Chinese Restaurant Syndrome, CRS, โรคกลัวอาหารจีน, ผงชูรส, ผงนัว

ในยุคที่อาหารจีนกลายเป็นรสชาติที่ผู้คนทั่วโลกยอมรับมากขึ้น แม้แต่ในไทยเองที่วัตถุดิบสำคัญจากชาวจีน อย่าง ‘หม่าล่า’ ก็กลายเป็นโน้ตความเผ็ดใหม่ที่ตีตลาดลิ้นคนไทยได้อย่างอยู่หมัด แต่ในอดีตอาหารจีนเคยถูกเหยียดหยามอย่างไม่เป็นธรรมด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘Chinese Restaurant Syndrome (CRS)’ หรือ ‘โรคกลัวอาหารจีน’ สิ่งนี้คืออะไร และมันเรียกว่าโรคได้จริง ๆ หรือเปล่า วันนี้ SUM UP สรุปมาให้อ่านกัน

ช่วงทศวรรษ 1960 แนวคิดเรื่องของ ‘Chinese Restaurant Syndrome (CRS)’ เริ่มถูกกล่าวถึงมากขึ้นในอเมริกา หลังจากมีการรายงานว่าพบผู้คนมีอาการชาที่คอ แขน และหลัง ร่วมกับอาการปวดหัว เวียนหัว และใจสั่น โดยเชื่อกันว่าเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานอาหารจีนที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบหลัก

คำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี 1968 โดย ดร. โรเบิร์ต โฮ มัน กว็อก ก่อนจะพบคำนี้ในหนังสืออ้างอิงอย่างเป็นทางการในปี 1993

การนิยามความหมายแต่เดิมของคำว่า Chinese Restaurant Syndrome – ภาพจาก The New York Times

ในสมัยนั้นมุมมองของอาหารจีนในโลกตะวันตกมักถูกตีตราว่าไม่ดีต่อสุขภาพ ดูสกปรก และมีราคาถูก จากการที่ร้านอาหารจีนในช่วงเวลานั้นค่อนข้างมีคุณภาพที่ไม่ดีนัก ทำให้ภาพลักษณ์ส่วนใหญ่ไม่รื่นรมย์ในสายตาชาวผิวขาวสักเท่าไหร่

แล้วยิ่งมีข้อครหาเหล่านี้เกิดขึ้นมา ทำให้ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยมองว่าตัวเองถูกเหยียดเชื้อชาติด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม เหมือนกับประสบการณ์ในชีวิตที่พวกเขาส่วนใหญ่พบเจอในชีวิตประจำวัน ทั้งการถูกล้อเลียนอาหารในกล่องอาหารกลางวัน จนกลายเป็นตราบาปของเด็ก ๆ ที่ต้องห่อข้าวกลางวันสไตล์จีนไปกินที่โรงเรียน

‘Krishnendu Ray’ นักสังคมวิทยาและศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวกับ BBC ไว้ว่า “ชาวจีนที่เป็นชนกลุ่มน้อยของสังคมตะวันตกในช่วงเวลานั้นส่วนใหญ่มักมีความรู้สึกสูญเสียวัฒนธรรมของตัวเอง จากการที่วิถีชีวิตในโลกตะวันตกครอบงำ ทั้งการแต่งกายแบบตะวันตก ภาษาแบบตะวันตก ฉะนั้นอาหารจึงอาจเป็นเพียงวัฒนธรรมด้านเดียวที่พวกเขายังคงรู้สึกเกี่ยวพันและเชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัว และมุมมองทางการเมือง”

อาจเป็นเพราะว่ามันคือความรู้สึกจากความทรงจำที่ยังคงทำงานอยู่ในชีวิตทุก ๆ วัน และเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่พวกเขายังคงยึดถือได้โดยไม่เคอะเขิน ดีเสียอีกที่โลกในยุคถัด ๆ มาเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมการกินของจีนมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ในช่วงเวลาแห่งการทำความรู้จักกับชาวตะวันตก อาหารจีนดันกลายเป็นตัวร้ายของสังคมจากอคติระหว่างเชื้อชาติที่เกิดขึ้นในห้วงเหตุการณ์เหล่านั้น

ความเข้าใจผิดในเรื่องผงชูรสก่อโรคนี้ส่งผลกระทบกับชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเป็นวงกว้าง จนก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ร้านอาหารจีนและเอเชียในช่วงนั้นต่างประสบปัญหาการดำเนินการทางธุรกิจตาม ๆ กัน และมีช่วงเวลาหนึ่งที่ร้านอาหารทุกร้านจำเป็นต้องแปะป้ายบอกว่าร้านของพวกเขา “ไม่ใช้ผงชูรส” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพโดย Wong Maye-E ผ่าน Associated Press

รวมถึงยังมีการศึกษาวิจัยจากวารสาร Nature Human Behaviour ใน ปี 2020 ถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อร้านอาหารเอเชีย พบว่ามีความเข้าใจที่ผิดพลาดและการตีตราอยู่มากพอสมควรเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผงชูรส

จนเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มเชฟ นักเขียนด้านอาหาร และนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ผงชูรส Ajinomoto ได้ออกมาเรียกร้องให้ New England Journal of Medicine แก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำนิยามของโรคกลัวอาหารจีน เพราะเป็นคำที่ส่งผลกระทบระยะยาวกับภาพลักษณ์ของอาหารจีนและภาพลักษณ์ของผงชูรส โดยเสนอให้มีการทบทวนความหมาย และทบทวนอคติทางเชื้อชาติในประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจ

โดยแต่เดิมความหมายของ ‘Chinese Restaurant Syndrome (CRS)’ หมายถึง “กลุ่มอาการ (เช่น อาการชาที่คอ แขน และหลัง ร่วมกับอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และใจสั่น) ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารจีนที่มีผงชูรสเป็นส่วนผสมหลัก”

และนิยามใหม่ในขณะนี้ของ CRS หมายถึง “คำนามที่ล้าสมัย บางครั้งอาจก่อให้เกิดความไม่พอใจ : กลุ่มอาการที่ถือว่าส่งผลต่อผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการรับประทานอาหารที่มีผงชูรสมากเกินไป” ซึ่งทำให้ความเข้าใจผิดในอดีตเริ่มคลี่คลายลง และเรื่องนี้ก็สะท้อนการต่อสู้กับความเข้าใจที่ฝังรากลึกอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาหารจีนที่เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างแยกไม่ออกจากอดีต และยังคงปรากฏให้เห็นจนถึงปัจจุบัน

ที่มา

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป