เชียงใหม่ มรดกโลก

หลังจากที่รอมากว่า 10 ปี ล่าสุดความคืบหน้าในการผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลกเริ่มขยับไปใกล้เป้าหมายมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา กลุ่มขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลกและเครือข่ายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ได้จัดการประชุม และเริ่มดำเนินการสำรวจทำแผนผัง 8 แหล่งมรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ และเร่งจัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์ในการนำเสนอให้เสร็จทันเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ประจำปีในปี พ.ศ. 2569 ซึ่งหากได้รับการพิจารณา เชียงใหม่จะได้เป็นมรดกโลกพร้อมกับวาระสมโภชเมืองเชียงใหม่อายุครบ 730 ปี

นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ประธานสมาคม ICOMOS  ไทย หรือสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันเชียงใหม่ หลังจากมีบทบาทในการส่งเมืองโบราณศรีเทพและภูพระบาทเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ได้กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประกอบไปด้วย 6 เกณฑ์ คุณค่าอันโดดเด่นอันเป็นสากล อาทิ ตัวแทนที่แสดงถึงเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมนั้น ๆ มีความโดดเด่นในสิ่งก่อสร้าง วัฒนธรรมของมนุษย์ และมีความเกี่ยวข้องกับความโดดเด่นในประวัติศาสตร์ โดยแหล่งวัฒนธรรมที่จะนำเสนอสามารถเข้า 2 เกณฑ์จากทั้งหมด 6 เกณฑ์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าเกณฑ์ทั้งหมด

โดยเชียงใหม่นั้น คณะกรรมการได้นำเสนอแหล่งวัฒนธรรม 8 แหล่งในพื้นที่ซึ่งมีความโดดเด่นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วัดพระธาตุดอยสุเทพ มีจุดเด่นที่พระธาตุเจดีย์สีทองอร่าม และมีความเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์, วัดเจ็ดยอด สถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก มีการสร้างพระธาตุเจดีย์เลียนแบบพุทธคยาในอินเดีย และการจำลองสัตตมหาสถาน หรือสถานที่ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังตรัสรู้แห่งแรกในไทย ซึ่งส่งอิทธิพลไปถึงล้านช้างและกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมี วัดอุโมงค์ มีจุดเด่นอยู่ที่เจดีย์ทรงกลมที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา และการขุดอุโมงค์ในเนินเขา, วัดสวนดอก สถานที่ตั้งกู่ของเจ้านายฝ่ายเหนือ, วัดพระสิงห์ ที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง, วัดเชียงมั่น วัดอายุเก่าแก่ที่สุดในเมือง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพญามังราย, วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่และมีวิหารที่สวยงาม รวมไปถึงแนวคูเมือง กำแพงเมืองที่มี 4 แจ่ง 5 ประตู อันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง และความโดดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้เชียงใหม่มีความน่าสนใจพอที่จะได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกคือ ความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต ไม่ใช่เมืองเก่าที่ถูกทิ้งร้าง แต่ยังมีผู้คนอาศัย มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีสืบทอดกันมาเมื่อครั้งพญามังรายตั้งเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839

หากเชียงใหม่ได้เป็นมรดกโลก ไม่เพียงแต่จะทำให้เชียงใหม่โด่งดังในระดับนานาชาติ ยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจท้องถิ่น และจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานต่างประเทศในการคุ้มครอง อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งมรดกโลก เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมที่เชื่อมโยงกับแหล่งวัฒนธรรม และสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาคประชาสังคม ในการร่วมดูแล อนุรักษ์พื้นที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

จากนี้ไปถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจับมือกันผลักดันเป้าหมายให้เชียงใหม่ได้เป็นมรดกโลก สมกับที่รอคอยมากว่าทศวรรษ

ที่มา

AUTHOR

นักออกแบบกราฟิกจากเชียงใหม่ สนใจในเสียงดนตรี ภาพยนตร์ และความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ไปพร้อมกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น