โอฬาร ถิ่นบางเตียว

เมื่อพูดถึงบ้านใหญ่ หลายคนอาจจะรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกว่าการเกิดขึ้นของเครือข่ายอำนาจรูปแบบนี้เป็นเรื่องที่น่ากลัว นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะการกุมอำนาจเครือข่ายขนาดใหญ่ของกลุ่มบ้านใหญ่ทำให้พวกเขาได้ครอบครองทั้งทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคม จนคนธรรมดา ๆ แบบเราคิดว่าบ้านใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงทรัพยากรเหล่านั้น แต่เมื่อหากเจาะประเด็นลงไปดี ๆ แล้ว การเกิดขึ้นของเครือข่ายบ้านใหญ่ดันเป็นสิ่งที่มาตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าที่รัฐราชการในบ้านเราจะตอบสนองได้ ดังนั้นตัวร้ายของการเมืองไทยอาจจะไม่ใช่บ้านใหญ่อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่เป็นรัฐราชการที่มีโครงสร้างแข็งเกินจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

วันนี้เราเดินทางมาถึงชลบุรีเพื่อนั่งพูดคุยกับ ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อพูดคุยถึงปรากฏการณ์บ้านใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากพลวัตรของสังคมไทย และเจาะประเด็นไปถึงบ้านใหญ่เมืองชลอย่าง ‘กำนันเป๊าะ’ ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง

ใหญ่แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘บ้านใหญ่’

คำว่าบ้านใหญ่ หลายคนคิดว่ามันคือบ้านหลังใหญ่ แน่นอนมันเป็นบ้านหลังใหญ่แน่นอนสำหรับชนชั้นนำท้องถิ่น แต่ที่ผมศึกษาความหมายของคำว่า ‘บ้านใหญ่’ พบว่าบ้านใหญ่คือบ้านที่มีความสัมพันธ์กับประชาชนในเชิงอุปภัมภ์ อุปภัมภ์ความหมายก็คือ ความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน บ้านใหญ่มีหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล ช่วยเหลือ เกื้อกูล ชาวบ้านทั่ว ๆ จะอยู่ในฐานะผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ทำหน้าที่อย่างเดียวก็คือ จงรักภักดี ฝ่ายหนึ่งให้การปกป้อง คุ้มครอง และให้ความก้าวหน้า ฝ่ายหนึ่งให้ความจงรักภักดี ที่นี่ก็สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่เท่ากันนี้ให้อยู่ได้ นอกจากนี้ยังโดนหล่อเลี้ยงด้วยความเชื่อในศาสนาพุทธคือ เขาดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขา เขาช่วยเหลือเรา เราก็ต้องตอบแทนบุญคุณเขาเวลาเขาร้องขอ 

ต่อมาอีกเรื่องหนึ่ง นักการเมืองด้วยกันก็จะมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในเชิงอำนาจ เช่น บ้านใหญ่บางแสน เวลาจะสนับสนุนผู้สมัครหรือนายอำเภอใดอำเภอหนึ่ง เขาจะพยายามหาเครือข่ายที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ สนับสนุนทรัพยากร สนับสนุนเครือข่าย สนันสนุนทุน สนับสนันในหลาย ๆ เรื่อง จนทำให้คนเหล่านี้ชนะการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็เกิดโยงใยเป็นใยแมงมุม กลายเป็นเครือข่ายอำนาจ และเครือข่ายเหล่านี้มันก็กินไปยังข้าราชการด้วย เพราะข้าราชการในจังหวัดเอง เวลาจะโยกย้าย เวลาจะเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานก็มักจะอาศัยเครือข่ายของบ้านใหญ่ที่มีเครือข่ายทางการเมืองที่สูงขึ้นในระดับนโยบาย

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

นอกจากนี้ เครือข่ายก็จะขยายไปยังกลุ่มทุน เพราะเวลากลุ่มทุนเข้ามาในจังหวัด เขาก็ต้องการความมั่นคงแน่นอน ต้องการความปลอดภัย ซึ่งบางอย่างเองก็ต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายบ้านใหญ่ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการที่เขาลงทุน เขาต้องการที่ดินสักหนึ่งพันไร่ เขาจะไปหาประชาชนทั่ว ๆ ไปเพื่อหาที่ดินหนึ่งพันไร่มันเป็นเรื่องที่ยากมาก เขาก็ต้องหาคนที่มีศักยภาพในการที่จะทำให้เขาสามารถมีที่ดินจำนวนเท่านี้ได้ ดังนั้นก็ต้องไม่พ้นเครือข่ายกลุ่มนี้ พอเขาได้ที่ดินมาแล้ว เขาอยากจะถมที่ ซึ่งธุรกิจก่อสร้างก็คงไม่แคล้วที่จะเป็นคนในกลุ่มนี้ มันก็เป็นเครือข่ายโยงใยต่อกันมา ส่งผลให้เครือข่ายแบบบ้านใหญ่กลายเป็นเครือข่ายที่มีอยู่ในทุกจังหวัด

ปัญหาหลักคือ ทุกคนมักจะมองภาพใหญ่ในด้านลบ มองว่าเป็นเครือข่ายที่ไม่ถูกต้อง แต่ผมเองมองว่าเครือข่ายบ้านใหญ่มันเกิดขึ้นได้เพราะปัญหาเกิดจากรัฐราชการของเราเองที่มีปัญหาในการดูแลประชาชน มีปัญหาในการดูแลประชาชน ในการสร้างความเป็นธรรม ในการสร้างความเสมอภาค ในการบริหารจัดการดูแล เมื่อรัฐราชการมีข้อจำกัด เครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัดต่าง ๆ จึงเข้ามาเป็นองค์กรระหว่างรัฐกับประชาชน พอเขาทำได้ดีกว่า ประชาชนก็ให้ความจงรักภักดีกับบ้านใหญ่ ทําให้บ้านใหญ่มีบทบาททางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่การเมืองของจังหวัดนั้น ๆ

กำนันเป๊าะ, สมชาย คุณปลื้ม

ภาพจำของบ้านใหญ่บางแสนชลบุรีคือ ‘กำนันเป๊าะ’

แน่นอนว่าภาพของกำนันเป๊าะคือ ‘นักเลง’ นักเลงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกอันธพาล ไม่ได้ตีหัวหมา ด่าแม่เจ็ก ตบเด็กอนุบาล อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นคือ ‘อันธพาล’ แต่ความเป็นนักเลงภายใต้วัฒนธรรมไทยก็จะมีลักษณะ ใจถึง พึ่งได้ มีสัจจะ มีน้ำใจ ซึ่งในอดีตมันเป็นมาตรวัดลูกผู้ชายไทยอยู่แล้ว พอมาตรวัดความเป็นลูกผู้ชายเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น คนเหล่านี้ก็มักจะได้โอกาสเป็นผู้นำตามธรรมชาติ

กำนันเป๊าะด้วยความที่เป็นลูกผู้ชาย ด้วยความที่มีมุมมองโลกทัศน์แบบนั้น เขาก็ได้รับความไว้วางใจจากคนในหมู่บ้าน ตอนผมศึกษาเรื่องนี้ กำนันเป๊าะมีคนไปขอให้แกเป็นผู้ใหญ่บ้านนะ คือต้องยอมรับว่าแกเป็นคนแบบนี้ แมน ๆ นิสัยนักเลง และเรื่องครอบครัว ถามว่ายากจนไหม ยากจนแต่ก็มีฐานะในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นนักเลงที่ชอบช่วยเหลือเพื่อน ๆ ถ้าให้ผมพูดก็น่าจะเป็นคนที่รักความเป็นธรรมอยู่พอสมควร ไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็คงไม่เรียกร้องให้มาเป็นผู้ใหญ่บ้าน,กำนัน

พอมาเป็นกำนันก็เริ่มรู้จักคนกว้างขวางมากขึ้นและคนที่เป็นนักเลงเพื่อนเขาเยอะอยู่แล้ว เพื่อนทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนตำรวจ เพื่อนทหาร เพื่อนนักการเมือง เพื่อนผู้นำชุมชน เพื่อนในบ่อน ความกว้างขวางแบบนี้ก็ทำให้เป็นที่นับหน้าถือตามากขึ้น และธรรมชาติของการเมืองไทยเวลาจะเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะมีพวกบรรดา ส.ส. วิ่งไปหาใครฮะ? ก็ต้องวิ่งไปหาบรรดาผู้กว้างขวางในพื้นที่ต่าง ๆ กำนันเป๊าะก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวคะแนน มันก็เลยทำให้คอนเนคชั่นระหว่างกำนันเป๊าะกับพวกหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ หรือว่าผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองหลาย ๆ คนที่เข้ามาใช้บริการกำนันเป๊าะ มันก็ช่วยให้คอนเนคชั่นของกำนันเป๊าะเติบโตขึ้น พูดง่าย ๆ คือถ้าขอให้ช่วยเป็นหัวคะแนนโอกาสที่ชนะการเลือกตั้งมันก็จะสูง

บ้านใหญ่ คือ หลักประกันคะแนนทางการเมือง

ถ้าเป็นการเมืองปกติคุณก็ทำนโยบายสิ ถ้านโยบายคุณดีประชาชนก็เลือกคุณ แต่ในวิธีคิดการเมืองไทยไม่ใช่ เขามองว่านโยบายพูดให้เกิดความสวยหรู ทำไม่ทำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คล้าย ๆ พรรคเพื่อไทยตอนนี้ เห็นไหม ติดกับดักตัวเอง คุณทักษิณเองทุกวันนี้กลับมาก็ยังไปหาบ้านใหญ่ คุณทักษิณเองด้านหนึ่งก็พูดถึงนโยบายนะ พูดถึงแนวคิด แต่เวลาทำงานทางการเมืองคุณทักษิณคิดแบบเดิมว่าไปหาบ้านใหญ่เพราะชัวร์แน่มีคะแนนในมือแน่ ผมว่าถ้าเขาไม่หนีไปไหน และหลังจากนี้ถ้าคดีเขาผ่าน ผมว่าเขาเดินสายทุกจังหวัดแน่ เพราะบ้านใหญ่เป็นหลักประกันทางการเมืองว่ามีคะแนนแน่ เพราะงั้นกำนันเป๊าะเขามีเครือข่ายเยอะมาก และแน่นอน คุณช่วยผม ผมช่วยคุณ ผมเป็นกำนัน ผมช่วยคุณให้ได้เป็น ส.ส. ต่างคนต่างตอบแทนกัน คุณก็อาจจะให้โควจ้าผมได้ขายเหล้า ขายบุหรี่ ผมก็มีรายได้ แต่ผมไม่กินรวบผมก็แจกจ่าย ชื่อผมก็ดังมากขึ้น เครือข่ายผมก็มากขึ้น พอเวลาผ่านไป 4 ปี ผมก็มีโอกาสได้แสดงบารมีผมมากขึ้น ผมช่วย ส.ส. คนนี้ และระหว่างที่ผมช่วยคนอื่น ๆ ลูกผมก็โตขึ้นเรื่อย ๆ พอลูกผมจบการศึกษาชั้นดี ผมก็เริ่มสนับสนุนลูกแต่ละคนเข้าสู่การเมืองให้มีตำแหน่งต่าง ๆ แต่ภาพจำบุคลิกภาพทางการเมืองระหว่างกำนันเป๊าะกับลูกต่างกัน 

บุคลิกภาพทางการเมืองที่ต่างกันนี้ ผมพยายามจะทำวิจัยมันมาจากวิธีการเลี้ยงดูจากครอบครัว อันนี้จะเป็นจิตวิทยาหน่อย เพราะว่าเท่าที่ฟังมากำนันเป๊าะแกเป็นคนกว้างขวาง ไปไหนแกเพื่อนเยอะ ไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงลูก สุดท้ายภรรยาเป็นคนเลี้ยงดูมันก็เลยทำให้บุคลิกภาพทางการเมืองของลูกอิงไปทางแม่ ตั้งใจเรียน สุภาพ เป็นที่รัก นอบน้อม ซึ่งจะต่างจากกำนันเป๊าะที่นักเลงเพราะว่าแบบแผนชีวิตมันต่างกัน ภรรยาของกำนันเป๊าะเป็นคหบดีบางแสนนะครับ รวยที่สุดในบางแสน กำนันเป๊าะแกก็มีตังค์นะแต่ก็ได้เมียรวย ทางตัวกำนันเป๊าะเองก็จะมีวิถีชีวิตแบบหนึ่งเป็นคนทำมาหากิน ลงเรือ เป็นคนพวกเยอะ 

สมัยก่อนถ้ามีเรื่องมีราวในเมืองชลบุรีช่วงทศวรรษนั้น มีการฆ่ากันตาย ยิงกันตาย กำนันเป๊าะก็จะถูกเพ่งเล็ง มันมีหนังเรื่องหนึ่งที่สะท้อนอำนาจบางแสนในเวลานั้นก็คือ ‘เหนือนักเลง’ ในเรื่องสมบัติ เมทะนีเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจอย่างเป็นทางการก็คือเป็นตำรวจ ส่วนในเรื่องตัวกำนันเป๊าะเป็นกำนันที่เป็นตัวแทนของผู้ที่มีอำนาจแบบไม่เป็นทางการ แรกเริ่มเดิมทีตำรวจจะมองกำนันเป๊าะเป็นภาพลบ แต่พออยู่ ๆ ไปก็มองว่ากำนันเป๊าะช่วยเหลือชาวบ้านแต่บุคลิกภาพทางการเมือง ภาพจำ การรับรู้ มันทำให้ติดภาพลบ

เหนือนักเลง, ชลบุรีในอดีต

รัฐราชการที่แข็งตัวทำให้เกิด ‘บ้านใหญ่’

รัฐที่แข็งตัวคือ กลไกวิชาการโดยหลัก ต้องเป็นกลไกที่ดูแลประชาชนในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ถ้ารัฐราชการของเรามันตอบสนองประชาชนได้ดี ในแง่มุมต่าง ๆ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพชีวิต การเมือง เศรษฐกิจสังคม ความเสมอภาคเป็นธรรมทุกคนจะไม่พึ่งพาบ้านใหญ่เลย ถ้าเราสามารถเข้าเรียนได้โดยระบบ เราสามารถหางานทำได้โดยระบบที่สามารถทำให้เราเข้าสู่แรงงาน เราสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เราสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล สามารถเข้าถึงที่ดิน เข้าถึงอาชีพ มนุษย์มันมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าระบบราชการมันยืดหยุ่น สามารถดูแลประชาชนดี บ้านใหญ่ไม่โต เหตุผลที่บ้านใหญ่โตเพราะราชการไทยมันแข็งเกินไป และคนที่สามารถทำให้ข้าราชการรู้สึกตอบสนองได้ดีก็คือ ‘กลุ่มคนมีอำนาจ’ สมมุติเราไปติดต่อราชการ ในอดีตนะ ทุกวันนี้ก็ดีขึ้นมาก ถ้าเราเป็นเพียงคนธรรมดาไปติดต่อราชการ เราจะเห็นวัฒนธรรมอำนาจนิยม นี่แหละคือปัญหาของรัฐราชการไทยที่ทำให้ตระกูลการเมืองบ้านใหญ่มันโตขึ้น

นอกจากรัฐราชการที่มันแข็งตัว การเติบโตในวงราชการเราถูกสอน ถูกทำให้เชื่อว่าการเจริญเติบโตของราชการเติบโตจากระบบคุณธรรม ถ้าทำงานดี มีความรู้ คุณก็มีโอกาสเติบโตจาก C1 ไปถึง C11 ได้ แต่ในความจริงข้าราชการไทยเวลาเติบโตมันมีระบบอุปถัมภ์ด้วย มันมีเรื่องของเด็กใคร เด็กท่าน เด็กนาย เด็กเรา มันก็เลยไปพันกับการเมือง เพราะบ้านใหญ่เขาสามารถสร้างการเมืองเครือข่ายอำนาจได้ เขาสามารถคุมพื้นที่ท้องถิ่นได้ พื้นที่จังหวัดได้ เขาคุมการเมืองระดับชาติได้ เขาก็สามารถสร้างการเมืองเครือข่ายอำนาจได้ เขาก็สามารถคุมพื้นที่ท้องถิ่นได้ พื้นที่จังหวัดได้ เขาก็คุมการเมืองระดับชาติได้ โอกาสเข้าไปแทรกแซงในกลไกราชการก็สูง บางยุคบางสมัยผู้ว่าฯ ก็ต้องผูกติดอยู่กับการเมืองบ้านใหญ่ด้วย ผู้กำกับ ตำรวจ ข้าราชการสำคัญ ๆ ทุกวันนี้ก็เป็น แต่บ้านใหญ่อาจจะไม่ได้มีบทบาทมากเพราะบ้านใหญ่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐ แต่ใครที่กุมอำนาจรัฐก็จะเอาคนของตัวเองเข้ามาสู่ราชการในจังหวัดได้เพื่อที่จะช่วยเหลือตัวเองทางใดทางหนึ่ง คือปัญหาของระบบราชการนอกจากแข็งตัวเกินไป ในด้านหนึ่งการเมืองก็เข้าไปแทรกแซงเยอะ

โอฬาร ถิ่นบางเตียว

บ้านใหญ่ไม่ใช่ปัญหาแต่รัฐราชการคือ ‘ปัญหา’

บ้านใหญ่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผม บ้านใหญ่เป็นพลวัตรของการเมืองไทย บ้านใหญ่เป็นผลผลิตของข้าราชการที่ล้าหลัง มันเป็นพลวัตร มันเป็นกลไกในการดูแลประชาชนภายใต้ข้อจำกัดของรัฐราชการ เพราะฉะนั้นบ้านใหญ่อยู่ไม่ได้หรอกครับ ถ้าเกิดเราเพียงแค่ปฏิรูปราชการบ้านใหญ่ก็ตาย คือถ้าเรากลัวบ้านใหญ่นะทำง่ายมากเลย แค่ปฏิรูปราชการบ้านใหญ่ก็หมดสภาพ

โดยสามารถรับชมบทสัมภาษณ์ในรูปแบบวิดิโอได้ที่