ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024, Paris 2024

กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ กับชุดพิธีการของนักกีฬาประเทศไทยที่ต้องใช้ในโอกาสที่เป็นทางการของการแข่งขัน ‘Paris Olympic 2024’ ซึ่งดูละม้ายคล้ายชุดของนายกฯ อย่างไรอย่างนั้น ผู้คนในโลกออนไลน์ต่างกล่าวถึงชุดนี้ว่าดูเฉิ่มเชย และเต็มไปด้วยกรอบที่ภาครัฐไทยชมชอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านแนวคิดทางการออกแบบเสื้อผ้าได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ‘เสื้อผ้า’ ก็ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด และการมอง ‘ตัวตน’ ของความเป็นแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งในที่นี้คือการสะท้อนให้เห็นตัวตนของชาติ ที่ยิ่งนานวัน รสนิยมทางการออกแบบซึ่งสะท้อนออกมาผ่านชิ้นงานที่เป็นตัวแทนของชาตินั้นดูจะยิ่งถูกให้ความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ

เพราะการออกแบบที่ดีสื่อถึงความใส่ใจ และความพิถีพิถันของผู้สร้างสรรค์ SUM UP จึงอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับแนวคิดของการออกแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ในฐานะ ‘ยูนิฟอร์ม’ ที่แต่ละประเทศสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับใส่ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 หรือ ‘Paris 2024’ เพื่อสำรวจแนวคิด และสิ่งที่แต่ละประเทศต้องการนำเสนอผ่านเครื่องแต่งกายในโอกาสสำคัญครั้งนี้กัน

‘มองโกเลีย’ กับยูนิฟอร์มแห่งความดั้งเดิม ที่เพิ่มเติมความทันสมัย

เริ่มต้นกันที่ยูนิฟอร์มที่เราเชื่อว่าคนทั่วโลกน่าจะว้าวที่สุดกัน กับชุดพิธีเปิดของประเทศ ‘มองโกเลีย’ ที่เรียกได้ว่าเท่ และสวยจนอยากใส่เลยทีเดียว

ชุดประจำชาติของนักกีฬาที่ใช้สวมใส่ในวันพิธีเปิดนี้สร้างสรรค์และตัดเย็บโดย ‘Michel & Amazonka’ แบรนด์เสื้อผ้าสุดโด่งดังในเมืองอูลานบาตอร์ ที่หยิบเอามรดกทางประเพณีและวัฒนธรรมมาผสมผสานกับแนวทางเสื้อผ้ามันสมัยที่คนส่วนใหญ่ต่างชื่นชอบ

‘Michel Choigaalaa’ และ ‘Amazonka Choigaalaa’ สองพี่น้องเจ้าของแบรนด์เลือกใช้ชุดสีประจำชาติอย่างสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว ควบคู่กับสัญลักษณ์ดั้งเดิมของประเทศที่มีชื่อเรียกว่า ‘Soyombo’ ที่มักพบได้ตามธงชาติ และเอกสารทางราชการภายในประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายเริ่มต้นและสิ้นสุดของข้อความด้วย

โดยตัวชุดนั้นมีสองรูปแบบ สำหรับฝ่ายหญิง รูปแบบแรกคือชุดของผู้ถือธงฝ่ายหญิง ประกอบไปด้วยชุดคลุมที่เรียกว่า ‘ดีลส์’ จับคู่กับเสื้อกั๊กปักลาย ต่างหู รองเท้าส้นสูง และกระเป๋าถือที่ทำจากผ้าปักลาย ที่ดูคล้ายกับกระเป๋าพ็อตสีของชาวอินเดีย ส่วนรูปแบบที่สองที่เป็นชุดของนักกีฬาหญิงนั้นจะมีเสื้อกั๊กลายเดียวกันเป็นแกน เพิ่มเติมมาด้วยกระโปรงจีบ เสื้อ กระเป๋าถือ และต่างหูที่เข้าชุดกัน

สำหรับฝ่ายชาย เสื้อผ้าของผู้ถือธงชายนั้นจะเป็นเสื้อคลุมผ้าฝ้ายบาง ๆ ที่ปักลายเพิ่มเติมบางส่วน พร้อมทั้งเสื้อกั๊กปักเหมือนของนักกีฬาหญิง และรองเท้าแบบดั้งเดิมของมองโกเลีย พร้อมทั้งยังมีการออกแบบหมวก และเข็มขัดประดับตกแต่งที่ทำให้ลุคดูครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนชุดของนักกีฬาชายนั้นจะประกอบด้วยเสื้อคอจีน เสื้อกั๊กปักลาย กางเกง และรองเท้าผ้าใบ

ตามข้อมูลของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติมองโกเลียระบุว่า ชุดแต่ละชุดนั้นใช้เวลาประดิษฐ์โดยเฉลี่ย 20 ชั่วโมง และกระบวนการผลิตทั้งหมดกินเวลานานถึง 3 เดือน จากการที่นักออกแบบทุ่มเทเวลาและความพยายามอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องแต่งกายแต่ละชิ้นนั้นสามารถสะท้อนถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศได้อย่างไร้ข้อกังขานั่นเอง

ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 มองโกเลีย

‘ฝรั่งเศส’ กับชุดทักซิโด้ที่เลือกด้วยเหตุผลของสถานที่จัดพิธีเปิด

สำหรับชุดของฝรั่งเศสนั้นเรียกได้ว่าไม่มีผิดหวัง เพราะระดมไอเดีย รวมถึงความพิถีพิถันจาก 3 ผู้สร้างสรรค์เสื้อผ้าระดับโลกที่ร่วมกันออกแบบชุดพิธีเปิดที่เรียบหรู และเต็มไปด้วยฝีมือที่หาตัวจับยาก จนออกมาเป็นชุดที่น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ไฮแฟชั่นได้แบบจริง ๆ

‘Carine Roitfeld’ อดีตบรรณาธิการของ Vogue France, ‘LVMH’ อาณาจักรสินค้าสุดหรูเจ้าของแบรนด์ Louis Vuitton และ ‘Berluti’ แบรนด์รองเท้าหนังระดับราชวงศ์ของฝรั่งเศส คือสามผู้ร่วมสร้างสรรค์ชุดสุดเรียบหรูนี้ขึ้นมา โดยตั้งต้นจากหน้าตาของพิธีเปิดที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้จัดขึ้นภายในสนามกีฬา และจัดขึ้นใจกลางเมืองปารีส ริมแม่น้ำแซนช่วพลบค่ำ ซึ่งจะทำให้หน้าตาชุดแบบเดิม ๆ อาจทำงานได้ไม่ดีนัก

ไอเดียของชุดจึงตกไปอยู่บนแนวคิดของ ‘ทักซิโด้’ ชุดที่สะท้อนความเป็นฝรั่งเศสได้อย่างแท้จริง โดยชุดนั้นตัดเย็บด้วยผ้าขนสัตว์สีน้ำเงินเข้มแบบคลาสสิก ผสมผสานกับผ้าคลุมไหล่ลายไม้สีประจำชาติฝรั่งเศสของ Berluti ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างชุดนักกีฬาชายและหญิง ฝ่ายชายนั้นออกแบบให้เป็นเสื้อทักซิโด้แขนยาว คู่กับกางเกงขายาวสีเข้าชุด ส่วนฝ่ายหญิงนั้นออกแบบเป็นเสื้อทักซิโด้แขนกุด และสามารถเลือกสวมใส่กางเกงหรือกระโปรงผ้าไหมยาวคลุมเข่าก็ได้

ในส่วนของรองเท้านั้น Berluti ออกแบบและตัดเย็บเป็นรุ่นพิเศษ ที่หยิบเอารองเท้าโลฟเฟอร์รุ่น Lorenzo ที่ผลิตขึ้นสำหรับผู้ชายมาเป็นแบบตัดเย็บเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับผู้หญิงด้วย ซึ่งเป็นรองเท้าที่มีหนังนิ่ม และมีพื้นรองเท้าที่ยืดหยุ่นเป็นพิเศษ ตัวสีรองเท้าก็เลือกเป็นสีกรมท่าให้เข้าชุดกัน ตกแต่งด้วยเอฟเฟกต์พาทิน่าสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของ Berluti และตะเข็บสีแดงที่ด้านข้าง โดยสีนี้เป็นสีพิเศษสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโดยเฉพาะ

อีกทั้งยังมีรองเท้าผ้าใบ Shadow ที่ออกแบบเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นตัวเลือกสำหรับฝ่ายหญิง ซึ่งออกแบบให้เป็นสีกรมท่าด้วยเช่นกัน เสริมความพิเศษด้วยการปักด้วยโลโก้ Berluti ที่ด้านข้าง รวมถึงตัวอักษร ‘Paris 2024’ ที่ข้อเท้า และมีจุดเด่นหลักคือรายละเอียดหนังที่ทำเอฟเฟกต์ไล่เฉดสีธงชาติฝรั่งเศสแบบเบลนด์กันเพื่อทำให้เอกลักษณ์ของประเทศถูกสะท้อนออกมาอย่างเด่นชัดนั่นเอง

ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ฝรั่งเศส

‘สหรัฐอเมริกา’ กับเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างกางเกงยีนส์

อันนี้ถือว่าเด็ดขาดมาก และใจหนึ่งก็แอบคิดว่ามันเหนือความคาดหมายสำหรับเราในการหยิบมาเป็นชุดพิธีเปิดในงานโอลิมปิกครั้งนี้ และหากมองในอีกมุม นี่ก็เป็นสิ่งสะท้อนอัตลักษณ์ทาง Pop Culture ที่สำคัญอย่างหนึ่งของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

‘Ralph Lauren’ เป็นผู้ดูแลชุดในพิธีเปิดและพิธีปิดของนักกีฬาของสหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่พวกเขาเลือกมาเป็นอัตลักษณ์หลักของชุดในครั้งนี้คือ ‘กางเกงยีนส์’ และ ‘เสื้อแจ็คเก็ตมอเตอร์ไซค์’ ซึ่งกางเกงยีนส์เป็นอัตลักษณ์ในพิธีเปิด ส่วนเสื้อแจ็คเก็ตมอเตอร์ไซค์เลือกใช้ในพิธีปิด เพราะเสื้อผ้าเหล่านี้คือสิ่งที่สื่อถึงความเป็นอเมริกาได้ดีที่สุด อีกทั้งความเข้าถึงง่ายในชีวิตประจำวันของมันยังทำให้นักกีฬาที่สวมใส่มีโอกาสสัมผัสได้ทั้งกลิ่นอายทางวัฒนธรรมของอเมริกา และเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นในชุดธรรมดา ๆ เหล่านี้ ที่ถูกหยิบมาออกแบบให้มีความพรีเมียมขึ้น

มากันที่ชุดสำหรับพิธีเปิดก่อน Ralph Lauren ออกแบบชุดนักกีฬาทั้งชายและหญิงด้วยเสื้อเบลเซอร์ผ้าขนสัตว์สีน้ำเงินกรมท่าเข้ารูป และตกแต่งบริเวณปกเสื้อด้วยแถบคาดสีแดงและสีขาว พร้อมโลโก้ Ralph Lauren ที่บริเวณอกด้านซ้าย ส่วนเสื้อด้านในเลือกเป็นเสื้อเชิ้ตอ็อกซ์ฟอร์ดลายทางสีน้ำเงินกรมท่าและสีขาว

ส่วนในพิธีปิดนั้นชุดของนักกีฬาจะลำลองขึ้น ดูสบาย ๆ ขึ้น ด้วยชุดแจ็คเก็ตสไตล์มอเตอร์ไซค์สีขาวพร้อมรายละเอียดสีแดง ขาว และน้ำเงิน สวมคู่กับกางเกงยีนส์สีขาวนั่นเอง

“Ralph Lauren ได้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบที่ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความเป็นอเมริกันได้เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณและความภาคภูมิใจของทีมสหรัฐอเมริกาอีกด้วย” Sarah Hirshland ซีอีโอของคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกของสหรัฐอเมริกา กล่าว

ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 สหรัฐอเมริกา

‘เกาหลีใต้’ กับอัตลักษณ์ในอดีตแห่งที่เด่นชัดจากสัญลักษณ์ประจำชาติ

สำหรับประเทศในโซนเอเชียที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นที่หนึ่ง และเราคิดว่าชุดประจำชาติของเขาจะไม่ทำให้เราผิดหวังเลยคือ ‘เกาหลีใต้’ ซึ่งก็เลือกใช้อัตลักษณ์ที่หลากหลายมาประกอบรวมกันจนกลายเป็นชุดที่ให้นักกีฬาสวมใส่ในพิธีเปิดแบบสุขุม ทางการ แต่ก็ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมตัวเอง

‘Musinsa Standard’ แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นสุดโดดเด่นของเกาหลีใต้เป็นผู้ดูแลการออกแบบชุดในครั้งนี้ โดยพวกเขาหยิบเอาหน้าตาทางวัฒนธรรมแสนดั้งเดิมอย่าง ‘เครื่องลายคราม’ ที่นำมาทั้งลวดลาย และคู่สีขาว-น้ำเงิน มาต่อยอดเป็นลวดลายด้านในของเสื้อเบลเซอร์สีฟ้า ซึ่งส่วนด้านนอกอย่างสีฟ้านี้ก็เป็นจะทำให้นักกีฬามีความโดดเด่น รวมถึงยังออกแบบเข็มขัดบนเสื้อที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ จากการนำเอา ‘ชุดราชสำนักเกาหลี’ มาดัดแปลงใหม่ให้ทันสมัยขึ้น

เนื้อผ้าที่เลือกใช้ทั้งส่วนเสื้อเบลเซอร์ และกางเกงก็เป็นผ้าวูล จากความตั้งใจให้นักกีฬาสวมใส่ได้อย่างสบายในอากาศร้อน และรองเท้าผ้าใบที่ออกแบบมาเป็นพิเศษซึ่งมีความโน้มเอียงไปยังหน้าตาแบบรองเท้าวิ่งด้วย

อีกทั้งนักกีฬาจะได้รับสร้อยคอพร้อมจี้ที่ทำด้วยเงินเป็นเครื่องประดับ สัญลักษณ์วงกลมลาย ‘แทกึก’ เป็นเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับที่อยู่บนธงชาติของเกาหลีใต้ ที่มีความหมายถึงพลังบวก และพลังลบที่ผสมผสานกลมเกลียวกันในกรอบวงกลมแบบสมดุลกัน พร้อมด้วยการสกรีนลายคำว่า ‘Team Korea’ ตามเครื่องแต่งกายทุกชิ้นอีกด้วย

ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 สาธารณรัฐเกาหลีใต้

‘สาธารณรัฐเช็ก’ กับชุดแห่งการสะท้อนอัตลักษณ์ทั้งประเทศตัวเองและประเทศเจ้าภาพ 

“ถึงแม้จะมีผู้คนมากมาย แต่ก็ไม่มีใครคิดถึงเรา นี่คือสิ่งที่เราอยากจะทำให้สำเร็จในใจกลางกรุงปารีส เมืองหลวงแห่งแฟชั่น” ประโยคนี้ของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสาธารณรัฐเช็กอย่าง Jiří Kejval คือสิ่งที่ทำให้เราหยิบประเทศสาธารณัรัฐเช็กมาเล่าเป็นประเทศสุดท้ายของบทความนี้

ชุดสุดโดดเด่นนี้เกิดจากการออกแบบของ ‘Jan Černý’ ดีไซเนอร์มือหนึ่งของประเทศ และแบรนด์ ‘Alpine Pro’ พันธมิตรอย่างเป็นทางการของทีมโอลิมปิกประเทศสาธารณรัฐเช็ก ซึ่งนำแนวคิดของเสื้อคลุมโอเวอร์ไซส์พองลมของประเทศตัวเองที่เรียกว่า ‘Baloňák’ มาใช้เป็นโจทย์ในการออกแบบ

และกลายเป็นเสื้อโค้ตสีขาวที่ถูกแต้มด้วยลาย Rorschach หรือลายที่ดูคล้ายหมึกสีน้ำเงินที่หยดทั่วชุด ซึ่งเป็นการยกย่องผลงานศิลปะนามธรรมจากรอยน้ำหมึกหยดที่โดดเด่นของ Vladimír Boudník นักออกแบบกราฟิกและจิตรกรที่เกิดในปี 1924 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ปารีสเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกครั้งล่าสุดเมื่อ 100 ปีที่แล้วพอดิบพอดี

ส่วนชุดด้านในนั้นออกแบบมาให้เป็นเสื้อโปโล และกางเกงที่เข้าชุดกัน โดยออกแบบส่วนบนของเสื้อให้มีรอยสีส้มสบัดใส่เป็นจุด ๆ บนพื้นสีขาวบริเวณคอปก ไล่ลงมาบริเวณเหนือหน้าอก กลายเป็นสีส้มที่เด่นชุดกลางลำตัว แล้วจึงกลายเป็นรอยสีกรมท่าสบัดบริเวณกลางลำตัวลงมาถึงชายเสื้อ และออกแบบกางเกงให้เป็นสีกรมท่าเดียวกัน พร้อมทั้งรองเท้าผ้าใบสีน้ำเงินเข้มที่ออกแบบมาให้นักกีฬาสวมใส่ได้อย่างสบาย ๆ อีกทั้งยังมีเครื่องแต่งกายปลีกย่อยอื่น ๆ อีกอย่างผ้าพันคอ ถุงเท้า ที่ออกแบบมาให้เข้าชุดกัน

ชุดพิธีเปิดโอลิมปิก 2024 สาธารณรัฐเช็ก

นอกจากนี้ชุดพิธีเปิดของสาธารณรัฐเช็กยังเน้นการออกแบบให้เป็น Unisex คือทุกเพศสามารถสวมใส่ชุดนี้ได้เหมือนกันอย่างไม่มีการแบ่งแยก และเป็นคู่สีที่โดดเด่นและแฟชันสุด ๆ จากการตัดกันของสีขาว-ส้ม-น้ำเงิน ที่แตกต่างจากชุดสียอดนิยมอย่างแดง-ขาว-น้ำเงิน

รวมถึงยังมีเครื่องรางนำโชคที่ Jan Černý ออกแบบร่วมกับแบรนด์ ‘Lasvit’ มีชื่อเสียงภายในประเทศอย่าง ‘Linden Leaf’ หรือใบลินเดน ที่มีหน้าตาคล้ายรูปหัวใจ ทำจากแก้วขนาดเหมาะมือ เพื่อปกป้องและเสริมความแข็งแรงให้แก่นักกีฬาระหว่างการเล่นกีฬาอีกด้วย

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือนักกีฬาจะรู้สึกดีเมื่อได้เห็นคอลเลกชันนี้ และคอลเลกชันนี้ยังสะท้อนถึงดีไซน์ของคนรุ่นใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในสาธารณรัฐเช็กอีกด้วย ผมคิดว่าเราในฐานะประเทศเล็ก ๆ ควรจะดึงดูดความสนใจด้วยลุคที่โดดเด่น แต่ทันสมัยและนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเองอย่างตรงประเด็น และดึงความสนใจของผู้คนมาที่ตัวเราเองมาหาเราได้”

“เรามีเวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้นในการสร้างความประทับใจให้ทุกคนในระหว่างการถ่ายทอดสดที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก นั่นนับเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับผมเลยทีเดียว”Jan Černý กล่าว

ที่มา

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป