ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ องค์กรต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในงาน Creative Talk Conference 2024 ได้ชวนคุยเรื่องอนาคตสื่อออนไลน์ผ่าน 3 มุมมองของคนในแวดวงสื่อ คือ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จากช่อง Beartai, จิตสุภา วัชรพล จากไทยรัฐออนไลน์, ณัฏฐา โกมลวาทิน จาก The Standard
‘พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์’ จากช่อง Beartai กล่าวว่า ช่วงเวลาที่หอมหวานที่สุดของการทำออนไลน์คือช่วงที่มีโรคระบาดโควิด-19 แต่ปัจจุบันการทำสื่อออนไลน์อยู่ในช่วงขาลง มีคนทำสื่อมากขึ้นแต่คนดูน้อยลง จึงจำเป็นต้องลดขนาดองค์กรลง เปลี่ยนเป็นทำเล็ก ๆ แต่เฉพาะทางมากขึ้น และสิ่งที่ Beartai มองว่าเป็นความท้าทายคือ การทำคอนเทนต์ Long Form และคนดูดูจบ เพราะคอนเทนต์ Long Form มันมีมูลค่าทางการตลาดซัปพอร์ตกัน
นอกจากนี้ การทำสื่อต้องมี Business Model ที่ชัดเจนเพราะหากไม่มีรายได้ก็จะไม่มีความยั่งยืนในการทำสื่อ รายได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในปัจจุบันจะเห็นว่ามีคนกระโดดลงมาทำคอนเทนต์บน Youtube มากขึ้นแต่ก็เลิกทำไปเยอะเช่นกัน นั่นก็เพราะเป็นการทำที่ขาด Business Model แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากจุดประสงค์ไม่ใช่การทำเพื่อรายได้ นอกจากนี้ยังเสริมอีกว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มที่เสิร์ฟคอนเทนต์ได้ตรงกับความต้องการของคนก็คือ Youtube ส่วน Facebook จะเป็นการเสิร์ฟคอนเทนต์ความสนใจโดยรวมของคนในประเทศ ทำให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับการทำสื่อ ส่วนมุมมองที่มองว่าการขายคอนเทนต์ให้คนดูกดซื้ออาจจะไม่ค่อยเวิร์กในบ้านเรา
ส่วน ‘จิตสุภา วัชรพล’ จากไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ไทยรัฐออนไลน์ก็ได้มีการปรับด้วยการเพิ่มช่องถึง 8 ช่องเพื่อตอบสนองความต้องการและความสนใจของคนแต่ละกลุ่ม เพราะก่อนหน้านี้เป็นการรวมคอนเทนต์ไว้ที่ช่องเดียว สิ่งที่ตามมาคือ คอนเทนต์ลงไปกลบบางคนเทนต์เพราะจำนวนที่มากเกินไป ซึ่งการแยกช่องก็เป็นการจัดหมวดหมู่ให้ชัดเจน และแต่ละช่องก็มีมาตรวัด KPI ที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เช่น ต้องการยอดวิว, ต้องการรายได้, ต้องการให้ซัปพอร์ตแบรนด์
ด้านมุมมองเรื่องการขายคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคมากดซื้อข่าว ทางไทยรัฐเคยพยายามลองทำมาก่อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องล้มเลิกไป และมองว่า Business Model ที่ขายคอนเทนต์ในบ้านเราทำได้แต่ในวงการบันเทิงเท่านั้น ส่วนพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในปัจจุบันไม่เสถียรมีความเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา จึงต้องปรับตัวตลอดเวลาตามไปด้วย
ส่วนมุมมองเรื่องอนาคตของสื่อออนไลน์อยากให้กลับมายึดถึงจุดประสงค์ในการทำสื่อให้มั่นใจว่าทำเพราะต้องการอะไร และหาจุดบาลานซ์ระหว่างจุดประสงค์ของการทำสื่อและความอยู่รอดของธุรกิจ
‘ณัฏฐา โกมลวาทิน’ จาก The Standard กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา The Standard ก็มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และได้แยกออกมาเป็น 8 ช่องโมเดลเดียวกับไทยรัฐ คอมมูนิตี้ของคนเสพสื่อ The Standard ค่อนข้างชัดเจนคือ อายุกลาง ๆ อยู่ระหว่าง 25 – 35 ปี สนใจประเด็นหนัก ๆ แบบเจาะลึก ซึ่งน่าแปลกใจมากว่าบางคอนคอนเทต์ที่มีประเด็นหนักและลึกมาก แต่ผลตอบรับค่อนข้างสูง ส่วนมุมมองต่อการทำสื่อในอนาคตมองว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวเพราะคนเสพสื่อเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยี และมองว่าในอนาคต Business Model แบบขายคอนเทนต์ก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจ
ส่วนการทำสื่อต่อไปก็จำเป็นจะต้องรักษาฐานความเป็น The Standrad แต่จะมีการปรับวิธีเล่าให้เข้ากับคนเสพสื่อ ส่วน Youtube จะยังเป็นสารหลักของ The Standard และก็หาการนำเสนอให้เข้ากับแต่ละแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ดี การทำสื่อออนไลน์ค่อนข้างมีความท้าทายสูงและมีคู่แข่งที่ค่อนข้างมาก สิ่งที่ได้จากการเสวนาอนาคตของการทำสื่อออนไลน์ก็คือ จุดประสงค์ต้องชัด, รู้จักกลุ่มเป้าหมายตัวเอง, รู้จักแพลตฟอร์ม และหาจุดบาลานซ์การทำธุรกิจและจุดประสงค์ของการทำสื่อให้ได้นั่นเอง