หลังจากคำศัพท์ ‘สนามอารมณ์’ ถูกบัญญัติลงพจนานุกรมในโลกโซเชียลมีเดีย ผู้คนจากหลากหลายช่วงวัยก็ออกมาประกาศตัวว่าตนเองกำลังเผชิญกับบทบาทสนามอารมณ์ หรือเคยพบเจอกับสถานการณ์นี้มาก่อน ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าตลก แต่ความหมายที่แฝงไว้ในคำว่า ‘สนามอารมณ์’ กลับไม่น่าสนุกอย่างที่คิด เพราะไม่ว่าคุณจะรับบทเป็นสนามอารมณ์หรือคนขี้วีน ทุกคนต่างกำลังอยู่ในห้วงอารมณ์ Toxic ที่ควรได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การใส่อารมณ์กับคนอื่นเป็นการระบายอารมณ์ที่ง่ายที่สุด เพราะธรรมชาติสร้างให้เราขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเสมอ อารมณ์และความรู้สึกก็เช่นกัน เมื่อมีอารมณ์หรือความรู้สึกในเชิงลบเข้ามาในสมอง เราจำเป็นต้องกำจัดอารมณ์ลบ ๆ เหล่านั้นทิ้ง ผ่านการแสดงออกทางสีหน้า พฤติกรรม และคำพูด ซึ่งต้องอาศัยตัวแปร เช่น คน สัตว์ สิ่งของ มาช่วยเป็นตัวเหนี่ยวนำให้อารมณ์ในเชิงลบถูกแพร่ผ่านออกไปจากร่างกาย
บางคนอาจจะเลือกระบายอารมณ์กับเพลง เกม ดนตรี กีฬา หรือการทุบทำลายสิ่งของ ขึ้นอยู่กับว่าเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน แต่การระบายอารมณ์กับสิ่งเหล่านี้มักจะไม่ตอบโจทย์ เพราะการระบายอารมณ์ใส่มนุษย์ด้วยกันเองเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและอ้อมค้อมน้อยที่สุด เพราะสาเหตุอันดับต้น ๆ ของความโกรธและอารมณ์เสียมาจากคนด้วยกันเอง เมื่อมีสาเหตุมาจากผู้คนก็ควรระบายใส่คน ถึงแม้ผู้คนเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับต้นเหตุแห่งอารมณ์ก็ตาม แต่นี่คือสมการอย่างง่ายที่สมองของเราหาทางออกให้ได้ โดยเฉพาะการระบายใส่คนใกล้ชิดที่มีบทบาททางอำนาจต่ำกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพ่อแม่มักอารมณ์เสียใส่ลูก ครูมักดุใส่นักเรียน หัวหน้ามักต่อว่าลูกน้อง หรือแม้กระทั่งการหงุดหงิดใส่เพื่อน ทุกอย่างล้วนเป็นไปเพราะมนุษย์ต่างต้องการมนุษย์อีกคนช่วยตอบสนองทางอารมณ์ แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วมันจะเกิดการส่งต่อพลังงานลบกันเป็นเหมือนวงจรหรือระบบนิเวศน์ทางอารมณ์อย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นควรเริ่มการแก้ไขที่ตัวเราก่อน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทของผู้กระทำหรือถูกกระทำ ดังนั้นคีย์สำคัญคือเราต้องมีสติและเข้าใจ
เพราะเราควรแยก ‘ความคิด’ ออกจาก ‘อารมณ์’ โดยสิ้นเชิง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทของผู้กระทำหรือถูกกระทำ คุณควรมีสติและวุฒิภาวะทางอารมณ์มากพอสำหรับการแยกแยะว่าสิ่งใดคืออารมณ์ สิ่งใดคือความคิด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถอาศัยประสบการณ์ อายุ เพศ หรือการศึกษา สิ่งเดียวที่จะทำให้เราแยกห้วงอารมณ์ออกจากความคิดได้คือ ‘ความเข้าใจ’ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น เข้าใจบริบทแวดล้อม เมื่อเราเข้าใจทุกอย่างแล้วเราจะรู้ว่าทุกปัญหาที่มันถาโถมเข้ามา หากใช้เวลาพินิจพิจารณาสักครู่จะพบว่ามันล้วนมีทางออกและทางแก้ไขเสมอ อย่างน้อยก็ไม่ใช่การด่าทอต่อว่าหรือทุบตีคนอื่น ใช้เวลาอยู่กับปัจจุบันอย่างเข้าใจและหาเหตุผลให้กับมันแม้จะเร่งด่วนมากก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วปัญหาเหมือนพายุที่พัดผ่านมาและหายไป ทว่าคนที่มีชีวิตจิตใจรอบตัวของเราเขายังคงดำรงอยู่ในชีวิตของเรา
ในทำนองเดียวกัน การรับสารที่ Toxic ต่อความคิดและอารมณ์ที่มาจากผู้อื่นก็เปรียบเสมือนของที่ใช้แล้วทิ้ง แยกส่วนสำคัญระหว่างความคิดและอารมณ์ออกจากกัน ทิ้งส่วนที่ไม่สำคัญออกไป ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า เราต้องใช้ความเข้าใจเป็นเครื่องมือหลักในการแยกสิ่งเหล่านี้ออกจากกัน ใช้ชีวิตโดยการเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพราะมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร เราล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตแสนบอบบางที่มีความแตกต่างและไม่มีความสมบูรณ์