เดวิน บูเกอร์, Devin Booker, บาสเกตบอล, ฟินิกส์ ซันส์, NBA

เมื่อพูดถึงกีฬา “บาสเกตบอล 🏀” ในปีนี้ไม่มีกระแสไหนยิ่งใหญ่ไปกว่าการคว้า “เหรียญทอง 🥇” โอลิมปิกของทีมชาติ “สหรัฐอเมริกา 🇺🇸” ได้อีกครั้ง ภายใต้เหล่าดรีมทีมที่ขนทัพกันมาหลากหลายผู้เล่นจากลีก “เอ็นบีเอ (NBA)” ที่ครองอำนาจของกีฬาชนิดได้ทั้งประเภทชายและหญิง 

ในทีมชายชุดนี้ได้ผู้นำทีมและ “เอ็มวีพี (MVP)” หรือผู้เล่นทรงคุณค่าของรายการนี้ อย่าง “เลบรอน เจมส์” ซึ่งประกาศกับสื่อหลังจากคว้าเหรียญทองมาได้ว่าทีมชุดนี้คือทีม “ดิ อเวนเจอร์ส” เพราะรายล้อมไปด้วยผู้เล่นชื่อดัง อย่าง “สเตฟเฟน เคอร์รี” ผู้ปิดเกมช่วงสำคัญในรอบชิง และรอบรองชนะเลิศ , “เควิน ดูแรนท์” ตัวทำแต้มของทีม กับการคว้าแชมป์ 4 สมัยติด

โดย 3 คนที่กล่าวมาอาจเป็นปีสุดท้ายของพวกเขาในโอลิมปิกเกมส์ ทำให้ความพิเศษของทีมชุดนี้ ถูกกระแสสื่อจับตามองเทไปที่ผู้เล่นเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ ภายใต้การคุมทีมของ “สตีฟ เคอร์” โค้ชคนดังจากทีม “โกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส” มารับผิดชอบพาเหล่าซูเปอร์สตาร์จากเอ็นบีเอไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาได้ที่กรุงปารีส 🇫🇷

หนึ่งสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของเคอร์หลังจากจบภารกิจคว้าเหรียญทองมาได้แล้ว เขาได้กล่าวถึงผู้เล่นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญสำหรับทีมชุดนี้ไม่แพ้เลบรอน, เคอร์รี, และดูแรนท์ เขาคือ “เดวิน บูเกอร์” การ์ดชื่อดังจากทีม “ฟินิกส์ ซันส์” ที่เป็น 5 ตัวจริงแรกของทีมชาติชุดนี้ ซึ่งเคอร์ได้ทิ้งคำพูดเอาไว้ว่า “ไม่มีใครพูดถึง ‘เดวิน’ เลย เขาเป็นนักบาสเกตบอลที่ยอดเยี่ยมมาก เขาเป็นดั่ง ‘Unsung MVP’ ผมอยากจะบอกให้ได้รับรู้ ขอบคุณมาก” ถือเป็นการสรรเสริญถึงผู้เล่นคนสำคัญนี้ที่ใช้คำว่า “Unsang MVP” เพื่อจะบอก “แม้ว่าไม่ได้โดดเด่นเทียบเท่าใคร แต่อุดมไปด้วยคุณค่าที่ให้กับทีม”

รู้จักกับเขา “เดวิน บูเกอร์”

“เดวิน บูเกอร์” สูง 6 ฟุต 6 นิ้ว (1.98 เมตร) เป็นนักบาสเกตบอลในตำแหน่ง “ชู้ตติง การ์ด” ของทีม “ฟินิกส์ ซันส์” รัฐ “แอริโซนา” สหรัฐอเมริกา หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของเขาในสื่อบันเทิงจากการเป็นอดีตแฟนของดาราชื่อดัง อย่าง “เคนดัล เจนเนอร์” ที่ได้แยกทางกันไปแล้ว แต่อาจมีเซอร์ไพรส์กลับมาคืนดีกันเร็ว ๆ นี้ตามข่าวของสื่อต่างประเทศ

ผลงานของบูเกอร์ใน “เอ็นบีเอ” กับทีม เขาเข้าร่วมด้วยการ “ดราฟต์” สู่ลีกตั้งแต่ในปี 2015 สะสมประสบการณ์ด้วยการเป็นตัวหลักของทีม เคยสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการทำแต้มคนเดียวถึง 70 แต้มในปี 2017 ที่สนาม “ทีดี การ์เด้น” ของทีม “บอสตัน เซลติกส์” เป็นหนึ่งในผลงานแจ้งชื่อของเขาให้กับซันส์

ส่งผลให้เขาได้กลายเป็นผู้เล่นระดับ “ออลสตาร์” ถึง 4 ครั้ง เคยได้รางวัลเป็นผู้เล่นทีมชุดแรกของเอ็นบีเอในปี 2022 และแชมป์ยิง 3 แต้มในปี 2018 อีกทั้งยังเคยพาทีมซันส์เข้ารอบชิงในปี 2021 แม้จะไปพ่ายให้กับทีม “มิลวอกี บักส์” ทำให้เขาเป็นหนึ่งในนักบาสเกตบอลที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในฝั่งตะวันตกของประเทศ ด้วยผลงานระดับสุดยอดนี้ส่งผลให้เขาได้เข้าไปรับใช้ชาติครั้งแรกในศึก “โอลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020” ที่ประเทศญี่ปุ่น 🇯🇵

การเล่นของ “เดวิน บูเกอร์” ในนามทีมชาติ

สำหรับบทบาทครั้งแรกในนามทีมชาติของบูเกอร์ เขาได้รับโอกาสจาก “เกร็กก์ โพโพวิช” โค้ชระดับตำนานของทีม “ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส” มาทำหน้าที่คุมทีมชาติในปีนั้น  ในนัดแรกของกลุ่มเอที่ต้องพบกับทีม “ฝรั่งเศส” เขาได้เป็นสำรองในเกมนั้น แม้จะพ่ายไปก่อน 83-76 นับเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีนักสำหรับเขาและทีม

แต่ทีมชาติสหรัฐฯ เริ่มปรับฟอร์มการเล่นจากเกมก่อนที่เล่นในระบบโซนตามคู่แข่ง ทำให้เจาะทำแต้มจากได้ยาก เริ่มลองปรับวิธีถ่ายบอลให้มีพื้นที่ยิงทำแต้ม เพื่อดึงให้คู่แข่งในเกมรับต้องออกมาประกบผู้เล่นตัวทำแต้ม เนื่องจากนักบาสของสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือเหล่าจอมแม่นและสร้างเกมรุกที่ดี

หนึ่งในผู้เล่นที่ให้ประโยชน์กับวิธีการเล่นนี้คือบูเกอร์ในตำแหน่งชู้ตติงการ์ดสามารถเคลื่อนบอลให้กับทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการเล่นของเจ้าตัวที่โจมตีคู่แข่งอย่างรวดเร็ว และความแม่นยำในทุกระยะยิง ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำแต้มให้ทีมได้มาก กับอีกบทบาทที่เจ้าตัวแสดงให้เห็นคือสามารถป้องกันผู้เล่นที่ต้องประกบได้อย่างดี ช่วยให้ทีมมีวิธีการเล่นที่ง่ายขึ้น

เห็นได้ชัดในเกมต่อมาที่พบกับ “อิหร่าน 🇮🇷” หลังจากได้เป็น 5 ตัวจริง เขาทำได้ถึง 16 แต้ม นับตั้งแต่นั้นเขาได้รับบทบาทในตำแหน่งจริงของทีม โดยเฉพาะรอบรองชนะเลิศที่เอาชนะทีม “ออสเตรเลีย 🇦🇺” 97-78 โดยบูเกอร์ทำแต้มได้ถึง 20 แต้ม ก่อนไปชิงกับฝรั่งเศสเพื่อล้างตาอีกครั้ง

สำหรับรอบชิงบูเกอร์ได้โอกาสเป็นตัวจริง แต่กลับทำได้เพียง 2 แต้มในเกม ยังดีที่ทีมสามารถเอาชนะคว้าเหรียญทองมาได้ด้วยความยอดเยี่ยมของ “เควิน ดูแรนท์” และ “เจสัน เททัม” ที่ยิงให้ทีมเกือบ 20 แต้ม พาทีมล้างตาฝรั่งเศสได้ และเป็นการคว้าเหรียญทองครั้งแรกของบูเกอร์ในนามทีมชาติด้วยเช่นกัน

“Unsang MVP” เหมาะกับ “เดวิน บูเกอร์”

หลังจากประสบความสำเร็จที่ญี่ปุ่นมาแล้ว ในปีนี้ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ บูเกอร์ได้โอกาสอีกครั้งที่จะกลับมาล่าเหรียญ รวมไปถึงการมาเป็นส่วนร่วมของ “ดรีมทีม” ชุดที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากการพลาดแชมป์จากรายการ “บาสเกตบอลโลก 2023” ทำให้ชุดนี้ถูกตั้งความหวังจากแฟนบาสทั่วทุกมุมโลก

โค้ช “สตีฟ เคอร์” เป็นหนึ่งในทีมงานชุดแชมป์ที่โตเกียว เขาคือส่วนหนึ่งของการปรับแผนหลังจากพลาดให้กับฝรั่งเศสในเกมแรก และยังได้เล็งเห็นศักยภาพส่วนหนึ่งของบูเกอร์ตั้งแต่โตเกียวจนมาถึงปารีส ทำให้บูเกอร์กับหมายเลข “15” ได้กลับมาเริ่มเป็นตัวจริงอีกครั้งในทีมชาติ

ปีนี้ถือเป็นการเค้นศักยภาพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของบูเกอร์ ยิ่งได้โค้ชแบบเคอร์ที่ถนัดการเล่นรูปแบบ “สมอลบอล” ช่วยเคลื่อนการทำแต้มและเพิ่มวิธีการเล่นของบูเกอร์ให้ถนัดเจ้าตัวมากยิ่งขึ้น แม้ชุดนี้จะมี “สเตฟเฟน เคอร์รี” ที่มาจากทีมเดียวกับเคอร์ และโด่งดังด้วยวิธีการเล่นนี้ แต่บูเกอร์ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

ตลอดรอบแบ่งกลุ่มจนมาถึงรอบชิง บูเกอร์สามารถเข้ามาเป็นตัวจริงในตำแหน่ง “ชู้ตติง การ์ด” ได้เกือบทุกเกม หากดูที่การทำแต้มมีแค่เกมเดียวคือ “เปอร์โตริโก 🇵🇷” ที่เขาทำได้เพียง 9 แต้ม โดยเกมที่เหลือเขาทำได้เกิน 10 แต้ม โดยเฉพาะเกมที่พบกับ “บราซิล 🇧🇷” ที่ทำได้ถึง 18 แต้มเป็นผู้นำแต้มในเกมนั้น แม้จะยิงได้เยอะแต่การป้องกันผู้เล่นฝั่งตรงข้าม บูเกอร์เรียกได้ว่าสอบผ่านสำหรับตัวการ์ดที่กันการยิงของคู่แข่งได้

ด้วยเหตุนี้ทำให้เพื่อนร่วมทีมทุกคน สามารถรีดฟอร์มการเล่นที่ดีที่สุดออกมาได้ ข้อดีของชุดนี้มีผู้เล่นที่สามารถถือบอลเพื่อสร้างการโจมตีคู่ต่อสู้ได้อย่างหลากหลาย ยิ่งมีบูเกอร์ที่จบเองหรือถ่ายบอลสร้างโอกาสให้เพื่อนได้ ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้ทีมได้อย่างเป็นอย่างดี

เมื่อเข้าสู่รอบชิงเป็นการพบกันอีกครั้งกับทีมฝรั่งเศส แม้ว่าครั้งที่แล้วบูเกอร์จะฟอร์มไม่ดีทั้ง 2 เกมที่พบกับทีมนี้ แต่เจ้าตัวสามารถแสดงผลงานออกมาได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการเล่นตลอดรายการนี้เขาสามารถทำแต้มได้ด้วยการเล่นที่ไม่ฝืนจนเกินไป เน้นบทบาทที่มีผลต่อการเล่นของคนในทีม เห็นได้ชัดจากการได้เป็นการ์ดคู่กับเคอร์รีที่ติดปัญหาในเรื่องของการป้องกัน จุดนี้บูเกอร์ได้ป้องกันคู่แข่งได้อย่างอยู่หมัด แล้วในช่วง 3 ควอเตอร์แรกเขาสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำแต้มให้กับทีมได้ในรอบชิง ก่อนที่จะถึงห้วงเวลาสำคัญของเคอร์รีที่ได้โชว์ความแม่นยำระดับตำนาน โดยมีบูเกอร์เป็นผู้สนับสนุนส่วนของการ์ดที่ทำให้เพื่อนเล่นได้ดีขึ้น

ในทีมชุดนี้มีผู้เล่นที่รันแต้มได้อย่างดูแรนท์ รู้จังหวะและสร้างการทำแต้มได้อย่างเลบรอน และมีเคอร์รีเป็นผู้ตัดสินเกมได้ด้วยความแม่นยำ แต่บูเกอร์รักษาจุดดีเหล่านั้นเข้ามาเสริมให้ทีมชาติสหรัฐฯ ต้อนเอาชนะฝรั่งเศสไปได้ 98-87 โดยที่บูเกอร์สามารถยิงใส่ฝรั่งเศสได้ 15 แต้มด้วยประสิทธิภาพการทำแต้มถึง 60 %  

“Unsung” มีความหมายที่แสลงจาก 2 คำว่า “Un” สื่อถึงการปฏิเสธ เช่นคำว่า “ไม่” ผนวกคำกับ “Sung” กริยาช่อง 2 และ 3 จากคำว่า “Sing” สื่อว่า “ร้องเพลง หรือ สรรเสริญ” เมื่อ 2 คำนี้รวมกันต้องการสื่อถึง “สิ่งที่ไม่ได้รับการสรรเสริญ” จะเห็นคำนี้ได้บ่อยในประโยคว่า “Unsung Hero” แปลแสลงได้ว่า “วีรบุรุษที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึง” หรือสำนวนไทยที่ชัดเจนได้ว่า “ผู้ปิดทองหลังพระ” นั่นเอง

เช่นเดียวกับบูเกอร์ที่ได้รับเครดิตจากโค้ชอย่างเคอร์ การกล่าวถึงบูเกอร์ว่า “Unsung MVP” ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกับเลบรอนที่ได้ “เอ็มวีพี (MVP)” ไปด้วยบทบาทสำคัญกับทีมชุดนี้  แต่เป็นการเชิดชูให้กับผู้เล่นคนสำคัญอีกคนที่อาจไม่ได้โดดเด่นมาก แต่กลับเป็นผู้ปิดทองหลังพระตัวจริงในการคว้าเหรียญทองให้กับดรีมทีม “ดิ อเวนเจอร์ส” ชุดนี้ที่กรุงปารีส

อ้างอิง