จากแค่ชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจกับป้ายลอก ๆ ลาง ๆ ของแลนด์มาร์กกลางกรุงฯ บน Skywalk แยกปทุมวัน นำมาสู่ความสนใจทั่วประเทศอีกครั้งเมื่อป้ายจาก ‘Bangkok’ ถูกลอกคำว่า ‘Kok’ จนเหลือคำว่า ‘Bang’ เมื่อคืนวานนี้ และกลายเป็นป้ายใหม่สีสวยสดใส ที่ทำให้ภาพลักษณ์ที่ถูกทิ้งกว่า 18 ปี อย่าง ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว (Bangkok…City of Life)’ ถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปเรียบร้อย

วันนี้ SUM UP เลยอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับชุดสี กราฟิก และฟอนต์ที่ปรากฏในฐานะ Corporate Identity ใหม่ของ ‘กรุงเทพมหานคร’ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว และกำลังถูกใช้งานเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของเมืองหลวงแห่งนี้กัน

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก Farmgroup

ที่มาที่ไปอย่างคร่าว ๆ ของ Corporate Identity ของกรุงเทพฯ

กราฟิกชุดนี้เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ ‘Farmgroup’ บริษัท Creative & Design Consultancy ที่เคยออกแบบผลงาน Corporate Identity ให้กับแบรนด์และองค์กรดัง ๆ หลายแห่ง และได้เข้าร่วมโครงการปรับภาพลักษณ์ครั้งนี้จากคำแนะนำของคนรู้จัก จนได้เข้ามานำเสนอ Portfolio เพื่อประมูลงาน และได้สิทธิ์ในการทำงานครั้งนี้

สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็คือการวางรากฐานของงานสื่อสารภาพลักษณ์ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมากรุงเทพฯ ไม่เคยมี ‘ระบบอัตลักษณ์’ ที่ครบถ้วน และชัดเจนมาก่อนเลย จะมีก็เพียงแค่ ‘ตราประจำจังหวัด’ และ ‘สีเขียว’ ก็เท่านั้น

แต่เดิมตราประจำจังหวัดอย่างสัญลักษณ์พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เป็นของขวัญที่ ‘กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (สมเด็จครู)’ วาดให้แด่รัชกาลที่ 6 จากนั้นทางกรุงเทพมหานครจึงค่อยไปขอภาพนั้นมา แล้วให้ทาง ‘กรมศิลปากร’ ร่างลายเส้นลอกลายตามแบบ แล้วก็กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์กรุงเทพฯ ส่วน ‘สีเขียว’ หรือ ‘สีเขียวมรกต’ ของกรุงเทพฯ นั้นมีที่มาจากสีผิวของพระอินทร์ หากอ้างอิงข้อมูลตามพุทธประวัติ

งานครั้งนี้ Farmgroup ใช้เวลาทั้งสิ้น 120 วัน โดยหั่นกรอบเวลาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกใช้ในการศึกษาและค้นคว้าข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อการสร้างสรรค์ และอีกส่วนใช้ไปกับสำหรับการออกแบบ และทดลองสร้างสรรค์ไปเรื่อย ๆ จนได้เป็นผลลัพธ์สุดท้าย

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก Farmgroup

Corporate Identity ใหม่นี้ประกอบไปด้วยตราสัญลักษณ์ใหม่ที่ถูกร่างขึ้นอย่างปราณีต ผ่านมุมมองของการเก็บความตั้งใจเดิมของทั้งสมเด็จครู และกรมศิลปากรไว้อย่างครบถ้วน เพียงแต่เพิ่มความคมชัดของเส้นบางเส้นที่เลือนลาง และขยายช่องว่างบางจุดที่อาจส่งผลให้การนำโลโก้ไปใช้บนพื้นที่ขนาดเล็กมีปัญหาได้

แล้วก็ Logotype รอง คำว่า กทม, BMA และ BKK เพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการใช้งานเพิ่มเติมจากตราสัญลักษณ์เดิม ที่บางงานประชาสัมพันธ์อย่างการนำไปทำสติกเกอร์ติดบนพื้น ความศักด์สิทธิ์ของตราสัญลักษณ์หลักอาจจะทำให้ดูไม่เหมาะสมนัก

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก Farmgroup

ถัดมาคือการสร้าง ‘Custom Font’ หรือแบบอักษรอัตลักษณ์อย่างฟอนต์ ‘เสาชิงช้า (Sao Chingcha)’ เพื่อให้งานประชาสัมพันธ์ของกรุงเทพฯ มีความเป็นเฉพาะตัว โดยถอดแบบไอเดียมาจากตัวอักษรที่กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้วาด ซึ่งมักจะรู้จักกันในชื่อของ ‘ตัวนริศ’ หรือฟอนต์ที่เรามักเห็นตามร้านทอง หรืองานบุญทั้งหลาย รวมถึงกำหนดแบบอักษรหลัก-รอง ให้เข้าชุดกัน

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก Farmgroup

อีกทั้งยังมีการกำหนดค่าสีเขียวที่เหมาะสมที่สุด และค่าสีใกล้เคียงเพื่อให้การนำไปใช้ในบริบทที่ต่างกัน อย่างการทำเป็นสีทาบ้าน หรือกลายเป็นสีเขียวบนพื้นวัสดุที่อาจทำให้ค่าสีเพี้ยน ได้ความบกพร่องได้ พร้อมทั้งชุดสีอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาให้เข้ากันเพื่อการใช้งานรูปแบบอื่น ๆ ในอนาคต รวมถึงยังมีการออกแบบ Signature Graphic อย่างการนำ ‘วัชระ’ ที่พระอินทร์ถืออยู่บนโลโก้มาขยายสัดส่วน และครอบเอาไปใช้เพียงบางจุดเพื่อนำองค์ประกอบชุดนี้ไปเป็นแนวทางเลือกหลักของการสร้างสรรค์งานกราฟิกต่อไป อย่างการนำมาใส่บนป้าย Skywalk ใหม่นี้ทั้งทางด้านซ้ายและขวา

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก Farmgroup

นอกจากนี้พวกเขายังออกแบบรูปแบบกราฟิกที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในหน้าที่ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งลายขวดน้ำ นามบัตร ถุงผ้า กระเป๋า หมวก เสื้อผ้า สื่อประชาสัมพันธ์ สติ๊กเกอร์ติดรถขนส่งมวลชน เทมเพลตสำหรับงานกราฟิก และอีกมากมาย

โดยงานกราฟิกชุดนี้เริ่มใช้งานจริงเมื่อช่วงกลางปีเป็นต้นมา ผ่านป้ายโฆษณาใต้ทางรถไฟฟ้า หรือการค่อย ๆ ทยอยนำมาใช้งานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทางช่องทางออนไลน์ ที่ทำให้ผู้คนค่อย ๆ จดจำหน้าตาใหม่นี้ของกรุงเทพฯ

ภาพจาก Farmgroup

เสียงตอบรับอย่าง ‘ใส่ร้าย’ ของ ‘ป้ายสี’ ใหม่กลางกรุง

อย่างที่กล่าวไปช่วงต้นว่าการที่ ‘ป้าย’ แห่งนี้ถูกสนใจมาจากความ Hype ของชาวต่างชาติในการใช้บริเวณนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินใหม่ของกรุงเทพฯ แล้วค่อย ๆ ขยายความสนใจใหม่จากการลอกป้ายไม่เสร็จ จากความเก่าที่ทำให้แผ่นป้ายเดิมของแคมเปญ ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว (Bangkok…City of Life)’ ที่ถูกติดมาเกือบ 20 ปีลอกออกยากขึ้น จนในวันถัดมาอย่างช่วงเช้ามืดของวันนี้ (29 พฤษภาคม 2567) ทางกรุงเทพฯ แก้ปัญหานี้ด้วยติดป้ายใหม่ทับลงไปเลย

กทม. / กรุงเทพมหานคร
ภาพจาก เพจ หวังสร้างเมือง

หน้าตาใหม่ของป้ายนี้ก็คือจุดเด่นตรงคำว่า ‘กรุงเทพฯ – Bangkok’ ที่ใช้ Custom Font ‘Sao Chingcha’ ประกบข้างด้วย Signature Graphic อย่าง ‘วัชระ’ อาวุธคู่กายของพระอินทร์ และมีพื้นหลังเป็นเฉดสีเขียวมรกต (PANTONE 3415 C) ที่มี Code สีคือ #00744B

ภาพรวมของป้ายใหม่นี้สอบผ่านในแง่ของการรักษาอัตลักษณ์ให้นิ่ง จากการมี Corporate Identity เป็นของตัวเองแล้ว เพียงแต่ผู้คนในสังคมอาจจะยังไม่ได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มากเท่าไหร่ จนหลายเสียงด่วนตัดสินชิ้นงานกราฟิกนี้ในหลายแง่มุม

ทั้งการมองว่าฟอนต์ที่ใช้ป้ายดูเชยและแก่ ไม่ทันสมัย จากเหตุผลในการออกแบบที่มีสารตั้งต้นของการเกิดฟอนต์นี้ผ่านรักษากลิ่นของรูปแบบลายมือนริศที่มีมากว่า 100 ปี, มองว่าภาพประกอบทั้งซ้ายและขวาของป้ายดูคล้ายดอกไม้อะไรสักอย่างที่ไม่รู้ที่มาที่ไป หากแต่มันคือหนึ่งในอัตลักษณ์ที่มีมาแต่แรกในการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ครั้งนี้ หรือมองว่าพื้นหลังสีเขียวมรกตนั้นคล้ายกับ CI ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ที่อาจเป็นแค่ข้อผิดพลาดของการพิมพ์ซึ่งคลาดเคลื่อนไป

กลายเป็นว่าความสนใจของสังคมทั้งหมดดูเหมือนกับว่าเป็นการใช้ ‘ใจ’ ตัวเองตัดสินไปอย่างโผงผาง และอาจจะไม่ถูกนักหากยังไม่เคยรู้ที่มาที่ไปของสิ่งนี้ ว่าด้วยเหตุใดจึงใช้ฟอนต์นี้ สีนี้ และกราฟิกนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วเหตุการณ์นี้ก็ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้คนหันมามองเห็นความสำคัญกับต้นทางที่ว่า “กรุงเทพฯ มีอัตลักษณ์องค์กรเป็นของตัวเองแล้ว” เพิ่มมากขึ้น และอาจจะเห็นความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยแต่มหาศาลด้วยเช่นกัน

ที่มา

AUTHOR

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป