หากใครได้ติดตามข่าวคราวการออกจากตำแหน่งผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36 ของ ‘กรุณา บัวคำศรี’ ผ่านคำแถลงการณ์บน Facebook ส่วนตัว จะเห็นว่าเธอยังคงทำรายการตระกูล ‘รอบโลก’ ต่อไปด้วยทุนส่วนตัวบนช่องทาง Youtube Channel ‘รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี’ หลังออกจากการทำงานบนสถานีโทรทัศน์แล้ว ซึ่งเป็นงานหลักที่ใช้ทั้งเวลาและข้อมูลจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องใช้เงินในการเดินทางไปทำงานรอบโลกอย่างในชื่อรายการ

คำถามคือเธอจะเอาเงินที่ไหนมาใช้รันคอนเทนต์นี้ต่อไป

‘TARA Essentials’ คือคำตอบนั้น เพราะนี่เป็นธุรกิจใหม่ของกรุณาที่เริ่มต้นจากแนวคิดการอยากขับเคลื่อนความสำคัญของประเด็น Climate Crisis หรือภาวะโลกเดือด ซึ่งเธอพบเจอมาจากหลาย ๆ ประเทศที่เดินทางไปทำงาน และมักถูกมองเป็นประเด็นที่ผู้คนไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้กำลังเป็นประเด็นหลักที่ผู้คนต้องกลับมาให้ความสนใจอย่างจริงจัง

กรุณาจึงใช้การทำแบรนด์สินค้าที่คำนึงถึงทรัพยาการอย่างรอบคอบ และรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เป็นใจความหลักของ ‘TARA Essentials’ ที่มาแนวคิดการสร้างสรรค์มาอย่างครบองค์ประกอบ ซึ่งวันนี้เราจะมาเล่าแนวคิดการออกแบบในแต่ละส่วนของแบรนด์นี้กัน

ภาพจาก TARA Essentials
ภาพจาก TARA Essentials

กว่าจะเป็นแบรนด์ ‘TARA’

กรุณากล่าวไว้บนโพสต์ไว้บนเนื้อหาแถลงการณ์แรกของการออกจากการทำงานที่เดิม ว่า มีครั้งหนึ่งเธอไปพบกับ ‘เจมส์ แนชต์เวย์ (James Nachtwey)’ ช่างภาพสงครามชื่อดังจากการได้ไปช่วยงานในระยะเวลาสั้น ๆ เขาบอกกับเธอว่าหากอยากมีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อมุ่งหวังความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ เราต้องเป็นผู้ประกอบการด้วย เพราะเราต้องหาเงินได้เองเพื่อมาหล่อเลี้ยงงานที่เราเชื่อมั่นนั้น

กรุณาเก็บเอาแนวคิดนั้นมาไว้กับตัว ก่อนที่สถานการณ์จะทำให้เธอได้พบกับ ‘พอล ธรรมธัชอารี’ จาก ttttwork และ The Studio Apollo เพื่อให้เขาช่วยสร้างสรรค์แบรนด์ใหม่จากความตั้งใจที่เจมส์นำเสนอให้กับเธอ จึงเป็นที่มาของการออกแบบแบรนด์ ‘TARA’

ตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือนของการออกแบบแบรนด์นี้ขึ้นมา กรุณาต้องตอบคำถามอย่างหนักว่าการมีอยู่ในฐานะอาชีพผู้ประกอบการนี้คืออะไร ผ่านคำถาม 35 ข้อที่ต้องบอกให้ได้ว่าเราคือใคร เรากำลังจะทำอะไร และเราทำแบบนั้นเพื่อใครกันแน่ โดยครอบคลุมทั้งสิ่งที่จากมา ชีวิตที่กำลังเป็นไป และอนาคตที่ใกล้จะมาถึง ซึ่งบางคำถามเธอเองก็ไม่เคยถามตัวเองมาก่อนเหมือนกัน

“อ่านคำตอบพี่ณา เหมือนได้ฟังพี่ณาพูดให้ฟังอยู่ตรงหน้า (ยิ้ม)” พอลกล่าวไว้ในบทความหนึ่งบนเพจ TARA Essentials

นั่นคือเนื้อหาของการทำงาน 2 เดือนแรกของกรุณา เพื่อส่งต่อแนวคิดอันแข็งแรงไปให้นักออกแบบสร้างสรรค์ภาพฝันที่ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวจนกลายเป็นรูปธรรมในฐานะของ Brand Identity ผ่านงานกราฟิกต่อไป

จนได้ออกมาเป็นชื่อแบรนด์ ‘TARA’ ที่มีความหมายว่าน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คน ซึ่งกำลังเป็นสรรพสิ่งที่ค่อย ๆ เหือดหายไปจากโลกใบนี้ตามกาลเวลา และในขณะเดียวกัน ธาราก็เป็นชื่อของ ‘ธารา บัวคำศรี’ ลูกคนแรกของครอบครัว และพี่ชายของกรุณา ที่ปัจจุบันกำลังเป็นผู้อำนวยการของ Greenpeace ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ช่วยจุดประกายความสนใจสิ่งแวดล้อมให้กับกรุณาอีกด้วย

ชื่อ ‘ธารา (TARA)’ นี้จึงสะท้อนได้ทั้งสิ่งสำคัญของโลก และสิ่งสำคัญในฐานะสายธารความรักของสายสัมพันธ์ครอบครัวของกรุณานั่นเอง

ความรักษ์โลกของแบรนด์ ‘TARA Essentials’ นั้น คือการสร้างสรรค์สินค้าที่จำเป็น (Essential) และต้องผ่านการออกแบบ (Design) ที่คิดมาอย่างดีเพื่อให้สินค้าทุกชิ้นมีคุณภาพสูดสุง และใช้งานได้จริง โดยมุ่งเน้นเพื่อสร้างรายได้ และผลกำไรมาสนับสนุนการทำงานข่าวและสารคดีเกี่ยวกับ Climate Crisis และ Global Crisis อย่างต่อเนื่องได้ และยังกลายเป็นเครื่องมือรณรงค์ให้ผู้คนได้เห็นว่าการใช้ทรัพยาการโลกอย่างรอบคอบและคุ้มค่า ในฐานะผู้ประกอบการที่สร้างสรรค์สินค้าสู่ผู้คนได้จริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ภาพจาก Facebook – Karuna Buakamsri

Logotype ‘TARA’ และ Symbol ‘ดอกเดซี่สีแดง’

หลังจากคำตอบทั้ง 35 ข้อของกรุณาถูกส่งต่อให้กับพอลในฐานะ Brand Designer เขาก็สร้างสรรค์และออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์สินค้าใหม่นี้ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่ามากที่สุด บนกรอบแนวคิดของแบรนด์ที่กรุณาก่อร่างสร้างตัวตนมาให้เขา

“สำหรับผม Branding เป็นการสั่งสมเรื่องราว เวลา ทรัพยากรต่าง ๆ แล้วสกัดมันออกมา” พอลเล่าในเพจ TARA Essentials ถึงการสื่อสารตัวตนผ่านหน้าตากราฟิก ทั้งฟอนต์ โลโก้ สัญลักษณ์ ชุดสี หรือองค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดของแบรนด์ จะช่วยทำให้แนวคิดและเป้าหมายของแบรนด์ถูกส่งต่อผ่านสายตาผู้ออกแบบไปถึงลูกค้าได้ โดยอาจจะไม่ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยซ้ำ

ภาพจาก TARA Essentials

สัญลักษณ์หลักแรก ๆ ที่ผู้คนได้เห็นเลยออกมาเป็นรูปดอกเดซี่สีแดง ในชื่อสี ‘เรดดาห์เลีย Red Dahlia’ (#A82A2B) ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อแบรนด์นี้โดยเฉพาะ โดยเหตุผลที่ต้องเป็นดอกเดซี่ เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความทนทาน ดูแลรักษาง่าย เมื่อถูกตัดออกจากต้น ดอกเดซี่จะแตกกิ่งก้านและผลิดอกใหม่ได้อย่างง่ายดาย

สิ่งนี้จึงสื่อถึงความเรียบง่ายและทนทาน ผสมผสานกับพลังการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ของแบรนด์ อีกทั้งยังมีการออกแบบดอกเดซี่นี้ด้วยหลายอิริยาบท โดยสัญลักษณ์หลักจะเป็นรูปดอกเดซี่แบบ Side view และมีการออกแบบมุมมองอื่น ๆ ของดอกไม้นี้ เพื่อการนำมาใช้ในหลากหลายลักษณะอีกด้วย

ส่วน Logotype ของคำว่า ‘TARA’ นี้ ถูกออกแบบให้เป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ทั้ง 4 ตัว โดยทำให้ตัวอักษรแอบซ่อนลักษณะของภูมิทัศน์ของภูเขาที่ทอดยาวตลอดทั้งชุดคำ หากลองสังเกตเส้นที่พาดกลางตัวอักษรตั้งแต่ตัว A, R และ A จะเห็นว่าเส้นคลื่นของมันเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ

นั่นคือการเชื่อมโยงกันเป็นรูปคลื่นที่โค้งอย่างมีจังหวะ ผ่านเส้นโค้งที่ลากขึ้นตั้งแต่กลางตัว A ลงไปเชื่อมโยงกับส่วนกลางของตัว R ก่อนจะโค้งขึ้นไปสอดรับกับส่วนกลางของตัวอักษร A นั่นเอง อีกทั้งยังเลือกใช้ตัวอักษรแบบ Low Contrast ที่มีความทึบค่อนข้างสม่ำเสมอ ทำให้ภาพรวมของตัวอักษรดูเรียบง่าย แต่ยังสอดแทรกความพิเศษไว้ที่ความเอียงของปลายตัดตัวอักษรทางด้านบน ที่ช่วยให้ Logotype มีความเป็นตัวเอง และมีความแข็งแรง เฉียบคมไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ภาพจาก TARA Essentials

‘มนุษย์และธรรมชาติ’ องค์ประกอบแห่งตัวตนของ TARA

นอกจากลักษณะของกราฟิกหลักแล้ว ก็ยังมีลักษณะขององค์ประกอบทางด้านกราฟิกอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดถูกคิดอยู่บนใจความของ ‘ความเป็นมนุษย์’ และ ‘ความเป็นธรรมชาติ’ จากข้อมูลของการตอบคำถามที่กรุณาส่งไปยังนักออกแบบ ทำให้สิ่งนี้เป็นเหตุผลให้พอลสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ไว้ในองค์ประกอบทั้งหลายมากมาย เริ่มต้นจากชุดสีหลักของแบรนด์ ที่เลือกใช้เฉดสีจากช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่นำเสนอความอบอุ่นและการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล แทรกด้วยสีเน้น (Accent Colour) จากช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกของการเริ่มต้นใหม่

ภาพจาก TARA Essentials

รวมถึงการเลือกใช้วิธีการวาดมือ (Hand Paint) เป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี ที่การทำงานออกแบบของพอลเลือกใช้ในการสร้างสรรค์องค์ประกอบหลัก สำหรับชุดกราฟิกเคียงข้างสัญลักษณ์ตั้งต้นของแบรนด์ ผ่านวิธีการวาดขึ้นแบบ Freehand ที่ทิ้งร่องรอยของฝีแปรงบนพื้นผิววัตถุที่ถูกวาดลงไป เป็นรูปร่างที่เชื่อมโยงกับดอกไม้และใบไม้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ที่สะท้อนถึงการผลักดอกใบ ส่งผลให้ตำแหน่งการเลือกองศาของการวาดนำเสนอการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งเหล่านี้ ที่ค่อย ๆ ลื่นไหลไปตามลมลงสู่พื้นดิน

ภาพจาก TARA Essentials

ซึ่งจากความตั้งใจของการออกแบบแบรนด์กว่า 7 เดือน จนกระทั่งถึงเวลาที่สินค้าแรกออกสู่สายตาผู้คน ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ TARA Essentials สะท้อนออกมาตั้งแต่ First Impression ได้เลย

อย่างการออกจำหน่าย ‘เสื้อยืด’ ที่ผลิตขึ้นจากผ้าเดดสต็อก (Deadstock Fabric) หรือผ้าที่เหลือจากการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย และปักตราสัญลักษณ์ดอกเดซี่สีแดงไว้บริเวณอกซ้าย ก็เป็นสินค้าที่ปล่อยออกมาพร้อมแนวคิดการลดการปล่อย Carbon Footprint ได้ถึง 5.14 กิโลคาร์บอน เทียบกับการหยิบผ้าชิ้นใหม่มาทำเป็นเสื้อ ซึ่งก็เป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัด เพราะเนื้อผ้าแบบนี้ก็จะมีแค่ล็อตนี้เท่านั้น ล็อตหน้ากรุณาก็จะคัดเลือกผ้าเหลือใช้แบบนี้มาสร้างสรรค์เป็นสินค้าใหม่ต่อไป เพื่อทำให้สินค้าของเธอทำลายโลกน้อยที่สุดอย่างความตั้งใจเดิมนั่นเอง

จากการให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการอย่างจริงใจที่สุด แม้ในฐานะผู้ประกอบการ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการตักตวงผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเพื่อความยั่งยืนในฐานะพ่อค้าแม่ค้า แต่การทำธุรกิจที่เธอเลือกทำก็สร้างแนวคิดให้ผู้คนเห็นว่า ‘ผู้ประกอบการ’ ที่ดี และมีคุณธรรมจริง ๆ บนโลกใบนี้เป็นอย่างไร เพราะโลกที่กำลังหมุนเวียนไปจะยังคงย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ และกรุณา ร่วมทั้งแบรนด์ TARA Essentials เองน่าจะหวังเพียงว่าโลกใบนี้จะย่ำแย่ได้ช้าลงมากที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างมันจะสายเกินไป

ที่มา

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป