หากใครติดตามข่าวอาชญากรรมมาตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ คงจะผ่านตากับข่าวแก๊งเยาวชนก่ออาชญากรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่บ่อยครั้งมากขึ้น จนเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจากการทำร้ายร่างกายโดยสมาชิกแก๊งเยาวชนดังกล่าว แม้ทางตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่จะเข้มงวดตรวจขันมากขึ้น รวมถึงได้ประกาศใช้ “เคอร์ฟิวส์เด็ก” หรือคำสั่งห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีออกจากบ้าน โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาศัยตาม พ.ร.บ.คุมครองเด็กและเยาวชน ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่ล่าสุดก็ได้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้น เมื่อมีกลุ่มเยาวชนพยายามเตะต่อยกลุ่มนักมวยบริเวณคลองแม่ข่า แหล่งท่องเที่ยวและจุดเช็คอินชื่อดังใจกลางเมืองเชียงใหม่ในช่วงเวลาตีหนึ่งของวันที่ 7 พฤษภาคม ยิ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามต่อภาครัฐว่า เจ้าหน้าที่สามารถที่จะจัดการปัญหาแก๊งเยาวชนอย่างที่เคยประกาศไว้ได้หรือไม่ รวมไปถึงกลุ่มผู้ก่อเหตุ เพราะเหตุใดจึงรวมกลุ่มกันเป็นแก๊งวัยรุ่นป่วนเมือง หรือที่คนเชียงใหม่เรียกกันว่า “เด็กแซ้บ” หรือ “แก๊งซามูไร” พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ถือเป็นคำถามสำคัญที่วันนี้เราจะมาหาคำตอบ
จากการสืบค้นข้อมูลที่ปรากฏบนสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นในอดีตพบว่า ปี พ.ศ. 2478 มีการรวมกลุ่มกันของเยาวชนในท้องถิ่น รวมไปถึงกลุ่มนักเรียนที่เดินทางเข้ามาศึกษาในสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ก่อนจะยกพวกตีกันกับอีกฝ่ายตามโรงภาพยนตร์ หรืองานเทศกาลเช่นลอยกระทง หรืองานฤดูหนาว ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่นในสมัยนั้น โดยสาเหตุความขัดแย้ง มาจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ระหว่างคนท้องถิ่นที่ “อู้กำเมือง” กับคนต่างถิ่นที่ “พูดไทยกลาง” หรือภาษาถิ่นอื่น
ย่างเข้าสู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงยุค “อันธพาลครองเมือง” ปัญหาแก๊งนักเลงวัยรุ่นเริ่มขยายตัว จากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงคราม ยิ่งทำให้ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากขึ้น จนสามารถเข้าถึงหมู่เยาวชน ทำให้เริ่มมีการรวมกลุ่มกันก่อเหตุทะเลาะวิวาท ไปจนถึงการใช้สารเสพติดทั้งฝิ่น ยาบ้า ยาไอซ์ และยาอี จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าปราบปรามโดยตรงอย่างหนัก โดยเหตุการณ์วัยรุ่นทะเลาะวิวาทที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในเชียงใหม่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เมื่อกลุ่มวัยรุ่นปิดสนามกีฬาเทศบาล ก่อเหตุตะลุมบอน ไปจนถึงการปาระเบิดขวด โดยเหตุชุลมุนในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บสาหัส 6 ราย
ย่างเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ หลังปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ปัญหาแก๊งวัยรุ่นดูเหมือนจะรุนแรงมากกว่าเดิม ข้อมูลจากงานวิจัย โครงการการจัดการองค์ความรู้เด็กและเยาวชนที่รวมตัวเป็นกลุ่มแก๊งของเครือข่ายเด็กและเยาวชนภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.) พบว่า มีแก๊งนักเลงวัยรุ่นรวมกลุ่มกันมากกว่า 50 กลุ่ม ในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และบริเวณอำเภอรอบนอก โดยการรวมตัวของเยาวชนกลุ่มดังกล่าวมักมีสาเหตุจากการเป็นคนชายขอบของสังคม ความชอบที่เหมือนกันเช่น การแข่งรถมเตอร์ไซค์ ไปจนถึงยาเสพติด ซึ่งในยุคนี้เอง ที่ถือกำเนิดแก๊งนักเลงชื่อดัง อย่าง “แก๊งซามูไร” , “แก๊งเศษเดน” , “แก๊งดอนแก้ว” , “แก๊งหญ้าคา” รวมถึง “แก๊งบินลาเดน” ก่อนที่จะมีการปราบปรามกลุ่มนักเลงเยาวชนดังกล่าวในช่วงก่อนรัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติดในปี พ.ศ. 2546 ส่งผลให้แก๊งนักเลงวัยรุ่นหลายกลุ่มล่มสลายลง และเงียบหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง
จนกระทั่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ปัญหานักเลงวัยรุ่นกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเป็นการรวมตัวกันของวัยรุ่นจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทตามคอนเสิร์ต หรืองานแสดงต่าง ๆ ไปจนถึงสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เช่น “ขัวเหล็ก” หรือสะพานเหล็ก โดย ผศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากความไม่สงบและสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ทำให้เกิดการอพยพเข้ามาในพื้นที่ชายแดน ก่อนจะเข้ามาหางานทำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งอาชีพแรงงานรับจ้างทั่วไป และงานขายบริการตามสถานบันเทิง โดยในช่วงแรกนั้นมีการรวมกลุ่มกันของกลุ่มผู้อพยพ เพื่อประทะกับอีกฝั่งที่เป็นกลุ่มนักเลงท้อลถิ่น จากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม
ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้อพยพที่เข้ามาทำงานด้านสถานบันเทิงยามค่ำคืนขยายตัว ได้เกิดกลุ่มมาเฟียขึ้นเพื่อคุมผลประโยชน์ในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มของเยาวชนที่อพยพเข้ามาโดยมีมาเฟียและผู้มีอิทธิพลดังกล่าวอยู่เบื้องหลัง จนเกิดแก๊งนักเลงวัยรุ่นหลายกลุ่ม และมีการเปิดศึกแย่งชิงพื้นที่ ชื่อเสียง อิทธิพล กับอีกกลุ่ม โดยปัจจุบันมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่เข้ามาในพื้นที่เชียงใหม่รวมตัวกันตั้งแก๊งนักเลงรวมถึงมาเฟียเพื่อคุมสถานบันเทิงมากขึ้น สิ่งนี้ยิ่งทำให้ปัญหาดังกล่าวซับซ้อนกว่าในอดีต จากยุคแรกที่เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการกดทับทางสังคมและวัฒนธรรมจากคนท้องถิ่น ไปสู่ความขัดแย้งทางธุรกิจและอาชญากรรม
หากสรุปมูลเหตุของปัญหาแก๊งเยาวชนเชียงใหม่ ย่อมมีทั้งประเด็นอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ ไปจนถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่าง “คนนอก” และ “คนใน” การกลายเป็นคนชายขอบของสังคม ซึ่งนอกจากการใช้ “ยาแรง” ผ่านการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว การใช้ “ไม้อ่อน” ในการเยียวยาผู้ที่ถูกกัดกัน ผลักไสออกจากสังคม จนกลายเป็นคนชายขอบ ผู้ถูกกดทับจากความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ก็เป็นอีกมาตรการที่จะสามารถยุติปัญหาได้
อ้างอิง
- https://news.ch7.com/detail/725681
- https://ch3plus.com/news/socialnews/ch3onlinenews/398335
- https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1133182
- https://prachatai.com/journal/2005/02/2574
- https://www.thairath.co.th/news/local/1609101