“ถ้ามันเสียชีวิตไปแล้ว เราได้เห็นศพมัน จะได้ยุติความกังวลสงสัย แต่เราไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น การรอคอยของเรามันเลยไม่มีวันสิ้นสุด” ‘เจน-สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พี่สาวของ ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พูดขึ้นด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่โมโห แต่นัยน์ตายังคงเศร้าไม่ได้ต่างไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ
เชื่อว่าหลายคนคงเห็นข่าวพี่เจนอยู่บ่อยครั้งจากการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้องชายที่ถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร้องร่อยในกัมพูชา จากวันนั้นจนถึงวันนี้ระยะเวลากว่า 4 ปีเต็ม พี่เจนและคนในครอบครัวพี่เจนไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือเจอหน้า ‘ต้าร์’ น้องชายที่มีนิสัยโคตรเป็นเด็กดื้อในสายตาพี่เจน และเหมือนความเจ็บปวดที่รับรู้ได้จากพี่เจนมากที่สุดจากการสนทนากันในครั้งนี้คือเรื่องของ ‘แม่’ ที่ยังเรียกชื่อลูกคนอื่น ๆ ผิดเป็นชื่อ ‘ต้าร์’ อยู่บ่อยครั้ง
“ต้าร์เป็นเด็กดื้อ โคตรดื้อ และภาคอีสานเขาจะเรียกว่า ‘ปะจ๋อปะแจ๋’ ตาร์เป็นเด็กพูดเก่ง พูดน้ำไหลไฟดับ คนเฒ่าคนแก่จะหลงคารมมัน” พี่เจนเล่า
และเมื่อถามพี่เจนว่าสมมุติวันนี้จู่ ๆ น้องชายก็เดินกลับเข้ามาในบ้าน คิดว่าประโยคแรกที่จะพูดคือประโยคว่าอะไร พี่เจนใช้เวลาคิดสักครู่พร้อมตอบกลับมาว่า ‘ตระบัดสัตย์’ และเมื่อถามต่อถึงเหตุผล พี่เจนก็ตอบกลับมาว่า “ก็จะบอกมันว่า ไงล่ะ พรรคที่มึงรัก พรรคที่มึงมองว่าเป็นประชาธิปไตย ทุกอย่างที่มึงทุ่มเทให้ สุดท้ายก็ตระบัดสัตย์หมดเลย ไม่เห็นหัวประชาชนเลยเห็นหัวแต่ครอบครัวมัน”
เมื่อถามว่าการหายตัวไปของน้องชายสักคนหนึ่งคงสร้างความเจ็บปวดอย่างที่เราในฐานะคนนอกไม่มีวันจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้ มีอะไรในชีวิตบ้างที่กระตุ้นให้หวนนึกถึงพวกเขาเหล่านั้น พี่เจนตอบกลับมาในทันทีเลยว่า เอาเข้าจริง ๆ มันไม่ต้องมีอะไรกระตุ้นก็คิดถึงอยู่ทุกวัน แต่สถานที่ที่จะผ่านเมื่อไหร่ก็จะทำให้หวนนึกถึงอดีตก็คือ ‘รามคำแหง 43/1’ เพราะสองพี่น้องพักอาศัยอยู่บริเวณแถวนี้ ตาร์เป็นนักศึกษาราม ส่วนพี่เจนเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ บ่อยครั้งที่ตาร์กลับบ้านดึกดื่น จนพี่เจนเคยถามไปว่าไม่ห่วงกันเลยหรอ และตาร์ก็ตอบกลับมาสั้น ๆ ว่า ‘มึงโตแล้วกูไม่จำเป็นต้องห่วง’ การมาใช้ชีวิตด้วยกันในกรุงเทพฯ ทำให้สองพี่น้องสนิทกันขึ้นเรื่อย ๆ การผ่านสถานที่แห่งนี้ก็จะทำให้ภาพในหัวของพี่เจนที่มีความทรงจำร่วมกับน้องชายวนกลับมา
และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้พี่เจนเห็นและนึกถึงน้องชายคนนี้ก็คือ ‘ซุบมะเขือ’ เพราะเป็นเมนูสุดโปรดที่ทั้งคู่มีความเห็นตรงกันว่าไม่มีซุปมะเขือที่ไหนอร่อยเท่าแม่ทำ รวมถึงสมัยที่ตาร์ลี้ภัยไปอยู่ที่กัมพูชาก็มักจะทำเมนูนี้กินเองอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เห็นเมนูนี้จึงทำให้พี่เจนนึกถึงตาร์อยู่บ่อย ๆ
ส่วนของอีก 2 ชิ้นที่ทำให้พี่เจนหวนนึกถึงน้องชายอยู่เสมอก็คือ ‘เสื้อลายฮาวาย’ กับแว่นตาทรงกลมอันเล็ก ๆ พี่เจนเล่าว่าของเหล่านี้เป็นของ 2 ชิ้นสุดท้ายที่ได้คืนกลับมาจากกัมพูชาหลังจากที่ตาร์ถูกอุ้มหายไป และไอ้เจ้าของ 2 ชิ้นนี้ก็สะท้อนสไตล์การแต่งตัวของต้าร์ได้เป็นอย่างดี เพราะตาร์เป็นคนชิลล์ชอบแต่งตัวสบาย ๆ จึงชอบใส่เสื้อฮาวาย ส่วนแว่นเป็นแว่นสายตาและคนที่บ้านก็สายตาสั้นกันหมด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกรรมพันธ์ุ พี่เจนนั่งพับเสื้อที่หยิบมาให้พวกเราดูพร้อมพูดด้วยเสียงสั่นเครือว่า “มันเป็นสไตล์ที่เขาใส่ประจํา มองเห็นก็รู้เลยว่า เออมันเป็นต้าร์ แต่ตอนนั้นน่าจะผอมลงมั้งเพราะไซส์เสื้อดูตัวเล็กลง”
การสนทนากับพี่เจนในครั้งนี้ยังเต็มไปด้วยความเจ็บปวดไม่ต่างจากบทสนทนาที่เคยเกิดขึ้นในปี 2564 แต่สิ่งที่รับรู้ได้เพิ่มเติมเข้ามาก็คือความเหนื่อยล้า อ่อนแอ สิ้นหวัง แต่ไม่สามารถที่จะหยุดพูดเรื่องนี้จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ค้างคาใจ และการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของพี่เจนก็พ่วงมาด้วยความหวังที่ว่าจะได้ไม่ต้องมีใครถูกอุ้มฆ่าอุ้มหาย และจะได้ไม่ต้องมีใครมาทนทรมานกับความรู้สึกที่เจ็บปวดดังที่เธอได้เผชิญมาแล้วระยะหนึ่ง และไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดจะไปจบลงที่ตรงไหนนั่นเอง