Bangkok Design Week 2024

ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า AI อยู่ในทุกส่วนในชีวิตประจำวันของเรา เริ่มตั้งแต่ใน Smartphone ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ใช้ช่วยเหลือผู้คนให้หายจากการเจ็บป่วย เพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในงานศิลปะหรือในงานสร้างสรรค์เช่นกัน ที่มี Ai มามีบทบาทเกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งในวันนี้เราจะมาโฟกัสในส่วนของวงการงานสร้างสรรค์และวงการศิลปะ

AI สร้างผลงานได้อย่างไร ?

AI ใช้วิธีการเรียนรู้ไม่ต่างกับมนุษย์  โดยใช้วิธีการเขียนคำสั่ง (Prompt) บรรยายองค์ประกอบภาพที่ต้องการบนงานชิ้นนั้น แต่ในขณะเดียวกัน โมเดล AI ได้รับการฝึกฝน เรียนรู้ จากต้นแบบของงานศิลปะ “ดั้งเดิม” หรือเกิดจากการเรียนรู้ในการเขียนคำสั่งของผู้ใช้งาน ลองถูก ลองผิด ซึ่งหลายครั้งดึงมาจากผลงานของศิลปินจริง ๆ จึงมีข้อครหาในเรื่องของความถูกต้องในเรื่องของลิขสิทธิ์

ความแตกต่างระหว่างการสร้างงานศิลปะจากฝีมือมนุษย์ และ AI

แม้ว่ารูปแบบหรือขั้นตอนการสร้างงานศิลปะ จากมือของศิลปินเอง และการสั่งให้ AI วาดภาพให้จะแตกต่างกัน ในมุมมองของ ผศ.ดร. โกเมศ กาญจนพายัพ อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายว่า งานศิลปะอย่างไรก็ประกอบด้วยองค์ประกอบไม่ต่างกัน หากย้อนไปที่หัวใจของในการสร้างงานศิลปะหลัก ๆ แล้วประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ 

  1. หัวข้อเรื่องหรือสิ่งที่ศิลปินต้องการสร้าง
  2. องค์ความรู้ของศิลปินเกี่ยวกับชิ้นงาน 
  3. รูปแบบสไตล์ 
  4. ความชำนาญของศิลปิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในงานศิลปะดิจิทัลก็ต้องอาศัยองค์ประกอบเหล่านี้เช่นกัน

ผลงานที่ AI สร้างมีลิขสิทธิ์หรือไม่ ?

เมื่อไม่นานสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (USCO) ได้ปฏิเสธการจดแจ้งลิขสิทธิ์รูปภาพการ์ตูนเรื่อง Zayra of the Dawn โดยให้เหตุผลว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่เป็นผลจาก AI และหลังจากนั้น USCO ก็ได้เผยแพร่ Guidance on copyright registration involving media crafted by artificial intelligence หรือแนวทางการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของ AI ซึ่งกำหนดว่า งานที่สร้างสรรค์โดย AI “ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้” และหากงานลิขสิทธิ์ใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และ AI ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย

ซึ่งในประเทศไทยนั้นก็ยังมีความคลุมเครือ ยังไม่มีบทกฎหมายเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ภายใต้ระบบกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน ไม่ถือว่า AI เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน เนื่องจากตามหลักลิขสิทธิ์ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรางวัลแก่ทักษะ แรงงาน และกระบวนการตัดสินใจ

ข้อถกเถียงในเรื่องการขโมยผลงานของ AI

ในยุคนี้ทั้งในสื่อหรือในองค์กรต่าง ๆ มักใช้ AI ในการสร้างภาพผลงาน ซึ่งอย่างที่ทราบกันหลักการของ AI คือการดึงภาพจากอินเทอร์เน็ตมาประมวลเพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่ขึ้นมา ซึ่งหมายความว่ามันเป็นภาพจากศิลปินคนอื่นถูกนำมาใช้นั่นเอง

และหลายครั้งก็ถูกนำมาใช้เชิงพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้ศิลปินต่าง ๆ ที่ถูก AI ดึงผลงานมาใช้เกิดความไม่พอใจ และเกิดการตั้งคำถามต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ว่าสิ่งที่ AI ประมวลภาพออกมาเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ประเด็นร้อนเกี่ยวกับ AI ที่เกิดขึ้นล่าสุดในงาน “Bangkok Design Week 2024”

ดราม่านี้เกิดขึ้นจากเพจ AriAround หนึ่งในทีมจัดกิจกรรมในงาน “Bangkok Design Week 2024” ได้จัดประกวดภาพที่ได้จากการ Generate ด้วย AI หลังจากนั้นก็มีความคิดเห็นจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมากที่วิจารณ์ถึงการใช้ AI สร้างผลงาน ในงาน Bangkok Design Week 2024 ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับศิลปะงานออกแบบ  แต่กลับใช้ภาพที่สร้างจาก AI แทนที่จะใช้ภาพจากศิลปินที่เป็นคนจริง ๆ

และความดราม่ายิ่งทวีความรุนแรง เมื่อแอดมินเพจ AriAround ได้เข้ามาตอบคำถามจากความคิดเห็นชาวเน็ต ซึ่งจุดที่ทำให้เกิดประเด็นดราม่ารุนแรงยิ่งขึ้นคือข้อความในส่วนนี้….

การบรีฟงานเพื่อทำภาพกราฟฟิคเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และการหาสไตล์ผู้ออกแบบที่ตรงใจและสื่อสารออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องใช้กำลัง ระยะเวลา และต้นทุนจำนวนมาก ภาพนี้เราจินตนาการคิดถึงภาพที่อยากเห็น ใช้เวลาป้อนคำสั่งไปมาเกินกว่า 20 ครั้ง และ ai ก็เปลี่ยนให้อย่างไม่มีข้อแม้ ไม่มีคำพูดว่า “บรีฟงานไม่ดี” ไม่ต้องไปนั่งหา reference ก่อนเพื่อคุยให้ได้ความเข้าใจตรงกัน ไม่ต้องคุยต่อรองเรื่องราคา และมีระยะเวลาทำงานที่สั้นมากๆ เหมาะกับการทำงานในรูปแบบ event ที่มีความกระชั้นชิด เร่งด่วน

หลังจากนั้นก็มีชาวเน็ตมาแสดงความคิดเห็นกันมากมาย เช่น 

“ทำไมทั้ง ๆ ที่เป็น bangkok design week ถึงตัดสินใจใช้ภาพเจน ai กันนะคะ 😕 #สนับสนุนศิลปินที่มีชีวิต”

“ตลกดีครับชอบ ๆ ทำอีก ๆ คุณค่างานที่จะจัดไม่สะท้อนออกมาเลย ขนาดนี้แล้วจัดงาน AI เถอะครับตรงกลุ่มเป้าหมาย”

และล่าสุดทางเพจ AriAround ก็ได้ออกมาขอโทษในประเด็นทั้งหมดแล้ว

สุดท้ายนี้เรื่องของ AI ก็ยังเป็นข้อถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ อาจจะต้องดูตามมารยาทความเหมาะสมในการใช้งาน สมมุติว่าเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ก็ดูเป็นอะไรที่ไม่เหมาะนักที่จะนำ AI มาใช้ เพราะยังมีการถกเถียงถึงการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่

อ้างอิง