ว่ากันว่า ‘โอกาส’ ไม่เคยหยุดนิ่ง และเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องออกตามหา ไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใด หากตรงนั้นมี ‘โอกาส’ เป็นจุดมุ่งหมาย ผู้คนก็พร้อมโยกย้ายตัวเองและความฝันตามไปด้วยเสมอ
หากมองกลับมายังเราเองในฐานะคนเขียนเนื้อหานี้ พื้นเพเราก็ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ทุกคนแต่อย่างใด เราล้วนโยกย้ายตัวเองจากภูมิลำเนาเพื่อมารับใช้ระบบทุนนิยมที่เชือดเฉือนชีวิตทีละนิดละหน่อย และขวนขวายหาคำตอบของการมีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘อาชีพ’ เหมือน ๆ กัน
ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ หัวเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศก็เป็นแลนด์มาร์กแห่งโอกาสที่ผู้คนต่างเคลื่อนที่พาตัวเองเพื่อค้นหาทางไปต่อของชีวิตกันทั้งนั้น โดยเฉพาะพื้นที่เล็ก ๆ แห่งการกระจุกตัวของโอกาสอย่าง ‘พัทยา’ ที่ก็มีผู้คนหลั่งไหลเข้าไปทำงานน้อยใหญ่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
วันนี้ SUM UP เดินทางไปพูดคุยกับพวกเขา, ผู้เคลื่อนที่ไขว่คว้าโอกาสจากบ้านเกิดสู่เมืองแห่งนี้ และเคลื่อนที่สินค้าหรือบริการของพวกเขาบน ‘รถเข็น’ เพื่อรับใช้ผู้ไขว่คว้าโอกาสคนอื่น ๆ ในพัทยาเหมือนกัน เพื่อทำความรู้จักถึงที่มาที่ไปและชุดความคิดของพวกเขากัน
คำบุ วงศ์ใหญ่, 55 ปี
ขายหอยนางรมทรงเครื่อง
“ป้าย้ายมาอยู่พัทยาตั้งแต่ปี 35 ลูก จำ พ.ศ. ไม่ได้ แต่ปีนี้ป้าอายุ 55 แล้ว ก่อนหน้าจะมาอยู่พัทยาป้าก็ทำงานก่อสร้างไปเรื่อย ใครจ้างไปไหนก็ไป ไปทั่วประเทศไทยเลย เจ้านายเป็นคนพาไป ป้าเป็นลูกน้องกรรมกรของเขา หลัก ๆ ทำอยู่แถวบางบอน บริษัทอะไรสักอย่าง ป้าจำชื่อไม่ได้”
“ป้าเป็นคนร้อยเอ็ดนะ แต่เจ้านายพามาค้าผ้าไหมที่พัทยา ขายเสื้อผ้าไหมในพัทยาก็เป็นลูกน้องเขาขายกินเปอร์เซนต์เอา และก็เปลี่ยนมาขายข้าวเกรียบ ป้าก็เดินขายข้าวเกรียบมาเรื่อย ๆ จนเห็นเพื่อนฝูงขายยำหอยนางรมแล้วเขาขายดีก็เลยอยากลองดูบ้าง เราก็ใช้หัวคิดเราเอง ทำเอง ไม่ถามใคร ซื้อหอยมานั่งแพ็คเป็นชุด ๆ ซึ่งถ้าเทียบยำหอยนางรมกับข้าวเกรียบข้าวเกรียบกำไรมันน้อยกว่า”
“วิธีขายของป้าจะมี 2 แบบคือใส่ตะกร้าเดินขายกับขับรถพ่วงขาย ซึ่งรถป้าซื้อผ่อนวันละ 100 เป็นมือสอง ผ่อนหมดแล้วประมาณ 24,000 แต่ถ้าจะเดินขายก็เอารถจอดไว้ตามฝั่งป้าก็หิวตะกร้าขายตามเตียง เอาของไว้ที่รถ ขายหมดก็วิ่งมาเอาของไปขายใหม่ ขายแถวนี้หมดแล้ว ก็ไปขายที่อื่น แถวซอย 6 แถวซอย 1 วันเวียนอยู่แบบนี้ทั้งคืน นาทีสุดท้ายถ้ายังขายไม่หมดนะ วิ่งเข้าตามบาร์ แต่ก็เป็นบางบาร์เพราะบางบาร์คนเยอะ ๆ เขาก็ไม่ให้เข้า”
“ทุกวันนี้ต่างชาติก็มาเที่ยวพัทยาเหมือนเดิมนะ เห็นมานั่งทะเลกัน แต่เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขารู้มาก เขาจะซื้อของเซเว่นกินกัน แต่จะไม่ค่อยกินยำหอยนางรมกันหรอก เขากินกันไม่เป็นน้องจากเมียจะพากิน ป้าเลยไม่ได้ขายให้เขาจะเรียกขายเฉพาะคนไทย เมื่อวานก็ได้ขายให้คนเกาหลีเพราะเขาอยากลองดู แต่ป้าก็ไม่ได้ขายเขาแพง ขายราคาคนไทยนี่แหละ”
เกดมณี ผิวทอง, 33 ปี
ทองแดง ผิวทอง, 43 ปี
ขายเสื้อผ้าแฟชั่น
“เราเป็นคนร้อยเอ็ด ก่อนหน้านี้เรารับจ้างทั่วไป กรุงเทพฯ ก็เคยไปหาบขนมจีนขาย ระยองก็เคยไปขายดอกไม้ ขายอยู่ไม่ถึงปี ตอนต้นปีนี้ก็มีคนชวนให้มาขายของที่พัทยาดีกว่า เราก็มาขายของตามลุง ตอนแรกขายไข่เจียวกับกะเพราเป็นรถพ่วงเสื้อผ้า ในกลุ่มเดียวกันก็มีเพื่อน ๆ ขายของเกิน 10 คัน ขายกับข้าว ขายรองเท้า อย่างเราก็ขายเสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อใน กางเกง เวลาเราออกมาขายทีก็ไปรับของมาเป็นรอบ ๆ ถ้าหมดก็ไปเอาลงมาใหม่ ไม่มีสต็อกเก็บไว้กับตัวเลย แล้วสไตล์ของเสื้อผ้าในรถหลาย ๆ คันมันก็จะคล้าย ๆ กัน ก็แล้วแต่ลูกค้าว่าเขาจะเลือกซื้อของคันไหน”
“ช่วงหน้า High Season ใน Tree Town คนจะเยอะกว่านี้ ช่วงนี้ก็เร่ขายไปเรื่อย ๆ ออกมาประมาณบ่าย 2 บ่าย 3 แล้วกลับบ้านอีกทีประมาณตี 1 ซอยที่ขายของได้มากที่สุดคือซอย 6 เมื่อก่อนขายดีกว่านี้ วันนึงก็ได้เยอะอยู่ มันแล้วแต่ช่วง แต่ 2 เดือนที่ผ่านมานี้มันแย่ บางวันไม่ได้เลยก็มี ส่วนมากลูกค้าเราก็เป็นน้อง ๆ ที่นั่งในบาร์ ลูกค้าต่างชาติที่มาซื้อก็มีบ้าง แต่น้อย ชุดที่ขายดีหน่อยเป็นชุดแนวลูกไม้ รับมา 200 ขาย 399 กำไรเสื้อผ้าแต่ละตัวก็จะใกล้ ๆ กัน ขายแพงมากก็ไม่ได้ น้อง ๆ เค้าจะบอกว่า “ขายแพงจังเลยแม่” ก็จะบอกเขา “แม่ก็รับมาแพง” ”
“พัทยามันขายของยากนะ ไม่รู้จะบอกยังไง ตอนขายของที่กรุงเทพฯ ก็ยากเหมือนกัน แต่ปัญหามันต่างกัน อยู่ตรงนั้นเราขายของเป็นลูกน้องเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไรมาก หนึ่งวันเราก็แค่ไปทำงานแล้วก็กลับบ้าน แต่พอมาขายพัทยาเราเป็นนายตัวเอง มันอิสระ ทำงานง่ายกว่าเดิม แต่เราก็มีลูก 2 คน คนเล็กคนนึง เพิ่งจะเข้าโรงเรียนปีนี้ คนโตเรียนมัธยมอีกคนนึง พอขายได้ไม่เยอะ ค่าใช้จ่ายตอนนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้น”
บัวใล วงศ์สวาสดิ์, 62 ปี
ขายต้นไม้มงคล
“ก่อนจะย้ายมาทำมาหากินอยู่ที่พัทยา สมัยสาว ๆ ยายเป็นภารโรงอยู่ที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ที่กรุงเทพฯ ทำได้พักหนึ่งก็กลับบ้านไปทำไร่ทำนา จนมีคนบอกว่าที่พัทยามันขายต้นไม้ได้นะ ยายก็ย้ายมาตั้งแต่ปี 47 อยู่พัทยามาก็ขายมาอย่างเดียวคือต้นไม้ไม่เคยเปลี่ยนของขายเลย มันก็ไม่รวยหรอกแต่มันก็ทำให้เรามีกินเรื่อย ๆ เพราะต้นไม้มันทำคุณให้กับเราตลอดนะ บางคนเขาขับรถมาซื้อต้นไม้ริมทาง อันไหนหยิบขายให้เขาได้ ยายก็ขาย”
“มาอยู่ตั้งแต่ปี 47 ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร ปีนี้ก็เข้าปี 67 แล้ว แฟนก็เสียไปแล้ว ตอนนี้อยู่คนเดียว แต่ก่อนมีทั้งบ้านมีทั้งรถ เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง ตอนแรกยายไม่ได้เข็นรถเข็นขายนะ ยายมีรถใหญ่ก็ขับไปขายตามตลาดนัด จนมันมีโควิดเข้ามา น้ำมันก็แพง เลยเปลี่ยนมาเอาต้นไม้มาใส่รถเข็นขายแทน แต่มันก็ดีนะ ช่วยให้เราได้ออกกำลังกายด้วย ได้คุยกับลูกค้าด้วย สมัยก่อนอยู่แต่ในรถ ลูกค้าก็หาว่าหยิ่งบ้างเพราะไม่ได้คุยกับลูกค้า มาเข็นรถเข็นขายแบบนี้บางทีก็มีคนสงสารยาย เข้ามาถามว่าอยากให้ช่วยอะไรไหม มันก็อยากให้ช่วยหมดแหละ อะไรก็ได้ตอนนี้ ลำบากมาก ไหนจะค่าเช่า ค่าห้อง ค่ากิน นอนคิดมากทุกคืน อายุเราก็เยอะแล้ว แก่แล้ว ใครเขาจะมาจ้างเลยต้องมาขายของอยู่แบบนี้ บางคืนก็มีนอนร้องไห้นะเพราะคิดถึงตาตอนที่ยังอยู่ด้วยกัน”
“ตอนแรกตั้งใจจะขายของกิน แต่ทำคนเดียวมันทำไม่ไหวไง เลยขายต้นไม้แทน มันง่าย แค่รดน้ำไป ขายไป ใส่ปุ๋ยไป มันก็สบายใจดี เราได้ดูต้นไม้สวย ๆ งาม ๆ ด้วย เวลาเรารดน้ำเราก็พูดกับเขาว่า ขอให้แม่มีอยู่มีกินร่ำรวยเด้อ มันก็สบายใจนะ เราดูแลของเราอย่างดีพอมีคนมาซื้อไปเขาจะได้เอาไปดูแลต่อ ยายนะขายแต่ต้นไม้มงคล ขายแต่ต้นไม้ชื่อดี ๆ สาลิกาลิ้นทอง เศรษฐีเรียกทรัพย์ กุมารเรียกทรัพย์ แต่พูดถึงว่าขายต้นไม้ในพัทยาจะยากก็ไม่ยาก จะง่ายก็ไม่ง่าย แต่เวลามีบาร์เปิดใหม่นะ เขาซื้อเป็นรถ (ซื้อเหมา) ยายก็สบายเลยวันนั้น สัก 300 – 500 ต่อวัน ยายก็พออยู่ได้แล้ว”
“ก็อยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวพัทยาเยอะ ๆ อยู่ ถ้ามีคนมาเที่ยว ยายก็พอได้ขายของ แต่มันไม่มีไง พวกเขาก็แย่เหมือนกันใครจะมา เขาไม่มีเงินเขาก็ไม่มากัน ขนาดกลับบ้านยังกลับไม่ได้เลย ยายอยากกลับบ้านเกิดจะตาย ถ้าเขาแจกหมื่นนึงได้ยายจะกลับเลย เมื่อไหร่ได้ ฝากถามหน่อย”
สิรินันท์ แสงทอง, 42 ปี
ขายสเต็กพาย
“ก่อนเรามาพัทยา เราทำงานโรงงานที่ราชบุรีมาก่อน บ้านเราอยู่โพธาราม อยู่ที่นั่นนานเหมือนกัน พอออกมาจากโรงงานก็ตามไปช่วยพ่อแฟนขายพายที่นี่เลย ตอนนั้นไปเป็นลูกน้องเขา ทำมาได้สักพักภาระงานเราก็เยอะขึ้น เลยอยากลองครูพักลักจำธุรกิจนี้ เมนูนี้มาพัฒนาต่อ เราไม่รู้จริง ๆ ว่าสูตรมันมีอะไรบ้าง แต่รู้สึกว่าต้องลุย ไม่รู้จะหมู่หรือจ่า เราต้องออกมาทำของตัวเองบ้าง เลยแยกตัวออกมาทำเป็นร้านพายรถเข็นได้ 10 ปีแล้ว เพิ่มไส้นู้นไส้นี้มาจนได้เป็นสูตรของตัวเอง”
“เส้นที่เราเข้าไปขายบ่อย ๆ ก็ซอยบัวขาว ส่วนมากคนขายของรถเข็นชอบขายในนั้น เพราะช่วงกลางคืนมันจะขายดี บาร์มันเปิดไง ขายช่วงทุ่มนึงถึงช่วงตี 4 ตี 5 แต่จอดขายได้แค่แป๊บเดียว เพราะเทศกิจเขาจะมาจับไง ต้องขี่รถหนีเอา เทศกิจพัทยาแรงมาก ถ้าเจอเขาจับปรับเลย ถ้าไม่จ่ายก็ยกถังแก๊ส ยึดรถเอาไปจอดในที่ของเขาเลย เราเคยเสียค่าปรับ 2,000 บาทตอนไปจอดแถวหน้าหาดพัทยา ตอนนี้เราก็เสียเงินเช่าที่ใน Tree Town ไว้เดือนละ 1,000 บาท จอดได้เลย เขาไม่ห้าม เพราะเป็นที่ส่วนบุคคล แต่มันก็ไม่คุ้มเลยเพราะส่วนตัวเราไม่ค่อยจอด แต่เราเน้นวิ่งขายไปตามหาลูกค้า ถ้าหาลูกค้าคนไทยก็ง่ายหน่อย บางทีจอดยาวเลยก็มี เรามีนามบัตรบางทีก็จะให้เขา ลูกค้าอยากกินก็โทรหาเรา เราก็วิ่งไปหา”
“พายชิ้นนึงราคา 100 บาท ชิ้นก็จะใหญ่หน่อย กินเป็นอาหารได้เลย เพราะเป็นพายของคาว เมื่อก่อนนี้ตอนขายกับพ่อแฟนอยู่ที่ 95 บาท แต่มันลำบากตอนหาเหรียญห้ามาทอน บางคนเขาก็ให้ 5 บาทเป็นทิปเลย เราก็เลยวางราคานี้ของเรามาเลย จะได้ไม่ต้องไปหาเงินทอน แต่เราก็ไม่กล้าขึ้นราคาแม้ของจะแพง ยิ่งของที่เราใช้เป็นของนอกเพราะต้องทำเมนูฝรั่ง ราคามันก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก แล้วเราใช้ของไทยไม่ได้ เปลี่ยนวัตถุดิบนิดเดียวรสมันเปลี่ยนทันทีเลย ฝรั่งเขากินเขารู้นะไม่ใช่ไม่รู้ ถ้าสมมติเราขึ้นราคาได้แล้วเราอยู่ได้ น่าจะขายที่ 120 บาท เพราะตอนนี้ฝรั่งยังบอกเลยว่าราคาถูกกว่าบ้านเขาอีก”
วอน พิกุล, 60 ปี
สมปอง ศิริเชิด, 52 ปี
ขายเครื่องเซ่นไหว้
“เราขายของไหว้มา 17 ปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นหาบ แล้วมาใส่รถเข็น มีคนรับของจากปากคลองมาขายที่ตลาดโต้รุ่ง ก็ไปซื้อมาร้อยเอา เวลาขายส่วนใหญ่ก็ออกมาประมาณ 3 โมง ถึงประมาณ 5 – 6 โมง เราเลี้ยงหลานไง แต่ถ้าไม่ใช่วันพระ บางช่วงถ้ามีคนดูหลานให้วันธรรมดาก็ออก วิ่งส่งทุกวันนั่นแหละ ออกมาขายสัปดาห์นึงแบบนี้ก็เสียเงินค่าของรอบละหมื่นกว่าบาท จ่ายเงินเขาหลังวันพระ ไปเอาของเขามาร้อยก่อน”
“ผมเป็นคนอีสาน เข้ามาอยู่พัทยาตั้งแต่อายุ 16 ตอนนี้ 60 ปีแล้ว เมื่อก่อนเป็นเชฟอยู่ที่ภัตตาคารนางนวล กับร้านตังเกตรงสะพานปลาสมัย 30 40 ปีที่แล้ว ไป ๆ มา ๆ กรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนี้เพิ่งมาอยู่ถาวร ออกจากงานมาช่วยแฟน แฟนขับรถพ่วงไม่เป็น บนรถผมก็จะมีกล้วย ของไหว้ ขนมถ้วยฟู โดนัท ขนมเปี๊ยะ น้ำแดง หมากพลู ผลไม้ ดอกกล้วยไม้ ดอกกุหลาบ ผมรับมาจากปากคลองตลาด น้องเมียไปรับมาให้ เขาเอามาส่งทั่วชลบุรี ระยองเลยเมื่อก่อนออกมาขายทุกวัน เดี๋ยวนี้เศรษฐกิจไม่ดี เลยออกมาขายแค่วันโกนกับวันพระ แล้วก็ส่งตามบาร์ขาประจำ แต่ก่อนได้วันละ 4,000 เดี๋ยวนี้ก็เงียบ เหลือวันละ 1,000 เดียว ก็ได้พอถู ๆ ไถ ๆ ดอกไม้ช่วงนี้มันแพง แต่ราคาเราก็เหมือนเดิม 10 บาท”
“ถ้าจะขอให้คนมาเที่ยวพัทยา เราก็พูดยาก ไม่รู้จะพูดยังไง เศรษฐกิจมันไม่ดี เขามาเที่ยว ดอกไม้เขาก็ไม่ค่อยซื้อ ถ้าเขามาเขาก็ซื้อพวกของกิน อาหารทะเล เขาไม่มาซื้อดอกไม้เราหรอก ที่จะได้ขายก็คนที่อยู่ในบาร์นี่แหละ”
เยาวธิดา บรรจง, 46 ปี
ขายกุ้งเต้น
“เรามาจากบึงกาฬ มาหาหลานชายที่เป็นทหารเรืออยู่ที่สัตหีบ แล้วก็ไปขายของอยู่สักพัก ที่นั่นเราต้องขายด้วยระบบจองแบบตลาด แล้วมันไม่เวิร์ค มันขายไม่ดี เลยมีคนแนะนำว่าลองมาพัทยามั้ย เพราะมันมีรถพ่วงข้างมาขายที่พัทยาเยอะ ก็เลยลองมา มาคนเดียวเลย”
“ก่อนจะมาขายกุ้งเต้น เราขายลูกชิ้นทอดมาก่อน ขายดีนะแต่เหนื่อย เพราะเราเตรียมของคนเดียว กุ้งเต้นมันสบายกว่า ขั้นตอนมันไม่เยอะ ลูกชิ้นเวลาขายก็จะมีแบบ เอากรอบ ๆ นะคะ แต่อันนี้มันไม่ใช่แบบนั้นไง ความยากของกุ้งเต้นมีเรื่องเดียวคือเตรียมของ น้ำที่ใส่กุ้งต้องน้ำกินเท่านั้น น้ำประปาไม่ได้ มันจะน็อก ดูแลค่อนข้างยาก ล็อตนี้เรารับกุ้งเลี้ยงมา แต่ล็อตก่อน ๆ เป็นกุ้งธรรมชาติ ที่พอเขาดักได้น้อย ๆ เขาก็ไม่เอามาส่งเรา ไปส่งแต่เจ้าใหญ่ ๆ อย่างเดียว ของเราเป็นรายย่อยสั่งที 1 กิโล 2 กิโล ก็ต้องหาวัตถุดิบเอาเอง”
“ช่วงนี้ต้องทำใจ เพราะพัทยามันเพิ่งเข้าหน้า Low มา 2 เดือน มันจะ High อีกทีช่วงตุลา ถึงตอนนี้ กรกฎา สิงหา กันยา เราก็ต้องเอาตัวเองให้มันรอด ที่สำคัญช่วงนี้เทศกิจจะค่อนข้างเข้มข้นมากเรื่องคนต่างด้าว เพราะคนร้องเรียนด้วย เขาก็ทำตามหน้าที่ของเขาปกติ พัทยาตอนนี้ถึงแม้จะเงียบ แต่มันก็ยังได้เงิน ไม่ได้ถึงกับว่ามีเก็บ แต่มันก็อยู่ได้”
อดิศักดิ์ ปัดกอง, 34 ปี
ขายข้าวเหนียวหมูทอด
“ก่อนหน้านี้ผมขายน้ำส้มคั้นอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นย้ายมาขายหมูทอดที่พัทยา เพราะคิดว่ามันเป็นหนึ่งในอาหารที่รับประทานง่าย หลายคนน่าจะชอบและสนใจ ผมเลยลองค้นสูตรจากยูทปและจดจำจากร้านอาหารทั่วไป จนได้ออกมาเป็นสูตรหมูทอดของตัวเอง ลองขายไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีลูกค้าประจำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกพี่แท็กซี่ที่ขับรถมาส่งคนแถวถนน Walking Street รายได้วันหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 400 – 500 บาท พอมีกำไรอยู่บ้างไม่ขาดทุน ผมมองว่าข้อดีของพัทยาคือการที่มันหาเงินง่าย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมมันจะไม่ดี แต่ถ้าเทียบกับที่อื่นแล้วมันก็ยังดีกว่ามาก เสียอย่างเดียวคือถนนพัทยามันพังบ่อยและรถติด”
“รถติดเป็นปัญหาที่ชัดเจนและส่งผลกระทบมากที่สุด พัทยาเป็นหนึ่งในเมืองที่การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก เหตุผลที่ผมเลือกมาขายหมูทอดโดยใช้รถเข็นก็เพราะว่า ถ้าขับรถพ่วงข้างมันจะเจอกับปัญหารถติด เคยคิดที่อยากจะเปิดร้านแต่คำนวณแล้วว่าน่าจะต้องใช้ต้นทุนเยอะ การขายของโดยใช้รถเข็นมันเลยเหมือนกับว่าลงตัวมากที่สุด สำหรับการขายของหาบเร่ที่พัทยา โดยเฉพาะในช่วงที่การท่องเที่ยวซบเซา เราต้องหาวิธีในการทำมาหากินที่ปลอดภัยกับตัวเองมากที่สุด”
“พอรถติด ไม่มีที่จอดรถ คนก็ไม่ค่อยมาเที่ยว พอคนไม่มาเที่ยว การค้าขายมันก็แย่ลงไปด้วย ถนนบริเวณพัทยาใต้มีการซ่อมบ่อยมาก ซึ่งผมไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด อาจจะเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องปรับปรุงดูแลถนน แต่การซ่อมแซมหลายครั้งมันทำให้รถติดเป็นอย่างมาก ซ้ำร้ายไปกว่านั้นถนนรอบหาดไม่มีที่จอดรถอีก มันเลยยิ่งทำให้คนเดินทางมาท่องเที่ยวชายหาดน้อยลง พอคนน้อย พ่อค้าแม่ค้าก็ขายของได้น้อยลง ผมเลยอยากฝากให้ทุกคนมาท่องเที่ยวพัทยากันเยอะ ๆ”
มารีจันทร์ หอมหวล, 64 ปี
ขายกิฟต์ช็อป
“ป้าเกิดและเติบโตที่บุรีรัมย์ ย้ายมาขายของเล่นที่กรุงเทพฯ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ตระเวนเดินทางออกขายของไปเรื่อย จนสุดท้ายย้ายมาปักหลักขายของกิ้ปช็อปที่พัทยา ช่วงแรกใช้ตะกร้าสานหาบของขายตั้งแต่พัทยาเหนือสุดพัทยาใต้ พอเริ่มเก็บหอมรอมริบได้บ้างก็เปลี่ยนมาเป็นรถเข็น เพื่อช่วยผ่อนแรงในการเดิน ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้รถเข็นขายของจะเป็นคนบุรีรัมย์ พอมาลองทำแล้วมันดีก็จะบอกต่อพี่น้องที่ต่างจังหวัดให้เดินทางมาทำงานหาเงินที่นี่ ร้านค้ารถเข็นถึงมีให้เห็นกันทั่วไป อย่างรถเข็นคันนี้ป้าจ้างเขาทำเพื่อมาขายของโดยเฉพาะ ราคาก็ค่อนข้างสูงตามความต้องการที่จะใช้งานของเรา”
“ของส่วนใหญ่ที่ป้าขายจะเป็นพวกลิปสติก มาสคาร่า กิ้ปติดผม ต่างหู และของจิปาถะทั่วไป ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาท ขายได้สักสามสี่ชิ้นก็พอได้ค่าข้าวในแต่ละมื้อ ถ้าวันไหนขายดีหน่อยก็มีแตะหลักพันบาท พอได้จุนเจือครอบครัวให้อยู่รอดไปได้ อาชีพแม่ค้ารถเข็นของป้าเลี้ยงลูกหลานจนเติบโตสร้างครอบครัวของตัวเองได้ ถึงแม้บางวันมันจะขายได้ไม่ดีแต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ทุกวันนี้ที่ออกมาขายของรู้สึกเหนื่อยมาก อายุอานามก็มากแล้ว ช่วงนี้เริ่มมีความคิดที่อยากจะหยุดและย้ายกลับไปอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ชีวิตยังต้องกินต้องใช้ต่อไป ก็อาจจะทำต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่ยังมีแรงอยู่”
“ก่อนหน้านี้ช่วงโควิดขายของไม่ได้ ป้าก็เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด กลับไปทำไร่ทำสวนปลูกข้าวขาย ทำด้วยน้ำพักน้ำแรงทั้งหมดที่มี แต่ได้ค่าตอบแทนมาแค่ไม่กี่บาทต่อเดือน พอเอามาเทียบกับรายได้จากการขายของที่พัทยาแล้วมันต่างกันลิบลับ ขายข้าวต้องลงทั้งแรง ต้องจ้างคนมาช่วย พอตัดลบกับสิ่งที่ต้องลงทุนไปแล้วมันไม่คุ้มค่ากัน อีกอย่างหนึ่งต้องบอกตามตรงว่าป้าหลงรักพัทยา ผู้คนมากมายมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน เวลาขายของก็ได้พบปะคนมากหน้าหลายตา พูดคุยหยอกล้อกันตามประสา ถึงแม้จะขายของแค่หลักสิบบาท แต่ได้รอยยิ้มแลกกลับคืนมาบ้างก็พอช่วยให้หายเหนื่อยในระหว่างวัน”
“ป้าคิดว่าคนพัทยาเป็นคนน่ารัก อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เดินทางมาเที่ยว เดินทางมาทำงานเหมือนกัน ทำให้เข้าอกเข้าใจกันพอสมควร เอาเข้าจริงแล้วป้าชอบพัทยามากกว่ากรุงเทพฯ ถึงแม้ตอนขายของกรุงเทพฯ ได้เงินดีกว่า แต่การเดินทางและการอยู่อาศัยมันลำบากเหลือเกิน ป้าอยากจะฝากเสียงนี้ส่งไปยังคนทุกคนที่กำลังลังเลว่าจะไปเที่ยวที่ไหน ให้เดินทางมาเที่ยวพัทยา พัทยาเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่น่ารัก มีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ อย่าลืมมาพักผ่อนกันที่พัทยา”