เพราะบางสถานที่เราไม่เคยสัมผัส เราก็เลยไม่ล่วงรู้ถึงความสำคัญมากเท่าไหร่นัก วันนี้ SUM UP ได้ลองไปเที่ยวในพื้นที่ที่จริง ๆ ดูเที่ยวได้ยากพอสมควร จนไม่ได้ดูเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวด้วยซ้ำ แต่หากเรามองเห็นถึงการมีอยู่ในแง่ประวัติศาสตร์ และพัฒนาการจากวันนั้นสู่วันนี้ของพื้นที่เหล่านั้น เราก็อาจจะใส่ใจสถานที่เหล่านั้นมากขึ้นก็ได้ เพราะวันนี้เราจะพาไปเที่ยว ‘วัดร้าง’ กัน
ร้างแล้วจะไปทำไม มีอะไรน่าเที่ยวหรือ คำถามนี้คงจะเป็นสิ่งที่เราจะได้ค้นหาคำตอบกันในวันนี้
ก่อนอื่นเรามาเริ่มอธิบายคำว่า ‘วัดร้าง’ ให้เข้าใจความหมายตรงกันก่อน ตามความหมายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแล้ว คำ ๆ นี้ใช้เรียกวัดที่ไม่มีพระภิกษุอยู่พักอาศัย ซึ่งหากยังไม่มีการยุบวัดนั้น ๆ ทางสำนักพุทธฯ จะมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาตัววัด ที่ตั้งของวัด ที่ธรณีสงฆ์ และทรัพย์สินของวัดนั้น ๆ จนกว่าจะมีการฟื้นฟูบูรณะปฏิสังขรณ์วัดร้างให้มีพระสงฆ์ เพื่อประโยชน์ในการประกอบศาสนกิจบำเพ็ญกุศลของพุทธศาสนิกชนอีกครั้งนั่นเอง
สำหรับวันนี้ วัดแรกที่เราเดินทางไปคือ ‘วัดสวนสวรรค์’ วัดที่ตั้งอยู่ในซอยสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นซอยย่อยเข้าไปในบ้านเรือนที่ต่อมาจากซอยอรุณอมรินทร์ 53 หรือซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 บริเวณใกล้กันกับสะพานพระราม 8 และวัดคฤหบดี แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด เพียงแต่วัดนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีบริเวณเหมือนวัดเลยแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่หลงเหลืออยู่มีแค่เพียงอุโบสถเพียงหลังเดียวที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน โดยมีเจดีย์ตั้งอยู่ข้าง ๆ กัน 2 องค์ องค์หนึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ ที่มีบ้านเรือนของผู้คนล้อมไว้ ในขณะที่เจดีย์อีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ในรั้วบ้านของผู้คนในบริเวณนั้น



วัดแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดร้างที่ไม่มีข้อมูลหลายอย่างบันทึกเอาไว้มากนัก ทั้งปีที่สร้าง ผู้สร้าง ไปจนถึงว่าวัดนี้เริ่มร้างตั้งแต่เมื่อใด มีเพียงคำสันนิษฐานจากหลายแหล่งข้อมูลระบุว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย และน่าจะเป็นวัดราษฎร์ หรือวัดที่สร้างขึ้นโดยประชาชนเอง เพราะวัดนี้ไม่ปรากฏชื่อในทำเนียบพระอารามหลวงสมัยอยุธยา
ภายในอุโบสถมีหลวงพ่อดำประดิษฐานอยู่ และมีร่องรอยความชำรุดทรุดโทรมจากความเก่าแก่เผยให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะกับเสมาที่ตั้งอยู่โดยรอบวัด และพื้นผิวด้านนอกของอุโบสถ ที่เผยให้เห็นสัจจะวัสดุที่ผุพังตามกาลเวลา อีกทั้งการที่อุโบสถแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนของผู้คนทำให้ความแปลกแยกของพื้นที่ช่วยขับเน้นให้วัดร้างแห่งนี้เป็นหนึ่งวัดร้างย่านฝั่งธนที่ควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก







ถัดมายังอีกวัดหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลนัก นั่งรถรับจ้างไปเพียง 1 ช่วงถนนใหญ่ก็ถึงที่หมาย นั่นคือ ‘วัดภุมรินราชปักษี’ วัดร้างที่มีพื้นที่กว้างขวาง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับวัดดุสิตารามวรวิหาร หรือช่วงตีนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทางฝั่งธนบุรีนั่นเอง
วัดแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวัดร้างที่ยังคงสภาพดี และมีการออกแบบที่น่าสนใจ นั่นคือการสร้างฐานของโบสถ์และวิหารแบบตกท้องช้าง หรือออกแบบให้พื้นมีความแอ่นคล้ายกับเรือสำเภา ซึ่งจากรูปแบบการสร้างนี้ทำให้มีการสันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นมาช่วงสมัยอยุธยา



ส่วนข้อมูลหลักที่พอมีอยู่ของวัดนี้อยู่ในข้อมูลของประวัติวัดดุสิตารามวรวิหาร ความว่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโณรส ได้ลงพื้นที่ตรวจวัดวาอาราม แล้วก็เห็นว่าวัดภุมรินราชปักษีมีพระสงฆ์เพียงรูปเดียว จึงเกิดการรวมวัดแห่งนี้เขากันกับวัดดุสิตารามวรวิหาร
ตัวพื้นที่ใช้สอยของวัดในปัจจุบันถือได้ว่ากว้างขวาง มีทั้งศาลที่ก่อด้วยวัสดุสมัยใหม่ทางด้านหลัง มีหอไตรเก็บพระไตรปิฎก มีอุโบสถและวิหารที่ตั้งขนานกัน ในพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณกว้างเพียงพอให้ชุมชนใช้สอยพื้นที่ได้อย่างสะดวกสบาย มีเพียงซากโบราณสถานของฐานเจดีย์ และฐานของเสมาโดยรอบที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ดูเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ที่เหลือของอาคารใช้สอยหลักยังคงเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ค่อนข้างครบถ้วน
รวมไปถึงภายในอุโบสถก็ยังคงเต็มไปด้วยร่องรอยของจิตรกรรมฝาผนัง ที่แม้จะมีบางส่วนเลือนหายแต่ลายเส้นบางส่วนก็ยังคงชัดเจนพอให้เราไปพินิจพิเคราะห์ถึงเรื่องราวที่บรรจงวาดลงบนสถาปัตยกรรมเหล่านั้น




เหนือสิ่งอื่นใด ทั้งสองวัดนี้แม้จะเป็นวัดร้าง แต่ก็ยังคงเป็นวัดที่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมและสักการะบูชาพระพุทธรูปภายในได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นสำหรับใครที่อยากลองเดินทาง ก้าวเท้าล่องตามรอยบนเส้นทางใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยสัมผัส วัดร้างก็น่าจะเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแบบ Unseen ที่น่าจะลองไปดูสักครั้ง เพราะสิ่งเหล่านี้คือประวัติศาสตร์ที่กำลังหลบซ่อนอยู่ตามมุมต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อรอให้คุณเดินทางค้นหาอยู่นั่นเอง