แม้ว่าวันปีใหม่ที่ผ่านมา (1 มกราคม 2567) รัฐบาลได้ปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดเชียงใหม่เป็น 350 บาทต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 340 บาท และล่าสุดได้เริ่มนำร่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในกลุ่มธุรกิจโรงแรมในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการถกขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้

แต่ดูเหมือนเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ที่ตั้งอยู่บนภาคเหนือของประเทศไทยแห่งนี้ จะหนีไม่พ้นคำว่า “เมืองปราบเซียน” ที่ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่เจอฤทธิ์เดชของเชียงใหม่ แต่ยังรวมไปถึงบรรดาเหล่าแรงงานที่ต้องเจอกับปัญหาค่าแรงน้อย จนกลายเป็นอีกประเด็นร้อนที่กลายเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ให้วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วประเทศ แม้ว่าเชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ย้ายจากเมืองใหญ่เข้ามาสูงสุดในประเทศ เป็นจำนวน 52,344 คน ในปี 2563 

จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เชียงใหม่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ที่ 259,026 ล้านบาท มากที่สุดในภาคเหนือ แต่มีรายได้ประชากรต่อปีอยู่ที่ 143,638 บาท เป็นรองจังหวัดกำแพงเพชรและลำพูน (ข้อมูลเมื่อปี 2562) ร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจเชียงใหม่ขึ้นอยู่กับภาคบริการ แต่เมื่อดูโครงสร้างเศรษฐกิจจำแนกตามสาขาการผลิตจะพบว่าภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนมากที่สุด ร้อยละ 19.2 แต่มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเพียงร้อยละ 19.2 

นอกจากนี้ในภาคการท่องเที่ยวและการบริการเอง ยังเผชิญปัญหา เรื่องช่องว่างระหว่างช่วง High Season และ Low Season , นักท่องเที่ยวกระจุกตัว และการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ขณะที่ภาคการเกษตร ประกอบกับช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด – 19 เศรษฐกิจภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง กำลังซื้อของลูกค้าที่หายไปในช่วงวิกฤต ภาระหนี้สินที่มากขึ้น ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ในขณะนั้น แม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐตามมา 

โครงสร้างและปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้มีอาชีพที่รองรับบรรดาแรงงาน และบัณฑิตจบใหม่จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในเมืองน้อยมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผลิตนักศึกษาป้อนเข้าตลาดแรงงานปีละหมื่นคน แต่เมื่อไม่มีอาชีพมากมายที่รองรับมากพอ และรายได้สวัสดิการที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความมั่นคงในการใช้ชีวิตในวัยทำงานได้ เชียงใหม่เลยเผชิญกับปัญหาสมองไหล และทำให้เมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร” กลายเป็นทางเลือกเดียวที่สามารถรองรับโอกาสและความก้าวหน้าของแรงงานจากหลากหลายอาชีพ

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐพยายามที่จะแก้ไขปัญหาผ่านการออกนโยบายต่าง ๆ อาทิ แผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่เน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ การสนับสนุนเกษตรกรรมเพิ่มมูลค่า เกษตรกรรมแปรรูประดับสูง การลงทุนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มรายได้และจำนวนแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัด

นอกจากนี้กระแสเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากกลุ่ม Digital Nomad หรือคนที่ทำงานประเภทออนไลน์ที่ย้ายเข้ามาในเชียงใหม่ ซึ่งมีจุดเด่นจากการเป็นเมืองท่องเที่ยว ค่าครองชีพต่ำ สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโตมากขึ้น หากภาครัฐสนับสนุนและต่อยอดทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงการสนับสนุนภาคเอกชนที่คอยผลักดัน เช่นเดียวกับเศรฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดจากศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของเชียงใหม่ให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นได้ รวมถึงขยายประเภทงานเพื่อรองรับลูกจ้างจากหลากหลายอาชีพมากขึ้น

หากในอนาคตอันใกล้ เราสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและเปิดทางให้นโยบายที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันสร้างขึ้นมาดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆบรรเทาลง พร้อม ๆ กับที่เศรษฐกิจท้องถิ่นจะมีรายได้มากพอที่จะดึงบรรดาแรงงานจำนวนมหาศาล ไม่ให้ไหลออกจากพื้นที่ และสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกหลานชาวเชียงใหม่ได้

ที่มา :

CREATED BY

นักออกแบบกราฟิกจากเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี ภาพยนตร์ และความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น