นิตยสารเกย์ Films and Filming

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนไพรด์ หลายคนคงจะทราบกันดีว่าเป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีอีกหนึ่งนิตยสารที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่สมัยที่เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับและผิดกฏหมาย จนต้องกลายเป็นนิตยสารที่แอบซื้อขายกันแทน ‘นิตยสารเกย์’ เล่มนี้มีชื่อว่า ‘Films and Filming’

นิตยสาร Films and Filming เป็นนิตยสารรายเดือนของอังกฤษ ถูกวางแผงขายมาตั้งแต่ปี 1954 หรือเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว โดยเนื้อหาของนิตยสารเล่มนี้เต็มไปด้วยภาพผู้ชายเปลือยกายและเปิดพื้นที่ให้ชายโสดสามารถโฆษณาหาคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันได้ ไม่ว่าจะเป็น รูปร่าง หรือมวยปล้ำ แต่ดังที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นว่าในปี 1885 การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ทำให้วิธีการวางแผงจำหน่ายนิตยสารเกย์ต้องใช้วิธีพรางตาอยู่บนชั้นหนังสืออื่น ๆ 

แต่หลังจากที่ได้มีการยกเลิก ‘พระราชบัญญัติความผิดทางเพศ’ (The Sexual Offences Act 1967) ในอังกฤษและเวลส์ ที่ได้ยกเลิกโทษของการมีเพศสัมพันธ์ในเพศเดียวกันออกไป ทำให้นิตยสาร Films and Filming ได้วางขายอย่างเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในปี 2017 กรุงลอนดอน ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับเทศกาลงานไพรด์ ภายใต้นัยยะสำคัญอย่างการครบรอบ 50 ปีที่กฏหมายตัวนี้ปรับให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศชายกับเพศชายไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมายอีกต่อไปนั่นเอง   

เมื่อพูดถึงเรื่องข้อกฏหมายที่เกี่ยวกับเรื่องเพศแล้ว เมื่อปี 1921 ก็ได้มีการอภิปรายกฏหมายใกล้เคียงเกี่ยวกับระหว่างหญิงกับหญิง แต่สภาขุนนางไม่ได้สานต่อและไม่ค่อยอยากพูดถึงเรื่องนี้สักเท่าไหร่นัก เพราะเป็นกังวลว่าหากยกเรื่องผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน อาจจะเป็นการชักจูงให้ผู้หญิงอยากจะมีเพศสัมพันธ์กันเอง เนื่องจากผู้หญิงน่าจะถูกชักจูงได้ง่ายกว่า

เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ต้องแอบขายนิตยสารเกย์, กฏหมายที่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ชายมีเพศสัมพันธ์กัน หรือการมองว่าเพศหญิงจะถูกชักจูงให้มีเพศสัมพันธ์กันเอง แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเพศได้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่จะมาการันตีเรื่องนี้ได้ก็คือ ‘กฏหมายสมรสเท่าเทียม’ ที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ เพราะกฏหมายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะสามารถทำให้เรื่องนั้น ๆ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคม และในอดีตยังมีอีกหลายตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดของชุมชน LGBTQ+ ที่ไม่ได้รับการยอมรับทั้งในแง่สังคมและในแง่ของกฎหมาย ซึ่งตัวอย่างประเทศที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียมแล้วก็ได้แก่ เนเธอร์แลนด์, เยอรมันนี, เบลเยียม, สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ส่วนความก้าวหน้าของความหลากหลายทางเพศในไทย หลาย ๆ คนก็อาจจะมองเห็นว่าขบวนงานไพรด์ที่เกิดขึ้นในปีนี้เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ความเข้าใจของคนในสังคมก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ยังคงล้าหลังอยู่ก็คือเรื่องของกฏหมาย และในปีนี้กฏหมายสมรสเท่าเทียมก็มีความก้าวหน้า โดยจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 และคาดว่าทุกอย่างน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

อ้างอิง