เสาหลักเมืองเชียงใหม่

ย่างเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ หลายพื้นที่ทั่วไทยต่างเตรียมพร้อมทำการเพาะปลูกพืชผลเป็นที่เรียบร้อย เช่นเดียวกับจังหวัดเชียงใหม่ ที่ทุกหน้าฝนของทุกปีจะมีประเพณีสักการะเสาหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงคลต้อนรับหน้าฝน ที่เรียกกันว่า “ประเพณีบูชาเสาอินทขีล” นั่นเอง

เสาอินทขีล เป็นเสาอิฐถือปูนฐาน 6 เหลี่ยม ความสูง 1 เมตร มีพระพุทธรูปปางรำพึงอยู่บนยอดเสา ตั้งอยู่ในวิหารบริเวณด้านหน้าวัดเจดีย์หลวงในคูเมืองเชียงใหม่ โดยตามตำนานเล่าว่า ชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเดิมในพื้นที่แถบนี้ก่อนการอพยพเข้ามาของชาวไทได้รับเสาอินทขีล พวกเขาได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “เวียงนพบุรี” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่ในอดีต ชาวลัวะต่างได้รับความเดือดร้อนจากเหล่าภูตผีปีศาจ 

พระอินทร์จึงได้มอบบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ให้ชาวลัวะดูแล โดยบ่อดังกล่าวจะช่วยให้ชาวลัวะอธิษฐานสิ่งใดก็ได้สมปราถนา แต่มีข้อแม้ว่าชาวลัวะจำเป็นต้องรักษาศีลธรรมอย่างเคร่งครัด และนอกจากนี้ยังได้มอบเสาตะปูพระอินทร์ หรือเสาอินทขีล ฝังไว้กลาเงมืองพร้อมยักษ์อีก 2 ตนเพื่อปกป้องเมืองของชาวลัวะจากข้าศึกที่จะบุกเข้ามาแย่งชิงสมบัติของเมือง เมื่อข้าศึกมาถึง ก็จะถูกอำนาจของเสาอินทขีลกลายร่างมาเป็นพ่อค้า เมื่อพ่อค้าเหล่านี้มาถึงและต้องการทรัพย์สมบัติจากบ่อเงิน บ่อทอง บ่อแก้ว ก็จะต้องรักษาศีลธรรมเช่นเดียวกับชาวลัวะ

แต่เมื่อพ่อค้าบางคนไม่ทำตาม ทำให้ยักษ์สองตนโกรธ และนำเสาอินทขีลกลับขึ้นสวรรค์ ก็จะส่งผลให้บ้านเมืองที่เคยรุ่งเรืองกลับเสื่อมทรามลง เมื่อภายหลังชาวลัวะทราบว่าเสาอินทขีลได้ถูกเอากลับไปแล้ว พระเถระรูปหนึ่งได้ให้ความช่วยเหลือโดยให้ชาวลัวะสร้างเสาอินทขีลต้นใหม่ เพื่อให้บ้านเมืองพ้นจากภัยพิบัติ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคอาณาจักรล้านนาก็ยังคงมีการสืบสานประเพณีนี้อยู่ โดยในสมัยพระเจ้ากาวิละได้สร้างรูปปั้นยักษ์และพระฤาษีเป็นสัญลักษณ์เคียงข้างวิหารเสาหลักเมือง

ประเพณีบูชาเสาอินทขีล จะจัดขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8 เหนือ จนถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ของทุกปี โดยผู้เข้าร่วมจะนำข้าวตอกดอกไม้ มาถวายบูชาเสาอินทขีล เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทอง และเป็นสิริมงคลต่อบ้านเมือง นอกจากนี้ จะมีการนำ”พระเจ้าฝนแสนห่า” พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์จากวัดช่างแต้ม ขึ้นราชรถน้อยแห่ขบวนรอบเมืองเชียงใหม่ในวันแรกของการจัดงาน โดยพระพุทธรูปองค์นี้ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีพุทธานุภาพในการขอฝนและป้องกันเพลิงไหม้ จึงทำให้เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านในพื้นที่

สำหรับปีนี้ ประเพณีบูชาเสาอินทขีลจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 9 มิถุนายน พ.ศ. 2567 สำหรับช่วงหน้าฝนอันชุ่มฉ่ำ ชาวบ้านในพื้นที่และต่างถิ่นต่างนำดอกไม้ ข้าวตอกมาเต็มตะกร้าหรือกระบุง นำไปสักการะเสาหลักเมืองและพระพุทธรูปด้วยความศรัทธา ขณะที่บริเวณหน้าวิหารหลวงและบริเวณโดยรอบเจดีย์หลวงจะมีการจัดแสดงดนตรีและการแสดงศิลปะท้องถิ่น อีกทั้งด้านหลังของวิหารเสาอินทขีลเองก็จะมีการบรรเลงวงดนตรีปี่พาทย์ภาคเหนือ พร้อมกับการฟ้อนรำอย่างสนุกสนานของเหล่าช่างฟ้อน รวมไปถึงชาวบ้าน

หากใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วง “กรีนซีซั่น” ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศภาคเหนือบริสุทธิ์ ร่มรื่น และปราศจากฝุ่นควัน อย่าลืมมาร่วมสักการะบูชาเสาอินทขีลเพื่อความร่มเย็น และสัมผัสกับวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของคนท้องถิ่นที่นานทีปีหนหนึ่งจะจัดขึ้น โดยถือเป็นอีกประเพณีที่สะท้อนถึงการอยู่ร่วมกันของความเชื่อท้องถิ่นเดิมกับพระพุทธศาสนาที่เข้ามาในแผ่นดินล้านนา

อ้างอิง

CREATED BY

นักออกแบบกราฟิกจากเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี ภาพยนตร์ และความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น