเอาความเป็นไทยมาติดกลิ่นให้มีความเป็นสากล แต่ก็ยังมีรูปแบบการตีความแบบไทยประยุกต์ เช่น เอารูปแบบของหลังคาวัดมาทำ หรือเวลาเข้าไปโรงแรมบางแห่งในไทยก็เอาเสาวัดมาวาง ก็ยังมีการดึงความเป็นไทยผ่านหน้าตาของวัดวาอาราม มาแปะเป็นกลิ่นมากกว่า

หากมองมาใน ‘ความเป็นไทย’ แบบที่กำลังทำอยู่ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) มันไม่มีใครสนใจเพราะมันมีความไม่รู้ว่าจะเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้ยังไง เพราะว่ารูปแบบบางอย่างพอนำไปออกแบบให้เป็นมูลค่าจริง ๆ มันทำต่อยาก ยุคก่อนจะมีรูปแบบหนึ่งที่ฮิต อย่างรีสอร์ตตามเกาะที่มันมีความพื้นถิ่นแบบกระท่อม ๆ ที่เกิดจากการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภูมิภาคอื่น แล้วเรารู้สึกว่ามันก็น่าตื่นตาตื่นใจแล้วก็มีความหมายบางอย่างในการตอบโจทย์ภูมิภาค

เช่น พื้นที่อยู่อาศัยริมทะเลมันต้องเป็นแบบนี้สิจะได้อากาศเย็น หรือว่าวัสดุนี้มันอยู่ตรงนี้แล้วมันสอดรับกัน ก็เลยมีการขยำไอเดียรวมกันจนมันกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่เราเห็นบ่อยอย่างที่บอกไป หรือสถาปัตยกรรมยุคหนึ่งในไทยมันก็ดึงความเป็นพื้นถิ่นต่างจังหวัดมาใช้ในการออกแบบงานโมเดิร์น ซึ่งยุคแรก ๆ จากที่เคยอ่านงานวิจัยมา ผู้คนในวงการวิชาการก็มักจะคิดคล้ายกันว่าไปเอาสิ่งพวกนี้มาทำไม มันดูไร้ซึ่งรสนิยม อาจจะดูเหมือนทำขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านอยู่

แต่ในช่วงเวลาถัดมานักวิชาการบางส่วนก็ต่อยอดบางไอเดียจนกลายเป็นจิตวิญญาณทางสถาปัตยกรรมยุคหนึ่งที่อยู่ ๆ ก็มีมูลค่า ซึ่งถ้าจะกลับมาในความเป็นงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เราก็มองว่าสถานการณ์ตอนนี้มันใกล้ๆ กัน ก็คือคนไม่เห็นค่า แต่มันอาจจะมีประโยชน์ในอนาคตก็ได้

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

เมื่อ (อาคิเต็กฯ) เริ่มเจอ


แล้วเริ่มสนใจความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นตั้งแต่เมื่อไหร่

หลังจากทำ Thesis จบปุ๊บ เราไม่อยากเป็นสถาปนิกแล้ว เพราะจบมาเกรดโอเคนะ แต่ว่าเหมือนตอนอาจารย์ Comment งาน เรารู้สึกเป็นแผลในใจว่าเราออกแบบไม่สวย (หัวเราะ) เหมือนเราไปโฟกัสงานวิจัยเยอะ สุดท้ายพอเข้าช่วงการออกแบบ เราให้เวลากับมันน้อยไป แล้วงานออกแบบเราไม่ค่อยโฟกัส อาจารย์ก็เลยว่าเรา แต่งาน Research ดีนะ เลยมานั่งคิดว่า “เอ๊ะ หรือว่าเราเก่ง Research วะ”

พอเรียนจบคิดว่าจะลองดูก่อนว่าเป็นสถาปนิกจริงไหม จังหวะนั้นมันมีค่ายนักเขียนของสารคดี ประกาศขึ้นมาพอดี เลยสมัครเข้าไป ซึ่งมันเป็นการฝึกฝนแบบคนทำงานข่าวแหละ แล้วก็ไปอยู่กับเขาประมาณ 6 เดือน มันต้องส่งชิ้นงาน 3 งาน ซึ่งก็เป็นช่วงที่ไม่ได้สมัครงาน เพื่อนก็ถามว่า “มึงไปทำเหี้ยอะไร” อะไรแบบเนี้ย (หัวเราะ) คือเพื่อนก็ไม่เก็ต

เราก็ไปอยู่ ลงพื้นที่โรงเรียน สัมภาษณ์คนจนเมืองอะไรก็ไปหมด แล้วก็รู้สึกสนุก ได้ฝึกเขียนแล้วเหมือนได้ Turn Pro ว่าเราสามารถเขียนงานให้เขาซื้อได้แล้ว 3 งาน ซึ่งงานที่ 1 และ 2 เป็นงานที่เขาให้ทำ ส่วนงานที่ 3 เป็นงานที่เขาให้คิดประเด็นเอง แล้วพอเรามองคนอื่น ๆ ในค่าย เห็นว่าคนนี้จบอักษรฯ คนนี้จบมนุษยศาสตร์ แต่ไม่มีใครจบสถาปัตย์เลย

แล้วเหมือนอาจารย์ที่เขาตรวจงาน 2 ชิ้นก่อนหน้าบอกว่าเรามีความเขียนเหมือนสถาปนิกอยู่ เหมือนมีลูกเล่นเยอะ เราเลยคิดได้ว่าจุดแข็งของเราคือความเป็นสถาปัตย์นี่แหละ เลยคิดประเด็นขึ้นมาที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตย์ บวกความเป็นสารคดี ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ นั่นคือบทความแรกที่เขียนแบบสารคดีเชิงลึก เป็นงานแบบขนบสารคดีจ๋าเลย ซึ่งมันดีนะ มันทำให้เราสามารถมีแบบแผนในการทำงานเขียนได้

หลังจากเขียนงาน ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’ เสร็จ มีไฟอยากเขียนงานแบบนี้ต่อมั้ย

อยากนะ แต่ว่าประเด็นคือพอค่ายสารคดีเขาทำเสร็จ เขาก็ปล่อยเลย ไม่ได้แบบเอามาปั้นต่อ เราก็เคว้ง ทำไรดีวะ สุดท้ายก็ต้องกลับไปทำงานสถาปัตย์เหมือนเดิม เพราะว่าด้วยความที่อาจารย์ที่ค่ายเขาบอกว่า “คุณก็เป็นสถาปนิกสิ แล้วงานเขียนก็เป็นงานอดิเรกเอา”

ซึ่งพอเราทำงานสถาปัตย์ไปเรื่อย ๆ เราก็นึกว่าชีวิตอาจจะเข้าร่องเข้ารอยมากขึ้น ปรากฏว่ามันก็มีความอยากเขียนอยู่แต่ไม่มีพื้นที่ให้ลงผลงาน เลยต้องหาที่เขียนไปเรื่อย หรือชวนเพื่อนค่ายที่เคยอยู่ด้วยกันไปทำสารคดีเล่น ๆ กัน

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ทำไมถึงอยากสื่อสารเรื่องสถาปัตย์กรรมเหล่านี้ให้มากขึ้น

รู้สึกว่ามันยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกเยอะ แล้วตอนเราเขียนงานตี่จู้เอี๊ยะเสร็จ ทุกคนใกล้ตัวพูดถึงเรา เพราะมันเป็นประเด็นที่เพื่อน ๆ ที่อยู่ในสายงานสถาปัตย์เคยคุยกันในวงเหล้าแล้วไม่มีใครตอบได้ ส่วนใหญ่ประเด็นแบบนี้กลายเป็นการถูกทำให้ไม่สนใจ เราก็เลยไปเจาะมาให้เฉย ๆ

คือเรารู้สึกว่าไม่อยากให้มันไร้คำตอบ และเหมือนพอฝึกฝนเรื่องสารคดีมาแล้วรู้สึกว่าประเด็นพวกนี้มันหาคำตอบได้ผ่านงานเขียน ซึ่งหากเราเป็นสถาปนิกทั่วไปมันจะมีความคิดว่า เออ เราจะมานั่งหาคำตอบทำไม เราก็ออกแบบไปสิ จบ ซึ่งการออกแบบบางครั้งมันจบด้วยความเป็นลูกค้าด้วยซ้ำ แต่พอเราไปขุดคุ้ยข้อมูลมาทำเป็นบทความได้มันก็สนุกไปอีกแบบ ว่าสุดท้ายแล้วมันคืออะไร

การได้ลงพื้นที่หรือทำข้อมูลแบบนี้มากขึ้นทำให้การมองสถาปัตยกรรมในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปไหม

เรารู้สึกว่าวันนี้เรา Set up อะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ที่มันเป็นข้อดีในการนิยามสถาปัตยกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เราศึกษามาแล้ว และมีคนยอมรับว่ามันไม่เคยมีนิยามที่ชัดเจนมาก่อนเลย เหมือนการเปิดประเด็นใหม่ให้วงการจากการทำอะไรก๊อกแก๊กของเรา แล้วมันก็มีผลออกมาซึ่งก็นำไปสู่การเปิดกว้างของคนมากขึ้น รวมถึงเป็นแนวโน้มที่ดีว่าสิ่งนี้ก็มาไกลเหมือนกันในขณะที่เราไม่ได้เป็นนักวิชาการ พูดจริง ๆ เราเป็นแค่นักสารคดีด้วย

การลงพื้นที่ทำให้ได้การเดินเล่นในเมืองกลายเป็นงานอดิเรกด้วยหรือเปล่า

ใช่ ได้ฝึกเดินเล่น ซึ่งมันเป็นการเดินที่มีประเด็น คือการค้นหาข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการให้เจอแหละเหมือนเราจะมีเป้าหมายในหัวว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องการบ้าง มันเหมือนเป็นการทำเพื่อส่งงานบางครั้งก็เดินมั่ว ๆ เอาเพื่อให้ได้ประเด็น ซึ่งนี่คือปัญหาหนึ่งที่ไม่เหมือนกับคนเขียนสารคดีทั่วไปที่หลายครั้งเรารู้ว่า Subject มันอยู่ตรงไหน เราก็จะพุ่งไปที่นั่น ทีนี้ประเด็นความสงสัยทางสถาปัตยกรรมมันไม่มีแหล่งข่าว เราต้องเดินสุ่ม ๆ ให้เยอะที่สุดแทน

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ประสบการณ์ที่ได้ (เขียน อาคิเต็กฯ) เจอ


การเดินมันเริ่มสำคัญกับชีวิตของเราตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนไปอีกนิดหนึ่งคือเราโชคดีที่ได้รู้จักกับ The Cloud และโอกาสเขียนคอลัมน์จากงานตี่จู้เอี๊ยะ ได้ทำเป็นบทความเดือนละตอน ก็เลยได้กลับมาเดินจริงจังมากขึ้น

คิดเรื่องที่จะเขียนในคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ยังไง

มีชุดแรกที่เราเรียงเนื้อหาแหละ เหมือนงานตี่จู้เอี๊ยะ ที่เราพอจะนึกออกว่าอันนี้แปลกดีแล้วเคยเห็น แค่รู้สึกว่าไม่รู้ว่ามันคืออะไร แล้วก็จะไปเจาะกับบางอัน หลังจากนั้นพอได้เดินเยอะ ๆ จากบทความที่ผ่าน ๆ มา มันก็เริ่มเห็นอะไรที่โผล่มาระหว่างการลงพื้นที่เยอะ ๆ และเห็นว่ามันเริ่มกลายเป็น Pattern มากขึ้น ก็ลองเอาไอเดียไปจับกลายเป็นอีกบทความได้ หรือมีคนส่งแหล่งข่าว ส่งหัวข้อมาก็มี อย่างเช่นมีพี่คนหนึ่งบอกว่า “เฮ้ย กระถางต้นไม้หน้าบ้านมันคืออะไร” ซึ่งไอเดียมันน่าสนใจและก็เอามาต่อยอดเป็นเนื้อหาได้

ประเด็นไหนที่ค้นคว้าข้อมูลเอามาเขียนยากที่สุด

อะไรที่มันไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมเขียนยาก อย่างประเด็นเรื่องการแขวนของ ก็โดนคนครหาแหละว่าแถหรือเปล่า แต่เอาจริง ๆ มันก็ยากแหละ ว่ามันจะเขียนไปทางไหน พอเอาไป Feedback กับ บ.ก. เขาก็แบบ “คืออะไรวะ” (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ไปพยายามเขียนออกมาได้ กับอีกเรื่องก็คือพวกวัสดุต่าง ๆ ที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับมัน อย่างเหล็กดัดที่เราเจอบ่อยๆ หรือชิ้นส่วนต่างๆ ที่เราเห็นบ่อยๆ แล้วทำไมมันยังอยู่วะ หน้าตาไม่ค่อยถูกใจเลย ตอนเรายังเรียนออกแบบก็ไม่มีใครใส่วัสดุเหล่านี้ในงานออกแบบเลย แต่มันก็ยังเป็นวัสดุที่ถูกใช้งานอยู่ในสังคมจริง ๆ ด้วยซ้ำ

สะท้อนมุมมองนี้หน่อยว่าทำไมยุคนี้งานอีเวนต์ต่าง ๆ มักหยิบเอางานสถาปัตยกรรมแบบไทย ๆ พวกสายไฟระโยงระยางมาเป็นชิ้นงานตกแต่งมากขึ้น

เออ ใช่ มันจะมีความเหมือนเป็นได้แค่ฉากละครเวที ยังไม่ได้ถูกเอามาใส่ในงานสถาปัตยกรรมจริง ๆ เพราะว่ามันถูกนิยามผ่านธีมงาน สมมุติเราอยากได้ธีมแบบเมืองๆ เก่าๆ ฟิลหลานม่า ซึ่งแบบนั้นมันถูกใช้ได้จริง ๆ อยู่แล้ว เพราะว่าเราเซ็ตขึ้นจาก Visual ที่เราจัด พอนำมาสู่การออกแบบจริง ๆ ในแง่ของการที่เราต้องอยู่กับมัน หรือว่าเราต้องสร้างบ้านใหม่โดยการหยิบมันไปใส่ในการออกแบบอะไรแบบนี้ มันจะมองแบบเดียวกันไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นความแบบ “แล้วยังไงต่อนะ” ในปัจจุบันนี้ ถามว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่จริง ๆ บ้างมั้ยในงานออกแบบมันมีนะ แต่ก็ต้องผ่านการบิดมากขึ้นในการออกแบบ ซึ่งมันยังมีความชนกลุ่มน้อยอยู่

ถ้าถามว่าทำไมคนยุคนี้ถึงสนใจ อาจจะหมายถึงว่าสนใจในแง่ของเชิงธีมมากกว่า เราต้องแยกก่อนว่าในมุมสถาปัตยกรรมมันคือการออกแบบพื้นที่บนฐานคิดที่เราใช้งานเป็น 10 – 20 ปี โดยไม่ซ่อมมันเลย ขณะที่พวกงานในห้างมันอาจจะทำเพื่อ 5 วันแล้วรื้อออก มันคือความชั่วครั้งชั่วคราว ฉะนั้นความสนใจแบบนั้นคือความสนุกในการอยู่กับมันผ่านความเป็นธีมไง แต่ถ้าถามว่าให้อยู่กับมันจริง ๆ มั้ย ก็อาจจะไม่

เหมือนมันอาจจะต้องการการถกเถียงมากกว่าที่จะให้สิ่งเหล่านี้ถูกแปะอยู่ในงานสถาปัตย์แบบดื้อ ๆ แต่ในมุมของสถาปัตยกรรมก็ต้องบอกว่ามีบ้างที่แบบเริ่มพยายามหามุมใส่ เราเคยคุยกับรุ่นพี่ที่เขาดังมากในวงการสถาปัตย์ เขาก็บอกว่าเริ่มสนใจในงานกลุ่มนี้ เพราะว่าด้านหนึ่งวงการสถาปนิกก็เริ่มมีความรู้สึกตันในงานออกแบบ แล้วก็อยู่ในช่วงที่กำลังหาอะไรใหม่ ๆ เข้ามาผสมผสานกับงานรูปแบบเดิม ซึ่งพวกนี้ก็เป็นทางหนึ่งที่คนเริ่มจะสนใจกัน

กลับมาที่คอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ หน่อย ว่ามันมีแนวคิดหลักของการเขียนสิ่งนี้ขึ้นมามั้ย

จริง ๆ ถึงจุดหนึ่งจะมีความ “ชิบหายแล้ว ต้องส่งแล้วว่ะ” มันจะมีสภาวะแบบนั้น ซึ่งจริง ๆ มันดีนะ บางทีมนุษย์เราอาจจะต้องการความมีเดดไลน์นิดหนึ่ง ซึ่งมันจะเป็นจังหวะที่อยู่ดี ๆ หัวมันจะแบบ เฮ้ย มีมุมนี้นี่หว่าอะไรแบบนี้ มันจะไปเรื่อย ๆ ของมัน

ซึ่งพอได้เอามารวมเล่มเป็นหนังสือนั่นแหละ ถึงเห็นแนวคิดหลักรวม ๆ ของมัน โดยที่ตอนเขียนต่อเนื่องกันเราก็ไม่ได้คิดถึงขนาดนั้นว่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง เพราะบางทีมันจะส่งไม่ทัน แล้วแค่เหมือนเล่าให้มันอยู่ในบรรยากาศโซน ๆ นี้ มีประมาณ 3 หมวด หมวดแรกคือเรื่องความเชื่อที่มันติดอยู่ในสังคมหรืองานสถาปัตยกรรม เช่น ตี่จู้เอี๊ยะที่เอากลับมาเรียบเรียงใหม่ หรือศาลพระภูมิ อีกเรื่องก็คือวัสดุที่เราเห็นบ่อย ๆ อย่างเช่นเหล็กดัดที่มีหน้าตาแปลก ๆ ทำไมมันยังอยู่วะ มีที่มาที่ไปยังไง หรือวัสดุที่เจอเป็นองค์ประกอบในเมือง เราก็ไปหาคำตอบผ่านงานเขียนที่บลางครั้งอาจจะไม่ได้คำตอบขนาดนั้น แต่มันชวนตั้งคำถาม ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือโซน Urban Vernacular นี่แหละ

การค้นพบว่าแนวคิดหลักในงานเขียนของตัวเองมันมีประเด็นครอบคลุมชัดเจน สำคัญยังไงในฐานะผู้ที่จะเขียนงานต่อไปบ้าง

อาจจะย้อนกลับไปคำถามแรก ๆ ว่าสนใจเรื่องเมืองตั้งแต่ตอนไหนด้วย เราว่า 2 สิ่งนี้มันดันเข้ามาชนกันพอดีจากการที่เราบังเอิญได้เขียนสิ่งนี้ แล้วมันเข้ากับความสนใจของเราตั้งแต่ตอนมหาวิทยาลัย ที่จะมีอะไรบางอย่างที่เราเห็นชัด ๆ เช่น การตากผ้า หรือการแขวนของ ที่มันดู Abstract เหี้ย ๆ เลย ซึ่งความสนุกของการบันทึกสิ่งเหล่านี้คือหน้าตาของมันจะไม่เหมือนกันเลย แล้วเราไม่รู้ว่ามันจะไปจบตรงไหน

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

หลังจาก (อาคิเต็กฯ) เจอสิ่งใหม่


มาถึงการทำโปรเจกต์ ‘สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ บ้าง ว่ามันมายังไง มันมาจากการเจอ การถ่าย หรือจากการทำอะไรถึงเกิดเป็นสิ่งนี้ได้

หลังจากเขียน อาคิเต็ก-เจอ จบ ก็คิดว่าจบแล้วชีวิตนักเขียน คงมีประมาณนี้ แล้วก็ได้มานั่งอ่านต้นฉบับของตัวเองอีกทีแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย หนังสือเล่มนี้มันยังไงอยู่นะ มันมีปลายทางของตัวเองชัดเจน มันสามารถมีเล่ม 2 ได้นะ แบบเล่าโซน ๆ นี้แล้วก็ไปเรื่อยๆ ของมันได้ต่อ อีกอย่างตือมันยังไม่ได้พบคำตอบอะไรขนาดนั้นด้วย

คำตอบที่ว่าคืออะไร หรือคำถามที่นำไปสู่คำตอบที่ว่านั้นคืออะไร

สิ่งที่เราตั้งคำถามในแต่ละบทความก็คือ ‘สิ่งเหล่านี้มันนำไปสู่การออกแบบอะไรได้ไหม’ หรือ ‘สิ่งนี้นำไปสู่คำตอบในการทำให้สังคมดีขึ้นได้ไหม’ มันยังไม่ได้นำไปสู่สิ่งนั้น เราได้แค่เริ่มตั้งคำถามก็เลยอยากทำต่อแต่ไม่รู้จะเขียนอะไร
เลยไปนั่งคุ้ย ๆ ดูว่าระหว่างลงพื้นที่เขียน อาคิเต็ก-เจอ มันมีรูปถ่าย Snap เยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายเพราะรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าสนใจ แล้วก็ถ่ายเก็บไว้ก่อนแม้จะไม่รู้ว่าคืออะไรก็ตาม พอมาดูอีกทีก็งงมากว่าตัวเองถ่ายอะไรไป แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าต้องหาวิธีเข้าใจมัน ประกอบกับช่วงปลายปี 2562 งานก็ไม่ได้เยอะด้วยเพราะเป็นช่วง Covid-19 เลย โอเค งั้นลองดูไหม มีภาพสต๊อกส่วนหนึ่ง ไปถ่ายมาใหม่อีกส่วนหนึ่ง แล้วลองเอาภาพมาทำเป็นแบบนี้งานแบบวาด Sketch Design

แล้วเริ่มตั้งเป้าหมายเมื่อไหร่ว่าจะทำสิ่งนี้เป็นเวลา 1 ปี

ตอนนั้นเหมือนเริ่มตั้งออฟฟิศ แล้วออฟฟิศเชื่อว่า Everyday Architect แล้วในหนังสือเล่มแรกมันมีความพยายามเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวัน เพราะว่าสิ่งนี้มันเห็นได้ทุกวันก็อาจจะแปลว่ามันอยู่ในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ ก็เลยเอาธีมนั้นมาครอบว่าจะทำสิ่งนี้ทุกวันใน 1 ปี

ในยุค Covid-19 มีคนทำสิ่งนี้มากพอสมควรแบบเป็น Challenge 1 เดือน 1 ปี ซึ่งมันก็เป็นเป้าหมายที่ดูไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย อยากรู้ว่าเป้าหมายนี้ในมุมเรามันเป็นอย่างไรบ้าง

จริง ๆ คิดสิ่งนี้ไม่นานด้วยว่าอยากทำสัก 1 ปี เพราะส่วนตัวรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีวินัยประมาณหนึ่ง แล้วก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้เห็นบ่อยจากรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา จนน่าจะทำให้เราค้นเจอมันใหม่ได้เรื่อย ๆ และคิดด้วยนะว่าเราจะไม่ฝืนตัวเอง คือถ้ามันฝืนมันจะเริ่มไม่สนุก แล้วก็จะทำต่อไม่ได้

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

เล่าให้ฟังหน่อยว่ารายละเอียดการทำงานโปรเจกต์นี้เป็นยังไง

ปกติจะตื่นตี 5 แล้วมานั่งวาด เสร็จประมาณ 6 โมง – 6 โมงครึ่ง แต่ความยากไม่ใช่การวาด ความยากคือการหารูป เพราะว่างานวาดเรากะเกณฑ์และวางแผนได้ แต่รูปพวกนี้บางทีต้องใช้ชีวิตจริง ๆ ถึงจะเจอ ซึ่งสต๊อกตอนแรกที่มีอยู่มันมีแค่ประมาณ 50 – 60 รูป แต่ใจจริงคือพยายามจะไม่ใช้ด้วย แล้วก็อยากถ่ายใหม่มากกว่า ส่วนสต๊อกที่มีอยู่ก็เก็บไว้ช่วงที่แบบหมดคลังจริง ๆ ถึงค่อยหยิบมาใช้

ค้นเจอสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันแบบเยอะ ๆ ถึง 365 ภาพได้ยังไง เพราะมันไม่ได้เจอได้ง่าย ๆ เลยนะ

งงเหมือนกันว่าเจอได้ยังไง เจอด้วยความแบบ เออ เดินไปเหอะเดี๋ยวก็เจอ อย่างน้อย 2 – 3 ชิ้นต้องมี มันต้องเดินมั่ว ๆ เอา อย่างที่บอกว่ามันต้องไม่ฝืนชีวิต สมมุติต้องไปดูหนังแถวสามย่าน เสร็จบ่าย 3 เวลา 6 โมงมีนัดต่อ จากสามย่านไปสถานที่นัดหมาย 3 ชั่วโมงใช้เป็นการเดินเอามั้ยแล้วค่อยต่อรถไปเผื่อจะเจออะไรระหว่างทางและบันทึกภาพได้

แล้วถ้ามันไม่เจอเลยในบางวันรู้สึกยังไง

ส่วนใหญ่เวลาเราเดินเล่นในเมือง เราไม่ค่อยได้หาอะไรอยู่แล้วด้วย ขอแค่ให้เดินแล้วได้เห็นเส้นทางใหม่ ๆ บางทีเราอาจจะแค่อยากรู้ว่าย่านนั้นใครอยู่ เพราะตัวเราเองมีความสารคดีประมาณหนึ่ง การเห็นอะไรใหม่ ๆ แค่นั้นก็สนุกแล้ว ไปเจอชุมชนคนแอฟริกันอยู่ย่านบางรักแล้วก็ เฮ้ย ถ้าเราไม่เดินมาก็ไม่เจอสิ่งนี้เลยนะ

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ชอบวัสดุไหนมากที่สุดในงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั้งหมดที่ไปเจอมา

ชอบ 2 อย่าง อันแรกคือ ‘ท่อ PVC สีฟ้า’ ชอบในแง่การเป็นงาน DIY เราเคยพยายามเอาสิ่งนี้มาใช้ในการทำงานบ่อยแล้วพบว่าปัญหามันเยอะ มันไม่เหมาะกับการเอามาทำงานสถาปัตยกรรม แต่มันเหมาะกับการทำงานพวกงาน Installation หรืองานอะไรที่ต้องการให้คุณค่าของความหมายมันสะท้อนออกมามากขึ้น ส่วนวัสดุที่ช่วงนี้ใช้บ่อยก็คือ ‘เหล็กฉาก’ ที่มีรูเยอะ ๆ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเบื่อแล้ว แต่ว่าลูกค้าชอบเฉยเลย จนรู้สึกว่าหรือเราต้องชอบมันจริง ๆ แล้ว (หัวเราะ)

เดินเล่นย่านไหนประทับใจที่สุด

มีครั้งหนึ่งไปเดินเพื่อจะเขียนคอลัมน์ อาคิเต็ก-เจอ เรื่องเรือในคลองแสนแสบ แล้วก็คิดอะไรไม่รู้ว่าอยากไปดูอู่ต่อเรือ ซึ่งได้ยินมาว่าอู่ต่อเรือมันอยู่ถัดจากท่าเรือวัดศรีบุญเรือง คือปลายสุดจากจุดที่ยืนอยู่ตอนนั้นราว 5 กิโลเมตร ก็เลยคิดว่างั้นเดินเอาริมคลอง

ระหว่างทางเราก็เจออะไรเต็มไปหมด ทั้งวิธีข้ามคลองของคนริมคลองส่วนใหญ่ที่ข้ามคลองด้วยแพชักรอกที่เราเห็นแล้วแบบ โอ้โห กรุงเทพฯ ก็ยังมีเว้ย หรือเดิน ๆ อยู่เจอบวัวโผล่มาริมคลอง เจอเหล็กดัดรั้วบ้านหน้าตาประหลาด ๆ อะไรแบบนี้ พอเราเขียนคอลัมน์จนเสร็จ ใจนึงถึงขนาดอยากจัดทริปเดินไปดูอู่ต่อเรือแล้วเส้นทางก็คือการเดินริมคลองเหมือนที่เราเดินนั่นแหละ ซึ่งก็มีคนสนใจ แต่ก็มีเพื่อนเราที่ถามเหมือนกันว่า “มึงจะเดินไปทำไมวะ มึงปักหมุดเอาไว้เดี๋ยวกูนั่ง Grab ไปก็ได้”

งั้นอยากให้เล่าผ่านมุมมองตัวเองหน่อยว่า หากคนเราเดินในเมืองมากขึ้นน่าจะทำให้คน ๆ หนึ่งได้อะไรเพิ่มมากขึ้นบ้าง

สำหรับเราแล้วกัน ไม่รู้คนอื่นจะได้อะไรหรือเปล่านะ เราว่าสิ่งนี้คือมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ในสังคม เพราะว่าบางทีเดินได้เยอะจะรู้เลยว่าเราไม่ได้อยู่แค่นี้ ห้าง ออฟฟิศ คือมันมีคนอีกหลากหลายมากที่อยู่ในสังคม กับอีกเรื่องก็คือจริง ๆ มันทำให้ได้ประสบการณ์แปลก ๆ อย่างที่เล่าให้ฟังที่เราไม่เคยเจอ ซึ่งปกติเวลาเราไปต่างประเทศมันก็คือประสบการณ์เดียวกันในการค้นพบพื้นที่ใหม่ ๆ Vibe ประมาณนั้น แต่แค่ประเทศเราจะเถื่อนกว่า

คิดว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนไม่ค่อยทำสิ่งนี้ในกรุงเทพฯ

เราว่าวัฒนธรรมไม่ได้บอกให้เราทำแบบนั้น สังคมมันไม่ได้บอกเราว่าการเดินมันเป็นเรื่องปกติ มันสะท้อนออกมาผ่านบางมุมอย่างเช่นถ้าจะเดิน หนึ่งมันอันตราย สองคือมันร้อน สามคือมันเมื่อย แค่นี้ก็เป็นปัญหาแล้ว อาจจะรวมถึงเรื่องฟุตบาทเดินยาก แต่แค่สำหรับเราเรื่องเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการทำให้ไม่อยากเดิน แต่การที่คนในสังคมจะมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่สำคัญเราก็เข้าใจ เราเคยถามคนใกล้ตัวบางคนเขาก็บอกกับเราว่าเขายอมรับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ อาจจะต้องรอให้ฟุตบาทดีหน่อยเขาถึงจะยอมเดินด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจนะ

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

ภาพไหนใน 365 ภาพ Sketch Design ที่ชอบที่สุด

(ยืนหาภาพที่อยู่ตรงหน้า) อันที่ชอบแล้วก็ดูบ่อย ๆ จะมีอันนึง และมันเหลือแค่รูปเดียวแล้วด้วย (หยิบภาพนั้นขึ้นมาให้เราดู)

ภาพนี้มันตอบคำถามสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมืองแบบชัดเจน แล้วส่วนตัวก็รู้สึกเซอร์ไพรส์มากที่ไปเจอสิ่งนี้และตอนนี้มันก็หายไป เลยกลายเป็นโมเมนต์สำคัญที่เราเจอมัน

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

คือจุดนี้อยู่ในชุมชนหนึ่งในบริเวณป้อมโบราณแถวคลองสาน เหมือนป้อมพระสุเมรุอะไรแบบนั้น แล้วปกติผู้คนในชุมชนเขาจะขึ้นไปบนป้อมซึ่งจะเป็นพื้นที่โล่ง ๆ เอาไว้ใช้ออกกำลังกาย ซึ่งจริง ๆ มันมีทางเข้าหลัก แต่มันต้องอ้อมไปเข้าทางอื่น แล้วช่วงนั้นเป็นช่วง Covid-19 บันไดทางเข้าก็ปิดหรืออาจจะมีปัญหาอื่น อย่างเช่นการเดินอ้อมไกล ๆ ชาวบ้านแถวนั้นเขาก็เลยเอาบล็อกสี่เหลี่ยมแบบที่ใช้ปูทางเท้ามาเรียงกันในแนวตั้งแนบไปกับกำแพงป้อม ข้อดีคือด้วยความเป็นป้อมโบราณผนังมันจะเอียง ทำให้เวลาเอาบล็อกพวกนี้ไปวางแล้วไม่ล้มด้วย

พอมานั่ง Crack สิ่งนี้แล้วก็พบว่า หนึ่งมันแก้ปัญหาได้จริง สองเขาใช้วัสดุที่อยู่ในบริเวณนั้นมาสร้าง สามคือมึงคิดได้ยังไง (หัวเราะ) ซึ่งพอเป็นเราที่ถูกสอนในแง่การออกแบบ เราจะไม่คิดแบบนี้ เราจะคิดผ่านฐานคิดอีกแบบที่จะมีความเป็น Framework มาก ในขนาดที่วิธีคิดแบบนี้เราคาดไม่ถึงเลย มันสะท้อนภาพของ Urban Vernacular ได้ดีในมุมเรา

อธิบายความเป็น Urban Vernacular หน่อยว่าคำนี้คืออะไร

ถ้าจะให้ครบถ้วนเลย มันจะมีหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้ค้นหาเพิ่มเติมด้วยนะ ชื่อ ‘Architecture without Architect’ สถาปัตยกรรมที่ไม่มีสถาปนิกอะไรแบบนี้ เป็นหนังสือนานแล้วตีพิมพ์เมื่อปี 1964 มันเป็น Exhibition หนึ่งในอเมริกา แล้วในวงการก็ตกใจกันเพราะว่าสถาปัตยกรรมที่เชิดชูในยุคนั้นต้องเป็นคนนี้คนนั้นออกแบบเท่านั้นถึงจะเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรม

จนมีคนชื่อ Bernard Rudofsky เขาไปเที่ยวทั่วโลกแล้ว Snap พวกบ้านกระท่อมในทะเลทรายหรืออะไรแบบนี้แล้วก็มาจัดเป็น Exhibition เพื่อบอกว่า นี่ไง สถาปัตยกรรมที่ไม่มีสถาปนิก แต่มันเวิร์คกับตรงนั้นได้ เพราะรูปแบบของมันเกิดจากการประกอบสร้างผ่านปัญหา เช่น ทะเลทรายมีลมร้อน เราต้องทำบ้านแบบไหนอะไรแบบนี้ มันถูกตอบโจทย์ในพื้นที่ตรงนั้นโดยคนตรงนั้นแก้ปัญหากันเอง เลยกลายเป็นนิยามนี้ขึ้นมา แล้วหลาย ๆ สังคมก็เริ่มใช้คำนี้ในการศึกษา

ในเมืองไทยยุคหนึ่งก็เริ่มศึกษาชาวบ้านหรือชนกลุ่มน้อยต่างจังหวัดที่นู่นที่นั่น แล้วใช้ Framework เดียวกันในการหามุมมองว่าชาวบ้านในแต่ละพื้นที่เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างไรด้วยเหมือนกัน

มีมุมหนึ่งน่าสนใจเวลาเราเห็นวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะตรงนั้น สถานที่นั้นของฝรั่ง มันจะกลายเป็น Meme แบบ ‘Cyberpunk 2077’ หรือเป็นแบบ Life Hack ที่แม้จะถูกมองเป็นเรื่องตลก แต่คนก็ยังสนใจ เลยอยากสะท้อนกลับมาว่าทำไมคนไทยถึงไม่ได้สนใจสิ่งนี้อย่างจริงจังสักเท่าไหร่ในช่วงที่ผ่านมา

เราว่ามันถูกเห็นบ่อยจนกลายเป็นความเฉย ๆ แบบ แล้วไง? บางทีเวลาเราเองอธิบายก็จะมีความเล่าตามสิ่งที่เห็นตรงหน้าได้แค่นั้น ซึ่งมันจะนำมาสู่ความงงว่าจะมานั่งอธิบายทำไม เช่น “เขาร้อนเขาเลยต้องดึงผ้าใบด้วยวิธีนี้ไง” “ก็ใช่สิ” อะไรแบบนี้ พอมันไปต่อไม่ได้เลยไม่เกิดความสนใจ

หรือถ้ามองว่าทำไมในไทยมันไม่เป็น Meme อาจเพราะบ้านเรามันจะมีลักษณะของเจตนาแก้ปัญหาเท่านั้นเลยจริง ๆ แต่หลายวิธีการแก้ปัญหาที่ปรากฏในความเป็นแก๊ก Cyberpunk 2077 หรือ Life Hack อาจจะดูมีความตลก หรือกวนตีนอย่างตั้งใจ ต่างกับสิ่งที่เราทำที่มันแก้ปัญหาได้จริง แม้หน้าตามันจะแปลกก็ตาม สิ่งที่เราทำในโปรเจกต์นี้เลยเป็นการรวบรวมมันจนเห็นภาพใหญ่ที่เป็น Pattern ที่น่าตกใจว่า เฮ้ย มันมีจุดร่วมบางอย่างระหว่างกัน ซึ่งถ้ามองเป็นชิ้น ๆ อาจจะเฉย ๆ กว่าด้วยซ้ำ

สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนอะไรในความเป็นมนุษย์บ้าง

มันสะท้อนว่ามนุษย์ไปอยู่ตรงไหนจะมีการแก้ปัญหาเสมอ เราเคยไปหลาย ๆ ที่ก็เจอวิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ แบบเหมือนกัน ตอนจัดนิทรรศการอันนี้ช่วง Bangkok Design Week 2024 ก็มีฝรั่งคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกันชอบเรื่องแบบนี้ แล้วเขาไปที่ไหนเขาก็จะถ่าย ๆ มาเหมือนกัน อย่างเช่น อัมสเตอร์ดัม ปักกิ่ง ฮ่องกง เขาก็จะเจอรูปแบบการแก้ปัญหาแบบนี้ซ่อนอยู่ แค่สิ่งที่เราทำมันขีดเส้นอยู่ในความเป็นประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็ช่วยสะท้อนเรื่องปัญหาในกรุงเทพฯ ที่ยังค้างคาอยู่ แม้แต่ฝรั่งที่มาอยู่ไทยถ้าจะแก้ปัญหา เขาก็ต้องแก้แบบนี้แหละ เพราะเงื่อนไขทุกอย่างมันล็อคมาหมดแล้ว ปัญหามาปุ๊บ วัสดุวิ่งไปร้านโชห่วยมีของแค่นี้ ยกเว้นมีเงินมาก ๆ ก็อาจจะซื้ออะไรมาแก้โจทย์อีกแบบ ซึ่งมุมหนึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้มันมีเรื่องของการสู้ชีวิต หรือความจำกัดของงบประมาณจนทำให้วิธีการแก้ปัญหาทำได้แค่นั้นอยู่ด้วย

แล้วถ้ามองลึกเข้าไปในทุกภาพที่วาด ต้นตอของปัญหาไหนที่เจอซ้ำ ๆ บ่อย ๆ บ้าง

ไม่รู้ว่าอันนี้มองถูกหรือเปล่านะ เพราะว่าไม่ได้มี Data ชัดเจน แต่ว่าปัญหาที่รู้สึกว่าสำคัญอันแรกก็คือการกันแดด อันนี้แหละโหดมาก สำคัญที่สุดแล้ว วิธีแก้ปัญหาหลัก ๆ คือแดดมาทางไหนก็ไปดักทางนั้น ซึ่งสะท้อนว่าเวลาเราเรียนสถาปัตย์มันจะมีความถูกสอนมาเลยว่าเดี๋ยวตอนเช้าแดดมาทางนี้ ตอนช่วงเย็นต้องมาทางทิศนี้ ทิศทางของแดดก็ส่งผลต่อการออกแบบให้ดักแสงตามนั้น แต่ชีวิตจริงอันไหนที่เป็นหน่วยย่อย อย่างการที่สถานที่อยู่ปากซอย มันก็เลือกทำเลไม่ได้มาก มันเลยมีดีไซน์ที่พยายามออกแบบร่มบางรูปแบบที่บางครั้งเราก็มองว่ามันไม่รอด เพราะมันต้องพลิกแพลงวิธีใช้กับสถานการณ์จริงอยู่ดี นี่แหละ สิ่งนี้ยังเป็นปัญหาที่หา Solution ในการแก้ค่อนข้างยาก มุมหนึ่งคือน่าสงสารด้วยพอเห็นคนหาวิธีบังแดดให้ตัวเองแล้วรู้สึกเลยว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่เรื่องสนุก

เรื่องถัดมาคือการเทินขาโต๊ะ หรือขาเก้าอี้ เพราะว่าตั้งไม่อยู่ จากปัญหาฟุตบาทไม่ดี ปัญหาคือพอเราเกิดกิจกรรมการค้าขายจับจ่ายใช้สอย มันจะต้องมีอะไรไปอยู่บนฟุตบาทบ้าง ซึ่งพอมันตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มันอะไรก็ไม่รู้เลยต้องแก้ปัญหากันไป เราเพิ่งไปโฮจิมินห์มา ซึ่งจริงๆ Street Food เขาเยอะเหมือนกันนะ แต่เขาไม่มีการแก้ปัญหาแบบนี้เลยเพราะว่าฟุตบาทเขากว้างแล้วก็เป็นระนาบเดียวกัน ซึ่งอันนี้จริง ๆ ก็คือปัญหาด้านสถานที่ในเมืองที่ถูกออกแบบมาไม่ดี

หลังจากที่งานเขียนคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ทำโปรเจกต์ ‘สถาปัตยกรรมคณะเรี่ยราด’ หรือคอลัมน์ ‘ดีไซน์เค้าเจอ’ ที่กำลังทำให้กับ Urban Creature เอง มันให้มุมมองอะไรกับตัวเราบ้าง

อย่างแรกคือมันให้มุมมองกับงานออกแบบของเราแน่ๆ ละ เราพยายามอยู่ว่าเรื่องราวเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในงานออกแบบสถาปนิกได้อย่างไรบ้าง ยังหาทางลงยากอยู่ เพราะรู้สึกว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีมันไม่ใช่การเอาสิ่งเหล่านี้มาแปะ แต่มันต้องมีการคลี่คลายบางอย่างซึ่งสำหรับงานสถาปัตยกรรมมันยาก ไม่เหมือนงานประเภทเฟอร์นิเจอร์ที่บางครั้งมันเอามาแปะปุ๊บมันเอามาปั้นต่อได้ แต่พอเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นภาพรวมมันยากกว่า หรือในลักษณะงานผังเมืองก็ตาม รู้สึกว่าต้องมีความพยายามเอาสิ่งเหล่านี้ไปเป็นใช้ข้อมูลในการแก้ปัญหาเมืองต่อไปให้ได้

มีรุ่นพี่ของเราคนหนึ่งที่เขาพยายามลองเอาบล็อกตัวหนอนตามฟุตบาธไปทำเป็นผนังในร้านกาแฟหรู ๆ ซึ่งมุมหนึ่งก็น่าตื่นเต้น แต่นั่นไม่ใช่ Core ของ ‘Urban Vernacular’ มันเป็นแค่การหยิบวัสดุมาบิดเฉย ๆ ในมุมเรา Core ของมันคือการหยิบเอาไอเดียบางชุดมาสอดแทรกในงานออกแบบให้แนบเนียนและไม่โจ่งแจ้งเกินไป เหมือนทำหนังอะ อาจจะไม่ได้ชี้ตรง ๆ ต้องมีลูกเล่นหน่อย

อย่างที่สองก็คือเราพบว่ามีคนสนใจเรื่องนี้เยอะกว่าที่คิด ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ๆ รุ่นใหม่ด้วย ก็รู้สึกว่าดี เพราะมันจะเป็นการ Strike Back ความเชื่อว่าความเป็นไทยมันมีรูปแบบไม่กี่อย่าง แล้วเหมือนการที่เราเป็น Resource ให้ก่อน เพราะทำมานานจนเขามาขอความรู้ ทำให้เราเห็นว่ามีคนเริ่มทำ Thesis เรื่องสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเมืองที่ไปดูเรื่องรถเข็น หรือมีผู้คนบางกลุ่มเข้ามาพูดคุยกับเรา เอาข้อมูลมาแชร์กันอะไรแบบนี้มากขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งมันก็ช่วยตอบคำถามกับเราได้เหมือนกันว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม

แล้วอีกอย่างคือมันทำให้เราเรียนรู้ว่าทุกอย่างที่เราทำมันคือสถาปัตยกรรมหมดเลย แดดลมฝน พื้นที่ตั้งขายของ มันคือสถาปัตยกรรมเหมือนที่เราเรียนในหนังสือ เวลาเราออกแบบร่างเราก็จะดูแล้วว่ากันแดดทางไหน ฝนมายังไง เสาเข็มปักยังไง ดังนั้นเรื่องพวกนี้คนน่าจะต้องเริ่มหันมาสนใจกันจริง ๆ โดยเฉพาะถ้ามองว่าอยากให้สังคมเราดีขึ้น อยากเห็นภาพบ้านเมืองสวย ๆ น่าเที่ยว อาจจะต้องเริ่มจากเรื่องแบบนี้ก่อน แต่เหมือนเราทิ้งมันไปเลยตั้งแต่เมื่อก่อน

อยากบอกอะไรกับชัชวาล ในวันที่เริ่มอยากเขียนสิ่งนี้เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้นบ้าง

เออ คิดถูกแล้วแหละ ที่ตอนนั้นเลือกทำๆ ไปเถอะ

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป