ณ วันที่ 30 เมษายน 2518 คือวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดทำการซื้อขาย จากจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพียง 8 บริษัทซึ่งในวันนี้เราจะมาเล่าถึง 3 ใน 8 บริษัทกลุ่มแรก ที่ยังคงอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน
แท้จริงแล้วถึงแม้ว่าบริษัทในกลุ่มแรกที่ถูกซื้อขายในวันเปิดทำการวันแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีถึง 8 บริษัท ในจำนวนนี้มีถึง 5 บริษัทที่ยังมีการซื้อขายและยังคงอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาจนถึงปัจจุบัน แต่มีเพียง 3 บริษัทที่เริ่มจดทะเบียนก่อนเป็นกลุ่มแรกในวันที่ 25 เมษายน 2518 ซึ่ง 3 บริษัทนั้นคือ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย (SCC), บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) และ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
บริษัทปูนร้อยปี ที่พร้อมเติบโตในศตวรรษต่อไป
SCC (หรือที่หลายคนมักจะเรียกว่า SCG ตามชื่อเรียกกลุ่มบริษัทในปัจจุบัน) จากจุดเริ่มต้นในปี 2456 ในธุรกิจปูนซีเมนต์ จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในช่วงเติบโตขั้นสุดอีกครั้งหนึ่ง โดยการ Spin-Off 3 ธุรกิจที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (SCGD), ธุรกิจเคมิคอลส์ (SCGC) และธุรกิจแพคเกจจิ้ง (SCGP) แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อนำเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และพร้อมที่จะเติบโตยิ่งขึ้นอีกก้าวต่อไป
หากรวมเพียงแค่รายได้จากการขาย ณ ปี 2565 แล้ว SCG นั้นมีรายได้จากการขายถึง 5.69 แสนล้านบาท! และมีกำไรสำหรับปีรวม 2.1 หมื่นล้านบาท และจากราคาซื้อขายวันแรกที่ 1.13 บาท จนมาถึงปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2567) SCC มีราคาซื้อขายที่ 249 บาท
สบู่นกแก้วที่โบยบินจนเป็นที่หนึ่งในตลาด
BJC บริษัทต่างชาติที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าในไทย (นับตั้งแต่ปี 2425) โดยในปัจจุบันมีเจ้าของเป็นคนไทย สิ่งที่หลายคนคุ้นชิน และรู้จักกับ BJC คือการที่หลาย ๆ คนรู้จักในฐานะบริษัทเจ้าของแบรนด์ “สบู่นกแก้ว” ซึ่งในปีที่แล้ว ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2566 ของ BJC ได้ระบุว่าสบู่นกแก้วยังคงเป็นสบู่ที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทย และมีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้วเช่นกัน แต่หากนับในด้านของรายได้รวมทั้งบริษัท ณ ปี 2566 BJC นั้นมีรายได้รวมถึง 1.68 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4.7 พันล้านบาท
สำหรับ BJC จากข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ การที่ BJC เป็น 1 ใน 8 บริษัทแรก นั่นถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าในไทย จากราคาซื้อขายวันแรกที่ 0.17 บาท จนมาถึงปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2567) BJC มีราคาซื้อขายที่ 24.80 บาท
.
เพื่อนคู่คิด ที่มั่นคงเพื่อเป็น “มิตรคู่บ้าน”
BBL ธนาคารไทยที่ก่อตั้งในปี 2487 ที่ยึดหลักตามสโลแกน “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ซึ่งเป็นธนาคารที่หลายคนคุ้นเคยกันไม่มากก็น้อย ในปัจจุบัน BBL เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 BBL มีสินทรัพย์รวมกว่า 4.55 ล้านล้านบาท และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 2.6 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาด ณ ครึ่งปีแรกของปี 2565 ถึงร้อยละ 17.2 มากกว่าธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพียงร้อยละ 0.1 จากราคาซื้อขายวันแรกที่ 15.75 บาท จนมาถึงปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 26 เมษายน 2567) BBL มีราคาซื้อขายที่ 136 บาท
อ้างอิง
- หนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “SHARE FOR ALL”
- https://www.bjc.co.th/online_museum
- https://investor.bjc.co.th/th/financial-info/financial-highlights
- แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2566 (แบบ 56-1 ONE REPORT) บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์
- https://www.scg.com/th/01corporate_profile/
- https://scc-th.listedcompany.com/financial_overview.html
- https://www.bangkokbank.com/th-TH/About-Us/Corporate-Profile
- https://www.bangkokbank.com/th-TH/Investor-Relations/Financial-Information
- https://www.facebook.com/moneylabstory/posts/1513711215737280
- https://www.longtunman.com/30358