ดิวตี้ฟรี (Duty Free) สวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของนักเดินทางทั้งไทยและต่างประเทศ เพราะสามารถเลือกซื้อสินค้าปลอดภาษีมีมากมายให้เลือกสรร ทั้งน้ำหอม เครื่องดื่ม ขนม กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ จากภายในสนามบินขาเข้าและขาออกนอกประเทศในทุกครั้งเมื่อมีการเดินทาง
แต่สวรรค์นั้นก็ได้ดับลง เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณายกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงมีการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ หรือการ “ยกเลิกดิวตี้ฟรีขาเข้า” ในสนามบิน 8 แห่งทั่วประเทศ เพราะหวังที่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเก็บเงินไว้มาใช้จ่ายในประเทศมากกว่าที่จะใช้จ่ายภายในสนามบิน โดยสิ่งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการและแนวทางการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
สำหรับสนามบิน 8 แห่งทั่วประเทศที่จะยกเลิก Duty Free ขาเข้า ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานสมุย และท่าอากาศยานกระบี่
จากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้ารวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นจำนวน 3,021.75 ล้านบาท
ทั้งนี้จากผลการศึกษาของกระทรวงการคลัง พบว่าผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า มี 5 ข้อ ดังนี้
1. ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่าย การบริโภคสินค้า และบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท
2. ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย คือ ผู้เดินทางชาวไทยอาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทางเพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน
3. ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ คือ ผู้ประกอบการคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้าน Duty Free จะมีการสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไปเสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป
4. ผลต่อรายได้ของภาครัฐ คือ เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม คือ กรณีที่มีการหยุดดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการปรับลดพื้นที่ Duty Free ขาเข้า ส่งผลต่อรายละเอียดในสัญญาสัมปทานที่ดำเนินไว้กับเอกชน เนื่องจากพื้นที่บริหารกิจการจะลดลงจากสัญญาระบุไว้ และอาจทำให้ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนลดลงตามพื้นที่บริหารที่ปรับลดลงตามไปด้วย ส่วนผลบวกที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ บริการผู้โดยสาร เนื่องจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมนำพื้นที่ส่วนนี้พัฒนาเป็นห้องน้ำ พื้นที่พักคอยระหว่างรอขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง (ตม.). ต่อไป