“โต ๆ กันแล้ว ยังจะกลับไปทำอะไรเป็นเด็กอยู่ได้”
มนุษย์ปุถุชนวัยผู้ใหญ่ หรือวัยที่เริ่มบรรลุนิติภาวะหลายคนอาจจะเคยได้ยิน หากไปทำอะไรไม่เข้าเรื่อง หรือทำอะไรในแบบที่ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ เหมือนจะไม่อนุญาตให้ทำ
พูดให้ง่ายกว่านั้น สังคมก็อาจจะไม่อยากให้คุณทำด้วยเช่นกัน
แหงล่ะ การกลับไปทำอะไรแบบเด็ก ๆ มันดันกลายเป็นการกลับไปทำอะไรที่กรอบสังคมไม่ได้วางเอาไว้ แต่บ่อยครั้งที่การคิดหรือทำอะไรในแบบที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้แล้ว อาจจะนำมาซึ่งจิตวิญญาณแห่งความเป็นเด็กที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณก็ได้
แต่ ‘ญาดา พรชำนิ’ ผู้ก่อตั้ง ‘Mutual Ground’, สถาปนิกผังเมือง และนักพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะเธอมองว่าบางครั้งการกลับไปทำอะไรโดยไม่ใช่บรรทัดฐานสังคมที่เป็นผู้ใหญ่ทำไว้ ก็อาจทำให้ชีวิตได้เห็นแง่มุมใหม่ ๆ มากขึ้น

เธอและ ‘ริทัศน์บางกอก’ จึงตั้งใจสร้างสรรค์กิจกรรมที่ชื่อ ‘เด็กสลักหินพา PLAY’ ทริปท่องเที่ยวเฉพาะกิจ ที่ไกด์นำเที่ยวจะเป็นเด็ก ซึ่งไม่ใช่เด็กที่ถูกป้อนข้อมูลพื้นที่ด้วยเนื้อหาเยอะ ๆ แน่น ๆ แล้วนำเสนอให้เราในฐานะผู้เข้าร่วมทริปแบบท่องจำ แต่เป็นเด็ก ๆ หลากหลายคนใน ‘ชุมชนตรอกสลักหิน’ ชุมชนข้างสถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือที่ทุกคนรู้จักในชื่อสถานีหัวลำโพง ที่ต่างคนต่างถูกคัดเลือกให้มาร่วมกันออกแบบเส้นทาง และสร้างสรรค์กิจกรรมภายในทริปครั้งนี้ด้วยตัวเอง
ทริปอื่น ๆ ภายในชุมชนที่คุณอาจเคยรู้จักคงเป็นการพาชมสถานที่สำคัญภายในพื้นที่ เล่าเนื้อหาหนัก ๆ เชิงประวัติศาสตร์ แต่ทริปนี้เด็ก ๆ จะพาคุณไปรู้จักต้นไม้ต้นใหญ่ของชุมชน พาคุณไปรู้จักแลนด์มาร์กชุมชนอย่างแมวตัวโปรดของผู้คนที่ชื่อแสบ หรือพาไปเล่นสนามเด็กเล่นที่พวกเขาเล่นกันเป็นประจำ ที่ถึงแม้คุณอาจจะไม่ได้อยากเล่นเพราะคุณโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่เด็ก ๆ เจ้าของทริปจะพาคุณไปปลดแอกทุกวัยวุฒิ เพื่อพาคุณกลับไปสู่การทำอะไรที่ไม่ได้ทำเมื่อโตขึ้นอย่างแน่นอน
น่าเสียดายที่วันจัดทริปเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เราไม่ได้เข้าร่วมการเดินทางครั้งนั้น วันนี้เราเลยนัดพบกับญาดา เพื่อให้เธอพาเราเดินทริปนี้ในรูปแบบเสมือนจริงอีกครั้งใน Route เดิม พร้อมแวะพักตามจุดต่าง ๆ รีแคปรายละเอียดระหว่างเส้นทาง เบื้องหลังการทำงาน และจบทริปด้วยการหาร้านเล็ก ๆ นั่งคุยกันถึงที่มาที่ไปของโปรเจกต์สุดน่ารักในครั้งนี้
ที่เราเชื่อว่าคุณจะไม่มีทางคาดเดาถึง ถ้าคุณไม่ได้เป็นเด็กจริง ๆ


เรานัดเจอญาดาที่จุดเริ่มต้นทริปอย่าง ‘สถานีรถไฟกรุงเทพฯ’ พื้นที่ที่เธอและน้อง ๆ เลือกเป็นจุดนัดพบแรก เพราะเป็นแลนด์มาร์กที่ผู้คนน่าจะนึกออกได้ง่าย และเป็นจุดนัดพบที่ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันกับชุมชนตรอกสลักหิน เพราะเกิดขึ้นมาในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน
จากนั้นเธอจึงเริ่มต้นพาเราเดินเลาะตัวอาคารไปยังทางออก 2 ของสถานี MRT หัวลำโพง เพื่อข้ามไปยังทางออก 3 ใกล้กับทางเข้าเล็ก ๆ ของซอยพระยาสิงหเสนี ที่จะเริ่มต้นพาเราไปยังตัวชุมชน
“โจทย์ของการจัดทริปคือ ‘กรุงเทพเมืองรวมมิตร’ เป็นโครงการหลักของ ‘มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม – Together Foundation’ ซึ่งได้ทุนจาก สสส. โดยเป็นโครงการที่เน้นการทำงานสร้างสรรค์เพื่อดูแลผู้พิการเป็นหลัก โดยคำว่า ‘รวมมิตร’ มาจากความหมายที่บอกว่าเมืองหลวงแห่งนี้ผสมผสานไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งก็รวมถึงผู้พิการด้วย แต่เนื้อหาของโครงการอยากให้กว้างกว่านั้น มากกว่าจะเป็นงานเฉพาะกลุ่ม เลยกลายเป็นโปรเจกต์ที่ตั้งใจทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ กลายเป็นจุดที่สร้างการเรียนรู้ให้ผู้คนได้ผ่านการท่องเที่ยว
มูลนิธินี้ก็เห็นว่า Mutual Ground ถนัดเรื่องการทำงานกับชุมชนด้วย ก็เลยมาคุยกันว่ามันมีชุมชนไหนในกรุงเทพฯ ที่มีอัตลักษณ์ชัด ๆ แล้วอยากจัดทริปให้คนเข้าไปเรียนรู้บ้าง ก็เลยได้ออกมาเป็น 2 พื้นที่ คือชุมชนบ้านครัว กับชุมชนหัวลำโพง
เลยไปขอคุยกับทาง ‘ริทัศน์บางกอก’ ที่รู้จักกันอยู่แล้ว และริทัศน์ก็กำลังทำโปรเจกต์ย่านสร้างสรรค์ที่ชุมชนนี้อยู่พอดี ก็เลยเข้ามาทำที่นี่เพื่อให้เป็นงานที่ต่อเนื่องกันได้”
หลังจากเดินผ่านบันไดเลื่อนหน้าทางออก 3 ญาดาก็พาเราเข้าสู่บริเวณด้านในพื้นที่ที่จะนำไปสู่ชุมชน โดยเริ่มจากการเดินผ่านร้านรวงข้างทางที่มีเป็นหย่อม ๆ สู่พื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยนักหากไม่ได้เดินเข้ามาสำรวจจริง ๆ
เธอบอกกับเราว่าในวันจัดทริปจริง เด็ก ๆ เจ้าของทริปทั้ง 12 คนนัดแนะกันว่าจะแบ่งหน้าที่ออกเป็น 2 ทีม นั่นคือทีมไกด์ และทีมซัปพอร์ตที่คอยถือกล่องพยาบาล หรือกระจายกันดูแลผู้ร่วมทริปในวันนั้น ซึ่งน้อง ๆ ต่างรักษาตำแหน่งหน้าที่ของตัวเองออกมาได้ดีมาก คอยถามผู้เข้าร่วมทริปเสมอว่า “มีใครจะเป็นลมมั้ยครับ!” ซึ่งเป็นโมเมนต์ที่น่ารักดีที่ได้เห็นเด็ก ๆ ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างแข็งขัน

ระหว่างพูดคุยกัน เท้าเราก็เดินทางมาถึงจุดแวะพักจุดแรกของทริป ‘เบ๊โอชา’ ร้านขายน้ำชงและของหวานที่ขายมาตั้งแต่พื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นหลุมหลบภัย และขายเพียงเบียร์เท่านั้น
เหตุผลหลักที่เด็ก ๆ แนะนำร้านนี้เป็นเพราะความเป็นเอกลักษณ์ของร้าน ที่สะท้อนออกมาผ่านเมนูชื่อแปลกที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างหน่อเค่า เมนูกาแฟผสมชาเย็น หรือนมเจ้าฟ้า เมนูที่ญาดาแนะนำให้เราลอง เพราะหน้าตาของน้ำที่เป็นสีม่วง แต่รสชาติก็คือเมนูนมชมพูเย็นที่คุ้นเคยนั่นแหละ เพียงแต่เติมน้ำอัญชันลงไปเพื่อย้อมสีให้แตกต่าง ซึ่งก็เป็นวิธีทำให้เมนูเดิม ๆ แปลกใหม่ได้เหมือนกัน
‘คุณป้าเทียนจิตต์ อริยะภิญโญ’ เจ้าของร้านเบ๊โอชา รุ่นที่ 3 บอกกับเราระหว่างชงน้ำเจ้าฟ้าว่าเธอเห็นเมนูนี้มาจากงานกาชาด ที่บูธของกรมสมเด็จพระเทพรัตนฯ แล้วเห็นว่าน่าสนใจดี เลยเอามาประยุกต์ลองทำที่ร้านจนกลายเป็นเมนูใหม่ ส่วนร้านนี้ของเธอเปิดมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2481 เพราะเธอจำได้เพียงว่าพ่อของเธอช่วยอาแปะขายมาตั้งแต่ตอนนั้น เป็นร้านที่ไม่ว่าใครที่ลงรถไฟมาจะแวะกินดื่มกันเป็นปกติ รวมถึงร้านอื่น ๆ ในซอยนี้ทั้งหมด
แต่หลังจากการมาถึงของทางด่วน ทำให้พื้นที่ชุมชนที่เคยพลุกพล่านถูกตัดขาด หน้าร้านที่หันออกสู่ถนนใหญ่ก็มีสังกะสีขึ้นมาบดบัง บวกกับ COVID-19 เอย การย้ายจุดจอดรถไฟหลักไปสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เอย ทั้งหมดทำให้พื้นที่แห่งนี้ซบเซาลงไปมากกว่าเดิม


“ถ้าเป็นสมัยก่อนในซอยนี้นะ ที่เห็นทำกันทั้งชุมชนเลยคือเทียนขาไม้
ที่ทุกวันนี้เขาไหว้กันตามศาลเจ้า แต่พาทางด่วนมา บ้านโดนรื้อ หายหมดเลย เดี๋ยวนี้ไม่รู้ไปทำที่ไหนกันแล้ว”
คุณป้าเทียนจิตต์ อริยะภิญโญ
หลังจากถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เราก็ลาคุณป้าออกมาเพื่อเดินทางต่อบนซอยเล็ก ๆ เลียบทางด่วน และเดินกลับเข้ามายังสี่แยกหนึ่งในซอยพระยาสิงหเสนีอีกครั้ง เพื่อพบกับจุดแวะพักที่สองของทริปอย่าง ‘ชอเค็ง หัวลำโพง’ ร้านขนมผักกาดหรือ ‘ไช้เถ่าก้วย’ รถเข็นในตำนาน ที่สรรสร้างความอร่อยโดยคุณยายชอเค็ง แซ่ลี้
“วันที่จัดทริปตลกมาก เพราะเดินมากันเช้าเกิน คุณยายยังไม่มา” ญาดาเล่าความเรียลในวันนั้นให้เราฟัง
หน้าตาของร้านคือดูก็รู้เลยว่าเด็ด จากความดั้งเดิม และเพิ่มเติมด้วยความทันสมัยจากป้ายร้านอะคริลิกที่งาน BANGKOK DESIGN WEEK มาทำให้

ระหว่างยืนดูคุณป้ากำลังทอดขนมอย่างขะมักเขม้น เราก็สอบถามญาดาว่าแลนด์มาร์กของทริปนี้มีอะไรบ้าง เธอบอกกับเราว่าก็มีร้านเบ๊โอชา, ร้านชอเค็ง, ศาลเจ้าภายในชุมชน, ตึกแถวฮ่องกง, สนามเด็กเล่น, บ้านของศิลปินที่ทำเกี่ยวกับเหล็ก และจุดสิ้นสุดที่คาเฟ่ Play Space บริเวณถนนเจริญเมือง
นอกจากแลนด์มาร์กหลัก ๆ เหล่านี้ ก็มีบางสถานที่ที่ไม่ได้ถูกใส่เข้ามาใน Route ด้วยเหตุผลบางอย่าง ส่วนมากจะเป็นเหตุผลของความไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับชีวิตเด็ก ๆ พวกเขาจึงไม่ได้เลือกขึ้นมานำเสนอด้วยตัวเองในฐานะเจ้าของทริป
ด้วยแว่นเดียวกันของเด็ก ๆ การนำเสนอเนื้อหาภายในทริปก็เป็นดุลยพินิจของพวกเขาด้วย 100% ทำให้บางแลนด์มาร์กที่เลือกก็ถูกเล่าด้วยแง่มุมแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น ทั้งซอยผลไม้ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขายผลไม้รถเข็น ซึ่งเมื่อก่อนเป็นตรอกโสเภณีมาก่อน น้อง ๆ ก็เลือกเล่าด้วยแง่มุมนี้ ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจที่ว่าผู้ร่วมทริปบางคนเสนอให้พวกเขานำเสนอมุมมองที่ดีและน่าสนใจมากกว่าจะนำเสนอเรื่องเสื่อมเสียของชุมชน
“เราก็ฟีดแบกเด็ก ๆ เหมือนกัน แต่เราก็มองว่าจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายกับการที่มันเคยเป็นแบบนั้น เพราะว่ามันก็เป็นแค่บอกเล่าเรื่องราวเพื่อการรับรู้อดีตที่มันจะส่งต่อเนื้อหามายังปัจจุบันได้”
เราเดินเข้าไปพูดคุยกับคุณป้าชอเค็งก่อนจะเดินทางต่อไปยัง Route ที่เหลืออยู่ คุณป้าบอกว่าเมื่อก่อนสมัย 40 ปีที่แล้วยืนขายอยู่กับอาม่า (คุณแม่) บริเวณ 4 แยกนี้นี่แหละ แต่หลังจากท่านเสีย คุณป้าชอเค็งก็สืบทอดร้านนี้ต่ออยู่เพียงลำพัง ถัดจากบริเวณที่ขายของไปไม่เท่าไหร่ แถวทางด่วนข้างสถานีรถไฟกรุงเทพฯ ก็เป็นที่พักของคุณป้า ซึ่งก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้คนเคยพลุกพล่านอย่างที่คุณป้าเทียนจิตต์คุยกับเราแบบเป๊ะ ๆ

“ชุมชนนี้มันก็ไม่มีอะไรน่ากลัวนะ อยู่กันก็ดูแลกัน กลับบ้านมาดึก ๆ ก็ปลอดภัย
ไม่เหมือนที่อื่นมีคนเมาคนอะไร เป็นชุมชนที่น่ารักกันดี”
คุณป้าชอเค็ง แซ่ลี้
เราลาจากคุณป้ามาเพื่อเดินเท้าต่อไป เส้นทางที่เรากำลังเดินแบบเสมือนจริงในครั้งนี้ใช้เวลาสร้างสรรค์กันอยู่ 2 – 3 เดือน โดยมีทั้งญาดาและผู้ช่วยอีกคนจากทีมริทัศน์บางกอก ‘จับอิก – ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ เข้ามาช่วยกำกับดูแล และช่วยเตรียมงาน จูนชุดความคิดของเด็ก ๆ ให้เกิดไอเดียร่วมกันกับโปรเจกต์นี้ในห้วงเวลาที่เธอมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ทับซ้อนเวลากันพอดีที่จังหวัดตรัง ซึ่งเล่นประเด็นเกี่ยวกับเด็กเหมือนกัน
“เรามองว่าเด็กคือคนต่อ ๆ ไปที่จะมาดูแลพื้นที่ของเขา คือถ้าอย่างน้อยมันทำให้รู้สึกหรือเห็นว่าบ้านของตัวเองยังมีอะไรดี ๆ หรือมีศักยภาพจริง ๆ มันน่าจะเพิ่มโอกาสให้พื้นที่เมืองเล็ก ๆ ที่เขาอยู่เกิดการพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ด้วย โดยที่เขาแทบไม่ต้องคิดเลยว่านี่มันใช่หน้าที่ของเขาหรือเปล่า ไม่ใช่ว่ารัฐต้องเป็นคนทำอย่างเดียวหรือ แต่อยากให้เขาได้ตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้่นว่าจากแรงของคุณคนเดียว มันพอทำอะไรได้บ้าง”
นอกจากการปลูกฝังความคิดในการให้ความสำคัญกับพื้นที่ ‘บ้าน’ ของตัวเองแล้ว อาชีพที่เธอทำให้ก็ยังเปิดโลกให้พวกเขาได้เห็นด้วยว่าสิ่งนี้ก็เป็นอาชีพได้ เพราะเด็ก ๆ ที่อยู่กับเธอก็ได้แต่ถามด้วยความสงสัยว่า “พี่เอาตังค์ที่ไหนมาซื้อข้าวให้พวกหนูกินแบบนี้” หรือ “พี่ทำงานอะไรกัน ถึงมีเวลามาเล่นกับพวกหนูทุกวันเลย” จนญาดาต้องคอยอธิบายการมาเล่นกับเด็ก ๆ ของเธอนั้นแท้จริงแล้วคือการทำงาน อีกทั้งต้องหากุญแจดอกสำคัญที่สามารถให้คำตอบที่กระจ่างแจ้งกับน้อง ๆ ได้ว่าสิ่งนี้สามารถเป็นงานได้จริง ๆ
แม้แต่คำถามเบสิกอย่าง “พี่ทำงานอะไร” ก็ยังเป็นคำถามที่ญาดาหาวิธีการตอบให้เด็ก ๆ เข้าใจยากอยู่เหมือนกัน เราเลยลอง Roleplay ว่าหากผู้ถามเป็นคนหลาย ๆ แบบ เธอจะแนะนำตัวอย่างไร เริ่มต้นจากการตอบคำถามกับสื่อมวลชน
“Mutual Ground ทำงานพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมค่ะ” นี่คือคำถามสามัญที่เธอใช้ตอบเวลามีสื่อมาสัมภาษณ์
แล้วถ้าป้าที่ขายตามสั่งข้างทางอยากรู้ว่าหนูทำงานอะไรล่ะ
“อธิบายอย่างง่าย ๆ Mutual Ground ทำหน้าที่ยังไงก็ได้ที่ทำให้บริเวณรอบบ้านของเขา เป็นเรื่องของเขา ทำให้เกิดการตื่นรู้ว่าจริง ๆ แล้วหน้าที่การพัฒนาเมืองไม่ใช่ของคนอื่น แต่เป็นของทุกคนและเป็นหน้าที่ของเราด้วยว่าเราจะออกแบบวิธีการคิด สร้างกระบวนการพูดคุยยังไงให้ผู้คนที่ทำงานด้วยเข้าใจสาระที่เรากำลังสื่อสารออกไป”
พี่ญาดาครับ ผมอายุ 5 ขวบ ผมอยากรู้พี่ญาดาทำงานอะไรครับ
“สถาปนิกครับ”
“สถาปนิกคืออะไร ผมไม่เข้าใจ”
“ก็เป็นนักออกแบบครับ อย่างบ้านอย่างเงี้ยะก็ต้องมีคนออกแบบ วาดรูปเนาะ แต่ถ้าเป็นเมืองเราก็ไม่ได้ถามแค่น้องที่เป็นเจ้าของบ้านแล้ว แต่เราต้องถามคนอื่นที่อยู่ในเมืองด้วย ค่อย ๆ มานั่งคุยกันว่าเราอยากให้เมืองเราเป็นแบบไหน แล้วพี่จะเป็นคนค่อย ๆ วาดรูปออกมาว่าหน้าตาของเมืองที่ทุกคนอยากได้เป็นแบบไหน”
หรืออีกอย่างที่ญาดาใช้สร้างความเข้าใจร่วมกันในความเป็นนักออกแบบ เพื่อทำให้น้อง ๆ เข้าใจร่วมกันว่าสุดท้ายสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการออกแบบทริปให้คนต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งก็อาจจะมีกิจกรรมที่ให้พวกเขาวาดรูปบ้านในแบบที่เธออยากได้ เพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นว่าสุดท้ายการออกแบบมันไม่ได้จบที่เรา แต่มันคือกระบวนการออกแบบที่ต้องใช้เหตุและผลในการคิดชิ้นงานนี้ขึ้นมา

จนทั้งหมดประกอบรวมเป็นรูปเป็นร่าง เนื้อหาภายในทริปก็เกิดขึ้นจากไอเดียของเด็ก ๆ ทั้ง 12 คน ที่มีใจความหลักในการนำเสนอคือ “นี่คือบ้านของฉัน อาหารตรงนี้อร่อย แล้วตรงนี้คือพื้นที่ที่ฉันชอบมาเล่น” ซึ่งทุกอย่างล้วนผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ผ่านการชี้แนะจากญาดามาทั้งหมดแล้ว
อย่างเช่นประเด็นมาตรวัด ‘ความอร่อย’ ของร้านอาหารในชุมชนที่จะแนะนำลงบน Guide Map ว่าอร่อยใคร ตัดสินใจคนเดียวได้มั้ย หรือต้องมีคนอื่นช่วยร่วมชิมด้วยหรือเปล่า ญาดาจะคอยตั้งคำถามต่อยอดไปเรื่อย ๆ เพื่อกรุยทางไอเดียไปสู่จุดร่วมที่ดีที่สุด โดยเธอจะไม่ชี้ถูกชี้ผิดในเรื่องไหนเลยแม้แต่น้อย แต่พยายามสร้างพื้นที่ที่ให้น้อง ๆ ทั้งหมดได้มี Critical Thinking ระหว่างกันในโปรเจกต์นี้
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือเด็ก ๆ ทั้ง 12 คนที่มาร่วมกันทำงานนั้นมีตั้งแต่เด็กอายุ 7 – 8 ปี ไปจนถึง 14 – 15 ปี วิธีการสื่อสารของญาดาในฐานะผู้ดูแลโปรเจกต์ก็ยากขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งวิธีการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพเหมือน ๆ กันของเธอในการทำงานร่วมกับเด็ก ๆ หลายช่วงอายุเลยคือการพูดซ้ำ ๆ ต้องละทิ้งความคาดหวังให้เข้าใจ และใช้ความอดทนพอสมควร ในการสื่อสารหรือสร้างความเข้าใจในเรื่องเดียวกันของเด็กทุกคน

กระบวนการสื่อสารให้เข้าใจตรงกันนี้ยังเป็นวิธีในการสร้างความรับผิดชอบแก่เด็กที่โตกว่าในหมู่น้อง ๆ จากการให้เป็นสะพานเชื่อมในการสร้างความเข้าใจกันเองกับน้องที่เด็กกว่า ทำให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญในฐานะผู้ที่เข้าใจและต้องนำไปสื่อสารต่อ เกิดการดูแลกันเอง และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในฐานะคนทำงานด้วยกัน
เดินเท้ามาสักพักเราก็หลุดกลับมายังถนนเลียบทางด่วน ที่คุณป้าเทียนจิตต์ และคุณป้าชอเค็งกล่าวถึงว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกตัดขาด ทำให้ความสะดวกในการเดินทางระหว่างกันของฝั่งที่เรายืนอยู่กับฝั่งตรงข้ามหายไปอย่างสิ้นเชิง และกลายเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของเมืองในบริเวณนี้ได้แบบเห็นภาพชัดเจนเสียเหลือเกิน
กลับหันหลังจากจุดที่ยืนอยู่ เราจะพบกับ ‘ศาลเจ้าทีกง 1’ ศาลเจ้าประจำชุมชนที่มีเพียง 2 จุดเท่านั้น ซึ่งอีกที่ก็คือชื่อเดียวกันที่มีเลข 2 ห้อยท้ายแทนเลข 1 ซึ่งคุณจะไม่มีทางเชื่อเลยว่าน้อง ๆ ในฐานะไกด์นำเที่ยวที่แนะนำสถานที่นี้ในวันนั้นจะบอกกับผู้เข้าร่วมทัวร์ว่า “นี่คือศาลเจ้าทีกง 1 แล้วก็มีทีกง 2 อยู่ข้างใน เข้าไปไหว้ได้นะครับ”



ญาดาอธิบายเพิ่มว่าวิธีการแนะนำในแบบน้อง ๆ ก็คือแนะนำตามรูปแบบที่เขาอยากแนะนำจริง ๆ แบบไม่ประดิดประดอย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเธอโทรบอกผู้เข้าร่วมทริปทุกคนตั้งแต่วันยืนยันสิทธิ์ว่าทริปนี้นำโดยเด็ก ๆ อยากให้ทุกคนใจเย็น แล้วก็ลดความคาดหวังลงว่าอาจจะได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ เพราะทริปนี้ตั้งใจให้น้อง ๆ ที่รับผิดชอบโปรเจกต์ได้แนะนำบ้านที่พวกเขาอยู่ด้วยสายตาของพวกเขา 100% พี่ ๆ ทุกคนเลยเข้าร่วมทริปด้วยความเข้าใจในวันจริง
อีกทั้งคำที่ไกด์ตัวน้อยทุกคนมักจะพูดบ่อยภายในทริปคือคำว่า “ไม่รู้” เพราะญาดาแนะนำน้อง ๆ ไว้ว่า หากไม่รู้จริง ๆ ก็อย่าเออออไปกับใครจะดีที่สุด หรือถ้าไม่แน่ใจกับชุดข้อมูลที่กำลังจะเล่าออกไป ก็บอกไปเลยว่าไม่ชัวร์ หรือขอไปเช็คก่อน เพราะการที่เราไม่รู้นั้นไม่ผิด แล้วการบอกผู้ที่สงสัยออกไปแบบนั้นมันคือการให้เกียรติกับตัวเองด้วยว่าเราไม่รู้ และเราพร้อมจะไปทำให้รู้จากการหาข้อมูลเพิ่มเติม
ซึ่งภายหลังการเดินร่วมทริปกับน้อง ๆ ในวันนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนที่เข้าร่วมต่างจับจุดนี้ได้เหมือน ๆ กันว่าน้อง ๆ พูดคำว่าไม่รู้ค่อนข้างบ่อย และญาดาก็อธิบายในช่วงท้ายของวันด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมทริปทุกคนต่างชื่นชมกับความกล้าหาญในการบอกว่าตัวเองไม่รู้อย่างจริงใจนั่นเอง

ระหว่างเดินเท้ากันต่อเพื่อเข้าไปยังศาลเจ้าทีกง 2 เราเปิดแผ่นกระดาษสำคัญที่เป็นกิมมิกอีกอย่างที่น่ารักของทริปนี้คือ Guide Map อุปกรณ์คอยเป็นตัวกลางในการเชื่อมภาพทริปที่น้อง ๆ อยากให้เป็น กับภาพของ Route ที่ผู้ร่วมทริปอาจจะนึกไม่ออกให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งภาพแผนที่เดินดินของเด็ก ๆ ก็ดูไม่เหมือนแผนที่ที่เราคุ้นเคยที่มักจะปักหมุดสถานที่สำคัญ ๆ ในชุมชนอย่างสถานีอนามัย บ้านผู้นำชุมชน แต่ต้นเขียวหมื่นปี ต้นไม้ในชุมชน เจ้าแสบ หรือเจ้าแม็กกี้ สัตว์เลี้ยงของผู้คนในชุมชน
“เราให้น้องวาดแผนที่ด้วยตัวเองก่อนเลย เพราะว่ามุมมองของเด็กในการจดจำชุมชนของตัวเองไม่เหมือนผู้ใหญ่อยู่แล้ว อย่างบางจุดที่ใช้เล่าใน Route ก็เป็นการบอกว่าใกล้ถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าเจอต้นไม้ต้นนี้เท่ากับเป็นบ้านของโมจิแล้วนะ ซึ่งมันไม่ใช่มุมมองของผู้ใหญ่ในการจดจำเส้นทางอยู่แล้ว เด็กจะเห็นอะไรในแบบที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น”
พลิกไปที่ด้านหลังของแผนที่ จะมีกรอบที่แนะนำร้านอาหารเด็ดภายในชุมชน ซึ่งทุกร้านที่อยู่ในแผนที่ล้วนได้คะแนน 4 ดาวทั้งหมด ดาวที่ว่าหมายถึงอะไร ญาดาขยายความให้ฟังว่าแต่ละดาวมีเกณฑ์การให้ของตัวเอง คือต้องเป็นร้านที่มีประวัติศาสตร์, เป็นร้านที่ราคาไม่แพง, เป็นร้านที่อร่อย เป็นต้น แต่เดิมมีชื่อร้านเยอะมาก แต่ร้านที่ถูกนำมาพิมพ์หลัง Guide Map คือร้านที่ได้คะแนน 4 ดาวเท่านั้น
“มันจะมีบางร้านที่น้อง ๆ บอกว่าหนูไม่ชอบคนขาย เขาไม่น่ารัก ให้ดาวน้อย ๆ แบบนี้ก็มีเหมือนกัน ใช้อารมณ์ตัดสินนิดนึงก็ได้ แต่อย่างอื่นให้เขาได้มั้ย อร่อยหรือเปล่า อะไรแบบนี้ เราค่อนข้างรับฟังน้องด้วย แล้วก็เอาเหตุและผลมาวัด”
“หรืออย่างร้านนายอ๋า ซึ่งเป็นร้านเย็นตาโฟที่อร่อยมาก แต่ตอนที่เด็ก ๆ พาไปกินเขากินเป็นแค่หนังปลาทอด พวกเขาก็เลยแนะนำเมนูหนังปลาทอดอย่างเดียว เราก็ต้องเพิ่มเมนูเย็นตาโฟเข้าไปตอนเอามาแนะนำบนแผ่นนี้”
อีกฝั่งบนหน้าเดียวกันคือเกมบิงโกกิจกรรมในชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนจะสนุกมากและอยากจะเก็บให้ครบทุกช่อง และญาดาก็มองว่าสิ่งนี้แทบจะเป็นหัวใจหลักในการ ‘ละลายความเป็นผู้ใหญ่’ ให้กลายเป็นเด็กอีกครั้งได้เลย
‘ถ่ายรูปกับต้นไม้’ กิจกรรมที่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่เคยคิดจะทำหรอกถ้าไม่ได้ลองกลับไปเป็นเด็กในชุมชนนี้, ‘เล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น’ อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ ผู้ใหญ่คนไหนจะทำกัน แต่เหตุการณืที่เกิดขึ้นในทริปคือน้อง ๆ ไกด์ชุมชนต่างจูงมือและโน้มน้าวพี่ ๆ ให้เข้าไปเล่นเครื่องเล่นกันสักเครื่องสองเครื่อง ทำให้พี่ ๆ ผู้ร่วมทริปได้กลับไปทำอะไรที่ไม่กล้าทำอีกครั้งมากนัก เพราะบริบทชีวิตไม่ให้แล้ว แต่บริบทเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้สามารถทำได้


พูดคุยกันมาสักพัก เราก็เดินทางมาถึงสนามเด็กเล่นของชุมชน ที่ตั้งอยู่บริเวณใต้ทางยกระดับที่ตัดผ่านบริเวณชุมชน ซึ่งในพื้นที่เดียวกันก็มีทั้งลานกิจกรรมชุมชน พื้นที่นั่งของคุณลุงคุณป้าฝั่งตรงข้าม พื้นที่ขายอาหารรถเข็นเล็ก ๆ ซึ่งนี่ดูเหมือนจะเป็นศูนย์รวมผู้คนในชุมชนอย่างไรอย่างนั้น
โดยบังเอิญ ญาดาเจอกับน้อง ๆ ผู้จัดทำทริปนี้ขึ้นตรงสนามเด็กเล่นพอดี เธอพาเราไปพูดคุยสั้น ๆ กับ ‘นัท – ธนาทร หวัดตาปี’ วัย 13 ปี และ ‘นพ – เชษฐ์สิษฐ์ ตุ้ยสุวรรณ’ วัย 15 ปี เด็กสองคนที่เรียกได้ว่าเกือบจะโตสุดในทริปนี้แล้ว นัทเล่าให้เราฟังว่าการเข้ามาร่วมในทริปนี้มาจากการเห็นเพื่อนในชุมชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมคล้าย ๆ กันกับทีมริทัศน์บางกอกก่อน พอมมีการจัดอีกครั้งที่ใหญ่กว่าเดิมจึงมาร่วมกิจกรรมด้วย
ส่วนนพบอกกับเราว่าวันที่พี่จับอิก Scout น้อง ๆ ในชุมชนให้มีร่วมทริปครั้งนี้ เขามาเล่นที่สนามเด็กเล่นตามปกติ ก่อนที่พี่จับอิกจะพาไปเดินในชุมชน แล้วก็ถามว่าอยากเป็นไกด์มั้ย จนได้เข้ามาร่วมในโปรเจกต์นี้ด้วย
ทั้งสองคนบอกว่าโปรเจกต์นี้ทำให้พวกเขากล้าแสดงออกมากขึ้น แล้วก็ได้ทำงานกับเพื่อนในชุมชนที่รู้จักมักจี่อยู่แล้วในแบบที่จริงจังกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขารู้จักบ้านตัวเอง ชุมชนตัวเองมากกว่าที่เคย

“ถ้าให้ผมแนะนำชุมชน ผมอยากแนะนำว่าที่นี่เคยเป็นที่อยู่ของแดง ไบเล่ ยุคอันธพาล 2499
แล้วก็ที่นี่เคยถูกใช้เป็นที่ถ่ายภาพยนตร์ 2499 อันธพาลครองเมืองด้วยครับ”
นัท – ธนาทร หวัดตาปี (ซ้าย)
“ส่วนผมอยากแนะนำพวกกิจการของคนในนี้ครับ พวกเขาขายของกันหลากหลาย
ขายอาหารกันตรงนี้ ขายน้ำกันตรงนั้น แล้วข้างหน้าก็มีร้านขายของอีกเยอะเลยครับ”
นพ – เชษฐ์สิษฐ์ ตุ้ยสุวรรณ (ขวา)
ถัดจากพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ญาดาก็พาเราเดินออกมายังซอยข้าง ๆ กันที่ทอดยาวจากถนนใหญ่เข้ามายังตัวชุมชน ซึ่งมีหลายจุดแลนด์มาร์กที่เด็ก ๆ ใช้เล่าในทริป ทั้งร้านขายของเก่าภายในชุมชนที่เป็นแหล่งรายได้หนึ่งของผู้คนในพื้นที่, ซุ้มประตูสีแดงที่ดูคล้ายป้ายศาลเจ้า แต่เป็นป้ายชุมชน, บ้านจีนภายในชุมชนที่พวกเขาชอบมาปีนเล่นกัน, ซอยเรือสำเภา อดีตซอยไร้ชื่อที่เชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ที่เรือสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าเพื่อทำการค้าขายในบริเวณนี้ เลยมีการเพนต์รูปบนกำแพงเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ไว้
เดินมาอีกหน่อยก็เริ่มจะถึงจุดสิ้นสุดของทริป จากการเดินเข้าสู่ถนนที่ดูทันสมัยและใกล้กับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น ทำให้มีลักษณะพิเศษของความทันสมัยเข้ามาอยู่ด้วย อย่างเช่น Hostel ที่สร้างจากโรงมุ้งเก่า หรือบ้านของ Colby Dylan Murray ศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะด้วยโลหะจากลอสแองเจลิส ที่เข้ามาอยู่ภายในชุมชนจากการมองเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยงานช่างเหล็ก หรืองานช่างประเภทอื่นมากมาย ดังที่จะเห็นจากปากทางออกที่มีร้านรับทำเหล็กดัดเปิดให้บริการอยู่ ซึ่งก็สร้าง Display สำหรับโชว์งานเหล็กที่ร้านรับทำได้อย่างน่าสนใจ
และการเดินทางเสมือนจริงของทริป ‘เด็กสลักหินพา PLAY’ ก็จบลงที่ร้านคาเฟ่เล็ก ๆ บริเวณถนนเจริญเมือง ‘Play Space’ ซึ่งเป็นอดีตโรงงานกระดาษห่อสำลีเก่าที่เปลี่ยนมาเป็นร้านกาแฟและขนมหวาน พร้อมเปิดเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างเพื่อการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งในวันนั้นพื้นที่ตรงนี้ก็เป็นจุดในการสรุปกิจกรรม แสดงความยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการลงแรงร่วมกันกว่า 2 เดือน รวมถึงสรุปงานกับน้อง ๆ และทำให้น้อง ๆ เห็นว่าตัวเองสนใจงานแบบนี้บ้างหรือเปล่า หรือบางคนอาจจะชอบการเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่าจะเป็นฝ่ายนำเสนอเนื้อหาก็มี
อีกทั้งยังพูดคุยถึงการไปต่อของสิ่งนี้ ว่าหากญาดาไม่อยู่แล้ว โปรเจกต์การนำเที่ยวชุมชนอาจจะพัฒนาต่อไปอย่างไรได้บ้าง ซึ่งก็ได้คำตอบว่าอยากทำต่อ เพียงแต่ช่วงนี้น้อง ๆ ต่างเปิดเรียนกันพอดี
เรา ญาดา และช่างภาพนั่งพัก พร้อมพูดคุยกับญาดาเพิ่มเติมถึงการทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา
สิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้ในมุมมองของญาดาคือความใกล้ชิด และแน่นแฟ้นกันภายในชุมชน ทำให้เวลาจะประสานงานต่อกันทั้งการสร้างความเข้าใจกับตัวพ่อแม่ของน้อง ๆ การสร้างความเข้าใจกับประธานชุมชนว่าจะมีคนภายนอกเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่กลายเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งแต้มต่อที่ชุมชนตรอกสลักหินมีอยู่เป็นทุนเดิมคือผู้คนที่เคยสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ในชุมชนอย่างรองเมืองเรืองยิ้ม หรือริทัศน์บางกอก ที่ทำให้ความเข้าใจในกิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้เป็นไปด้วยความง่ายดายหลายเปราะ
‘จับอิก – ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์’ หนึ่งในทีมริทัศน์บางกอก ที่เผอิญนั่งรวมกลุ่มวางแผนทำกิจกรรมบริเวณร้านพอดีเข้ามาคุยกับเราในประเด็นนี้ว่าชุมชนตรอกสลักหินนี้ถูกขับเคลื่อนมาแล้วค่อนข้างยาวนาน โดยคนที่ดูแลพื้นที่นี้นานที่สุดร่วม 40 ปี คือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ที่ทำงานตั้งแต่พื้นที่แห่งนี้ยังมีการค้าแรงงานเด็ก มีเรื่องยาเสพติดระบาดอยู่ โดยมุ่งเน้นทำงานเรื่องสุขภาวะเป็นหลัก
และกลุ่มริทัศน์บางกอก ของจับอิกเองที่ทำโครงการขับเคลื่อนพื้นที่อยู่แล้วบ้าง อย่าง ‘ตรอกสลักหิน แชร์ แชะ แช่’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Trok Salak Hin Common Ground ที่เชื่อมโยง Gen ของผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกัน ผ่านพื้นที่ประจำของผู้ใหญ่ในชุมชน ที่มอบหมายไอเดียให้น้อง ๆ คนรุ่นใหม่ในชุมชนมาออกแบบพื้นที่ให้น่าสนใจ ก็ทำให้เห็นว่าย่านนี้มีการมองเห็นจากผู้ที่มีแนวคิดสร้างสรรค์อยู่แล้วบ้างพอสมควร

“โปรเจกต์เด็กสลักหินพา PLAY มันทำให้เด็ก ๆ ที่รับรู้ว่าที่นี่เก่าแก่ แต่ไม่รู้ถึงคุณค่าของชุมชนตัวเอง ได้เห็นว่าพื้นที่ที่เขาอยู่ในชีวิตประจำวัน จริง ๆ แล้วมันมี Background มีคุณค่าอย่างไรให้สามารถสื่อสารออกมาได้บ้างในฐานะเจ้าของพื้นที่”
จับอิก – ปกรณ์วิศว์ เวียงศรีพนาวัลย์
จากการที่ชุมชนมีศักยภาพในตัวเอง ผนวกกับการเปิดกว้างทางโอกาส ทำให้ชุมชนตรอกสลักหินถูกเลือกในโปรเจกต์ ‘กรุงเทพเมืองรวมมิตร’ อย่างที่กล่าวไปช่วงต้นบทความ และน่าจะเป็นหนึ่งตัวอย่างทำให้ชุมชนอื่น ๆ มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่คนในชุมชนร่วมสร้างกันขึ้นมาจนคนภายนอกมองเห็นได้ก็ตาม
ญาดาเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่าเคยทำงานในฐานะ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) มาก่อน ทำให้เธอมีความคุ้นเคย และรู้จักกับชุมชนที่เป็นเครือข่ายอยู่แล้วในระดับหนึ่ง ทำให้การติดต่ออยากจะเข้ามาทำงานด้วยไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปนัก อีกทั้งหน้าที่นี้ของเธอยังเป็นตัวช่วยในการเปิดประตูให้ชุมชนอื่นมองเห็นโอกาสเพิ่มเติมกับชุมชนตัวเอง อย่างตอนที่เธอทำโปรเจกต์หนึ่งแถวคันนายาว เธอก็นำพี่ ๆ จากชุมชนอื่นเข้าไปศึกษาดูงาน และวิธีการสร้างสรรค์ เพื่อให้พี่ ๆ ในชุมชนคันนายาวสื่อสารและส่งต่อแนวคิดไปยังชุมชนอื่นที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นชุมชนสร้างสรรค์ได้
ซึ่งถ้าหากเรามองไปยังหน้าตาของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน สิ่งที่กำลังถูกแต่งแต้มสีสันให้โดดเด่นนั่นคือเรื่องของย่านสร้างสรรค์ซึ่งทางส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯก็พยายามจะพัฒนาสิ่งนี้อยู่เรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันชุมชนเองก็ต้องมองเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ตัวเองให้เป็นย่านสร้างสรรค์ด้วย หรือแม้แต่พื้นที่อื่น ๆ ชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทยที่อาจจะยังไม่เห็นความเป็นไปได้ของชุมชนหรือพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ ว่าจะทำอย่างไรกันนะให้พื้นที่นั้นกลายเป็นพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ได้
เธอให้มุมมองกับเรื่องนี้ว่าชุมชนแต่ละชุมชนควรวิเคราะห์ง่าย ๆ ว่าความเป็นชุมชนคืออะไรอย่างเช่น “3 คำ ที่สะท้อนถึงความเป็นชุมชนคืออะไร” คำถามนี้จะช่วยให้ชุมชนสามารถสรุปความเป็นชุมชนได้ภายในบริบทคำถามที่จำกัดและจะทำให้ชุมชนมองเห็นจุดเด่นของตัวเองได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะกลายเป็นจุดที่ต้องพัฒนาต่อไปในแนวคิดนี้ เพื่อทำให้พื้นที่เล็ก ๆ ตรงนี้มีจุดขายของตัวเอง
คำถามคือจะทำสิ่งนั้นไปทำไม ใครจะมาเที่ยวบ้านเราหรือ
ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งรูปแบบการเที่ยวในชุมชนย่อยกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวเด่น ๆ ตามจุดต่าง ๆ ที่จะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการเดินทางไปถึง แต่สถานที่แบบ Unseen ร้านลับ ที่เที่ยวลับ ก็ถือเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งที่ผู้คนอยากจะไปให้ถึงเช่นกัน
ญาดามองว่าการที่คนเริ่มให้ความสำคัญกับการเที่ยวในที่ใหม่ ๆ แบบนี้อาจจะมาจากการตื่นรู้ในเรื่องการพัฒนาเมืองมากขึ้น ยกตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง ที่ในชีวิตปกติทั่วไปคนอาจจะคิดแค่เพียงว่าเป็นเมืองแห่งการทำงาน ตื่นเช้าเข้าออฟฟิศกลับบ้านก็หมดเวลาแล้ว กลายเป็นพื้นที่ที่น่าค้นหามากขึ้นจากการนำเสนอเรื่องคนตัวเล็กในเมืองใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ บนหน้าสื่อ หรือเหตุการณ์บ้านเมืองที่ทำให้คนตระหนักถึง Subset ย่อยของสังคมมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นความสนใจเฉพาะทางที่ค่อย ๆ ขยายตัวอยู่ในปัจจุบัน
ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่เธอในฐานะ Mutual Ground เลือกทำงานพัฒนาเมืองขึ้นมา เพราะอยากจะทำให้สิ่งนี้ถูกเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น มีผู้คนเห็นสิ่งนี้มากขึ้น หรืออาจะมองไปถึงว่าอยากให้คนเข้ามาทำงานพัฒนาเมืองแบบเธอมากขึ้นด้วยจากการตื่นตัวในเรื่องนี้

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องคือคำว่า ‘ย่านสร้างสรรค์’ ที่กรุงเทพฯ กำลังเร่งเดินหน้าเต็มกำลัง ซึ่งญาดามองได้ 2 มุม คือมุมของคนที่เห็นโครงการนี้ว่ามันดีจังเลย แต่อีกมุมในฐานะคนทำงานเธอก็มองเห็นว่าการจะทำสิ่งนี้ได้มันเหนื่อยเสียเหลือเกิน เพราะมันเต็มไปด้วยอุปสรรคจากการทำงานร่วมกับภาครัฐในหลาย ๆ ส่วน รวมถึงความยากในการของบประมาณส่วนกลางมาใช้กับเรื่องนี้ ซึ่งบางทีการลงไปทำงานกับพื้นที่โดยตรงเลยอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า
เพราะสิ่งที่ญาดา และ Mutual Ground เชื่อมาโดยตลอดในฐานะนักพัฒนาเมือง คือการพัฒนาร่วมกับเจ้าของบ้าน แล้วหาทางเป็นเจ้าของร่วมกัน วางแผนการพัฒนาด้วยกัน เพื่อที่จะรักษามันไว้ให้ยั่งยืนได้ ซึ่งในความเป็นจริงการพัฒนาในรูปแบบนี้เป็นไปได้ยากเหลือเกินที่จะไปต่อได้ 100% หากนโยบายภาครัฐไม่เอื้ออำนวย แต่หากกระบวนการพัฒนาเริ่มต้นแบบ Bottom up อย่างที่เธอทำอยู่ จะทำให้เจ้าของบ้านมีสิทธิ์มีเสียงในการเจรจาต่อรองข้อเสนอเชิงนโยบายได้ และทำให้การพัฒนาย่านหรือเมืองนั้น ๆ ถูกดูแลได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ
นอกจากการทำงานกับชุมชนไปหาหน่วยงานที่ใหญ่กว่าแล้ว รูปแบบการทำงานแบบ Bottom up ของญาดาก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ในชุมชนยังทำให้เขามีโอกาสกลายเป็นผู้พัฒนาเมืองรุ่นต่อไปได้ดีกว่าการทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในบางแง่มุม นั่นคือการสืบสานแนวคิดของความอยากพัฒนาพื้นที่ตัวเองให้คงอยู่รุ่นสู่รุ่น ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากกับการพัฒนาเมือง หรือพัฒนาชาติเลยก็ยังได้
เพราะมันคือวิธีการทำให้เด็กกลายเป็น Active Citizen ของสังคมนี้ไปได้เลย

“การที่เราจะทำให้เด็กคนนึงกลายเป็น Active Citizen ได้ มันคือการให้อำนาจกับเขา ทำให้เขาเห็นว่าตัวเองมีสิทธิ์และเสียงไม่ต่างจากผู้ใหญ่เลย เราไม่ควรจะไป Cancel เสียงของเด็กว่าเสียงของเขาเป็นความคิดของเด็ก พี่คิดแบบนี้ดีกว่าเพราะพี่โตกว่า แต่เราควรจะทำให้มันเกิดการรับฟังและยอมรับกันผ่านการทำงานของเด็ก”
“อย่างทริปที่เราทำในรอบนี้ ผู้ใหญ่เขาก็โอเค ให้เด็กไปเป็นไกด์เนาะ แต่พองานจบแล้วจริง ๆ เขาถึงเห็นว่ามันเกินความคาดหมาย และรู้ว่าเด็กในชุมชนเขามีศักยภาพ มันคือการโชว์ความสามารถให้ผู้ใหญ่เห็นว่า เออ ถ้ามันมีการเปิดพื้นที่จริง ๆ หรือรับฟังเด็ก ๆ อย่างเข้าใจ และใจเย็น เด็กทำได้ทุกอย่างแหละ เพียงแต่เขาต้องการการหนุนนำจากผู้ใหญ่”
นี่อาจจะสะท้อนแนวคิดไปยังวิธีการดูแลชุมชนของผู้ใหญ่ ที่หลาย ๆ ครั้งการประชุมในชุมชน ผู้ใหญ่จะเป็นผู้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดก่อนเด็กเสมอ จะเป็นไปได้มั้ยที่เด็ก ๆ จะได้รับทราบความเป็นไปของพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ด้วยได้บ้าง จะได้เกิดความเป็นเจ้าของในชุดความคิด แล้วเขาก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง
และในอนาคต เด็กที่มีแนวโน้มให้กลายเป็น Active Citizen ก็อาจจะเป็นกำลังหลักสำคัญของการเป็นผู้พัฒนาที่อยู่ของตัวเองให้ขยับขยายออกไป ที่หมายรวมถึงว่าพวกเขาจะให้ความสนใจพื้นที่ตัวเอง และไม่ย้ายหนีภูมิลำเนาไปเติบโตที่อื่นเหมือนกับคน Gen ก่อน ๆ ที่หลุดจากพื้นที่บ้านตัวเองไปทำมาหากินที่อื่นกันมากกว่าจะทำมาหากินในพื้นที่ของตัวเอง

“จริง ๆ บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่มันคือผู้คน ถ้าสังเกตคนที่มาจากต่างจังหวัดจะมีความ คำนึงถึงบ้านตัวเองมากกว่าเด็กกรุงเทพฯ ที่ไปที่อื่น ประมาณว่า “ฉันอยากกลับบ้าน” เพราะบ้านของเขามันมีความเป็นมนุษย์ มันมีความคุ้นเคยกับเราอยู่ตรงนั้น บริบทที่เขาโตมามันเชื่อมโยงกับชีวิตเขามากกว่า”
“อย่างในกรุงเทพฯ ความเป็น Neighborhood มันหายไป เพระเมืองมันใหญ่ขึ้น คนเริ่มสนใจแต่เรื่องของตัวเองมากกว่าเรื่องส่วนรวม หรือแม้แต่ระหว่าง Gen เองก็ตามที่มันไม่เชื่อมโยงกันด้วย เทคโนโลยีบางอย่างที่ผู้ใหญ่ตามไม่ทัน เราก็อาจจะบอกว่า “ที่เธออาบน้ำร้อนมาก่อน น้ำร้อนยุคนี้มันก็ไม่เหมือนกันหรอก” อะไรแบบนี้ ซึ่งความเป็นจริงใจความของมันไม่เคยเปลี่ยนไป Pattern ของความก้าวหน้าและพัฒนาไปจะยังเหมือนเดิม จะดีกว่ามั้ยถ้าคนทุก Gen เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันบนพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนรับฟังกันจริง ๆ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันจะเกิดขึ้นเอง”
คำถามสุดท้ายเราถามเธอว่าจากการทำงานร่วมกับผู้คนหลากหลายในอาชีพนักพัฒนาเมืองนี้ เธอเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง
ญาดาตอบเราอย่างเปิดใจว่าเธอเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับผู้คนมากเสียเหลือเกิน เพราะก่อนที่เธอจะทำงานในฐานะ ‘นักพัฒนาเมือง’ ได้ คนในพื้นที่ที่เธอเข้าไปทำงานต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าสิ่งนี้ทำไปเพื่ออะไร ผ่านกระบวนการสื่อสารและเครื่องมือหลายแบบที่เลือกใช้ เพื่อทำให้เรื่องการพัฒนาชุมชนของเขามันใกล้ตัวเขามากที่สุด สำคัญไปกว่านั้นคือการที่คนในชุมชนเหล่านั้นต้องเกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างตัวเขาและพื้นที่ที่เขาอยู่ให้มากที่สุด และส่งผลให้การทำงานทุกอย่างหลังจากนั้นดำเนินไปได้ต่อได้อย่างไร้รอยต่อ และสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีนั่นเอง
