คนเราถ่ายรูปผ่านโทรศัพท์กันเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปของวันสำคัญ ไปจนถึงรูปที่จอดรถกันลืมว่าจอดที่ไหน สิ่งที่มาคู่กันคือ ที่อยู่ในการจัดเก็บส่วนใหญ่เราน่าจะเก็บกันบนโทรศัพท์ แต่พอเก็บไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าที่เต็ม เก็บใหม่ไม่ได้ วนไปซื้อโทรศัพท์ที่มีความจุสูงขึ้นเรื่อย ๆ วันนี้จะมานำเสนอพื้นที่การจัดเก็บว่าที่ไหนคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุดกัน
ปล. ราคาที่สำรวจอัพเดตล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567
เราจำเป็นต้องใช้ที่เก็บข้อมูลมากขนาดไหน
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะต้องใช้ที่เก็บข้อมูลขนาดเท่าไหร่ เราสามารถดูได้จากโทรศัพท์ของเรา ในการตั้งค่าของโทรศัพท์ เช่นใน iPhone ให้เราเข้าไปที่ Settings > General > iPhone Storage มันจะบอกแยกเป็นหมวด ๆ ให้เราดูที่หมวด Photo นั่นคือจำนวนที่เราเก็บ และอาจจะเผื่อพื้นที่ขึ้นอีกขั้นหนึ่งไปเลย
หรือสำหรับใครที่ไม่สามารถดูข้อมูลตรงนี้ได้ ให้ลองถ่ายภาพสักภาพผ่านกล้องโทรศัพท์ แล้วเอาไฟล์ภาพต้นฉบับมาดูขนาดไฟล์ แล้วลองเอามาคูณกับจำนวนได้ เช่น ใน iPhone 14 Pro กล้องหลักถ่ายใน HEIF Format มีขนาดรูปละประมาณ 1.9 MB หากเรามี 1,000 รูป เราจำเป็นต้องใช้ 1.9 GB ด้วยกัน หากภาพในโทรศัพท์ส่วนใหญ่เป็น JPG หรือ JPEG ไฟล์ภาพจะมีขนาดใหญ่กว่ามาก ๆ
การใช้ Cloud สำหรับจัดเก็บภาพถ่าย
ตัวเลือกที่ง่ายที่สุด สำหรับการเก็บรูปภาพทั้งหลายในโทรศัพท์ของเราคือการใช้ Cloud ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cloud สำหรับการจัดเก็บข้อมูลหลายเจ้ามาก ๆ แต่ไม่ใช่ทุกเจ้าที่จะมีระบบจัดการรูปภาพมาให้เรา ตั้งแต่การ Sync ขึ้นไปบน Cloud อัตโนมัติ ระบบการจัดการอัลบั้ม และระบบการค้นหาต่าง ๆ ตัวที่เข้ารอบและคนน่าจะรู้จักกันเยอะ มี 2 ตัวด้วยกันคือ iCloud ของ Apple และ Google One ของ Google เอง
เริ่มจาก iCloud ของฝั่ง Apple เป็นตัวที่ง่ายที่สุด เพราะมันถูกฝังมากับอุปกรณ์ของ Apple ทั้งหมด นั่นแปลว่าเราไม่จำเป็นต้องตั้งค่าใด ๆ ทั้งสิ้่น แค่ Login อุปกรณ์ด้วย Apple ID ของเราเท่านั้น เมื่อเราถ่ายภาพ ภาพจะถูก Sync ขึ้น iCloud แบบอัตโนมัติทั้งหมด ทำให้ข้อดีของ iCloud คือ ความสะดวกในการใช้งาน และระบบการจัดการรูปภาพสามารถทำงานเชื่อมต่อบน Photo App บนเครื่องของเราได้อย่างไร้รอยต่อ แต่ข้อเสียคือมันเป็นระบบ Cloud สำหรับอุปกรณ์ Apple เท่านั้น
โดย Apple เปิดให้ใช้งาน iCloud ได้ฟรี 5 GB เท่านั้น หากต้องการมากกว่านี้ Apple มีให้เราเลือกตั้งแต่ 50GB, 200GB, 2TB, 6TB และ 12TB ในราคา 35 บาท, 99 บาท, 349 บาท, 999 บาท และ 1,990 บาท ต่อเดือนตามลำดับ ขนาดพื้นที่การจัดเก็บสูงสุดที่ Apple อนุญาติให้เปิดนั้นมีขนาดใหญ่มาก ๆ เก็บรูปภาพได้เยอะมาก ๆ แต่ราคาก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน
และอีกเจ้าคือ Google เป็นเจ้าที่ค่อนข้างเปิดมาก ๆ คือ สามารถใช้ได้กับทั้งอุปกรณ์ของ Apple และ Android โดยเราสามารถติดตั้งแอป Google Photo มันจะทำการ Sync ภาพขึ้น Google Photo ได้เองแบบอัตโนมััติ แต่มันจะมีความยุ่งยากขึ้นมานิดหนึ่งคือ ภาพที่ถูกอัพโหลดขึ้น Cloud ไปแล้ว มันจะไม่ได้ถูกลบออกจากโทรศัพท์เราอัตโนมัติ ทำให้จำเป็นต้องเข้ามาสั่งกดลบภาพในเครื่องเป็นครั้งคราวแค่นั้นเลย
โดย Google เปิดให้ใช้ฟรี 15 GB แต่เขารวมพื้นที่การจัดเก็บเข้ากับบริการอื่น ๆ ของ Google ด้วย ทำให้เรามีพื้นที่ใช้จริงไม่ถึงแน่นอน แต่ถ้าไม่พอ Google ก็เปิดให้อีก 2 ขนาดความจุด้วยกันคือ 100 GB และ 2 TB ในราคา 70 บาท และ 350 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง
ลองมาดูที่ความคุ้มค่ากันก่อน พื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดอย่าง 2 TB เราจะเห็นว่า ราคามันขี่กันมาก ๆ นั่นคือ 349 บาท และ 350 บาท สำหรับ iCloud และ Google ตามลำดับ แต่กับพื้นที่ขนาดเล็กเรื่องเปลี่ยนทันที เพราะ Google เปิด 100GB ในราคา 70 บาท กับ iCloud เพิ่มพื้นที่มาอีกเท่าตัวเป็น 200GB ราคา 99 บาท เท่านั้น
หากเราใช้อุปกรณ์ที่ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android จะใช้ได้แค่ตัวเลือกเดียวเท่านั้นคือ การใช้ Google แต่สำหรับอุปกรณ์ Apple สามารถใช้ได้ทั้ง iCloud และ Google แนะนำว่าไปใช้ iCloud น่าจะดีกว่า ด้วยราคาที่ถูกกว่านิดหน่อยในความจุขนาดเล็ก ๆ การไม่ต้องลง App อะไรเพิ่มเพื่อจัดการเลย และหากวันใดที่เราต้องการพื้นที่มากกว่า 2 TB ย่อมสามารถ Upgrade ไปใช้ความจุที่สูงกว่านี้ได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งเสียเวลาย้ายข้อมูลไปมา
การใช้ NAS สำหรับจัดเก็บภาพถ่าย
สำหรับบางคนที่ใช้งานเยอะจริง ๆ อาจจะรู้สึกว่า การใช้ Cloud มันก็สะดวกดี แต่แอบจุกราคาที่ต้องจ่ายต่อเดือนไปสักหน่อย ทำให้นำมาสู่วิธีการแก้ปัญหานี้ ไหน ๆ เขาคิดเราแพง งั้นเราก็ตั้ง Server เอาเองเลยก็น่าสนุก วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการซื้อเครื่อง NAS (Network Attach Storage) เข้ามาซะเลย
หลาย ๆ คนอาจจะกลัวว่าการซื้อ NAS มาใช้งาน มันจำเป็นต้องมีคุณสมบัติอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ จริง ๆ แล้วคือไม่มีอะไรเลย ขอแค่เพียงเราสามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา ไม่ต้องกลัวเรื่อง Public IP Address และการดูแลระบบที่ยุ่งยาก เพราะผู้ผลิต NAS ณ วันนี้หลาย ๆ ยี่ห้อออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ปัดฝุ่น ๆ นิดหน่อย และผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องตั้งค่าระบบ Network ภายในบ้านเลย มี Wizard กดตามขั้นตอนทำจบได้ในไม่ถึง 5 นาทีเท่านั้นเอง เช่น ฝั่ง Synology NAS จะมี QuickConnect
เมื่อ NAS เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานในบ้านของเรา บางคนกังวลเรื่องความปลอดภัย ในฝั่งความปลอดภัยทางไซเบอร์ ผู้ผลิตเขามีการอัพเดตระบบรักษาความปลอดภัยอยู่สม่ำเสมอ และโอกาสมันมีไม่เยอะที่ผู้ไม่หวังดีจะโจมตีเครื่องของเรา มีแค่การหว่านแหโจมตี ซึ่งพวกนี้คนโดนเยอะ ผู้ผลิตสามารถปล่อยอัพเดตออกมาจัดการได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการตั้งค่าพื้นฐานค่อนข้างดักการโจมตี “ส่วนใหญ่” ไปหมดแล้ว และฝั่งความปลอดภัยเชิงกายภาพ ต้องถามกลับว่าบ้านเป็น Safe Zone สำหรับคุณหรือไม่ คุณสามารถเก็บทรัพย์สินมูลค่าสูง ๆ ในบ้านได้หรือไม่ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีแล้วล่ะ และสำหรับเคสอัคคีภัยต่าง ๆ หากเรากังวลจริง ๆ เราสามารถซื้ออีกเครื่องไปตั้งที่อื่นเพื่อทำ Off-Site Backup ได้
ในแง่ของการจัดการรูปภาพ บางตัวมีมาให้ใช้งานได้ฟรี ๆ เช่น Synology Photo แต่บางตัวอาจจะไม่มีมาให้ แต่ NAS ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเราสามารถติดตั้งโปรแกรมอื่น ๆ เพิ่มได้ผ่าน Docker ซึ่งมันจะมีระบบการจัดการภาพถ่าย Open Source ที่ใช้งานได้ฟรีอย่าง PhotoPrism
ในการเลือกซื้อ NAS มันยุ่งยากกว่าการใช้ Cloud นิดหน่อยคือ เราจำเป็นต้องเลือกรุ่นของ NAS และ Hard Disk ให้เหมาะสมกับการใช้งานของเรา ทั้งจำนวนช่อง Hard Disk, ขนาดสเปกเครื่อง และตัว Hard Disk เอง สำหรับคนที่คิดว่ามันเป็นเรื่องยาก ปัจจุบัน ผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ที่เขาเลือกมาให้เราเรียบร้อยแล้ว ซื้อมา มีทุกอย่างประกอบมาให้เรียบร้อย เสียบปลั๊กเริ่มใช้งานได้เลย เช่น BeeStation ของ Synology
ค่าใช้จ่ายอีกส่วนที่อาจจะลืมคิดไปคือ ค่าไฟ หากใช้ NAS เครื่องไม่ใหญ่มาก ที่ออกแบบมาใช้งานตามบ้าน ส่วนใหญ่จะกินไฟน้อยมาก เช่น Synology DS423+ ตามสเปกบอกว่าเครื่องตอนกำลังเข้าถึงข้อมูลมันจะกินไฟประมาณ 28.03W ทำให้ใน 1 เดือน ใช้ 20.1816 kWh ค่าไฟบ้านเรารวม Ft และ VAT ณ วันนี้น่าจะหน่วยละ 4.78 บาท ทำให้เดือนหนึ่งจะต้องจ่ายค่าไฟทั้งหมด 96.47 บาท แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้มีการเข้าถึงข้อมูลตลอดเวลาแน่นอน ทำให้ค่าไฟนี้ จะเป็นค่าไฟสูงสุดเท่าที่น่าจะเป็นไปได้ต่อเดือนแล้ว
ความคุ้มทุนในการใช้งานเมื่อเทียบกับ การใช้งาน Cloud ในความจุขนาดเล็กหน่อยอย่าง 2 TB จะใช้เวลาคืนทุนอยูราว ๆ 7 – 8 ปี หรือมากกว่านั้นเลยทีเดียว แต่สถานการณ์มันจะดีขึ้นเมื่อเรามีการใช้งานตั้งแต่ 6 TB ขึ้นไป เพราะระยะเวลาคืนทุนมันจะล่นลงมาเหลือประมาณ 2 – 3 ปีเท่านั้น ซึ่งยังอยู่ในระยะการรับประกันของอุปกรณ์อยู่
ดังนั้น การใช้งาน NAS เหมาะกับผู้ที่ต้องเก็บข้อมูลขนาดใหญ่มาก ๆ หลัก 6 TB ขึ้นไป ตัวเครื่อง NAS เองสามารถใช้งานหลาย ๆ คนพร้อมกันได้ ทำให้อาจจะนำมาเป็นอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของสมาชิกภายในบ้านได้ เช่น ในบ้านมีสมาชิก 3 คน อาจจะใช้กันคนละ 2 TB เราก็ต้องใช้ทั้งหมด 6 TB ซึ่งอยู่ในจุดที่คุ้มทุนได้เร็วมากแล้ว จึงทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้ทั้งสองกลุ่มที่ได้กล่าวไปมาก ๆ
ตัวเลือกไหนเหมาะกับใคร
การเลือกใช้งาน แนะนำว่าหากใช้งานพื้นที่การจัดเก็บไม่ถึง 2 TB คิดว่าการใช้ Cloud ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ iCloud ยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่ามาก ๆ ทั้งในเรื่องราคา และความง่ายในการจัดการ แต่ถ้ามีการใช้งานพื้นที่มากกว่า 2 TB ขึ้นไปทั้งบ้าน การใช้ NAS เริ่มเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ อาจจะต้องลองชั่งใจคำนวณความคุ้มทุน หากจุดคุ้มทุนอยู่ในจุดที่เราโอเค มันน่าสนใจมาก ๆ หรือถ้าไม่ การจ่าย Cloud รายเดือนเหมือนเดิมอาจจะดีกว่าก็ได้
นอกจากตัวเลือกที่ได้เล่าไปแล้ว ยังมีตัวเลือกอื่น ๆ ให้เราได้เลือกใช้ แต่ตัวเลือกที่เหลือส่วนใหญ่ เป็นตัวเลือกที่เราจำเป็นต้องสำรอง หรือย้ายข้อมูลเอง เช่น การเสียบ External Hard Disk แล้วโยกไฟล์ภาพออกจากโทรศัพท์ด้วยตัวเอง ซึ่งตัวเลือกพวกนี้ ราคาต่อความจุมันถูกกว่าจริง ๆ แต่แลกมากับความที่ต้องมานั่งย้ายข้อมูลด้วยตัวเองเรื่อย ๆ และหากเราไม่สามารถย้ายข้อมูลในขณะนั้น และเครื่องเกิดความเสียหาย หรือสูญหาย นั่นแปลว่า ข้อมูลที่ยังไม่ได้สำรองหายไปตลอดกาลเลยทีเดียว จึงทำให้เป็นตัวเลือกที่ไม่หยิบขึ้นมาแนะนำในบทความนี้