Bangkok, CI กรุงเทพ, Bangkok CI, Creative Branding Award, กรุงเทพมหานคร

เมื่อวานนี้ (29 ตุลาคม 2567) ที่โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ เขตสาทร ‘เอกวรัญญู อัมระปาล’ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการและโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานครในการเข้ารับรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024 หรือ CE Awards 2024) โดยมี ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธี

ผลงานของกรุงเทพมหานครที่ได้รับรางวัลในพิธีประกาศผลรางวัลฯ ครั้งนี้ คือ ผลงาน ‘Corporate Identity of Bangkok’ หรือระบบอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ที่ร่วมออกแบบและสร้างสรรค์โดยกรุงเทพมหานครและทีมนักออกแบบจาก Farm Group ซึ่งได้รับรางวัลประเภท Creative City Awards ในกลุ่ม Creative Branding Award

ทางด้าน ‘วริทธิ์ธร สุขสบาย’ คณะทำงานในโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงความในใจถึงเบื้องหลังการทำงานครั้งนี้ว่า “ขอบคุณพี่ฟินที่ให้เวลาทำการบ้านและพี่ก็ไปสู้จนได้งบมา ต่อให้ถูกตัดลงเกือบครึ่ง ขอบคุณพี่ที่ผมโทรไปปรึกษาบ่อยอีกคน ผู้เป็น Reference ของความเป็นไปได้ ขอบคุณพี่ ๆ ข้าราชการสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ที่เปิดใจจนหน่วยงานมาถึงจุดนี้ และ Farm Group ผู้รังสรรค์งานเปรี้ยวเท่นี้

ขอบคุณพี่สยาม พี่อ๊อด พี่แป้ง พี่เบล ทุกคน ทุกคำปรึกษาประกอบร่างมาเป็นวันนี้ ที่สำคัญคือพี่ที่ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ผมนับถือน้ำใจในทุกคำปรึกษาที่พี่สละเวลามาให้มาก ๆ รู้สึกเหมือนได้เรียนตำราบทใหม่ที่โคตรสนุกจากงานจริง

ขอบคุณพี่ศา และ อ.ชัชชาติ ในวันที่คานปทุมวันโดนด่าไม่เป็นท่า อ. ยังโทรมาถามกึ่งให้กำลังใจ (ซึ้ง) สุดท้ายคือทุกเสียงตอบรับจากประชาชน จะดีหรือร้าย ขอน้อมรับไว้เป็นกำลังใจหรือแนวทางแก้ไข เชื่อว่านี่คงเป็นก้าวแรกของงานออกแบบองค์กรเมืองต่อ ๆ ไป ถึงวันนี้ไม่เสียใจแล้วที่เคยเสียน้ำตา”

โดยในงานประกาศผลรางวัล Creative Excellence Awards 2024 หรือ CE Awards 2024 มีรายชื่อผู้ได้รับรางวัลในหมวดรางวัลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

ประเภทที่ 1 : Creative City Awards รางวัลการพัฒนาย่าน สถานที่ชุมชน หรือเมือง รวมทั้งกิจกรรมที่ดึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของย่าน ผู้คน หรือธุรกิจดั้งเดิม ผสานกับความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่และผู้มาเยือนในมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และความยั่งยืน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยมี 6 ผลงานที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย 

  • กลุ่มที่ 1 Creative Festival Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ การท่องเที่ยวเมืองเก่าอันดามัน มาเเต่ตรัง (Trang Renown) 
  • กลุ่มที่ 2 Creative Branding Award
    โดยมี 2 ผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่
    1. กิจกรรม “คน ครั่ง คราฟต์” มหกรรมผ้าย้อมสีครั่งลำปาง ครั่งเฟส #1 (‘People, Lac, Craf’ Activity, Lampang Lac Dyeing Festival Phase 1)
    2. Corporate Identity of Bangkok
  • กลุ่มที่ 3 Creative Cultural Asset Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ไทยฟิต : การออกกำลังกายโดยใช้รำไทย (Thai Fit : Thai Dancercise)
  • กลุ่มที่ 4 Creative Regeneration Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัลได้แก่ กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง (Revisiting Kimyong)
  • กลุ่มที่ 5 Creative Tourism Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัลได้แก่ โกโกบัส! (Go Go Bus!)

ประเภทที่ 2 : Creative Business Awards รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการหรือโครงการที่ให้ความสำคัญด้านการออกแบบ และกระบวนการผลิต ที่เน้นความยั่งยืนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยมี 7 ผลงานที่ได้รับรางวัล ประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ 1 Creative Sustainability Award
    โดยมี 2 ผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่
    1. นวัตกรรมการคืนสภาพโปรตีนจากไข่ขาวเค็มเหลวสู่อาหารมูลค่าสูง (Innovative Protein Recovering from Salted Egg White to High-Value Food)
    2. นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก (Niran Eco-Friendly Wreath)
  • กลุ่มที่ 2 Creative Transformation Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ นมถั่วลายเสือ (Tiger Peanuts Milk)
  • กลุ่มที่ 3 Creative Social Responsibility Award
    โดยมี 2 ผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่
    1. อาฟเตอร์คลาส มันนี่บอร์ดเกม ยูส ทัวร์นาเม้นต์ 2024 (AfterKlass Money Board Game Youth Tournament 2024)
    2. From Kitchen To Chicken And Beyond 
  • กลุ่มที่ 4 Creative Collaboration Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ‘ฮ่า’ สิบปี ขายหัวเราะ (ขายหัวเราะ 50th HAPPYversary)
  • กลุ่มที่ 5 Creative Technology Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ Collective Blooms

ประเภทที่ 3 : Creative Social Impact Awards รางวัลสำหรับการนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขหรือคลี่คลายประเด็นต่าง ๆ ทางสังคม อีกทั้งช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นให้น้อยลง แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

  • กลุ่มที่ 1 Creative Community Inclusivity Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ดอยสเตอร์และผองเพื่อน (DoiSter & Co.)
  • กลุ่มที่ 2 Creative Well-Being Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงวัย Nifty Elderly (“Nifty Elderly” Decorative Toys for Elderly)
  • กลุ่มที่ 3 Creative Equality Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ (Jump Thailand Hackathon 2024)
  • กลุ่มที่ 4 Creative Education Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ หุ่นชีวิน (Cheewin)
  • กลุ่มที่ 5 Creative Green Award
    โดยผลงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ไก่แก้บนรักษ์โลก (Zero Pollution Chicken)

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป