ในปัจจุบันการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและต้องพบปะกับผู้คนหลากหลายทำให้ชีวิตเราต้องเจอกับคนที่เป็นพิษหรือ Toxic People อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ ได้แบ่งคนออกมาเป็น 2 มุมคือ ‘ตัวตน’ กับ พฤติกรรม หรือ ‘สันดาน’ กับ ‘สันดร’
ตัวตนหรือสันดาน คือ สิ่งที่อาจจะติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด เป็นพฤติกรรมฝังรากแน่น และตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวตน เช่น การเป็นคนความคิดแปลกและเชื่อในความคิดที่แปลกและหมกมุ่น, คนที่มีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น ดราม่า, หิวแสง, ทำผิดจรรยาบรรณ และคนที่เต็มไปด้วยความกลัว, กังวล, ย้ำคิดย้ำทำ, ผิดพลาดไม่ได้
ส่วนสันดรหรือพฤติกรรมก็คือ Toxic People ที่หมายถึง พฤติกรรมที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัด ซึ่งเป็นเเค่เรื่องพฤติกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สาเหตุอาจจะมาจากหลาย ๆ สาเหตุ และเราทุกคนล้วนเป็นคน Toxic
ส่วนพฤติกรรมที่ Toxic ในองค์กร เช่น มาสาย, ลาป่วยทั้งที่ไม่ป่วย, ขี้นินทา, การขึ้นเสียงหรือใส่อารมณ์ เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับองค์กร หมอเอิ้นให้รับมือด้วยการมองทะลุถึงเบื้องหลังพฤติกรรม Toxic เหล่านี้ เช่น
- คนที่ขี้นินทาเพราะกลัวคนอื่นได้ดีกว่า
- คนขี้บ่นเพราะเป็นวิธีการบรรเทาทุกข์ของคนนั้น ๆ คนชอบควบคุมเพราะทุกข์จากความกลัวที่จะผิดหวัง
- คนชอบเรียกร้องความสนใจทุกข์จากความไม่มั่นใจว่าตนเองมีตัวตนหรือเปล่า
- คนขาดความรับผิดชอบเพราะกำลังทุกข์จากการที่เขาวิ่งหนี ไม่เชื่อมั่นว่าเขารับผิดชอบได้ และคนที่ขาดความรับผิดชอบจะหนีไปตลอด แต่ลึก ๆ จะเก็บสะสมความรู้สึกผิด
นอกจากนี้ความ Toxic ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการทำงานสูงถึง 94%, สูญเสียพนักงานที่มีความสามารถ, ภาพลักษณ์ขององค์กร, ความสัมพันธ์ของคนในองค์กร, ประสิทธิภาพการทำงานลดลง นอกจากนี้ 25% ของผู้คนอยู่ในภาวะเครียดสูงจากงานซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางกายและทางใจ
วิธีการรับมือกับคน Toxic ด้วย 4 ข้อ
- รู้เท่าทัน 3 รู้ ได้แก่ รู้เรา คือ รับรู้อารมณ์และความคิดของตัวเองตามความเป็นจริง รู้เขา คือ มองรูปแบบพฤติกรรมและแยกให้ออกระหว่างพฤติกรรมหรือตัวตน รู้ผลกระทบ คือ ระวังการมองตัวเองเป็นเหยื่อ
- ตอบสนองอย่างเหมาะสม คือ การไม่เล่นเกมด้วย การเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นอีกหนึ่งวิธีในการรับมือ, เรียนรู้ที่จะช่างมัน ไม่เสียเวลากับเรื่องไม่สำคัญ แต่หากเป็นเรื่องสำคัญให้มองให้เห็นทุกข์ของอีกฝ่าย, ใช้คำถามให้เหมาะสม, ฟังให้ลึกซึ้ง, สื่อสารอย่างสร้างสรรค์, ขอความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
- เปลี่ยนโฟกัส คือ การเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาและการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่มี เช่น การมองว่าเราเรียนรู้คน Toxic ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีและเราจะไม่เป็นคนแบบนั้น และย้ายใจมาสนใจสิ่งที่เราควบคุมได้และอย่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมแย่เสียเอง
- เติมเต็มพลัง เมื่อเราเผชิญกับความ Toxic ให้เติมพลังทั้งทางกายและทางใจแก่ตนเอง เช่น การออกกำลังกาย, กินดี, นอนดี, ขับถ่ายดี และหาวิธีพัฒนาความคิด และหากำลังใจจากคนอื่น
อย่างไรก็ดี เมื่อนำเทคนิคที่ได้จากหมอเอิ้นไปปรับใช้กับตนเองแล้วก็อาจจะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับความ Toxic ได้ดีขึ้นและก็จะไม่กลายเป็นคย Toxic ไปด้วยนั่นเอง