การออกแบบเก้าอี้สำนักงาน

ตลอดระยะเวลาการเป็นคนทำงานของเรา สิ่งหนึ่งที่เรามักจะขอบคุณอยู่เสมอเลยคือตัวเองที่คอยพัฒนาทักษะ และหาโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ ๆ อาจจะขอบคุณเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่น ๆ เพิ่มเติม สำหรับความสะดวกสบายที่มอบให้ในแต่ละวัน

ฉับพลันความคิดเราก็นึกอยากขอบคุณไปยังมนุษย์อีกคนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเราในฐานะคนทำงานออฟฟิศยังคงดำเนินไปได้แบบไม่เจ็บไม่ปวด นั่นคือผู้คิดค้น ‘เก้าอี้สำนักงาน’ ให้เราได้นั่งทำงานกันอย่างในทุกวันนี้ ลองคิดดูว่าถ้าเก้าอี้ที่เราต้องนั่งทำงานบนมัน 8 – 9 ชั่วโมงกลับแข็งโป๊ก และนั่งไม่สบายก้นแบบนี้ เราจะได้ทำงานกันแบบไม่ต้องพะว้าพะวงเรื่องความสะดวกสบายกันอยู่หรือเปล่า

SUM UP เลยอยากเป็นตัวแทนยกมือไหว้ขอบคุณความคิดที่สร้างนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา และพาคุณไปรู้จักที่มาที่ไปกันว่าเหตุใด ‘เก้าอี้สำนักงาน’ ที่เรานั่งถึงนุ่มได้ทั้งเบาะรองก้น และพนักพิงขนาดนี้ รวมถึงยังมีล้อเลื่อนให้เราใช้เคลื่อนย้ายตำแหน่งได้อีกด้วย

เหตุเกิดเพราะ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’

หน้าตาเก้าอี้ติดล้อของ ‘ชารลส์ ดาร์วิน’ – ภาพจาก Wellcome Collection Gallery

หาจะค้นกลับไปจริง ๆ ‘ชาลส์ ดาร์วิน’ คือคนแรกที่มีแนวคิดการนำเก้าอี้ 4 ขาธรรมดา ๆ มาพัฒนาให้กลายเป็นเก้าอี้ที่เหมาะกับการทำงานมากขึ้น จากการนำล้อมาต่อเข้ากับขาของเก้าอี้ในช่วงทศวรรษ 1840 เพื่อทำให้เก้าอี้ที่เขานั่งอยู่เป็นอิสระจากการถูกยึดอยู่กับที่เท่านั้น

เมื่อโลกวิวัฒน์พัฒนาไปข้างหน้า เกิดระบบรถไฟ ระบบการผลิตผ่านเครื่องจักร ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงเกิดขึ้น แรงงานแบบเดิมถูกลดความสำคัญลง แรงงานแบบใหม่ที่ต้องใช้ทักษะอื่นที่แตกต่างออกไปอย่างการจัดการ และการบริหารกลับเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการทำงานด้านการนำเข้า-ส่งออก และการทำบัญชี รูปแบบการทำธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ จนทำให้หน้าประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นกลายเป็นช่วงเวลาที่ประสิทธิภาพคนทำงานเพิ่มมากขึ้น และนายจ้างที่ต้องดูแลคนทำงานให้มีประสิทธิภาพแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จึงเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการทำให้พนักงานสะดวกสบายที่สุดเท่าที่ทำได้

ทำให้ช่วงเวลาถัดมาในช่วงปี 1849 สมัยวิกตอเรีย มีการเกิดขึ้นของ ‘เก้าอี้สำนักงาน’ เป็นจำนวนมาก โดยรุ่นแรกนั้นมีชื่อว่า ‘Centripetal’ ซึ่งเป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่หมายความว่า “แรงสู่ศูนย์กลาง” มาจากการออกแบบให้ส่วนที่นั่งสามารถปรับเอียงได้เต็มที่ จากแรงทั้งหมดที่เข้าสู่จุดศูนย์กลางของส่วนโครงเก้าอี้ด้านล่าง ซึ่งซ่อนสปริงขนาดใหญ่ 4 ตัวเอาไว้เพื่อให้การหมุนและปรับเอียงเป็นไปได้อย่างอิสระ

ซึ่งเราสามารถพูดได้อย่างเป็นทางการเลยว่าเก้าอี้ทรงนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหน้าตาเก้าอี้สำนักงานได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะจริง ๆ เพราะแม้ตัวโครงจะถูกสร้างด้วยเหล็กหล่อและเหล็กเคลือบเงา แต่หน้าตาของเก้าอี้ในส่วนเบาะนั่งรองก้น และพนักพิงนั้นถูกออกแบบให้มีเบาะรองรับแผ่นหลังด้วยเช่นกัน ซึ่งมีทั้งรุ่นที่มีที่วางแขนและไม่มีที่วางแขนให้เลือกใช้

เก้าอี้สไตล์นี้ออกแบบโดย ‘Thomas E. Warren’ นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน และผลิตโดย ‘American Chair Company’ ในเมืองทรอย รัฐนิวยอร์ก ก่อนจะเปิดตัวครั้งแรกในงานนิทรรศการใหญ่ที่ลอนดอนในปี 1851 ซึ่งแม้ไอเดียจะดี และมอบความสะดวกสบายให้กับผู้คน แต่ค่านิยมของสังคมบางส่วนในยุควิกตอเรียนั้น มองว่าเก้าอี้แบบนี้ถูกสร้างมาอย่างผิดศีลธรรม เพราะเก้าอี้ที่ดีของยุคนั้นจะต้องมีที่นั่งแข็ง และต้องนั่งไม่สบาย เพื่อที่จะทำให้ผู้นั่งสามารถนั่งได้อย่างสง่างาม และต้องมีความรู้สึกเข้มแข็งมุ่งมั่นผ่านท่าทางการนั่งที่ต้องเที่ยงตรงเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มสิ้นสุดลง กระแสของแรงงานมนุษย์ออฟฟิศเริ่มกลายเป็นแรงงานหลักของสังคม ทำให้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานถูกให้ความนิยมมากขึ้น จะเห็นได้จากอาชีพอื่น ๆ ในยุคนั้นอย่างช่างตัดผม และทันตแพทย์ก็เริ่มมีการออกแบบเก้าอี้เฉพาะที่ออกแบบมาเพื่อให้สอดรับกับการทำงานในแต่ละแบบ และกลายเป็นการขับเคลื่อนรูปแบบหน้าตาของเก้าอี้สำนักงานสมัยใหม่ไปพร้อม ๆ กัน

การเริ่มใส่ใจการออกแบบเก้าอี้สำนักงานตามหลัก ‘สรีรศาสตร์’

จนขยับมาในช่วงต้นศตวรรษ 1900 งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมเริ่มถูกให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งทำให้การออกแบบเฟอร์นิเจอร์เริ่มออกแบบเพื่อให้สอดรับกับรูปแบบของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ที่เก้าอี้นั่งสบายเหล่านั้นต้องไปวางอยู่โดยเฉพาะเลย เรียกง่าย ๆ ว่าสร้างตึกก่อน แล้วสร้างเฟอร์นิเจอร์มาใหม่เพื่อมัน เลยทำให้ในช่วงนี้หน้าตาของเก้าอี้สำนักงานมีความแตกต่างหลากหลายไร้ทิศทาง แต่ยังคงคุณสมบัติบางอย่างเอาไว้ อย่างการที่ขาเก้าอี้ยังคงมีล้อเลื่อน มีเบาะรองนั่งเป็นสำคัญ

ก่อนที่หน้าตาของเก้าอี้สำนักงานที่เรา ๆ คุ้นเคยจะเริ่มต้นกันจริง ๆ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 1900 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายเริ่มถูกใช้งานอย่างเป็นระบบ จากการนำงานวิจัยด้านสรีรศาสตร์มาใช้ในการออกแบบอุปกรณ์สงครามทั้งหลาย ไม่ว่าจะรถถัง หรือห้องนักบินบนเครื่องบิน หรือเอามาใช้กับการออกแบบเก้าอี้สำนักงานเองในช่วงทศวรรษ 1970 ถึงปัจจุบัน

อย่างเช่น ‘The Aluminum Group Chair’ ที่ออกแบบโดย ‘Charles and Ray Eames’ สองพี่น้องนักออกแบบชื่อดังที่ผลิตเก้าอี้สำนักงานที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ จากเส้นสาย การเลือกใช้วัสดุ และการใส่ล้อพลาสติก ที่ดูเผิน ๆ เก้าอี้แบบนี้ก็ถูกใช้กันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันด้วย จากความโมเดิร์นและความละเมียดละไมในการออกแบบ ซึ่งยังคงความสบายจากการมีชิ้นส่วนเบาะทั้งชิ้นเชื่อมต่อกันเป็นรูปตัว L จากพนักพิงไล่ลงมาถึงเบาะที่นั่ง แต่ก็ยังไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้ากับหลักสรีรศาสตร์ 100%

จนกระทั่งในยุคถัดมาที่งานออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ตามหลักสรีรศาสตร์เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หนังสือชุด ‘Humanscale’ โดย ‘Niels Diffrient’ นักออกแบบที่สนใจการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ผนวกเข้ากับหลักคิดทางด้านสรีระร่างกายจากการใช้งานจริง ซึ่งส่งผลให้งานออกแบบที่มีความคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เริ่มเข้าถึงชุมชนการออกแบบได้อย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างสำคัญของหน้าตาเก้าอี้ยุคนี้เลยคือ ‘Ergon Chair’ เก้าอี้ที่ออกแบบโดย ‘William Stumpf’ ในปี 1976 ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้โฟมขึ้นรูปทำเป็นเบาะ ซึ่งจะไม่ใช่ทรงของการยัดวัสดุบุนวมเหมือนกับหน้าตาของเบาะรองนั่งของเก้าอี้สำนักงานในยุคที่ผ่าน ๆ มา แต่เลือกใช้การ Custom ให้เข้ากับท่าทางการนั่งตามธรรมชาติของก้นมนุษย์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์

อีกทั้งยังมีการออกแบบส่วนประกอบของตัวเก้าอี้ให้การนั่งบนสิ่งนี้นาน ๆ ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย อาจจะเพิ่มเบาะรองคอ หรือเพิ่มชิ้นส่วนบางอย่างที่ออกแบบมาให้เข้ากับสรีระของผู้นั่ง จนได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นหน้าตาของเก้าอี้สำนักงานสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่มากขึ้นของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางการออกแบบที่ดูน่าทึ่ง และไม่ว่าใครก็ตามที่เคยนั่งทำงานนาน ๆ บนเก้าอี้ที่ไม่ตอบรับสรีระ แล้วได้ไปลองนั่งบนเก้าอี้สำนักงานราคาแพง ๆ ตามห้าง ก็อาจจะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ทางการออกแบบที่ส่งผลให้ประสบการณ์การนั่งครั้งแรกของคุณ สัมผัสได้เลยว่ามันไม่เหมือนเก้าอี้ตัวอื่นที่เคยนั่งมา

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหมือนกันที่ ‘เก้าอี้สำนักงาน’ ทุกตัวอาจจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้สอดรับกับหลักสรีรศาสตร์อย่างรอบด้านได้เหมือน ๆ กัน เพราะอาจจะมีแค่เก้าอี้สำนักงานระดับพรีเมียมบางตัวเท่านั้นที่ถูกให้ความใส่ใจ และสวมใส่หน้าตาของความเป็นนวัตกรรมทางการออกแบบที่ทำให้เฟอร์นิเจอร์สามัญของมนุษย์วัยทำงานนั้นสร้างประสบการณ์ในการใช้งานแตกต่างกัน

ทั้ง ๆ ที่มันเป็น ‘เก้าอี้’ ที่ถูกเริ่มต้นด้วยไอเดียการอยากดูแลความสะดวกสบายของคนทำงานจากนายจ้างที่มุ่งเน้นเพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้นเหมือนกันอยู่ดี

ที่มา

CREATED BY

Content Creator

พนักงานมือใหม่ที่สนุกกับการหาเรื่องมาเล่า ไม่มีสิ่งที่ชอบตายตัว มีแต่สิ่งที่ชอบแล้ว และกำลังหาสิ่งใหม่ที่ชอบต่อไป