การใช้สีในภาพยนตร์

เวลาพูดถึงเรื่องเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ สิ่งแรกที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคือ เรื่องของการใช้ ‘สี’ ซึ่งหนังแต่ละเรื่องจะมีเอกลักษณ์ของสีหรือฟิลเตอร์ที่ใช้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการดีไซน์และ Mood and Tone ของหนัง โดยหลายครั้งการใช้สีก็เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ ถูกนำมาพูดถึง ตัวอย่างการใช้สีเขียวในภาพยนตร์ของผู้กำกับหนังรักแสนเหงา อย่าง ‘หว่อง กาไว’ ที่มักถูกพูดถึงอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งกลายเป็นภาพจำว่าการใช้สีเขียวพาดผ่านเอเลเมนต์เมืองและผู้คน มักทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงา ซึ่งความจริงแล้วสีเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการขับเน้นความรู้สึกที่หนังพยายามสื่อเท่านั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเส้นเรื่องหรือองค์ประกอบอื่น 

ตัวอย่างเช่น การใช้สีเขียวในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ก็ไม่ได้ให้อารมณ์เปลี่ยวเหงาสักเท่าไหร่ แต่กลับให้ความรู้สึกที่เอกเทศและไม่เป็นจริง สอดคล้องกับการที่หนังพยายามฉายให้เห็นภาพของโลกเสมือนอีกโลกหนึ่งที่ไม่ใช่โลกปัจจุบันของเรา แต่ในหลายครั้งสีก็ช่วยส่งเสริมบรรยากาศของหนังให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละครมากขึ้น อาทิ การใช้แสงสีส้มในภาพยนตร์เรื่อง DUNE ซึ่งสอดคล้องกับโลเคชันหลักที่อยู่บนดาวทะเลทรายอะราคีส ขับเน้นให้เรารู้สึกถึงความร้อนระอุและแห้งแล้ง

เฉกเช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ MAD MAX ที่มีโลเคชันหลักเป็นดินแดนสิ้นอารยธรรมที่แห้งแล้ง การใช้สีส้มเป็นสีหลักจึงอธิบายความแห้งเหือดและดิบเถื่อนได้ดีที่สุด ทำให้เมื่อเรารับชมภาพยนตร์ที่มีสีสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในหนัง มันจะยิ่งทำให้เรารู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวละครและตัวหนังมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการปรับแสงให้มีความสว่างน้อยและใช้สีไม่ฉูดฉาด อย่างภาพยนตร์ BATMAN vs SUPERMAN ที่ไม่ขึ้นตรงกับการใช้สี แต่ยึดโยงกับการปรับแสงความสว่างก็สามารถทำให้รู้สึกตึงเครียดและหวาดระแวงได้

แต่ก็ไม่เสมอไปสักทีเดียว ตัวอย่างการใช้สีและแสงที่ขัดกับ Mood and Tone ของหนัง แต่ไม่สร้างความสับสนให้กับอารมณ์และเส้นเรื่องคงต้องยกให้ภาพยนตร์เรื่อง Midsommar หนังที่พูดถึงลัทธิประหลาดที่มีการบูชาฆาตรกรรมสุดสยอง แต่ใช้สีเหลืองอมส้มและแสงที่ถูกดึงขึ้นจนทุกอย่างดูสดใสราวกับหลับฝัน ประกอบกับการใช้ดอกไม้และคอสตูมสีขาวบริสุทธิ์ ทว่าองค์ประกอบทุกอย่างไม่ได้บิดเบือนหรือลบเลือนความสยองของหนัง ในทางกลับกันมันกลับเพิ่มความรู้สึกกระอักกระอ่วนให้คนดู ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้หนังมีอิทธิพลต่อเราเป็นอย่างมากในขณะรับชม จึงถือเป็นการนำเอาเรื่องการใช้โทนสีมาปรับให้มีประโยชน์

แล้วแต่ละสีให้ความรู้สึกอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเป็นปัจเจก การมองภาพแต่ละภาพรวมถึงสีแต่ละสีอาจให้ความรู้สึกหรือมุมมองที่ต่างกันในแต่ละคน ดังนั้นนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากที่เราพยายามนิยามสีแต่ละสีว่าให้ความรู้สึกไปในทิศทางอย่างไร โดยในทางจิตวิทยาของสีแบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ เฉดสี ความอิ่มตัวของสี และความหมายของสี ซึ่งการเลือกใช้สีในภาพยนตร์จะส่งผลกระทบต่อผู้ชมมากน้อยต่างกันไป ทว่าหากเจาะจงเลือกใช้สีใดสีหนึ่งก็จะส่งผลกระทบทางอารมณ์ของผู้ชมเป็นอย่างมาก Lilly Seara นักจิตวิทยาการใช้สีกล่าว

สีแดง สื่อถึงความโกรธ ความหลงใหล ความปรารถนา ความตื่นเต้น พลังงาน ความแข็งแกร่ง ความร้อน ความรัก ความก้าวร้าว และความอันตราย ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์อนิเมชัน The Incredibles และ ภาพยนตร์ไซไฟ Ex Machina

สีในภาพยนตร์

สีชมพู สื่อถึงความรัก ความไร้เดียงสา โรแมนติกส์ ขี้เล่น มีสเน่ห์ ละเอียดอ่อน และมีความเป็น Feminine ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์อนิเมชัน Frozen และ ภาพยนตร์ The Grand Budapest Hotel

สีส้ม สื่อถึงความแห้งแล้ง ความอบอุ่น ความกระตือรือร้น และอิสระ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ MADMAX และ DUNE ตามที่กล่าวไปข้างต้น

สีในภาพยนตร์

สีเขียว สื่อถึงความอุตสาหะ ความดื้อรั้น การตระหนักรู้ในตนเอง ความเอื้ออาทร ความอุดมสมบูรณ์ และความอิจฉาริษยา ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ไซไฟ The Matrix

สีในภาพยนตร์

สีฟ้า สื่อถึงความศรัทธา จิตวิญญาณ ความมั่นคงปรองดอง ความหนาวเหน็บ หดหู่ โดดเดี่ยว ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์อนิเมชัน Corpes Bride และ The Dark Knight (Batman)

สีในภาพยนตร์

สีม่วง สื่อถึงความอีโรติก ลึกลับ จิตวิญญาณ พิธีกรรม ความโหดร้าย และการไว้ทุกข์ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์อนิเมชัน Tangled และ Maleficent

สีดำ สื่อถึงอำนาจ ความซับซ้อน พิธีการ ลึกลับ ความกลัว ความชั่ว ความโศกเศร้า ตัวอย่างเช่น อนิเมชันเรื่อง Persepolice

สีขาว สื่อถึงความถูกต้อง ความบริสุทธิ์ ความสงบ ความอ่อนโยน ความสะอาด ความหนาวเหน็บ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ The Huntman: Winter’s war

ดังที่กล่าวไปข้างต้นการรับรู้ถึงอารมณ์ของสีเป็นเพียงความรู้สึกส่วนบุคคล รวมถึงการนำไปใช้จริงอาจได้รับความรู้สึกที่ต่างออกไปจากคำนิยาม ซึ่งทำให้เราอนุมานได้ว่า การใช้สีในภาพยนตร์นั้นมีความสำคัญต่อความรู้สึกของผู้ชม แต่ไม่ได้หมายความว่าเหล่าคนดูจะรับรู้ได้ถึงสิ่งที่หนังพยายามจะสื่อผ่านการใช้สีได้หรือไม่ และแน่นอนว่าคุณสามารถนำสีขาวที่หมายถึงความดีความชอบไปใส่ในภาพยนตร์แนวสยองขวัญได้ เช่นเดียวกับการนำสีม่วงที่หมายถึงความลึกลับและชั่วร้ายไปใส่ในหนังรัก เพราะสีเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่ขับเน้นความรู้สึกของผู้ชม รวมถึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับหนัง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สำคัญกว่าอย่าง บท เส้นเรื่อง หรือวิธีการดำเนินเรื่อง

อ้างอิง

CREATED BY

ไม่ชอบคนข้างล่าง