ในโลกยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงไม่ว่าจะเป็นภาวะโรคระบาด, ภาวะสงคราม, เศรษฐกิจย่ำแย่, การเมืองที่ไม่นิ่ง ความไม่มั่นคงต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอะไรบางอย่าง แน่นอนว่านั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมโลกใบนี้ถึงได้มีศาสนาเกิดขึ้นมา แต่ในปัจจุบันความเชื่อหรือความศรัทธาได้เกิดขึ้นอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการไหว้ต้นไม้, ไหว้ช้าง, ไหว้จิ้งจก 9 หาง หรือแม้กระทั่งการกราบไหว้เด็กหรือเยาวชน เพราะคิดว่าเป็นผู้มีบุญบารมีกลับชาติมาเกิด ซึ่งในบทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่ความเชื่อของคนกลุ่มใด แต่อยากชวนมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งปรากฏการณ์ นั่นก็คือ ‘Child Worship’ หรือ ‘การบูชาเด็ก’ นั่นเอง
‘Child Worship’ หรือ ‘การบูชาเด็ก’ ตีความได้แตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรมและสังคม แต่ในบางศาสนาอาจจะหมายถึงการที่เขารักและเคารพในตัวเด็กหรือลูกของตนเอง เพราะมีความเชื่อที่ว่าเด็กเป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘บริสุทธิ์’ ที่ถูกก่อร่างสร้างขึ้นจากพระเจ้า เช่น ศาสนาคริสต์ หรือในบางศาสนา ‘Child Worship’ มักจะถูกนิยามได้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าเด็กน่าเคารพ และน่าศรัทธาในรูปแบบของการเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเจ้า ซึ่งในกรณีนี้เด็กอาจจะถูกมองว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของศาสนาได้ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพขึ้นมาสักหน่อยก็คงจะเป็นการสรรหา ‘กุมารี’ ในประเทศเนปาล
‘กุมารี’ คือ เด็กผู้ญิงที่ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นร่างประทับของ ‘พระแม่ทุรคา’ โดยในการสรรหา ‘กุมารี’ ต้องเป็นเด็กผู้หญิงวัยก่อนมีประจำเดือน และเด็กคนนั้นต้องนับถือพุทธ อีกทั้งต้องอยู่ในระบบวรรณะที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า นั่นก็คือ ‘วรรณณะศากยะ’ ซึ่ง ‘กุมารี’ หรือการบูชาเด็กเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างเข้มแข็งในเนปาล
เล่ากระบวนการคัดสรรให้ฟังคร่าว ๆ คือ พ่อแม่มักจะผลักดันให้ลูกได้เป็นกุมารีเพราะถือว่าเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งเด็กที่ได้รับเลือกมักจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 ขวบ และเมื่อได้รับเลือกแล้ว ‘กุมารี’ จะต้องอยู่ในวิหารจนกว่าจะมีประจำเดือน สามารถออกมาข้างนอกได้เมื่อมีเทศกาลศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น และเท้าห้ามแตะพื้น จะไปไหนมาไหนต้องมีคนคอยอุ้มหรือแบกหามตลอดเวลา
หนึ่งในอดีตกุมารีเคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงวัยเด็กที่ไม่ค่อยปกติของเธอว่า “เธอรู้สึกเศร้านิดหน่อยเวลามีเด็ก ๆ เล่นอยู่ข้างนอกแต่เธอไม่สามารถออกไปเล่นด้วยได้และเพื่อน ๆ ก็ไม่เข้ามาเล่นกับเธอข้างใน” หรือ ‘กุมารี’ บางคนบอกว่า “เธอเป็นกุมารีตั้งแต่วัย 4-12 ขวบ หลังจากนั้นต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติ การออกไปข้างนอกจึงสร้างความรู้สึกอึดอัดใจใหักับเธอ” ซึ่งต่อมาในปี 2008 ได้มีการยื่นคำร้องไปที่ศาลฏีกาถึงการตั้งคำถามที่ว่าประเพณีดังกล่าว ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเด็กหรือไม่? แต่ต่อมาก็ถูกยกฟ้องเพราะศาลมองว่าไม่เข้ากับหลักการการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นประเพณีที่มีความเชื่อมาอย่างยาวนาน
นี่เป็นเพียงความเชื่อของ ‘กุมารี’ ในเนปาลที่ยกมาเท่านั้น วกกลับมาในบ้านของเราซึ่งในปัจจุบันการบูชาเด็กมีให้เราเห็นอยู่เต็มหน้าสื่อ และที่กำลังเป็นประเด็นมาอยู่สักพักใหญ่ ๆ คงจะเป็นเรื่องของเด็กชายวัย 8 ขวบที่อ้างว่าตนเป็นร่างประทับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสามารถเชื่อมจิตได้ โดยพ่อแม่ของเขาได้ออกมาเปิดเผยว่าเด็กคนนี้เป็นอาจารย์ด้านธรรมมะให้กับพวกเขาตั้งแต่ช่วง 3 ขวบ ความเชื่อดังกล่าวนำมาสู่การเปิดคอร์สเชื่อมจิตและสอนธรรมมะในโลกออนไลน์ มีผู้เข้าชม และผู้ติดตามจำนวนมหาศาล
แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างประเด็นถกเถียงในสังคมไทยอยู่พอสมควร บางคนมองไปที่ประเด็นความเชื่อและศรัทธาเป็นเรื่องของปัจเจก แต่บางคนแย้งว่าเชื่อกันไปได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีแรกในสังคมไทย นั่นก็เพราะว่าในไทยโดยเฉพาะในศาสนาพุทธมีความเชื่อเรื่องการกลับชาติมาเกิดอยู่พอสมควร โดยฐานคิดนี้ที่ฝังอยู่ในศาสนาพุทธส่งผลพวกเขาศรัทธาในชุดความเชื่อเหล่านี้
ทั้งนี้ ‘ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์’ (นักศาสนวิทยา) ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่าน BBC News ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการ “การบูชาเด็ก” (Child Worship) ที่เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ศาสนา และที่เกิดในพุทธบ่อย ๆ เป็นเพราะฐานคิดเรื่องกลับชาติมาเกิดในพุทธเป็นที่นิยมดังที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้นักวิชาการเด็กยังได้ออกมาให้ข้อมูลอีกว่าอายุที่น้อยเกินไปของเด็ก อาจจะยังไม่ได้มีวุฒิภาวะมากพอที่จะเข้าใจเรื่องนามธรรมเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ‘ความเชื่อ’ เป็นเรื่องของปัจเจกแต่สิทธิเด็กเป็นเรื่อง ‘สากล’ สิ่งที่ควรพึงระวังอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิเด็กที่อาจจะส่งผลกระทบพ่วงมากับความเชื่อของผู้ปกครอง ดังที่เหล่าอดีต ‘กุมารี’ เคยออกมาให้ข้อมูลถึงวัยเด็กที่ไม่ค่อยน่าประทับใจของพวกเขาเท่าไหร่นักนั่นเอง
อ้างอิง
- https://abcnews.go.com/International/year-nepali-girl-worshiped-living-goddess-earth/story?id=41803837
- https://www.bbc.com/thai/articles/c2ly1q4j335o
- https://www.silpa-mag.com/culture/article_2536#google_vignette