‘ฟุตบอล’ เป็นกีฬาสากลที่คนทั่วโลกตกหลุมรัก ความเข้มข้นและความสนุกสนานของโลกฟุตบอลทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “ในหนึ่งชีวิตเรามีทีมรักได้เพียงทีมเดียวเท่านั้น” แต่ด้วยการแข่งขันที่เข้มข้นของมัน ทำให้บ่อยครั้งการแข่งขันฟุตบอลก็นำมาซึ่งความรุนแรงของเหล่าบรรดาแฟนบอล และครั้งหนึ่งในการแข่งขันคัดเลือกบอลโลกก็เคยกลายเป็นชนวนที่นำมาสู่การทำสงครามอีกด้วย
สงครามฟุตบอลที่ว่ามีอีกชื่อว่า ‘สงครามร้อยชั่วโมง’ และเกิดขึ้นในปี 1969 ระหว่างที่คัดเลือกฟุตบอลโลกระหว่างทีมชาติ เอลซัลวาดอร์ กับ ฮอนดูรัส ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกากลาง ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่า ประเทศเอลซัลวาดอร์กับประเทศฮอนดูรัสเป็นประเทศเพื่อนบ้านกันที่มีข้อขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน
เรื่องแรกที่ขัดแย้งกันคือความทับซ้อนเรื่องพื้นที่ อธิบายให้เห็นภาพคือ ประเทศเอลซัลวาดอร์มีประชากรสูงถึง 3,000,000 คน แต่มีพื้นที่ในประเทศเพียง 8,000 ตารางไมล์ จะเห็นได้ว่าความหนาแน่นของประชากรต่อคนสูงถึง 400 ตารางไมล์ ความหนาแน่นดังกล่าวทำให้เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศที่มีความหนาแน่นของประชากรรองลงมาจากประเทศเฮติเท่านั้น ทำให้ชาวเอลซัลวาดอร์จำเป็นต้องอพยพเข้าเมืองฮอนดูรัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ยังมีการอพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ในแหล่งที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ และได้เริ่มทำอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ได้เริ่มเปิดธุรกิจแข่งกับชาวฮอนดูรัส ประเด็นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ค่อยถูกชะตาเท่าไหร่ของคนทั้ง 2 ประเทศนี้
อีกหนึ่งข้อมูลสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาซื้อที่ดินแถบอเมริกากลางโดยเฉพาะประเทศฮอนดูรัสเพื่อปลูกต้นกล้วย เพราะกล้วยเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมสูงในสหรัฐอเมริกา และคนที่ครอบครองที่ดินในประเทศส่วนใหญ่คือบริษัท ‘United Fruit Company’ บริษัทที่จัดจำหน่ายผลไม้รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทำให้กล้วยกลายเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของฮอนดูรัส การเอื้อประโยชน์กันในด้านการเมืองทำให้ในปี 1920 United Fruit Company ได้เข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองด้วยการจับมือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อหนุนให้ทหารมีอำนาจในฮอนดูรัสต่อไป แน่นอนว่าการบริหารประเทศด้วยระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้ประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำสูงมีคนรวยกระจุกคนจนกระจาย
ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาพยายามจะช่วยแก้ปัญหาด้วยการหนุนให้เกิดการทำรัฐประหารจนได้ประธานาธิบดีชื่อ ‘นายพลออสวัลโด โลเปซ อาเรยาโน’ และนายพลออสวัลโดได้ชุบตัวเองให้กลายเป็นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งในปี 1965 แต่ชาวฮอนดูรัสรู้ดีว่าการหนุนให้มีประธานาธิบดีคนนี้มาจากการเอื้อกันเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและ United Fruit Company บวกกับเศรษฐกิจก็ยังแย่ลงไปเรื่อย ๆ จึงเกิดความเครียดและกระแสต่อต้านจากประชาชนขึ้น นายพลออสวัลโดจึงเบี่ยงเข็มความผิดไปที่ชาวเอลซัลวาดอร์ว่าที่เศรษฐกิจย่ำแย่เพราะพวกเอลซัลวาดอร์เข้ามาแย่งพื้นที่ทำกิน ความไม่ชอบขี้หน้าของคนทั้งสองประเทศนี้จึงคูณสอง
เรื่องราวความตึงเครียดทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเรื่องราวทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดสงครามคือ ‘ฟุตบอลโลก’ ในปี 1970 ได้มีการจัดฟุตบอลโลกโดยประเทศแม็กซิโก ความโชคร้ายก็คือ ทีมเอลซัลวาดอร์และทีมฮอนดูรัสได้ผ่านเข้ารอบแรกเพราะอยู่อันดับ 1 ของกลุ่ม ทำให้ทั้งสองทีมต้องมาเจอกันในรอบ 2 กติกาของมันก็คือ ต้องแข่งกันทั้งหมด 3 นัดเพื่อหาทีมเข้ารอบต่อไป
นัดที่ 1 ในคืนก่อนแข่งขันฮอนดูรัสได้รวมตัวกันไปขว้างปาข้าวของและด่าด้วยถอยคำหยาบคายบริเวณหน้าโรงแรมที่นักเตะทีมเอลซัลวาดอร์พักอาศัยอยู่ ในการแข่งขันครั้งนั้นทำให้ทีมเอลซัลวาดอร์พ่ายให้กับทีมฮอนดูรัสด้วยสกอร์ 1 – 0 ความเลวร้ายไม่จบแต่เพียงเท่านั้น ‘อาเมเลีย โบลาญอส’ แฟนบอลหญิงชาวเอลซัลวาดอร์ที่นั่งดูบอลอยู่ที่บ้านเมื่อทราบผลว่าทีมบ้านเกิดพ่ายแพ้จึงรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง และได้นำปืนมายิงตัวเองตาย ความตายของโบลาญอสทำให้เอลซัลวาดอร์หยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการถ่ายทอดสดพิธีศพไปทั่วประเทศอีกด้วย เพื่อปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังต่อชาวฮอนดูรัสมากยิ่งขึ้น
นัดที่ 2 ทำให้นักเตะชาวฮอนดูรัสถูกก่อกวนในลักษณะเดียวกันและพ่ายแพ้ด้วยสกอร์ 0 – 3 ชาวฮอนดูรัสรู้สึกโกรธแค้นกับเรื่องที่เกิดขึ้นและได้คุกคามด้วยการเผาบ้านและขับไล่ให้ชาวเอลซัลวาดอร์ที่อาศัยอยู่ในฮอนดูรัสกลับบ้านเกิดไป และในนัดสุดท้ายทีมเอลซัลวาดอร์ชนะทีมฮอนดูรัสด้วยสกอร์ 3 – 2 ส่งผลให้ทีมฮอนดูรัสตกรอบไป แน่นอนว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดความรุนแรงลุกลามไปทั่วด้วยฝีมือของชาวฮอนดูรัส ความรุนแรงดังกล่าวทำให้รัฐบาลของเอลซัลวาดอร์ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และประกาศสงครามกับฮอนดูรัสในทันที
‘สงครามร้อยชั่วโมง’ ได้เริ่มขึ้นหลังจากนี้ สงครามดังกล่าวทำให้ฮอนดูรัสมีคนตายทั้งประชาชนและทหารถึง 2,000 ราย ต่อมานายพลออสวัลโดของฮอนดูรัสโดยทหารทำรัฐประหารในปี 1975 ส่วนประเทศเอลซัลวาดอร์ต้องแบกรับผู้คนที่อพยพกลับบ้านจนเกิดเป็นสงครามกลางเมือง และในที่สุดวันที่ 30 ตุลาคม 1980 ทั้ง 2 ประเทศก็ลงนามในสัญญาสันติภาพเพื่อปิดสงครามร้อยชั่วโมงที่มีฟางเส้นสุดท้ายมาจากฟุตบอลแต่มีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองนั่นเอง
อ้างอิง
- https://historyofsoccer.info/the-football-war
- https://www.silpa-mag.com/history/article_112797
- https://www.youtube.com/watch?v=vCwO4oBXRgo
- https://www.youtube.com/watch?v=CsT5Z-IhFBU
- https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามฟุตบอล
- https://www.blockdit.com/posts/60bb19c1a6c9cf0c6745be69